
iLaw
13 hours ago
·

.
ร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข เสนอโดยสส. พรรครวมไทยสร้างชาติ และกำลังจะกลายเป็น “ร่างหลัก” เนื่องจากคณะรัฐมนตรีและพรรคเพื่อไทยไม่ได้นำเสนอร่างฉบับอื่นเข้ามาด้วย จึงเป็นร่างฉบับเดียวจากพรรคร่วมรัฐบาลที่มีอยู่ ซึ่งเนื้อหาของร่างนี้ต้องการจะยุติการดำเนินคดีทางการเมืองมี ‘กรอบเวลา’ ย้อนกลับไปไกลที่สุด ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 ถึง พ.ศ. 2565 โดยยกเว้น คดีมาตรา 112, คดีทุจริต, และคดีฆ่าคนตายหรือทำร้ายร่างกายจนถึงแก่ชีวิต
.
ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน เสนอให้เริ่มต้นการนับกรอบเวลาความขัดแย้งจากวันที่ 19 กันยายน 2549 ซึ่งเป็นวันที่คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ทำรัฐประหารรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ด้านร่างฉบับพรรคก้าวไกลนับย้อนกลับไปตั้งแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2549 ซึ่งเป็นช่วงที่การชุมนุมต่อต้านทักษิณ ชินวัตร เริ่มยกระดับเป็นการชุมนุมใหญ่ในนาม ‘พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย’ ในส่วนของร่างพ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุขที่เสนอโดยพรรครวมไทยสร้างชาติ กำหนดให้การนิรโทษกรรมเริ่มต้นตั้งแต่ ปี 2548 ซึ่งเป็นช่วงที่พรรคไทยรักไทยเพิ่งชนะเลือกตั้งและเริ่มมีการชุมนุมกดดันให้ทักษิณ ชินวัตร ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากกรณีขายหุ้นกลุ่มชินคอร์ป
.
ส่วนกรอบเวลาสิ้นสุดนั้น ร่างของภาคประชาชนและพรรคก้าวไกลครอบคลุมไปถึงวันที่กฎหมายประกาศใช้ ซึ่งยังไม่แน่ชัดว่ากฎหมายนี้จะได้ประกาศใช้จริงเมื่อใด แต่ร่างของพรรครวมไทยสร้างชาติ จะสิ้นสุดเพียงแค่ ปี 2565 เท่านั้น ทำให้คดีการเมืองที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยของคนรุ่นใหม่จะไม่ได้รับการนิรโทษกรรมไปด้วย ในขณะที่คดีความผิดที่เกิดขึ้นก่อนหน้า โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการชุมนุมใหญ่ในอดีตนับตั้งแต่การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ อาจเข้าเงื่อนไขในการนิรโทษกรรมได้ทั้งหมด
.
จากการตีกรอบเวลาทำให้เห็นได้ชัดเจนว่า ข้อเสนอของพรรครวมไทยสร้างชาตินั้น “ใส่ใจ” การชุมนุมในอดีต ย้อนไปถึงยุคสมัยของพันธมิตรฯ และก่อนหน้านั้น แต่ “ไม่สนใจ” การชุมนุมในยุคหลังโดยเฉพาะการแสดงออกของประชาชนที่อาจเกิดขึ้นต่อรัฐบาลที่พวกเขาสังกัดอยู่ในตอนนี้
.

.
ดูเต็มๆ ได้ทาง https://www.ilaw.or.th/articles/53059

