กำลังโงนเงนไม่เป็นท่า จากที่ ‘แก้ไม่ตก’ ปัญหาการครองชีพของประชาชน ก็ให้ไม่บังเอิญมีตัวช่วยแทรกขึ้นมา ‘ซูเปอร์โพล’ ของ นพดล กรรณิกา เจ้าเดิม ทู่ซี้กันมาแปดปีแล้ว ยังขุดเอามาใช้เป็น ‘damaged control’ ได้เสมอ
โฆษกทำเนียบฯ เอามาอ้าง “ร้อยละ ๘๒.๐ ยังต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นผู้ถือธงนำ เพราะกล้าเปลี่ยนแปลงการเมืองใหม่ การบริหารงานใหม่ๆ” แหม ไปแย่งซีนพรรคของ กรณ์ จาติกวนิช อีกต่างหาก บอกนายกฯ ตู่ กล้ารับผิดชอบ
“ทุกเรื่องวิกฤตในนามของรัฐบาล แม้ว่าจะเป็นเพราะหน่วยงานในหน้าที่ อาจจะปล่อยปละละเลยจนมีการสะสมปัญหา” อ่า ปกติโทษประชาชนเป็นนิจสินอยู่แล้ว นี่หันมาโทษลูกน้องตัวเองบ้าง กล้าแบบนี้เขาว่า ‘บ้าบิ่น’ ตีมือที่คอยดันก้นตนอยู่นะ
ส่วนประเด็นวิชาการ ให้ Ponson Liengboonlertchai แง้มกฎหมายรัฐธรรมนูญดู “เพราะเอาเข้าจริงแล้ว...คำว่า ‘รับผิดชอบ’ นั้นไม่ได้หมายถึงเพียงแค่การปฏิบัติหน้าที่ในขอบงานของตนเองเท่านั้น” มันมีเรื่องของความรับผิดชอบเป็นส่วนตัวอยู่ด้วย
ข้อนี้ อจ.พรสันต์ขยายความว่า “ยังหมายถึงการหยุดปฏิบัติหน้าที่ หากการทำงานของตนเองไม่มีประสิทธิภาพ หรือก่อให้เกิดความเสียหาย” ซึ่ง “ยังไม่เห็นความกล้ารับผิดชอบของนายกฯ ตรงนี้เลย” แล้วดันทุรังด้านหน้ามาคุย
'ตู่อยู่หมูแพง' ดังที่เครือข่ายนักศึกษารามฯ ไปจัดทำกิจกรรมหน้าทำเนียบ เขวี้ยงผักเกลื่อนพื้นถนนประชดราคาหมูเฉียด ๓๐๐ บาทต่อโล ก็ผักราคาถูกเสียจนหมูเองก็คงเอือม ที่เชียงใหม่เกษตรกร อ.แม่วาง ขนผักกาดขาวออกมาขายทอดตลาด โลละบาทเดียว
ทั้งหมดนี่สภาองค์กรผู้บริโภคยืนยัน รัฐบาลประยุทธ์ต้องถลกแขนเสื้อลงมือแก้วิกฤตเสียที มันเริ่มจากราคาน้ำมันนานแล้ว ตอนนี้กระทบเป็นลูกโซ่ หมู ไก่ ไข่ และประเภทอาหารเกือบทุกอย่าง มาตรการที่รัฐต้องทำเร่งด่วนอย่างน้อยๆ ๓ ข้อ
หนึ่ง ควบคุมราคาสินค้าจำเป็น อาหาร ของใช้ประจำวัน และพลังงาน สอง ต้องเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ อันเป็นนโยบายหาเสียงของพรรคพลังประชารัฐอย่างหนึ่งที่ทำไม่ได้ และสาม ต่อมาตรการช่วยค่าน้ำค่าไฟชาวบ้าน ซึ่งจบไปตั้งแต่เดือนกันยาที่แล้ว
นั่นเป็นข้อเสนอแนะจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย จากการสำรวจพบว่าเวลานี้คนกรุงเทพฯ ต้องปรับตัวให้เข้ากับค่าครองชีพที่ถีบตัวสูงขึ้นน่าใจหาย ชาวกรุงเกือบ ๙๐% จะจับจ่ายเฉพาะของจำเป็น ๔๔% เปลี่ยนยี่ห้อไปหาของราคาถูก กว่า ๕๐% งดสังสรรค์บันเทิงเพื่อประหยัด
เสร็จแล้วปัญหาบางอย่างอยู่แค่ปลายจมูก ‘ตู่’ ไม่ยักกล้าจัดการ อย่างเช่นราคาเนื้อหมูตามเขียงแตะไม่ลง แต่เจ้าของฟาร์มหมูแห่งหนึ่งที่ระยองออกมาโวย อะไรกันหมูเล้าฉันนับพันตัว ราคาโลละ ๖๐ บาทยังขายไม่ออก แล้วหน้าเขียงราคา ๒๐๐-๒๒๐ ได้อย่างไร
‘ใครอม’ นี่ต้องให้ Thuethan Prasobchoke เล่า เขาบอกว่าราคาหมูที่ฟาร์ม ถูกขนาดนั้นเพราะเป็นไร่แบบเกษตรพันธสัญญา หรือ ‘contact farming’ ซีพีจะกดราคาซื้อที่ ๖๐ บาท แต่ไปปล่อยให้เขียง ๒๐๐ บาทงี้ ทำอะไรเขาไม่ได้
เรื่องของเรื่องมันอยู่ที่ ประยุทธ์โว หมูตายเพราะอหิวาห์ แค่ ๒๐% ใครวะทำให้หมูแพง เออ ช่างกล้าพูด “แล้วก็เอาเงินภาษี ๑,๔๐๐ ล้านไปช่วยซื้อไก่ ซึ่งรายใหญ่ที่ขายไก่ก็เจ้าเดียวกับหมู เอาไก่มาขายแก้หมูแพง” เจ้าสัวก็เลยได้กินทั้งไก่ทั้งหมู
แล้วไม่ใช่แต่ประยุทธ์เท่านั้นที่พูดพล่ามส่อเสียด พรรคร่วมรัฐบาลรับประทานกระทรวงพาณิชย์ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เคยเขียนคอมเม้นต์-วาดการ์ตูนเอาไว้เมื่อปี ๕๖ เรื่องสินค้าบริโภคราคาแพง กะหล่ำปลีเคยโลละ ๒๐ ขึ้นเป็น ๕๐ (ปลอดสาร ๘๐)
เนื้อหมูตอนนั้น (๙ ปีก่อน ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์) โลละ ๑๕๐ บาท ‘อู๊ดด้า’ บอกว่า “แพงจริงๆ ครับ” ตอนนี้ Decharut Sukkumnoed เป็นฝ่ายถาม รมว.พาณิชย์บ้าง ทั่น รมว.จะไม่แสดงความกังวลใจเรื่องของแพงบ้างละหรือ
อจ.เดชรัตไปค้นดัชนีราคาสินค้าบริโภคของปี ๕๖ “พบว่ามีค่าเท่ากับ ๙๕.๗๑ (เป็นดัชนีราคาที่มีปี ๒๕๖๒ เป็นปีฐาน) ส่วนข้อมูลดัชนีราคาล่าสุด เดือนธันวาคม ๒๕๖๔ เท่ากับ ๑๐๑.๘๖ หรือเท่ากับว่าราคาสินค้าโดยทั่วไปแพงขึ้นประมาณ ๖.๔% ครับ”
คำนวณได้ว่า ถ้าปี ๕๖ ราคาหมูโลละ ๑๕๐ ซึ่งจุรินทร์รับไม่ได้ แล้วเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมาราคาต้องอยู่ที่ ๑๕๙.๖๐ บาท อู๊ดด้าก็ต้องรับไม่ได้เช่นกันใช่ไหม แล้วนี่ราคาหมูหน้าเขียงเกินโลละ ๒๐๐ บาททั้งนั้น ทั่นรัฐมนตรีว่าการพาณิชย์ ไหงเงียบกริบ
(https://www.facebook.com/decharut.sukkumnoed/posts/4740434052715175, https://www.facebook.com/NewsWorkpoint/posts/4998378883533737, https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=2221936204611367&id=100003850270527, https://www.chiangmainews.co.th/page/archives/1902221/ และ https://www.matichon.co.th/politics/news_3139048)