https://www.nytimes.com/2018/11/19/opinion/economy-trump-red-blue-states.html
บทความของพอล ครุกแมนน่าคิดมากๆ ว่าพื้นที่บริเวณที่มีคนระดับกลางขึ้น การศึกษาสูง มีความชำนาญด้านเทคนิค อยู่เขตเมืองนั้นในทางการเมืองคือเขตเลือกตั้งของคนที่เลือกพรรคเดโมแครตทั้งนั้น โดยดูจาก การเลือกตั้งกลางเทอมที่เพิ่งผ่านไป
ส่วนคนขาวชั้นล่างที่อยู่นอกเมืองและในชนบทก็เลือกพรรครีพับลิกันและทรัมป์
การแบ่งสีและอุดมการณ์ดังกล่าวในอเมริกาเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยเกิดชัดเจนอย่างนี้มาก่อน และอนาคตที่จะทำให้มันสลายไปสู่การสมานฉันท์นั้น เขาบอกว่ายากมากๆ ขณะนี้มองไม่เห็นหนทางอะไรเลย
ทำให้กลับมาคิดถึงการเมืองและพรรคการเมืองไทยบ้าง ก็มีความละม้ายคล้ายกันเหมือนกัน แต่ต้องรอดูผลการเลือกตั้งครั้งหน้านี้ภายใต้รัฐธรรมนูญที่เขียน "เพื่อพวกเรา" ว่าจะเป็นอย่างไร
ถ้าผลออกมาว่า คนเมือง คนมีการศึกษา ชั้นกลางและสูงพากันไปเลือกพรรคพลังประชารัฐ หรือพรรคที่หนุนหัวหน้าคสช.ให้กลับมาเป็นนายกฯอีก ๒๐ ปี
ส่วนคนชนบท คนชั้นกลางล่าง คนต้านรัฐประหาร ไปเลือกพรรคตรงข้าม เราก็จะได้การเมืองสองขั้วแบบอเมริกาเหมือนกัน ต่างกันที่การเปลี่ยนแปลงในระบบการเมืองอเมริกาดำเนินไปตามรัฐธรรมนูญที่เป็นเสรีนิยมมากกว่าอำนาจนิยม และพลังในการเปลี่ยนต้องมาจากเสียงข้างมากของประชาชน ไม่ใช่มาจากคนกุมอาวุธหรืออำนาจพิเศษนอกระบบใดๆทั้งสิ้น
ดังน้้นอนาคตการเปลี่ยนแปลงในระบบการเมืองอเมริกันจึงไม่ลึกลับ ไม่ขึ้นต่อความพอใจและต้องการของใครคนใดคนหนึ่ง หากจะดำเนินไปตามตรรก และความเป็นเหตุเป็นผล อันจะนำไปสู่การสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ระบบการเมืองในระยะยาว
ส่วนของระบบการเมืองไทยนั้นทุกอย่างแทบตรงกันข้ามกับของอเมริกันเลย อะไรที่จะเกิดขึ้นต่อไป แทบจะไม่เป็นคุณูปการต่อการสร้างระบบการเมืองที่มีเหตุผล มีตรรกและมีประสิทธิภาพใดๆได้เลย เพราะมันล้วนไม่ได้เกิดและโตมาตามสภาพที่เป็นจริงของมัน หากแต่ถูกสร้าง เนรมิต ฝัน และบังคับด้วยอำนาจนอกระบบให้จำต้องเกิดขึ้นมา เราอยู่กับความฝัน ไม่ใช่ความหวัง