ที่ อ.โสรัจ หงส์ลดารมย์ บอก “ปธ.กกต.รับแบ่งเขตเลือกตั้งช้า
เหตุปัญหาสุขภาพต้องไปผ่าตัดตา” นั้น “ต้องเปลี่ยนตัวประธาน เอาคนไม่ป่วยมาเป็นแทน”
น่ะ ใช่เลย กกต.ถึงจะไม่ครบเจ็ด แต่ก็มีอยู่แล้ว ๕ คน จะปล่อยให้ประธานทำงานคนเดียวเชียวหรือ
นายอิทธิพร บุญประคอง โอดว่าเหตุที่การประกาศแบ่งเขตเลือกตั้งในราชกิจจานุเบกษา
“เคลื่อนออกไป” จากกำหนดวันที่ ๑๐ พ.ย. “มีสาเหตุมาจากเรื่องของสุขภาพ
ที่ผมต้องไปผ่าตัดตา”
ทั่นประธานฯ ยังอ้างอีกว่าการแบ่งเขตรอบแรกเสร็จตั้งแต่เมื่อ
๕ พ.ย.แล้ว “อยู่ในระหว่างทบทวนความถูกต้องก่อนนำไปประกาศ แต่เกิดปัญหาสุขภาพของผม”
ก็เลยล่าช้า แต่พอนักข่าวซัก ถ้างั้นบอกได้ไหมที่แบ่งไปแล้วอย่างไร
“นายอิทธิพรปฏิเสธที่จะให้ความชัดเจนเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้ง
ว่าจะต้องมีการรื้อใหม่ทั้งหมดหรือไม่ และไม่ขอตอบเรื่องแนวทางปฏิบัติของ กกต.
หลังมีคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ ๑๖/๒๕๖๑ ออกมา” ประธาน กกต. ยังยืนยันอีก
“จะไม่แบ่งเขตตามคำร้องขอของผู้มีอำนาจ เพราะคำสั่งหัวหน้า
คสช.ที่ ๑๖/๒๕๖๑ ก็บอกว่า การแบ่งเขตเลือกตั้งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด”
กฎหมายอะไรในเมื่อคำสั่งฯ ระบุให้ยืดเวลาประกาศแบ่งเขตออกไปตามใจ กกต.
และจะแบ่งเขตอย่างไรอยู่ที่ กกต.
ก็ถ้าผู้มีอำนาจไม่ได้ร้องขอ (เป็นลายลักษณ์อักษรหรือเปิดเผย)
แต่ขยิบตา หรือใช้วิธียักคิ้วหลิ่ว (เหล่) ตา อย่างที่ผู้มีอำนาจชอบทำล่ะ
แล้วการแบ่งเขตออกมาเป็นคุณแก่พรรคที่เสริมอำนาจคณะรัฐประหาร
เป็นโทษกับพรรคการเมืองฝ่ายไม่เอารัฐประหาร ตอนกระชั้นชิดใกล้จะเลือกตั้ง
พวกเขาก็พังกันไปแล้ว ‘damages would have been done’ แล้วมันจะบริสุทธิ์
ยุติธรรมละหรือ
ดูจาก พรบ.ไซเบอร์เป็นตัวอย่าง
มีเสียงท้วงกันอึงมี่ว่าให้อำนาจล้นฟ้า แก่คณะกรรมการ ‘ความมั่นคง’ ทางไซเบอร์ จน ‘ผู้มีอำนาจ’ ของ กกต. (และใครต่อใครในองค์กรแห่งรัฐกะลาแลนด์) สั่งให้เอากลับไปทบทวน
“ร่างฯ ดังกล่าวที่มีการเเก้ไขเเล้วจะถูกนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)
ในวันที่ ๒๐ พฤศจิกายนนี้” แต่มีผู้รู้ท่านหนึ่งออกมาชี้ให้เห็นความไม่ชอบมาพากล
ว่า “เสนอเข้ามาโดยที่มีการทบทวนเเก้ไขเพียงเล็กน้อยในส่วนของนิยาม
เเต่ยังคงหลักการเดิมในส่วนเนื้อหาที่เคยโดนทักท้วงไป”
นายศรีอัมพร
ศาลิคุปต์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์บอกว่า “ยังให้อำนาจคณะกรรมการเพื่อความมั่นคงทางไซเบอร์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐจะมีอำนาจเยอะ
โดยจะสามารถตรวจค้น จับกุม ยึดเครื่องคอมพิวเตอร์ หน่วยบันทึกความจำ
บังคับบอกรหัสเพื่อเปิดข้อมูลได้หมด โดยไม่ต้องมีหมายจับหมายค้น”
ผู้ที่ “เป็นห่วงว่าถ้าออกกฎหมายลักษณะเเบบนี้มา
จะเกิดความเสียหายจนประเทศอื่นๆ เขาไม่กล้าคบหาสมาคมด้วยเลย” ท่านนี้ยังชี้ถึงความอยุติธรรมของร่างกฎหมายดังกล่าวว่า
“แค่สงสัย ก็สามารถเข้าไปตรวจค้นยึดได้ทั้งหมด
ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานเอกชน
บริษัท ประชาชนทั่วไป ถือเป็นการเข้าไปยึดเพื่อตรวจสอบแจ้งข้อหาทีหลัง”
วิธีการเช่นนี้ปราศจากการตรวจสอบและถ่วงดุล
ซึ่งในทางสากลต้องผ่านการตรวจทานโดยตุลาการ นายศรีอัมพรอ้างว่า “อย่างประเทศจีนซึ่งมีระบอบการปกครองที่เเตกต่างจากเราเขายังไม่กล้าทำเลย”
หนักกว่านั้น “ที่นายกฯ เคยให้ถอนร่างไปดูก่อน
ไปดูมาเเล้วหรือยังได้ทำประชาพิจารณ์เเล้วหรือไม่
เรื่องนี้มันอาจกระทบทำให้โครงสร้างประเทศเปลี่ยนได้เลย”
โดยเฉพาะจะส่งผลตรงถึงการค้า การลงทุนจากต่างประเทศ
“ตรงนี้มันไม่ใช่เรื่องความมั่นคงอย่างเดียว
มันโยงถึงความลับทางการค้าความน่าเชื่อถือของประเทศเราด้วย”
ก็นั่นละ พวก คสช. นี่ทำอะไรไม่คิดไกล ทั้งที่อยากจะอยู่ยาว
๒๐ ปีนี่ละ มักเอาแต่ผลประโยชน์เฉพาะหน้า กับที่แอบไว้ ‘เบื้องหลัง’ อย่างกรณีที่นายแจ็ค หม่า ประธานอาลีบาบา บริษัทค้าออนไลน์ขนาดมเหาฬารของจีนมีข้อเสนอใหม่
จะซื้อที่ดินไทยในโครงการอีอีซีเป็นกรรมสิทธิ์
แทนที่จะเช่าดังที่กฎหมายเกี่ยวกับเขตเศรษฐกิจพิเศษของไทยกำหนด
โดยแลกกับการจัดสร้าง ‘ฮับ’ ขนาดยักษ์เป็นศูนย์โลจิสติกส์แทนฮับธรรมดา
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ไปรับข้อเสนอมาเมื่อตอนไปร่วมงาน ‘อิมพอร์ต-เอ็กซ์พอร์ต’
นานาชาติของจีนเมื่อเร็วๆ นี้
มีการสั่งการให้สองหน่วยงานเกี่ยวข้อง คือคณะกรรมการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก
กับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน “ร่วมกันในการหาทางออกให้กับข้อเสนอซื้อที่ดินว่าจะสามารถทำได้อย่างไร
และเกี่ยวพันกับกฎหมายฉบับใดที่เปิดช่องให้สามารถดำเนินการได้บ้าง”