วันเสาร์, พฤศจิกายน 17, 2561

ยุทธศาสตร์ "แตกแบงก์ย่อย" : 4 อุปสรรคที่อาจทำให้ยุทธศาสตร์สร้างพรรคสาขาของพรรคเพื่อไทย ไม่สำเร็จ - BBC Thai



GETTY IMAGES


เลือกตั้ง 2562 : “ระบอบทักษิณ” กับ ยุทธศาสตร์ “แยกกันเดิน ร่วมกันตี”


โดย หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
16 พฤศจิกายน 2018


การจัดเกลี่ยกำลังนักเลือกตั้งจากพรรคเพื่อไทยไปไทยรักษาชาติยังไม่ลงตัวด้วยเหตุผลอย่างน้อย 4 ประการ แม้พวกเขาตั้งเป้าหมายส่งผู้สมัคร 150 คน "บุกไปแพ้" ในสนามเลือกตั้ง เพื่อหิ้ว ส.ส. บัญชีรายชื่อเข้าสภาราว 40 คนก็ตาม

พรรคเพื่อไทย (พท.) ภายใต้การนำของ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ ประธานกรรมการยุทธศาสตร์การเลือกตั้งของพรรค กำลังตกอยู่ในภาวะระส่ำระสายจากการตัดตัวแกนนำ-แกนตามว่าใครจะอยู่หรือย้ายสังกัด หลังหลายคนรู้แน่ชัดว่า "หมดสิทธิ์" มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ หรือปาร์ตี้ลิสต์ ในการเลือกตั้งปี 2562

เมื่อมีปัญหา ก็ต้องพากันไปหา "นายใหญ่" ทักษิณ ชินวัตร และ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ประเทศสิงคโปร์ ในช่วงสุดสัปดาห์นี้ เพื่อขอ "คำแนะนำที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจ" ขณะที่บางส่วนส่วนเลือกสื่อสารผ่านเทคโนโลยีอย่างสไกป์



ด้านพรรคเพื่อธรรม (พธ.) ของ สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรค อดีตแกนนำ พท. กำลังถูกปล่อยให้เป็น "บ้านร้าง" หลังระดับนำของ พท. ประเมินว่า "คดียุบพรรค" จะยังไม่เกิดขึ้นก่อนวันเลือกตั้ง แผนสำรองว่าด้วยการผ่องถ่าย ส.ส. แบบแบ่งเขตเกรดเอไปพรรคสำรองจึงเป็นอัน "ยกเลิก"



LIGHTROCKET VIA GETTY IMAGES
คำบรรยายภาพนายจตุพร พรหมพันธุ์ ผู้สนับสนุน พช. ตั้งเป้าหมายเก็บกวาดคะแนนเสียงตกน้ำให้ได้ 1,000-3,000 คะแนน/เขต โดยเตรียมส่งสมาชิกของ นปช. ที่ไม่มีพื้นที่ใน พท. ลงสมัครรับเลือกตั้ง


พรรคเพื่อชาติ (พช.) กำลังกัดกร่อน-กัดกินคะแนนเสียงของ พท. เมื่อแกนนำพรรคอย่าง จตุพร พรหมพันธุ์ ที่สวมหมวกหลักเป็นประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) อยู่ในสภาพ "นอกเหนือการควบคุม" กับแกนนำคนเสื้อแดงที่อยู่ในปีก พท.

พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ที่มีหัวหน้าชื่อ ร.ท. ปรีชาพล พงษ์พานิช อดีต ส.ส. ขอนแก่น พท. กำลังหาทางปรับภาพลักษณ์ใหม่ จากภาพจำแรกที่ถูกมองว่าเป็น "พรรคเด็กเล่น" หรือ "พรรคทักษิณชินฯ" ให้เป็น "พรรคนักประชาธิปไตย" เมื่อเริ่มมีอดีตนักการเมืองรุ่นใหญ่ตามไปสมทบ

ทั้งหมดนี้คือความสับสนอลหม่านที่เกิดขึ้นจาก "คณิตศาสตร์การเมือง" ตามข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ซึ่งพรรคพวกของทักษิณพยายาม "แก้โจทย์"

ต้อง "แตกแบงก์ย่อย" เพราะ...

ภายใต้ระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม พรรคใดประสงค์จะได้ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ 1 คน ต้องเก็บคะแนนเสียงจากผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตทั่วประเทศให้ได้ 70,000 คะแนน (ดูวิธีคำนวณได้ที่นี่)




บีบีซีไทยตรวจสอบผลการเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งล่าสุดปี 2554 พบว่า มีเพียง 32 เขต จากทั้งหมด 375 เขต ที่ ส.ส. ชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงเกิน 70,000 คะแนน แบ่งเป็นพื้นที่ของ พท. 18 เขต ทั้งหมดอยู่ในภาคเหนือและอีสาน และพรรคประชาธิปัตย์ 14 เขต ซึ่งอยู่ในภาคใต้

ขณะที่ "ค่าเฉลี่ย" ของอดีต ส.ส. พท. อยู่ที่ 40,000-45,000 คะแนน นั่นหมายความว่าแม้ชนะเลือกตั้ง ส.ส. เขต แต่คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ "ติดลบ" กลายเป็นที่มาของการคิดยุทธศาสตร์ "แยกกันเดิน ร่วมกันตี" ที่ถูกคู่ต่อสู้ทางการเมืองให้สมญาว่า "แตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย" เพื่อกระจายอดีตผู้สมัครเกรดบีไปเก็บคะแนนที่เคยเป็น "เสียงตกน้ำ" กลับมาให้พรรคต้นสังกัด





ทษช. ส่งคน "บุกไปแพ้" 3 ภาค แต่ได้ ส.ส. 40 คน

อดีตรัฐมนตรีในสังกัด พท. รายหนึ่ง กล่าวกับบีบีซีไทยว่า ทษช. ตั้งเป้าหมายส่งผู้สมัคร ส.ส. ในพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ รวม 130-150 เขต

แม้เป็นการส่งคน "บุกไปแพ้" แต่ก็คาดว่าจะทำให้พรรคมีคะแนนเสียงราว 2.6-3 ล้านเสียง ซึ่งเมื่อคำนวณแล้วหมายถึงโอกาสหิ้ว ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อเข้าสภา 37-42 คน ทั้งหมดนี้ประเมินบนสมมติฐานที่ว่าผู้สมัคร ส.ส. เกรดบี 1 คน จะทำคะแนนได้ 20,000 คะแนน

แกนนำ พท. รายนี้บอกว่าด้วยว่า การแก้โจทย์รัฐธรรมนูญด้วยการ "แตกแบงก์ย่อย" เป็นวิธีคิดที่ถูกต้อง เพราะถ้าย้อนดูสถิติในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดจะพบว่า พื้นที่ภาคใต้ซึ่ง พท. ไม่เคยมี ส.ส. เขตแม้แต่คนเดียว ผู้สมัครของพรรคกลับทำคะแนนเสียงรวมกันใน 53 เขตเลือกตั้ง (การเลือกตั้งปีหน้าลดเหลือ 50 เขตเลือกตั้ง) ได้ถึง 5 แสนเสียง นี่คือ "เสียงตกน้ำ" ที่พรรคมีโอกาสนำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์




ขณะที่พื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสานซึ่งเป็น "ฐานที่มั่นหลัก" ของ พท. มีความเป็นไปได้สูงว่า ทษช. จะ "งดส่งผู้สมัคร" เพราะ ส.ส. เขตเกรดเอเกือบทั้งหมดจะยังอยู่ในสังกัดเดิม

เปิด 4 เหตุผล "พรรคปาร์ตี้ลิสต์" ส่อสะดุด

แม้ยุทธศาสตร์ "แตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย" ที่แกนนำ พท. คิด จะเห็นตรงกับ "ผู้นำจากแดนไกล" จนเกิดเป็น ทษช. ซึ่งถูกวางบทบาทให้เป็น "พรรคปาร์ตี้ลิสต์" ทว่าหลายเสียงใน พท. กลับบอกว่าสิ่งที่ "ทักษิณคิด เพื่อไทยทำไม่ได้"

บีบีซีไทยสรุปปัจจัยที่เป็นอุปสรรคในการแตกพรรคได้อย่างน้อย 4 ประการ

อุปสรรคแรก ผู้สมัคร ส.ส. ไม่อยากย้ายไปสังกัด "พรรคอายุ 2 สัปดาห์" เพราะการอยู่ใน "พรรค 11 ปี" อย่าง พท. นั้นหาเสียงง่ายกว่า อีกทั้งยุทธศาสตร์เก็บ "เสียงตกน้ำ" ของทักษิณกับพวก ทำให้เกิดความเชื่อในหมู่ผู้สมัครว่าหากใครถูกชี้ตัวให้ย้ายไปสังกัด ทษช. มีโอกาสเป็น "ส.ต." (สอบตก) มากกว่า "ส.ส."


NURPHOTO VIA GETTY IMAGES
คำบรรยายภาพคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ หัวหน้ากลุ่ม กทม. ปรับลุคส์ใหม่ระหว่างเข้าร่วมประชุม พท. เมื่อ 28 ต.ค. ซึ่งขณะนี้ยังไม่แน่ชัดว่าเธอจะลงสมัคร ส.ส. แบบใด หลังมีการประเมินว่า พท. หมดโอกาสมี ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ


อุปสรรคที่สอง ผู้สนับสนุนคุณหญิงสุดารัตน์เดินเกมทั้งบนดิน-ใต้ดิน เพื่อ "ยื้อ-ยึดดึง" ผู้สมัคร ส.ส. ทุกคนให้ร่วมหัวจมท้ายกันต่อไป โดยสื่อไทยหลายสำนักได้รายงานข่าว "ทักษิณโพล" โดยอ้างแหล่งข่าวระบุว่าทักษิณได้ว่าจ้างบริษัทวิจัยระดับโลกจากสหรัฐฯ ลงพื้นที่สำรวจคะแนนนิยมของ พท. และพรรคเครือข่าย พบว่ามีโอกาสได้ ส.ส. 290 เสียง ในจำนวนนี้เป็นของ พท. 200 เสียง

ต่อมามีการเปิดเผยชื่อ "มือปล่อยโพล" ว่าคือ "นักการเมืองคนสนิทของหญิงหน่อย" รายหนึ่ง ซึ่งสมาชิก พท. เองก็ยังไม่มั่นใจว่าใช่โพลของทักษิณจริงหรือไม่ แต่ตั้งข้อสังเกตกันว่าหากผู้สมัคร ส.ส. ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ย้ายสังกัดจริง ความใฝ่ฝันของ "นารี" ที่วาดหวังว่าจะมีชื่อเป็น "นายกฯ บัญชี" ของ "พรรค 200 เสียง" อาจหดเล็กลงตามขนาดพรรค 100 กว่าเสียง

อุปสรรคที่สาม นักการเมืองรุ่นใหญ่ที่จะย้ายไปสังกัด ทษช. เพื่อสลัดภาพ "พรรคเด็กเล่น" ยังมีจำนวนไม่มากและไม่โดดเด่นพอ เนื่องจากบางส่วน "ถูกล็อก" อยู่ที่ พท. อาทิ พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล อดีต รมว. คมนาคม, ชูศักดิ์ ศิรินิล อดีต รมต. ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, ชัยเกษม นิติสิริ อดีต รมว. ยุติธรรม ที่มีชื่อเป็นคณะกรรมการคัดเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งของ พท. หากลาออกจะทำให้พรรคต้องจัดการประชุมใหญ่เพื่อเลือกคณะกรรมการคัดเลือกผู้สมัครฯ ใหม่


NURPHOTO VIA GETTY IMAGES


ไม่ต่างจาก พงศกร อรรณนพพร อดีต รมช. ศึกษาธิการ และเลขาธิการ พธ. ที่คิดไม่ถึงว่าจะถูก "ลอยแพ" เมื่อทักษิณกับพวกไม่ผ่องถ่าย ส.ส. ไปอยู่เพื่อธรรมจนกลายเป็น "บ้านร้าง" ทั้งที่ภริยาของเขาเป็น 1 ใน 18 ส.ส. ของ พท. ที่มีคะแนนเสียงทะลุ 7 หมื่นคะแนน

ถึงขณะนี้มีอดีตรัฐมนตรี 5 คนเข้าไปสังกัด ทษช. ได้แก่ วรวัจน์ เอื้ออภิญญากุล อดีต รมว. วิทยาศาสตร์และเทคโนโลนี, กฤษณา สีหลักษณ์ อดีต รมต. ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, พิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว. พลังงาน, เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช อดีต รมช. มหาดไทย, สุธรรม แสงปทุม อดีต รมช. ศึกษาธิการ

ขณะเดียวกันมีอดีตรัฐมนตรีอีกอย่างน้อย 2 คนที่มีภาพ "ฝ่ายประชาธิปไตย" ยังอยู่ระหว่างการตัดสินใจ-แสดงความชัดเจนต่อสาธารณะคือ จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี กับ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีต รมช. พาณิชย์ และแกนนำ นปช. ทว่าด้วยภาพลักษณ์ "พรรคลูกหลานทักษิณ" ที่ผู้วางกลเกมจงใจวางทาบทับ ทษช. เพราะคิดว่า "ชินวัตร" คือ "จุดขาย" และ "จุดแข็ง" ในสนามเลือกตั้ง ทำให้การตัดสินใจของทั้ง 2 คนไม่ใช่เรื่องง่าย


AFP/GETTY IMAGES
คำบรรยายภาพประชาชนเข้าให้กำลังใจนายจาตุรนต์ ฉายแสง บริเวณศาลทหารกรุงเทพ หลังตกเป็นผู้ต้องหาคดีฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. เรียกรายงานตัว และคดียุยงปลุกปั่นตาม ม.116 และผิด พ.ร.บ. คอมพ์ฯ ภายหลังรัฐประหารปี 2557


กล่าวสำหรับจาตุรนต์มีต้นทุนของ "ผู้ยึดมั่นในอุดมการณ์ประชาธิปไตย" ส่วนณัฐวุฒิมีองค์กรมวลชนที่ต้องรักษา หากผลการตัดสินใจของทั้งคู่ออกมาแบบ "ไม่ถูกใจกองเชียร์" อาจเป็นการ "ทิ้งต้นทุน" ที่สั่งสมมาทั้งชีวิต หรือ "สลัดองค์กร" ที่ปลุกปล้ำทำกันมา แล้วเปลี่ยนเป็นภาพนักเลือกตั้งที่ "แอบ-แนบ-ชิด ทักษิณ"

อุปสรรคที่สี่ การแตกพรรคทำให้เกิดปัญหาเรื่องการจัดทำนโยบายและการจัดทีมปราศรัยหาเสียง ซึ่งประเด็นนี้จะสัมพันธ์กับการจัดคนไปยืนเป็นแถวหน้าของ ทษช. เพื่อโน้มน้าวสังคมให้เชื่อว่าเป็นการแยกกันเดินเพื่อให้ฝ่ายประชาธิปไตยมีหนทางชนะ ไม่ใช่การแตกพรรคเพื่อแสวงหาอำนาจทางการเมืองให้ใครบางคน

10 ตก 3

นอกจากปัจจัยที่เป็นอุปสรรคในข้างต้น มีอีกสถิติที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ ในการเมืองไทยตามการรวบรวมข้อมูลของนักการเมืองและนักวิเคราะห์การเมืองและเป็นสิ่งที่ "ประมาทไม่ได้" เพราะในทุกการเลือกตั้ง จะมี ส.ส. หน้าเดิมสอบตกร้อยละ 30 นั่นหมายความว่าตัวเลขที่แต่ละพรรคกะเกณฑ์กันว่าจะได้เท่านั้นเท่านี้อาจผิดไปจากเป้า



THAI NEWS PIX
คำบรรยายภาพร.ท. ปรีชาพล พงษ์พานิช เป็นอดีต ส.ส. ที่ได้คะแนนเสียงเกิน 7 หมื่นคะแนน ทว่าเมื่อมารับตำแหน่งหัวหน้า ทษช. เขาต้องลงสมัคร ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์


นอกจากนี้อาจมี "ตัวละครอื่น ๆ" ที่ทักษิณส่งมาสร้าง "บิ๊กเซอร์ไพร์ส" ทางการเมืองในวันเปิดชื่อ "นายกฯ ในบัญชี" ของพรรคเครือข่าย ซึ่งจะรู้แน่ชัดในวันรับสมัคร ส.ส. ในช่วงกลางเดือน ม.ค. 2562 ตามปฏิทินของ กกต.