โอ้ว ข่าวดีทั้งนั้น นอกจากแจกคนละห้าร้อยคนละพันแล้ว
เศรษฐกิจไทยยังพองตัวมากกว่า ๔ เปอร์เซ็นต์ ส่งออกเพิ่มขึ้นเกือบ ๙%
ในเดือนตุลา นำเข้าก็มากขึ้นตั้ง ๑๑%
แต่ไหงแบ๊งค์ชาติบอกว่าต้องปรับอัตราขยายตัวของเศรษฐกิจลงไปอีกนิด
เนื่องเพราะดุลการค้ายังติดลบอยู่ตลอดไตรมาสที่สามของปีนี้ “เมื่อคิดเป็นเงินบาท
ขาดดุล ๙,๔๓๐.๕ ล้านบาท”
ซ้ำ “มองค่าเงินบาทผันผวนไปถึงปีหน้า ผู้ประกอบการจะต้องดูแลความเสี่ยงตัวเอง”
รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงินธนาคารแห่งประเทศไทยแจงว่า
คณะกรรมการนโยบายการเงินยอมรับว่าต้องปรับตัวเลขการเติบโตเศรษฐกิจลงจากที่ประมาณการไว้
๔.๔% ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าไอ้การพองตัวกว่า ๔% จะเป็นเท่าไร ๔.๑ ถึง ๔.๓ เหรอ
แต่ว่าเอาเถอะ ไหนๆ ก็เป็นข่าวดี
โดยเฉพาะที่รัฐบาลอนุมัติเงินเกือบ ๘ หมื่น ๗ พันล้าน (จากงบประมาณ กองกลาง)
ไปใช้เป็นอั้งเปาแจกคนแก่ตอนใกล้ส่งท้ายปีเก่า อย่างที่โฆษกรัฐบาลบอก เราเป็นคนรุ่นใหม่
อย่าทิ้งคนรุ่นเก่า เพราะประเทศเรากำลังเข้าสู่สังคมสูงอายุ
แต่ข้ออ้างของนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์
ที่ว่า “ดำเนินการมาร่วมปีกว่าจะถึงวันนี้...พอดีมาออกช่วงเวลานี้ ถือว่าเหมาะสม...ต้องให้ความเป็นธรรมกับรัฐบาลด้วย” มัน ‘obvious’ เห็นเจตนาค่อนข้างชัด ทำไมมีเวลาเกือบ ๕
ปี มาคิดได้เมื่อปีที่แล้วตอนมั่นใจจะอยู่ต่อนั่นเหรอ
กระทั่งตัวใหญ่ไปพูดยาวเป็นคุ้งเป็นแควอีกที่
‘กรุงเทพตะวันออก’ ตอนลงพื้นที่ตรวจราชการโรงเรียนวัดศรีบุญเรือง บางกะปิ ว่ารัฐบาลนี้ดูแล “คนที่อยู่ในครอบครัวที่เป็นวัยฉกรรจ์
วัยทำงานให้มีรายได้สูงขึ้น...เพียงแต่ก่อนหน้านี้ไม่ทำกัน พอมาทำวันนี้ก็อาจจะดูแปลกๆ
ไปนิด”
เขาอดไม่ได้ที่จะโทษคนโน้นคนนี้
จะว่านี่เป็นสัน...อะไรก็ไม่รู้ละ แหม่ คุณเฮียใช้คำว่า ‘ก่อนหน้านี้’ มันหมายถึงเกินสี่ปีเชียวหรือ “ยืนยันว่ารัฐบาลพยายามทำอย่างเต็มที่
เพื่อให้คนไทยมีความสุขที่ดีขึ้น แต่ต้องอาศัยเวลา
ถ้าทำมาก่อนหน้านี้ประเทศคงไปไกลแล้ว
แต่ตอนนี้เพิ่งจะสตาร์ต ดังนั้นอยากให้ทุกคนเข้าใจตรงนี้” นั่นน่ะสิ
แค่เมื่อสองสามปีที่แล้วทำซะ ก็ยังจะฟังดูดีกว่านี้ แทนที่จะมาพ่นเอาตอนใกล้จะห้าปี
ซ้ำร้ายเหมาหมดระยะยาวอีกด้วย
“๒๐ ปีข้างหน้าเราจะต้องพ้นรายได้กับดักปานกลาง
เราจะต้องสูงขึ้นไม่ใช่เตี้ยอยู่อย่างนี้...ถ้าทุกคนขออย่างเดียว แต่ไม่พูดถึงว่ารัฐบาลจะได้เงินมาจากตรงไหนมันก็ไม่ได้”
ทั้งๆ ที่รู้แก่ใจ ในเมื่อยังไม่มีปัญญาหาเงินเข้าคลังกันได้
ไอทู้บยอมรับ “รัฐบาลได้เงินมาจากการเสียภาษีของประชาชน
ซึ่งภาษีที่ได้มาไม่พอกับการจ่ายก็ต้องเอางบกลางมาใช้” มิน่า สองสามปีที่ผ่านมา
ทั้งลูกไล่ลัลิ่วล้อ คสช. ประเคนงบกลางฯ มากขึ้นๆ
เพราะเป็นเงินที่รัฐบาลใช้ได้ตามอำเภอใจ ไม่ผ่านกระบวนตรวจสอบ
อย่างนี้นี่เล่า ประชาชนที่สมองไม่นิ่มเหมือนสลิ่มถึงได้พากันโวยวายจน
กกต. ทนไฟลนก้นไม่ไหว ต้องออกมาแสดงอะไรสักอย่างเอาตัวรอดเมื่อมีเสียงเรียกร้องให้ออก
อันนี้ไม่ต้องเซอร์ไพร้ส์ เมื่อนายอิทธิพร บุญประคอง แถลงว่า
“หากพบว่าเป็นการอนุมัติงบประมาณที่เข้าข่ายการหาเสียงล่วงหน้า
สำนักงาน กกต.จะเป็นผู้ตรวจสอบ รวบรวมข้อมูล พยานหลักฐาน...เพื่อตั้งกรรมการไต่สวนต่อไป”
และว่า “ต้องตรวจสอบเพราะเป็นหน้าที่ กกต.อยู่แล้ว โดยไม่ต้องรอให้มีการร้องขอ”
(https://www.khaosod.co.th/politics/news_1858841 และ https://www.prachachat.net/politics/news-254069)
กกต.ไม่ต้องรอใครร้องขอ
แต่ประชาชนต้องรอผลการตรวจสอบ กรณีที่เข้าเนื้อ คสช. อย่างนี้ถ้าดูจากแนวทางขององค์กรอิสระภายใต้กะลาครอบของทหารอีกแห่ง
แบบ ปปช. ละก็รอกันจนเหนียงยานก็ยังตรวจไม่เสร็จ
“เราทำอะไรได้บ้าง” เป็นคำถามท่ามกลางความหดหู่
“ภายใต้บรรยากาศที่การชุมนุมทำไม่ได้
การโพสต์เฟซบุ๊กแต่ละครั้งก็ยังอยู่ใต้ความหวาดกลัว
และการเลือกตั้งต้องเป็นไปตามกติกาของ คสช.” ก็มีไอเดียหนึ่งผุดขึ้นเมื่อประมาณปีกว่าๆ
ขณะนี้ไปได้ครึ่งทางแล้ว
“กิจกรรมเข้าชื่อเพื่อ #ปลดอาวุธคสช หรือการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญเข้าชื่อให้ครบ
๑๐,๐๐๐ เพื่อเสนอร่างพ.ร.บ.ยกเลิกประกาศและคำสั่งคสช. รวม ๓๕
ฉบับ” ยังเป็นความหวังที่ ‘ทำได้’ การกรอกแบบฟอร์ม ข.ก.๑ ยังดำเนินอยู่