วันเสาร์, พฤษภาคม 07, 2559

‪นึกถึง "แม่”(Mother) วรรณกรรมชิ้นเอกของ “แม็กซิม กอร์กี้”(Maxim Gorky)






"แม่”(Mother) วรรณกรรมชิ้นเอกของ “แม็กซิม กอร์กี้”(Maxim Gorky)


ที่มา OK Nation11 สิงหาคม 2553

“แม่เป็นคนร่างสูง หลังงอนิดหน่อย เรือนร่างของแม่ถูกทำลายยับเยินด้วยงานหนัก และการทุบตีของพ่อนั้น เคลื่อนไหวไปมาอย่างเงียบเชียงไม่มีเสียง และค้อมเอียงน้อยๆ เหมือนกับกลัวว่าจะไปชนอะไรเข้า ใบหน้ารูปไข่ ใหญ่ฉุ เป็นริ้วย่นของแม่ มีประกายอยู่ก็แต่ที่ดวงตาทั้งสองซึ่งเต็มไปด้วยความหวาดกลัวและความรันทดระทม เหมือนกับดวงตาของหญิงส่วนมากในย่านนั้น เหนือคิ้วขวามีรอบแผลเป็นรอยใหญ่ รั้งเอาคิ้วกระเดิดสูงขึ้นไปเล็กน้อย เลยทำให้ดูคล้ายกับว่า หูข้างขวาของนางสูงกว่าหูข้างซ้าย สภาพดังกล่าวทำให้ใบหน้าของแม่มีท่าทีเหมือนกับคนที่ต้องหวาดผวา ระวังตัวอยู่เสมอ ผมที่ดกดำของนางเริ่มมีเส้นสีขาวแซมประปราย แม่ช่างดูอ่อนโยนก็ปานนั้น เศร้าก็ปานนั้น และยอมเป็นทาสก็ปานนั้น.....”

ในวรรคตอนหนึ่งของ “แม่” (Mother) ผลงานการประพันธ์ของแมกซิม กอร์กี้ หรือ Aleksei Maksimovich Peshkov นักเขียนที่ยิ่งใหญ่แห่งรัสเซีย เขียนนวนิยายแนวอัตถนิยมต้องห้ามของรัสเซียในสมัยพระเจ้าซาร์ และเคยเป็นหนังสือต้องห้ามในประเทศไทยหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ฉากของเรื่องทั้งหมดเป็นสถานที่ที่มีอยู่จริง บริเวณลุ่มน้ำโวลก้า





แม็กซิม กอร์กี้ ได้ปั้นแต่งตัวละครจากชีวิตจริงของกรรมกรโรงงาน เหตุการณ์ในการเคลื่อนไหวปฏิวัติ ที่ผู้เป็นแม่มีส่วนช่วยลูกๆ ชายหญิงของนางอย่างเต็มที่ แต่ก็ต้องเข้าไปใช้ชีวิตอยู่ในคุก

ผู้เป็น"แม่" ซึ่งแม็กซิม กอร์กี้ กำหนดไว้ให้เป็นหัวใจหลักของเรื่องจึงร้อยเรียงขึ้นเป็นวรรณกรรมทรงคุณค่าของเขา ที่ได้ประพันธ์ไว้ ก่อนที่การปฏิวัติรัสเซียเพื่อโค่นล้มระบอบซาร์จะปะทุขึ้น

แม็กซิม กอร์กี้ ใช้เวลาเขียนนวนนิยายเรื่อง “แม่” ในห้วงเวลาครึ่งหลังของปี ค.ศ. 1906 ถึงต้นปี ค.ศ.1907 ในยามนั้นเขาหลบ “ราชภัย”ของพระเจ้าซาร์ ไปอยู่ต่างประเทศ ภาคแรกของเรื่องแม่ แม็กซิม กอร์กี้เขียนในสหรัฐอเมริกา ส่วนภาคหลังไปเขียนในอิตาลี ทยอยลงตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษตั้งแต่ปีนั้นเป็นต้นมาในนิตยสาร Appleton ซึ่งจำหน่ายในนิวยอร์ค และได้พิมพ์รวมเป็นเล่มในปี 1907 นั้นเอง

แต่ในประเทศรัสเซีย ภาคแรกได้ตีพิมพ์ในนิตยสาร Znanie ในปี 1907 – 1908 แต่ก็ถูกเซ็นเซอร์จนไม่เหลือเค้าเดิม นิตยสารถูกเก็บกวาดไม่ให้จำหน่ายตามคำสั่งของคณะกรรมการพิจารณาสิ่งพิมพ์ของกรุงเซนปีเตอร์สเบิร์ก และตามควานหาตัวผู้เขียนนวนิยายเรื่องนี้ พร้อมคำขู่ตัดสินจากศาลเตี้ยว่า เขาจะต้องทำงานหนักเป็นเวลา 8 ปี

แต่ภายหลังการปฏิวัติสังคมนิยมของรัสเซียสำเร็จลง ก็ได้รับการตีพิมพ์โดยไม่ถูกตัดทอนอีกครั้ง

ในรัสเซีย ได้รับการตีพิมพ์มาแล้วมากกว่า 200 ครั้ง ในต่างประเทศก็ตีพิมพ์ไปไม่น้อยกว่า 300 ครั้ง ในกว่า 127 ภาษา ในประเทศไทยมีการแปลนวนิยายเรื่องนี้ออกมาถึง 3 สำนวน

เลนิน * สหายร่วมอุดมการณ์ในช่วงการปฏิวัติสังคมนิยมของรัสเซีย ได้เคยเข้ามาดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของแม็กซิม กอร์กี้ สหายรักช่วงที่ระหกระเหินอยู่ในยุโรปว่า “เราจำเป็นต้องให้การระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะคุณเพิ่งเขียนเรื่อง แม่ อันเป็นสิ่งที่มีประโยชน์เหลือเกินสำหรับคนงานรัสเซียในช่วงการเรียกร้องให้เขาสู้รบต่อต้านระบอบอัตตาธิปไตย ** ”

และ "that Maxim Gorky's is an enormous artistic talent which has been, and will be, of great benefit to the world proletarian movement."

ซึ่งเป็นมุมมองของ “เลนิน”ที่มีต่องานเขียนอันลือลั่นแห่งการปฏิวัติสังคมนิยมรัสเซีย

เพราะเรื่องราวชีวิตของหญิงชราคนหนึ่ง ในสังคมเก่าแก่ของรัสเซีย นางมีความประหวั่นพรั่นพรึงต่ออำนาจนานาประการที่ครอบงำสังคมในเวลานั้น แต่แล้วด้วยเหตุมาจากอิทธิพลที่แวดล้อมตัวเธอ นางก็ได้พลิกความคิดเปลี่ยนพฤติการณ์เสียใหม่ จนได้เข้าช่วยเหลือสนับสนุนขบวนการปฎิวัติในรัสเซีย นางเริ่มคิดได้ ค่อยๆ ซึมซับความเปลี่ยนแปลง จนละเลิกความหวาดหวั่นรั่นพรึงนั้นออกไปเสีย ในขณะเดียวกันกับที่ลูกชายของนางก็ได้เข้าร่วมอยู่กับขบวนการสายหนึ่งของการปฏิวัตินั้นด้วย

เพราะนี่คือสิ่งที่นักปฏิวัติอย่าง “เลนิน”มองเห็นประโยชน์ในเรื่องราวนวนิยายอันเป็นการปลุกขวัญให้ชาวรัสเซียลุกขึ้นต่อต้านการปกครองเดิม เขาจึงอาจมีความจำเป็นที่จะต้องกล่าวสรรเสริญยกย่องในความสามารถของกอร์กี้

แต่ต่อมา แม็กซิม กอร์กี้ ดูจะมีความขัดแย้งกัน แล้วมาประกาศในภายหลังว่า “ผมขอบคุณเขา(เลนิน)ในถ้อยคำอภินันทนาการนั้น แต่ผมก็รู้สึกตะขิดตะขวงใจอยู่บ้าง การถือเอางานเขียนของผมเป็นประหนึ่ง คำประกาศแถลงการของคณะกรรมการเรียกร้องให้ถล่มทลายระบอบอัตตาธิปไตยนั้น ไม่เหมาะสมเลย”

จากถ้อยคำที่เลนินเคยกล่าวเอาไว้นั้น เหล่านักวิจารณ์ของโซเวียตถือว่านวนิยายเรื่อง แม่ เป็นนวนิยายแห่งชนชั้นกรรมาชีพเรื่องแรก และเป็นต้นแบบหรือรากเหง้าของรรณกรรมในแนว “อัตถนิยมสังคมนิยม” (Socialist Realism)

ต่อมาอีกร่วม 25 ปี คำว่า“อัตถนิยมสังคมนิยม” (Socialist Realism) เกิดหลังจากการเขียนนวนิยายเรื่องแม่ของกอร์กี้ จึงมีผู้บัญญัติมันขึ้นมาให้เป็นเป้าหมายในทางศิลปะของรัสเซีย โดยนักเขียนของรัสเซียจักต้องสำเหนียก ดังที่ “สตาลิน”กำหนดให้พวกเขาต้องเป็น “วิศวกรผู้สร้างจิตวิญญาณแห่งความเป็นมนุษย์”

และงานเขียนเรื่อง แม่ ของแม็กซิม กอร์กี้ ก็เป็นต้นแบบของวิศวกรและจิตวิญญาณอย่างเต็มเปี่ยมนั้นเอง