ประวัติศาสตร์ราชอาณาจักรสยาม
July 8 at 5:36 AM ·
รัชกาลที่ ๗ กับการบริหารเศรษฐกิจบ้านเมือง
.
ภายหลังการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว อาจจะกล่าวได้ว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงขึ้นครองราชย์โดยไม่ทันตั้งพระองค์มากนัก เหตุปัจจัยเหล่านี้มีหลายเหตุ ไม่ว่าจะเป็นเหตุที่ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์สุดท้ายของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ไม่น่าจะได้ขึ้นครองราชสมบัติอย่างแน่นอน หรือขณะนั้นยังมีพระเจ้าพี่ยาเธออีกหลายพระองค์ที่ทรงรับราชการมานานก่อนพระองค์แล้ว เช่น เจ้าฟ้าบริพัตร ที่มีพระราชอำนาจพอสมควรในทางราชการด้วย แต่ท้ายที่สุดสมเด็จฯเจ้าฟ้าประชาธิปกก็ขึ้นครองราชย์สมบัติเป็น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ จากความเห็นชอบของที่ประชุมพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการ
.
เมื่อเข้าสู่รัชสมัยของพระองค์ เรื่องเศรษฐกิจนับเป็นเรื่องสำคัญและน่ากังวลอย่างยิ่ง เพราะช่วงรัชสมัยของพระองค์ได้เกิดปัญหาทางด้านเศรษฐกิจที่จะต้องจัดการอีกมากเช่น หนี้สินที่เกิดจากการใช้จ่ายของรัฐบาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ รวมทั้งวิกฤตการณ์ทางด้านเศรษฐกิจในปี ๒๔๗๒ นอกจากนั้นในปีถัด พ.ศ. ๒๔๗๓ ก็เกิดปัญหาทางด้านการส่งออก เช่น ดีบุก และการเกษตรที่เก็บเกี่ยวไม่ได้ผลมากนัก ด้วยสภาพเช่นนี้ จึงทำให้การบริหารจัดการทางด้านเศรษฐกิจเป็นปัญหาสำคัญที่รบกวนพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างมากตลอดรัชสมัยของพระองค์
.
รัชกาลที่ ๗ ทรงตระหนักพระองค์อยู่เสมอว่า ทรงจบการศึกษาด้านการทหารมา ตลอดพระชนม์ชีพก็ทรงเรียนแต่วิชาการทหารจะทรงมีความรู้เรื่องการเงิน เศรษฐศาสตร์ หรือการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้อย่างไร ทรงเคยตรัสพ้อในปี ๒๔๗๔ ว่า “ข้าพเจ้าเป็นเพียงทหารจะไปรู้เรื่องมาตรฐานทองคำได้อย่างไร” นอกจากนั้นยังทรงตรัสว่า “ข้าพเจ้าจะไม่พูดอะไรมากนักเกี่ยวกับเรื่องการเงิน เพราะข้าพเจ้าไม่มีความเชี่ยวชาญทางด้านนี้นัก”
.
ด้วยเหตุนี้จึงเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างมากโดยเฉพาะในการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นทั้งประมุขของรัฐและผู้บริหารประเทศไปพร้อมกัน เพราะการตัดสินพระทัยด้านเศรษฐกิจต้องผ่านการเห็นชอบของพระองค์ ปัญหาทางเศรษฐกิจจึงนับเป็นปัญหาที่กวนพระราชหฤทัยอยู่เสมอมานับแต่การขึ้นครองราชย์เพราะทรงเป็นเพียงผู้มีความรู้ทางด้านทหาร ตลอดรัชสมัยจึงทรงรับแต่คำปรึกษาของผู้ที่มีความรู้ทางด้านเศรษฐกิจ บางครั้งพระองค์ก็ไม่เข้าใจว่าสิ่งที่ผู้ให้คำปรึกษาพูดคืออะไร ทรงกล่าวว่า “.. การที่จะรบกับการเงินนั้นย่อมมืดแปดด้าน...ข้าพเจ้าเองไม่รู้เรื่องการเงินเลย ก็ได้แต่ฟังความเห็นเขาไป...”
.
ปัญหาด้านเศรษฐกิจที่เกิดในรัชสมัยของพระองค์จึงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ราษฎรและข้าราชการบางส่วนไม่พอใจ เพราะเห็นว่ารัฐบาลของพระองค์ไม่มีความรู้ทางด้านการแก้ปัญหาเศรษฐกิจเลย ฎีกาที่เข้ามาถวายพระองค์มีแต่คำร้องทุกข์จากชาวนา และการร้องขอมาตรการต่าง ๆ ในการช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐบาล ในเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๗๕ มีชายคนหนึ่งกล่าวว่าเขาได้ร้องทุกข์ต่อรัฐบาลพระปกเกล้าฯถึง ๑๐๗ ครั้งแล้ว นอกจากนั้นมีผู้ร้องทุกข์คนหนึ่งกล่าวว่า ถ้าชาวบ้านถูกบีบให้ทิ้งที่นาเพราะไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าที่นา และคนตกงานมากขึ้นเมื่อไหร่ ก็จะเป็นอันตรายต่อประเทศ จึงควรจะมีการช่วยเหลือเยียวยาและแก้ปัญหาที่ดีกว่าที่ทำรัฐบาลพระปกเกล้าฯทำอยู่ การร้องทุกข์กล่าวโทษเช่นนี้แม้ว่าจะมีมากโดยเฉพาะในช่วง ปี พ.ศ. ๒๔๗๓ – ๒๔๗๕ แต่บางครั้งก็ถูกติเตียนและไม่เห็นค่าจากพระราชวงศ์ที่ทำราชการอยู่ ดังมีหลักฐานปรากฏว่า เจ้าฟ้าบริพัตรฯ ทรงบ่นว่าพวกนี้ไม่มีเงินเสียภาษี แต่มีเงินจ้างคนเขียนคำร้องทุกข์พวกนี้ส่งมา
.
ท้ายที่สุดแล้วปัญหาเศรษฐกิจก็ยังเป็นปัญหาที่ยังแก้ไขไม่ได้ เกิดการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลของพระปกเกล้าอย่างรุนแรงในหน้าหนังสือพิมพ์ แม้แต่ชนชั้นกลางก็ยังได้รับผลกระทบและไม่พอใจกับรัฐบาลในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ นักเขียนชาวฝรั่งเศสนามว่า พอล ดารเมย์ (Pol d’ Aramee) ได้ทำนายอนาคตประเทศสยามขณะนั้นไว้ในบทความหนึ่งที่พิมพ์ที่เมืองไซง่อน อินโดจีนฝรั่งเศส ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ ความว่า “สภาวะทางการเงินที่ฝืดเคืองมักนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเสมอมา และสยามก็คงจะไม่หลุดพ้นจากกฎข้อนี้” ท้ายที่สุดในเดือนต่อมา วันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ ได้เกิดระเบิดลูกใหญ่ของการทนไม่ไหว นั้นคือการเปลี่ยนแปลงการปกครองในสยามนั้นเอง
.
อ้างอิงข้อมูล : เบนจามิน เอ. บัทสัน, อวสานระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสยาม, (กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์), ๒๕๔๗, หน้า ๒๗๐ – ๓๓๙.