มาแล้วโร้ดแม็พเลือกตั้งชนิดใกล้ความจริงเข้าไปอีกนิด เมื่อ
วิษณุ เครืองาม แฉไต๋ ‘ไทม์ไลน์’ เลือกตั้ง
ที่พี่ใหญ่ คสช. ชูสองกับสี่นิ้วแล้วไม่น่าพลาด
ทั่นรองฯ ฝ่ายกฎหมายชี้แจงต่อนักข่าวว่าการพูดคุยระหว่าง
คสช. กับพรรคการเมืองซึ่งกำหนดวันที่ ๗ ธันวานี้นั้น “เจตนาของการพูดคุยกันครั้งก็เนื่องจากมีคำถามใดๆ
ที่พรรคการเมืองเคยพบกับ กกต.แล้วถาม กกต.แต่ทาง กกต.ตอบไม่ได้ ให้ไปถาม
คสช.ก็จะมาถามกันในวันนั้น”
ส่วนเรื่องปลดล็อคพรรคการเมืองหาเสียง “คงจะไม่ได้ปลดล็อกกันในวันนั้น
แต่จะบอกให้รู้ว่าปลดล็อกวันไหน ซึ่งรายละเอียดของการปลดล็อกนี้ทาง
คสช.จะเป็นผู้ชี้แจงทั้งหมด”
แต่ตามเงื่อนเวลาของ พรป.เลือกตั้ง ส.ส.
ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ ๑๑ ธันวา แล้วจึงจะมี ‘พระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้ง’ ออกมา จากนั้นอีก ๕
วัน กกต. จะออกประกาศรายละเอียดเกี่ยวกับการเลือกตั้ง
รวมทั้งวันสมัครรับเลือกตั้งและสถานที่รับสมัคร
“และก่อนวันสุดท้ายของการรับสมัคร
ส.ส. พรรคการเมืองจะต้องเสนอชื่อบุคคลที่จะมาเป็นนายกฯ พรรคจะเสนอ ๑ ชื่อ ๒ ชื่อ หรือ ๓ ชื่อก็ได้ แต่เสนอชื่อซ้ำกันไม่ได้”
มาไล่เลี่ยกัน คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับใหม่ที่
๑๙/๒๕๖๑ จัดตั้งหน่วยงานกำกับ ดูแลการทำงานของรัฐบาลที่จะมีขึ้นหลังเลือกตั้ง เพื่อ
‘ขับเคลื่อน’ การปฏิรูปประเทศ
ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง
หน่วยงานนี้ให้เรียกว่า ‘สำนักงานขับเคลื่อนฯ’ มีฐานะเท่ากรม โดย “โอนบรรดากิจการ
ทรัพย์สิน งบประมาณ สิทธิ หนี้ และภาระผูกพัน” รวมทั้งพนักงานและลูกจ้างของ
สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่ยกเลิกไปตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่
๗๑/๒๕๕๙ มาอยู่ภายใต้สำนักงานใหม่นี้
นอกจากจะมีการแต่งตั้ง ‘ผู้อำนวยการ’ ทำหน้าที่บริหารงานองค์กรดังกล่าว ยังให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งคอยกำกับดูแล
เท่ากับว่าสำนักงานฯ เป็นผู้ปฏิบัติงาน คณะกรรมการเป็นผู้กำหนดนโยบายและสั่งงาน
กรรมการประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
รองนายกฯ หนึ่งคนกับรัฐมนตรีอีกสามคนที่นายกฯ เลือกนอกเหนือจากนั้นเป็นหัวหน้าหน่วยงานเพื่อการพัฒนาต่างๆ
รวมทั้ง กพ. กฤษฎีกา สำนักงบประมาณ และผู้ทรงคุณวุฒิที่นายกฯ เลือก ๓ คน
กับที่ขาดไม่ได้ คือ ‘ปลัดกลาโหม’ ต้องเป็นกรรมการด้วย
คณะกรรมการนี้มีอายุการทำงาน “เร่งรัด ขับเคลื่อนกำกับดูแล
และประเมินผล” ต่อ “การปฏิรูป ยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บท และแผนการสร้ำงความสำมัคคี” ไปอย่างน้อย ๕ ปี แล้วให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติพิจารณาว่าเห็นควรให้ยุติหรือไม่
ดูจากคอมเม้นต์ของ อจ.โสรัจจ์ หงส์ลดารมภ์ ที่ว่า “สนง.
นี้จะเป็นตัวป่วนรัฐบาลใหม่ เว้นแต่นายกจะยังเป็นประยุทธ์” ก็ใช่
ในเมื่อกรอบนโยบายของสำนักงานล้วนขึ้นอยู่กับ ‘แม่แบบ’ การปฏิรูป ยุทธศาสตร์ และการปรองดองที่กำหนดไว้โดย คสช.ทั้งนั้น
และคำสั่งที่อาศัยอำนาจมาตรา ๔๔ ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ๒๕๕๗
ควบกับมาตรา ๒๖๕ ของรัฐธรรมนูญใหม่ (๒๕๖๐) ให้มีผลบังคับใช้เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา
วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ นี้แล้ว
เท่ากับต่อนี้ไปอีก ๕ ปีเป็นอย่างน้อย
ประยุทธ์และคณะจะหายใจรดต้นคอรัฐบาลใหม่ไปตลอดอายุขัยของสำนักงานนี้
เว้นแต่ประยุทธ์กลับมาเป็นนายกฯ อีก
ลมหายใจเรื่องนี้อาจจะแผ่วจนเกือบไม่ได้ยินก็ได้