วันอังคาร, กรกฎาคม 20, 2564

สามความผิดพลาดของการรับมือโควิดที่จีน รัฐไทยต้องเรียนรู้



Arm Tungnirun
Yesterday at 4:46 AM ·

สามความผิดพลาดของการรับมือโควิดที่จีน
ผมรู้สึกว่า คำอธิบายที่แพร่หลายเกี่ยวกับความสำเร็จของการรับมือโควิดที่จีนนั้น ฟังดูง่ายเกินไป เช่น จีนสำเร็จได้เพราะล็อคดาวน์ ประชาชนมีวินัยเคร่งครัด คนฉีดวัคซีน(จีน)ได้เยอะ หรือเพราะจีนทำได้เพราะปกครองแบบจีน
เลยจะมาลองเล่าจากมุมว่าจีนได้ทำผิดพลาดอะไรไปบ้างในศึกโควิด และจีนถอดบทเรียนอย่างไร บางทีเรื่องเล่านี้ อาจให้ข้อคิดกับเราได้บ้างเกี่ยวกับการถอดบทเรียนให้ถูกต้อง การผิดพลาดได้แต่ต้องกลับลำให้เร็ว และการไม่มีคำตอบง่ายๆ ในเรื่องโควิด
ความผิดพลาดแรกสุด ก็คือ การไม่ล็อคดาวน์หรือใช้มาตรการเคร่งครัดที่อู่ฮั่น ตั้งแต่เริ่มต้นการระบาด รัฐบาลท้องถิ่นกลัวคนตื่นตระหนกตกใจ ออกมาสื่อสารว่าโรคนี้ไม่น่ากลัว หวัดธรรมดา ยังไม่มีหลักฐานว่าแพร่เชื้อระหว่างคนถึงคน ยังควบคุมได้ รู้ตัวอีกทีก็คือภาพคนกองแน่นโรงพยาบาลทั้งเมือง
คำวิจารณ์จากตะวันตกจะตั้งคำถามเรื่องความโปร่งใสของข้อมูล การไม่ยกระดับความดุเดือดในการต่อสู้ตั้งแต่แรกเหมือนที่จัดการกับซาร์ส์ มีวารสารวิชาการคำนวณว่า ถ้าจีนตัดไฟตั้งแต่ต้นลมได้แต่แรก คือล็อคดาวน์เร็วขึ้น 3 สัปดาห์ โรคนี้คงไม่ลุกลามมาถึงวันนี้
สิ่งที่รัฐบาลกลางตัดสินใจทันทีเมื่อไฟลามก็คือ ล็อคดาวน์และปิดเมืองอู่ฮั่นก่อนตรุษจีน ต่อมายังล็อคดาวน์เข้มข้นในทุกเมืองที่มีการระบาด นี่ก็ดูเหมือนเป็นการถอดบทเรียนความผิดพลาดที่อู่ฮั่นอย่างตรงไปตรงมา และกลายเป็นภาพความสำเร็จของจีนในการควบคุมการระบาด
แต่ในความสำเร็จก็มีความพังพินาศทางเศรษฐกิจและความไม่พอใจของประชาชนส่วนหนึ่งเช่นกัน ใครอยากอ่านภาพปัญหาและสภาพวิกฤตก็ลองไปเปิดอ่านไดอารี่จากอู่ฮั่นของนักเขียนชื่อดังของจีนเอา
มาถึงช่วงนี้คำวิจารณ์ตรงกันข้ามกับช่วงแรก คำวิจารณ์จากฝั่งตะวันตก (ในขณะที่ตะวันตกยังไม่มีการระบาด) คือจีนเล่นอะไรเบอร์ใหญ่แบบนี้ บ้าหรือเปล่าล็อคดาวน์ทั้งเมือง โรคนี้อัตราตายไม่ได้สูง มาตรการของจีนแรงไปไม่ได้สัดส่วน สิทธิเสรีภาพอยู่ที่ไหน ทั้งที่มีวิธีการที่ดีกว่า คือการตรวจเชื้ออย่างแพร่หลายให้มากที่สุดให้เร็วที่สุด เพื่อแยกผู้ติดเชื้อ และเรียนรู้ที่จะอยู่กับโควิด (นี่กลายมาเป็นแนวคิดกระแสหลักในตะวันตก)
คนจีนแม้จะงงว่า ตอนแรกบอกเราไม่จริงจังเร็วพอ พอเราจริงจังก็มาบอกว่าเราจริงจังเกินไป แต่ขงจื๊อ (น่าจะใช่) สอนว่า ใครวิจารณ์อะไรต้องแยกแยะให้ได้ว่าอันไหนเป็นคำวิจารณ์ที่ถูกต้อง อย่าทิ้งคำขมที่เป็นยาเพียงเพราะคิดว่าเขาคอยจับผิดเรา
ที่ฝรั่งวิจารณ์นั้นจริงมาก คือการตรวจเชื้อต้องสามารถทำได้แพร่หลายและแม่นยำ และถ้าเราถอดบทเรียนทั้งหมดให้ถูกต้องจริง วิธีการจัดการกับโควิดน่าจะเป็นการตัดไฟตั้งแต่ต้นลม ล็อคเร็ว สั้น และล็อคเฉพาะบางส่วน แต่จะทำได้ต้องอาศัยสิ่งที่ฝรั่งบอกว่าสำคัญที่สุดคือ ศักยภาพในการตรวจ
ศักยภาพในการตรวจไม่ได้ลอยมาจากสวรรค์นะครับ ช่วงที่สงบจากโรคระบาด จีนเร่งพัฒนาศักยภาพในการตรวจ พอถึงเดือนมกราคม จีนรายงานว่ามีศักยภาพตรวจ PCR ทั่วประเทศได้ 15 ล้านตัวอย่างต่อวัน และในทุกเมืองใหญ่ มีความสามารถในการปูพรมตรวจ PCR ประชากร"ทุกคน"ให้เสร็จได้ภายใน 5-7 วัน หากเกิดการระบาดระลอกใหม่
เมื่อตอนที่กวางโจว (ประชากรใกล้เคียง กทม) พบการระบาดเฉียดร้อยคนเมื่อเดือนมิถุนายน จีนเปิดจุดตรวจเคลื่อนที่ที่ใหญ่ที่สุด สามารถทำการตรวจได้ 150,000 ตัวอย่าง ต่อวัน เมื่อใช้เทคนิคเอาตัวอย่าง 10 ตัวอย่างมารวมกันในหลอดเดียว (หากตรวจพบ จึงค่อยแยก 10 คน มาตรวจอีกรอบ) จะทำให้เพียงจุดตรวจเดียว มีศักยภาพในการตรวจ 1,500,000 คน ต่อวัน
กลับมาดูที่ฝั่งตะวันตก ซึ่งอาศัยการตรวจที่แพร่หลาย แต่ไม่ล็อคดาวน์ทันทีตั้งแต่ไฟเริ่มปะทุนั้น สุดท้ายหลายประเทศและเมืองก็กลับมาจบที่ล็อคดาวน์อยู่ดี ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษหรือนิวยอร์ก เพราะระบบสาธารณสุขรองรับไม่ไหว แถมพอล็อคช้า จึงต้องล็อคนาน บางทีล็อค-คลาย ล็อค-คลาย ไม่จบไม่สิ้น แต่ในที่สุด สหรัฐฯ และอังกฤษก็มีไม้เด็ดคือวัคซีน ซึ่งมีประสิทธิภาพสูง ดังนั้น ตอนนี้แม้จะมีรายงานการระบาดเพิ่มขึ้นอีกรอบเพราะเชื้อสายพันธุ์ใหม่ แต่รายงานผู้เสียชีวิตน้อยลงมากมายชัดเจน
เรื่องวัคซีนนี่จีนผิดพลาดอย่างไร ถ้าเป็นคำวิจารณ์บางส่วนในจีนและจากนักวิชาการฝั่งตะวันตกก็คือ จีนแทงม้าผิดเทคโนโลยี เพราะถึงแม้ว่าจีนนั้นจะกระจายความเสี่ยงมาก ภายในจีนพัฒนาวัคซีนอยู่ในขณะนี้รวมกันถึง 90 ตัว และมีหลากหลายแพลตฟอร์มเทคโนโลยี แต่ตัวที่รัฐบาลทุ่มเงินมหาศาลในการสนับสนุนตั้งแต่เริ่มต้นนั้น ใช้เทคโนโลยีเชื้อตาย เพราะมั่นใจในความปลอดภัยของเทคนิคดั้งเดิมและมองว่าเร็วกว่าในการเข็นออกสู่ตลาด โดยมีสองม้าเต็งมาแต่ต้น ได้แก่ ซิโนฟาร์มของรัฐวิสาหกิจจีน กับซิโนแวคของเอกชน (ซึ่งได้รับเงินสนับสนุนมหาศาลจากภาครัฐ)
ในจีนนั้น ใช้ทั้งซิโนแวคและซิโนฟาร์มเป็นวัคซีนหลักควบคู่กัน และในจีนไม่ได้มองว่าสองตัวนี้มีความแตกต่างกัน เพราะเป็นวัคซีนเทคโนโลยีเชื้อตายเหมือนกัน ได้รับการรับรองจาก WHO เหมือนกัน ประสิทธิภาพจากการศึกษาไม่ได้แตกต่างกันนัก คนจีนทั่วไปมีความเข้าใจว่า วัคซีนไม่กันติด แต่กันป่วยหนักและกันตาย และฉีดเข็มแรกแทบไม่ช่วยอะไร ต้องฉีดให้ครบสองเข็ม ผ่านไปสองสัปดาห์เท่านั้น
ความผิดพลาดของจีนในเรื่องวัคซีนก็คือ ให้ความกังขาวัคซีน mRNA ในช่วงเริ่มต้น และที่หลายคนสงสัยก็คือ เพราะเหตุใดการอนุมัติวัคซีน mRNA ของ Biontech ที่ร่วมกับบริษัทจีนอย่าง Fosun เพื่อผลิตให้ตลาดจีน จึงช้าเป็นเต่าคลาน ทั้งๆ ที่เป็นสูตรเดียวกันกับไฟเซอร์ที่ใช้ไปค่อนโลกแล้ว ทั้งหมดนี้แน่นอนว่า คงมีหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นการเมืองภายในภายนอก เพราะวัคซีนหลักที่จีนทุ่มทุนมหาศาลในการลงทุนและใช้เป็นหลักในประเทศ รวมทั้งส่งออกช่วยประเทศต่างๆ ทั่วโลกเป็นวัคซีนเทคโนโลยีเชื้อตาย
แต่ตอนนี้หลายคนก็เริ่มสังเกตสัญญาณการปรับตัวของจีน ตั้งแต่ที่สื่อหลักของรัฐบาลจะไม่เสนอข่าวเชิงลบเกี่ยวกับเทคโนโลยี mRNA อีกต่อไป เริ่มมีการโปรโมตศักยภาพในการผลิตวัคซีน mRNA ของ Biontech + Fosun ซึ่งจะมีกำลังการผลิตได้ 1,000 ล้านโดสต่อปีสำหรับใช้ภายในจีนตั้งแต่เดือนสิงหาคม เริ่มมีการโปรโมตการเข้าใกล้ความสำเร็จของการพัฒนาวัคซีน mRNA ของบริษัทจีนเอง โดยบริษัทจีน Abogen ร่วมกับสถาบันวิทยาศาสตร์ของกองทัพจีน กำลังเร่งพัฒนาวัคซีน mRNA และได้เข้าสู่การทดลอง Phase 3 ไปแล้วในเดือนพฤษภาคม โดยโฆษณาว่าจะเป็นวัคซีน mRNA ที่เก็บได้ในอุณหภูมิตู้เย็นธรรมดา ซึ่งถ้าสำเร็จ จะตอบโจทย์ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายเพราะลดต้นทุนเรื่องการควบคุมความเย็น
เริ่มมีการปล่อยกระแสในสื่อบางสำนักว่าจีนอาจจะฉีดวัคซีน mRNA เป็น Booster dose ฟรีให้กับประชากร เพื่อรับมือการกลายพันธุ์ของเชื้อ และเพื่อให้สามารถค่อยๆ นำไปสู่การเปิดประเทศได้ (ขณะนี้ยังไม่มีการคอนเฟิร์มทางการจากภาครัฐ) ทั้งนี้จีนจะมีงานใหญ่ในปฏิทินคือการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวในต้นปีหน้า
ความผิดพลาดของจีนตอนไม่ล็อคดาวน์อู่ฮั่นกับตอนล็อคดาวน์อู่ฮั่น ล้วนมาจากการสรุปบทเรียนแบบง่ายเกินไป ทางเลือกไม่เคยเป็นทางเลือกเพียงล็อคดาวน์หรือไม่ล็อคดาวน์ แต่เป็นการผสมผสานระหว่างล็อคดาวน์/ไม่ล็อคดาวน์กับมาตรการต่างๆ ที่ต้องดีเพียงพอ เช่น ล็อคดาวน์ + มาตรการเยียวยาช่วยเหลือที่เต็มที่, ล็อคดาวน์เร็วและเฉพาะจุด + การตรวจปูพรม (ซึ่งต้องอาศัยการเตรียมศักยภาพการตรวจตั้งแต่ช่วงพักรบ), ไม่ล็อคดาวน์ไม่ปิดประเทศ + วัคซีนประสิทธิภาพสูงและฉีดได้กว้างขวาง
ไวรัสกลายพันธุ์ทำให้ยิ่งต้องปรับตัวเร็ว ในจีนตอนนี้แนวทางต่างๆ เกี่ยวกับเดลตาต่างจากแนวทางเมื่อเผชิญไวรัสเดิม (ตั้งแต่การขยายกลุ่มเสี่ยงที่ต้องกักตัว เพราะติดง่ายขึ้น ความถี่ของการตรวจเชื้อ เพราะเชื้อหลบซ่อน ฯลฯ) ตอนกวางโจวที่ผ่านมาเมื่อมิถุนายนนั้น จีนใช้ยาแรงกว่าอู่ฮั่นอีก ไม่ใช่แค่ปูพรมตรวจ แต่ต้องตรวจกันหลายครั้งต่อคนในเขตเสี่ยงสูง ทั้งหมดนี้ที่สามารถจำกัดขอบเขตความเสียหายทางเศรษฐกิจได้ เพราะมาตรการเยียวยา และการล็อคเร็ว ล็อคสั้น และเฉพาะจุด
ทั้งหมดนี้ไม่มีตรงไหนที่เป็นเรื่องที่มีแต่การปกครองแบบจีนเท่านั้นที่ทำได้ หรือเพราะความมีวินัยสูงของคน อย่างสิงคโปร์เองก็ใช้แนวทางใกล้เคียงกันในเรื่องการขยายศักยภาพการตรวจและล็อคดาวน์เร็ว แม้จะไม่เข้มข้นเท่าจีน (เพิ่มมาพร้อมการสื่อสารที่ชัดเจนของรัฐที่แสดงความเข้าใจประชาชนที่เดือดร้อน)
ปัญหาของไทยจึงเป็นปัญหาของการถอดบทเรียนส่วนหนึ่งด้วย เราเข็ดขยาดกับการล็อคดาวน์ที่แรงเกินเมื่อปีที่แล้ว เราจึงปฏิเสธการล็อคดาวน์ตั้งแต่เริ่มต้นในปีนี้ ทั้งๆ ที่เป็นเชื้อสายพันธุ์ใหม่ทั้งสายพันธุ์อังกฤษและเดลตา (และมีตัวอย่างวิกฤตหนักทั้งในอังกฤษและอินเดีย) ในขณะที่พลังเสริมอื่นๆ ไม่ว่าศักยภาพในการตรวจ หรือวัคซีนนั้นก็มีไม่เพียงพอ โดยเราก็ไม่พร้อมยอมรับอย่างตรงไปตรงมา
ซ้ำรอยด้วยความช้าในการปรับตัวและกลับลำเมื่อผิดพลาด ซึ่งจะโทษใครโทษอะไรดี ระบบราชการที่มีไม่รู้กี่คณะกรรมการและที่ไม่มีผู้รับผิดชอบชัดเจน (ในประเทศไทย ตกลงใครเป็นเบอร์ 1 รับผิดชอบเรื่องวัคซีน หรือเบอร์ 1 รับผิดชอบเรื่องการพัฒนาและขยายศักยภาพการตรวจ ซึ่งต้องอาศัยการนำเข้าเทคโนโลยีและ know how ของกระบวนการไม่ต่างจากวัคซีน) หรือว่าทุกอย่างโยนไปที่กรมควบคุมโรค (ซึ่งไปเตรียมแผนแล้วต้องเสนอผ่าน ศบค. ชุดเล็ก แล้วเข้า ศบค. ชุดใหญ่ ใช้เวลาเฉลี่ยหลักหลายวันหรือข้ามสัปดาห์?)
ทุกท่านทำงานเต็มที่และทุกท่านเหนื่อยสาหัส แต่เมื่อไหร่เราจะปลดล็อคระบบราชการและเข้าใจความเร่งด่วนฉุกเฉินยิ่งของสถานการณ์
ผิดพลาด ยอมรับ และรีบปรับ สื่อสารทิศทางให้ชัดเจน
รับผิดชอบไม่เหมือน “ได้สั่งการให้ทุกฝ่ายเร่งไปหาวัคซีนและขยายการตรวจ”
หาวัคซีนเป็นการเจรจาและการทูตระดับชาติ ที่ต้องมีหัวหน้าทีมเจรจาที่เป็นมือดีล ไม่ใช่ให้เจ้าหน้าที่กองไหนซักกองอีเมลไปถามทีละบริษัทว่ามีวัคซีนเหลือขายพี่ไทยบ้างไหม