วันพฤหัสบดี, กรกฎาคม 24, 2568

ไทยลดระดับความสัมพันธ์กัมพูชา เรียกทูตไทยกลับ ส่งทูตกัมพูชากลับประเทศ หลังเกิดเหตุทหารเหยียบทุ่นระเบิดขาขาดอีกรอบ ที่มาที่ไปทั้งหมด


บีบีซีไทย - BBC Thai
5 hours ago
·
ไทยลดระดับความสัมพันธ์กัมพูชา เรียกทูตไทยกลับ ส่งทูตกัมพูชากลับประเทศ หลังเกิดเหตุทหารเหยียบทุ่นระเบิดขาขาดอีกรอบ ติดตามที่มาที่ไปทั้งหมดได้ที่ https://www.bbc.com/thai/articles/c5y91298dd8o

ทบ. สั่งเตรียมพร้อม "แผนจักรพงษ์ภูวนาถ" หลังรัฐบาลลดระดับความสัมพันธ์กัมพูชา ปมทหารเหยียบระเบิดรอบที่ 2



23 กรกฎาคม 2025
บีบีซีไทย

รักษาการนายกรัฐมนตรีเผยไทยลดระดับความสัมพันธ์กับกัมพูชา เรียกทูตไทยประจำกัมพูชากลับประเทศไทย และส่งทูตกัมพูชากลับประเทศ หลังเย็นวันนี้มีทหารไทยได้รับบาดเจ็บจากการเหยียบกับระเบิดระหว่างการลาดตระเวนแนวชายแดนของทั้งสองประเทศ

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รักษาราชการแทนนายกฯ กล่าวว่าได้รับรายงานจาก พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ว่าเมื่อช่วงเย็นที่ผ่านมา มีหน่วยลาดตระเวนเหยียบกับระเบิดในพื้นที่ห้วยบอน ช่องอานม้า อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี ทำให้กำลังพลได้รับบาดเจ็บขาขวาขาด 1 นาย คือ จ.ส.อ.พิชิตชัย บุญโคราช ซึ่งถูกเคลื่อนย้ายออกจากจุดเกิดเหตุเมื่อเวลา 17.18 น. และนำส่งโรงพยาบาลน้ำยืนในเวลาต่อมา

โดยเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ทางการไทยตัดสินใจตอบโต้ทางการกัมพูชาด้วยการลดระดับความสัมพันธ์ ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากที่ไทยเพิ่งประณามกัมพูชาว่า ละเมิดพันธกรณีอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล (Anti-Personnel Mine Ban Convention) หรือรู้จักกันว่า "อนุสัญญาออตตาวา" (Ottawa Treaty) ได้เพียงสองวัน หลังพิสูจน์ทราบได้ว่ากำลังพลของไทย 3 นาย ได้รับบาดเจ็บสาหัสจากการเหยียบทุ่นระเบิดสังหารบุคคลบริเวณช่องบก อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี เมื่อวันที่ 16 ก.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งทางไทยอ้างว่าเป็นระเบิดที่เข้ามาวางใหม่ โดยหนึ่งในจำนวนนี้ขาขาดและกลายเป็นผู้พิการถาวร

ทั้งนี้ ในอนุสัญญาออตตาวามีเนื้อหาส่วนหนึ่งระบุว่า พันธกรณีสำคัญที่จะต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาฯ คือ ไม่ใช้ พัฒนา ผลิต และสะสม จัดเก็บ และโอนทุ่นระเบิดสังหารบุคคลไปให้ผู้ใด ทั้งทางตรงและทางอ้อม

อย่างไรก็ตาม ต่อมาทางการกัมพูชาอ้างว่า ไทยลาดตระเวนล้ำเข้ามาในเขตอธิปไตยของประเทศ และยืนยันว่า เป็นระเบิดเก่าที่ตกค้างจากยุคสงคราม พร้อมกับโต้ว่าไทยละเมิด MoU 2543 ในเรื่องเส้นทางลาดตระเวนออกนอกเส้นทางที่ตกลงกันไว้และกำหนดเส้นทางลาดตระเวนขึ้นมาเองใหม่ "เข้าสู่ดินแดนอธิปไตยของกัมพูชา"

ทั้งนี้ รักษาการนายกรัฐมนตรียังบอกด้วยว่า กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาระดับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศเพิ่มเติม

"ตอนนี้เป็นระเบิดที่เกิดใหม่ทั้งหมดในเวลาใกล้เคียงกัน ดังนั้น เรายกระดับการตอบโต้ที่เหมาะสมที่สุดแล้ว" นายภูมิธรรม กล่าว

นายภูมิธรรมยังเปิดเผยด้วยว่า รัฐบาลไทยเห็นชอบตามที่ พล.ท.บุญสิน พาดกลาง แม่ทัพภาคที่ 2 เสนอยกระดับการตอบโต้กัมพูชาด้วยการปิดด่านช่องอานม้า ช่องสะงำ ช่องจอม ช่องสายตะกู พร้อมปิดปราสาทตาเมือนธมและปราสาทตาควาย โดยไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวเข้าเด็ดขาด

ขณะเดียวกัน กองทัพบกของไทยออกแถลงการณ์ประณามฝ่ายกัมพูชา กรณีวางทุ่นระเบิดในพื้นที่ชายแดนช่องอานม้า โดยให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่าเหตุเกิดเมื่อเวลา 16.55 น. ขณะที่กำลังพลของกองทัพบกชุดลาดตระเวน กองพันทหารราบที่ 14 กำลังปฏิบัติหน้าที่ตามแนวชายแดนของทั้งสองประเทศ และเหยียบกับทุ่นระเบิดในเวลาต่อมา

เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้กำลังพลได้รับบาดเจ็บรวมทั้งสิ้น 5 นาย โดย 1 นาย ขาขวาได้รับบาดเจ็บสาหัสจากการเหยียบกับระเบิด และอีก 4 นายมีอาการแน่นหน้าอก หูอื้อ จากแรงสั่นสะเทือนของแรงระเบิด

ทบ. สั่งเตรียมพร้อม "แผนจักรพงษ์ภูวนาถ" เพื่อโต้ตอบ

ในวันพรุ่งนี้ (24 มี.ค.) พล.อ.พนา แคล้วปลอดทุกข์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) จะลงพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์ และดูแลให้กำลังใจผู้บาดเจ็บ พร้อมได้สั่งการให้กำลังกองทัพภาคที่ 1 กองทัพภาคที่ 2 และกำลังส่วนต่าง ๆ เตรียมพร้อมปฏิบัติตาม "แผนจักรพงษ์ภูวนาถ" เมื่อมีการสั่งการต่อไป

"กองทัพบกขอประณามอย่างรุนแรงต่อการกระทำอันไร้มนุษยธรรม ซึ่งละเมิดต่อหลักมนุษยธรรมสากลและข้อตกลงระหว่างประเทศ อันเกิดขึ้นภายในเขตราชอาณาจักรไทย โดยเป็นการกระทำของฝ่ายกัมพูชา และขอเรียกร้องให้ฝ่ายกัมพูชาแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยถือเป็นการกระทำที่เป็นภัยคุกคามอย่างร้ายแรงต่อสันติภาพและเสถียรภาพบริเวณชายแดนระหว่างสองประเทศ"

พร้อมกันนี้ กองทัพบกยังยืนยันด้วยว่าจะใช้ทุกกลไกที่มีอยู่ในการดำเนินการตามกรอบที่เหมาะสม เพื่อปกป้องความปลอดภัยของกำลังพลและประชาชนชาวไทยไม่ให้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในลักษณะเช่นนี้อีกต่อไป


ทุ่นระเบิด PMN-2 ที่พบบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ที่เป็นเหตุให้ทหารเหยียบกับระเบิดเมื่อวันที่ 16 ก.ค. ที่ผ่านมา

คำชี้แจงจากฝ่ายกัมพูชา

ต่อมาเวลาประมาณ 19.30 น. นายเฮง รัตนา ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติกัมพูชา (CMAC) ได้โพสต์เฟซบุ๊กชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวเหตุการณ์ระเบิดที่ช่องบกเมื่อวันที่ 16 ก.ค. แต่ยังไม่ได้ชี้แจงกรณีล่าสุดที่บริเวณช่องอานม้า

เขาบอกว่า ทางกัมพูชาขอปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาว่าประเทศใช้ทุ่นระเบิดสังหารบุคคล และ "ยืนยันว่า ทหารไทยเหยียบระเบิดที่อยู่ในบูรณภาพแห่งดินแดนของกัมพูชา"

นายเฮงอ้างว่า เหตุเกิดขึ้นบริเวณทุ่นระเบิดหมายเลข BS/CMAA/16808 ในหมู่บ้านเตโชรโกฏ ต.มรกต อ.จวมกสาน จ.พระวิหาร ของกัมพูชาซึ่งยังไม่ถูกทำลาย

"หากตรวจสอบสภาพของทหารไทยที่ได้รับบาดเจ็บข้างหนึ่ง ก็สามารถยืนยันได้ว่าการระเบิดนั้นอาจเกิดจากทุ่นระเบิดชนิดที่มีปริมาณวัตถุระเบิดต่ำ เช่น ทุ่นระเบิดชนิด 72A หรือ 72B หรือ M14 หรือ MN79 หรือ MD82B ซึ่งเป็นทุ่นระเบิดเก่าที่เหลือจากสงครามและมีปริมาณวัตถุระเบิดเพียงประมาณ 30 กรัม"

พร้อมกันนี้เขายังโต้ว่า หากทหารไทยเหยียบทุ่นระเบิด PMN-2 จริง ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นระเบิดใหม่ ทหารไทยคนนั้นต้องถูกตัดขาทั้งสองข้าง ได้รับบาดเจ็บสาหัส ไม่ก็เสียชีวิตไปแล้ว เนื่องจากทุ่นระเบิด PMN-2 มีวัตถุระเบิดมากกว่า 115 กรัม

"ข้อสรุปนี้อ้างอิงจากจำนวนผู้เสียชีวิตจากการระเบิดทุ่นระเบิด PMN-2 ที่เกิดขึ้นจริงในกัมพูชาหลายกรณี" เขากล่าว

นายเฮงยังบอกด้วยว่ามีทุ่นระเบิดยาวตลอดแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ระยะทางหลายร้อยกิโลเมตรที่ยังไม่ถูกกำจัด แต่ประเทศยังคงมุ่งมั่นที่จะดำเนินการกำจัดทุ่นระเบิด


พลโทหญิงมาลี โสเจียตา โฆษกกระทรวงกลาโหมของกัมพูชา

จากนั้นเวลาประมาณ 22.25 น. พลโทหญิงมาลี โสเจียตา โฆษกกระทรวงกลาโหมของกัมพูชา ออกมาแสดงความผิดหวังที่ "ทางการไม่มีความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ลุกล้ำดินแดนอธิปไตยของกัมพูชา" พร้อมกับปฏิเสธข้อกล่าวหา "ที่ไม่มีความจริง" ของฝ่ายไทยต่อกรณีการบาดเจ็บของทหารไทย 5 นายในวันนี้

เธอกล่าวว่าเหตุระเบิดที่ทำให้นายทหารของไทยบาดเจ็บในช่วงเย็นที่ผ่านเกิดขึ้นบริเวณอานสีห์ ต.จวมกสาน อ.จวมกสาน จ.พระวิหาร ซึ่งเป็นดินแดนของกัมพูชา

นอกจากนี้ยังเน้นย้ำด้วยว่าบริเวณนั้นยังเต็มไปด้วยทุ่นระเบิดจากสงครามจำนวนมาก พร้อมกับเรียกร้องให้ไทยลาดตระเวนตามเส้นทางที่ตกลงไว้ใน MoU 2543

"รู้สึกผิดหวังอย่างยิ่งที่ทางไทยไม่เพียงแต่ไม่ยอมรับว่ารุกรานดินแดนกัมพูชา ทว่ายังกล่าวหาว่ากัมพูชาละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ แม้กัมพูชาเองจะตกเป็นเหยื่อจากการละเมิดกฎหมายของไทยอย่างไม่เป็นธรรมก็ตาม" พลโทหญิงมาลี ระบุ

ย้อนลำดับความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดความเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศขึ้น และแต่ละครั้งที่ประเทศใดประเทศหนึ่งลดหรือยุติความสัมพันธ์ก็มักเกิดขึ้นจากข้อพิพาทชายแดนหรือความตึงเครียดทางการเมือง อย่างเช่น
  • ปี 2501 และ ปี 2504 กัมพูชายุติความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทยจากกรณีข้อพิพาทประสาทเขาพระวิหาร
  • ปี 2546 หลังเกิดเหตุจลาจลและโจมตีสถานทูตไทยในกรุงพนมเปญ รัฐบาลไทยที่นำโดยนายทักษิณ ชินวัตรในตอนนั้น ได้เปิดปฏิบัติการที่มีชื่อว่า "โปเชนตง" ส่งเครื่องบินทางการทหารไปอพยพชาวไทย รวมไปถึงนักการทูตทั้งหมดออกจากประเทศกัมพูชา และขับนักการทูตกัมพูชาออกนอกประเทศเพื่อเป็นการตอบโต้
  • ปี 2551 และ ปี 2554 เกิดการปะทะกันทางทหารบริเวณเหนือปราสาทเขาพระวิหาร ซึ่งทำให้เกิดความตึงเครียดระหว่างสองประเทศอย่างรุนแรง
  • ปี 2552 ไทยลดระดับความสัมพันธ์เพื่อตอบโต้กัมพูชา กรณีให้การสนับสนุนอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ซึ่งลี้ภัยอยู่ในขณะนั้น
https://www.bbc.com/thai/articles/c5y91298dd8o