วันจันทร์, พฤษภาคม 02, 2559

ประวัติศาสตร์การเปลี่ยนคำ "กรรมกร" เป็น "แรงงาน" วิธีสะกด "ปีศาจวาทกรรม" ในสังคมไทย




https://www.youtube.com/watch?v=2Q45Uz6hVOE&feature=share&app=desktop

จิตร ภูมิศักดิ์-อินเตอร์เนชั่นแนล

Uploaded on Oct 27, 2010

อินเตอร์เนชั่นแนล (2504)
จิตร ภูมิศักดิ์ ได้แต่งเพลงนี้ ขณะอยู่ในคุกลาดยาว
จิตร ภูมิศักดิ์ ได้แปลบทเพลงนี้ในชื่อ อินเตอร์เนชั่นแนล โดยไม่ทราบอย่างแน่ชัดว่าจิตร ภูมศักดิ์ ได้แปลมาจากต้นฉบับภาษาใด เพราะต้นฉบับภาษาฝรั่งเศส ยาวกว่านี้มาก ขณะที่ภาษาอังกฤษก็ไม่มีฉบับใดใกล้เคียงกั­บบทเพลงชิ้นนี้
เรียบเรียงเสียงประสาน บรรเลง และขับร้องประสานเสียงโดย วงออเสตราวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล
วันเสาร์ที่ 13 มิถุนายน 2552 ณ หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

.....

ประวัติศาสตร์การเปลี่ยนคำ "กรรมกร" เป็น "แรงงาน" วิธีสะกด "ปีศาจวาทกรรม" ในสังคมไทย

มติชนออนไลน์
03 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

(ที่มา บทความชื่อ ปีศาจวาทกรรม: กรณีกรรมกร --> แรงงาน คือการ "คุมคำ --> คุมความหมาย --> คุมความคิด --> คุมคน" จากเฟซบุ๊กส่วนตัว "เกษียร เตชะพีระ" อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)


ปีศาจวาทกรรมตนหนึ่งที่ตามหลอกหลอนชนชั้นปกครองไทยมาแต่ไหนแต่ไรคือปีศาจ "กรรมกร"

ในรัชกาลที่ 6 ปัญญาชนนอกระบบกลุ่มหนึ่งนำโดยนายถวัติ ฤทธิเดช ได้ออกหนังสือพิมพ์ "กรรมกร" และรวมตัวเป็น "คณะกรรมกร" เคลื่อนไหวสนับสนุนผลักดันการต่อสู้เรียกร้องและนัดหยุดงานของคนงานรถรางในพระนคร

ถวัติในฐานะบรรณาธิการได้ระบุวัตถุประสงค์ของหนังสือพิมพ์ "กรรมกร" ส่วนหนึ่งว่าเพื่อ "ผจญต่อต้านต่อเหล่าอำมาตย์ทุจริตซึ่งคิดมิชอบ" และ "ปลุกให้พวกกรรมกรตื่นขึ้นจากหลับ...ประหารสภาพของพวกกรรมกรให้พ้นจากความเปนทาษ" (ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์, แรงงานวิจารณ์เจ้า, น. 22 – 23)

คำว่า "กรรมกร" ที่คุณถวัติจงใจเลือกหยิบมาใช้เรียกคนงานนั้นแสลงหูทางราชการเพราะใกล้เคียงกับศัพท์เก่าว่า "ทาษกรรมกร" ซึ่งหมายถึง "เปนชื่อคนเปนข้าเขาใช้ให้กระทำการงานต่าง ๆ นั้น." (อักขราภิธานศรับท์ ของ หมอแบรดเลย์, พ.ศ. 2416, น. 299) ดังคุณถวัติชี้แจงว่า:

"ข้อที่เข้าใจกันว่าทาษไม่มีในบัดนี้นั้นเปนอันเข้าใจผิด ถ้าหากจะมีใครลอบชำเลืองดูความเปนอยู่ของบุคคลสองจำพวก คือนายจ้างกับลูกจ้างบ้างแล้ว ก็จะร้องว่า ′อ้อ! อ้ายตัวทาษนี้มันยังมีฉายาแฝงอยู่ในตัวลูกจ้างอีกนี่′ ควรคิดดูบ้างซี่ว่าคนที่ไปเปนลูกจ้างเขานั้นมีคนร่ำรวยพอตั้งเนื้อตั้งตัวได้แล้วกี่เปอร์เซ็นต์ เมื่อเปนดังนี้ การทำสัญญาจึงเปนโอกาสให้จำต้องเสียเปรียบกันอยู่ นี่หรือเปนธรรม นี่หรือเสมอภาค? ชะ!" (อ้างจาก ศิโรตม์, น. 24)

นับแต่นั้นมาทุกครั้งที่มีโอกาสทางราชการจะรณรงค์เบียดขับหรือปัดปฏิเสธนัยเรื่อง"ทาส" ของคำว่า "กรรมกร" และศัพท์คำว่า "กรรมกร" เป็นนิจศีล อาทิเช่น: -

-ปทานุกรม กรมตำรา กระทรวงธรรมการ พิมพ์ครั้งที่สอง พ.ศ. 2470 และพจนานุกรมฉบับราช-บัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2493 เมื่อนิยามศัพท์ "กรรมกร" ก็ระบุคำอธิบายแก้เกี้ยวนัยเรื่อง "ทาส" กำกับไว้ว่า:

"กรรมกร ส. น. คนงาน, คนใช้, ลูกจ้าง, เช่น ทาสกรรมกร ซึ่งพึงทราบได้ว่ากรรมกรนั้นมิใช่ทาส, ตรงกับอังกฤษว่า Labour (Labouring Class)." (ปทานุกรม กรมตำราฯ, น. 13) และ

"กรรมกร [กำมะกอน] น. คนงาน, ลูกจ้าง, เป็นจำพวกไม่ใช่ทาส จึ่งพูดเป็นคู่กันว่า ทาสกรรมกร. (ป. -กร: ผู้ทำ)." (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตฯ, น. 18)

-ปี พ.ศ. 2499 เมื่อพล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจเจรจากับตัวแทนขบวนการสหภาพแรงงานหัวก้าวหน้าที่เข้าพบเพื่อขอจัดงานฉลองวันกรรมกรสากลที่ 1 พฤษภาคมในปีนั้น อธิบดีเผ่าได้ยื่นเงื่อนไขต่อรองว่าจะอนุญาตให้จัดถ้าหากฝ่ายคนงานยอมเปลี่ยนคำเรียกวันดังกล่าวจาก "วันกรรมกร" เป็น "วันแรงงาน" เสีย

-และน่ามหัศจรรย์ที่กว่า 30 ปีให้หลังในสมัยรัฐบาลนายกรัฐมนตรี พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ผมจำได้เลา ๆ ว่าท่านก็ขอร้องให้ผู้นำแรงงานเปลี่ยนชื่อเรียกวันที่ 1 พฤษภาคมในทำนองเดียวกัน

ในที่สุด 1 พฤษภาคม จึงกลับกลายจาก "วันกรรมกรสากล" อันส่อนัยแสลงใจแบบคุณถวัติแต่เดิม มาเป็น --> "วันแรงงานแห่งชาติ" อันน่ารักเรียบร้อยแบบไทย ๆ ในปัจจุบันด้วยประการฉะนี้

นี่เป็นวิธีการสะกดปีศาจวาทกรรมอันไม่พึงปรารถนา (lexica non grata) โดยจับมาลงหม้อปิดยันต์ถ่วงน้ำแบบไทย ๆ ตามสูตรสำเร็จ

"คุมคำ --> คุมความหมาย --> คุมความคิด --> คุมคน"

คำ ๆ ไหนเกะกะเพ่นพ่าน เที่ยวเกเรอาละวาดผาดแผลงความหมายทางนี้ทีทางโน้นทีสับสนวุ่นวาย ก็ต้องจับมาเข้าแถวฝึกวินัย อบรมบ่มนิสัยเสียใหม่ ให้อยู่ในกรอบในร่องในรอยนิยามของทางราชการ เอ้า...แถว ตร๊ง...ขวาหัน...ขวาหัน...ห้ามซ้ายหัน ฯลฯ