ประยุทธ์อาจจะต้องเลือกเอาระหว่างเป็นประธานอาเซียนซัมมิต ปลายปีนี้
หรือจะเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง กลางปีหน้า
แหล่งข่าววงการทูตในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งข้อสังเกตุ
บทความของ ‘นิเคอิรีวิว’ เมื่อกลางอาทิตย์กล่าวถึงการเลือกตั้งทั่วไปในประเทศไทยที่จะจัดขึ้นในต้นปีหน้าตามคำมั่นของพล.อ.ประยุทธ์
จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันที่มาจากการยึดอำนาจ ว่าจะเป็นการลบล้างกฏเหล็กอย่างหนึ่งของกลุ่มประเทศอาเซียน
ที่ยึดถือกันโดยไม่มีลายลักษณ์อักษรมาเป็นเวลา ๕๐ ปี
ว่าประเทศใดที่ได้เป็นประธานองค์การระหว่างประเทศของภูมิภาคนี้
ตามระบบผัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปคนละปี จะไม่จัดให้มีการเลือกตั้งขึ้นในปีนั้นๆ เชื่อกันว่ามิฉะนั้นจะเป็นลางร้ายต่อความมั่นคงของประเทศดังกล่าว
มาร์วาน มาแคน มาร์คาร์
ผู้เขียนบทความยกตัวอย่างเหตุความวุ่นวายทางการเมืองเมื่อปี ๒๕๕๒
เมื่อประเทศไทยเป็นผู้จัดประชุมสุดยอดอาเซียนในเดือนเมษายนที่พัทยา มีฝูงชนเสื้อแดงไปประท้วงรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์
เวชชาชีวะ ซึ่งเป็นเจ้าภาพ แล้วมีกลุ่มต่อต้านใส่เสื้อน้ำเงินจัดโดยนายเนวิน
ชิดชอบ ใช้กำลังเข้าขัดขวางเกิดความรุนแรงจนต้องยุติการประชุมกลางคัน
ผู้เขียนอ้างแหล่งข่าวทางการทูตในกรุงเทพฯ ว่า “การเลือกตั้งในปีหน้ามีทางทำให้เกิดความไม่มั่นคงขึ้นได้”
โดยจะมีความตึงเครียดทางการเมืองทั้งก่อนและหลังเลือกตั้ง
ทั้งนี้ประยุทธ์ได้วางตัวเองที่จะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งโดยไม่ต้องผ่านการเลือกตั้ง
เพราะรัฐธรรมนูญใหม่ให้โอกาสเขาได้รับการเสนอชื่อสู่ตำแหน่ง
บทความทายทักด้วยว่าประวัติศาสตร์อาจจะไม่เข้าข้างประยุทธ์
จากกรณีของนักรัฐประหารไทยอีกคนในอดีต พล.อ.สุจินดา คราประยูร ผบ.ทบ. ในปี ๒๕๓๔
ยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้วขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีเช่นกัน รัฐบาลอายุสั้นของสุจินดาสิ้นสุดลงด้วยความรุนแรงในปีต่อมา
“มีคนตายจำนวนมาก” ดันแคน แม็คคาร์โก
ศาสตราจารย์ทางรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยลีดส์ ประเทศอังกฤษกล่าวถึงในการสัมมนาในกรุงเทพฯ
เมื่อต้นเดือนนี้เอง “ผมหวังว่าประวัติศาสตร์จะไม่ซ้ำรอยความมืดมนเช่นนั้นอีก”
แม้ว่าสุจินดาอยู่ในอำนาจได้เพียง ๔๘ วัน เพราะการประท้วงต่อต้านเกิดขึ้นแล้วทหารใช้ความรุนแรงเข้าจัดการ
“ผมช่วยไม่ได้ที่มีความรู้สึกว่าจะเกิด ‘เดจาวู’ ซ้ำรอยเดิมอีก
เมื่อเห็นมีการตั้งพรรคการเมืองขึ้นเพื่อสนับสนุนให้ประยุทธ์กลับมาเป็นนายกฯ”
ในวันที่ ๑๕ พฤศจิกายนนี้ สิงคโปร์จะส่งมอบตำแหน่งประธานอาเซียน
๑ ปีให้แก่ไทย ประยุทธ์จะได้เพิ่มรายการผลงาน “กลางเวทีกลางไฟ” ของเขาอีกอย่างหนึ่งในทางกิจการระหว่างประเทศเป็นครั้งแรก
แต่บทความในจาร์กาต้าโพสต์เมื่อเดือนกรกฎาคมถามว่า “อินโดนีเซียจะยอมให้เกิดขึ้นละหรือ”
ผุสดี สันติพิทักษ์ โฆษกกระทรวงต่างประเทศบอกกับนิเคอิว่าประเทศไทยเตรียมพร้อมที่จะรับเกียรติอันนี้
“ไม่ได้มีกฏเกณฑ์อะไรกำหนดไว้แน่นอน ‘ดำหรือขาว’ เกี่ยวกับการที่ประเทศซึ่งเป็นประธานอาเซียนจะจัดการเลือกตั้งขึ้นในปีนั้นหรือไม่”
เธอชี้ว่าถึงอย่างไรทางกระทรวงก็เตรียมการไว้พร้อมสรรพแล้วไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาลใหม่
กำหนดเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์
น่าจะทำให้สามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ทันให้ประเทศไทยสามารถจัดประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งแรกในเดือนเมษายน
ตามธรรมเนียมปฏิบัติปกติ ที่ประเทศเจ้าภาพต้องจัดประชุมขึ้นสองครั้ง “แต่ขึ้นอยู่กับเจ้าภาพจะกำหนดวันไหนก็ได้”
ผุสดีอ้าง
แหล่งข่าวในกระทรวงต่างประเทศไทยให้ความเห็นว่าอาจจะมีการเลื่อนประชุมอาเซียนครั้งแรกในปีหน้าไปเป็นเดือนมิถุนายน
และ “อาจจะจัดในกรุงเทพฯ” ผุสดีย้ำ ทว่าหากมีการเลื่อนเลือกตั้งออกไปอีกครั้ง จากกุมภาพันธ์เป็นพฤษภาคมหลังจากที่ประยุทธ์เคยเลื่อนมาแล้ว
๕ ครั้ง “ทุกๆ อย่างจะต้องเลื่อนตามไปหมด”
ประเด็นการเลื่อนเลือกตั้งนี้เอง ที่สื่อต่างประเทศ เช่น นิเคอิ
ไม่มีความเชื่อมั่นว่าจะไม่เกิดขึ้นได้ในประเทศไทย “ใครเล่าจะเพ้อพกว่าการเลือกตั้งของไทยทำให้แผนงานอาเซียนต้องปรับเปลี่ยนไปหมดได้”
แหล่งข่าวทางการทูตของนิเคอิคนนั้นพูดอย่างแม่นมั่นว่า
(ในประเทศไทย) “อะไรก็เป็นไปได้ทั้งนั้น”