
Prinya Thaewanarumitkul
5 hours ago
·
ท่าน #ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ย้ำว่า “ศาลรัฐธรรมนูญไม่ใช่ศาลการเมือง” โดยตอบคำถามเรื่องข้อเสนอให้มีการปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญว่า “การปฏิรูปขึ้นกับรัฐธรรมนูญ ศาลปฏิรูปเองไม่ได้”
ด้วยความเคารพ ผมเห็นด้วยว่าเรื่อง #ที่มาของศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปฏิรูปเองไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่เรื่อง #วิธีการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีการวินิจฉัยอย่างเที่ยงธรรม ศาลสามารถปฏิรูปหรือเปลี่ยนเองได้หลายเรื่องเลยครับ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดโอกาสให้ผู้ร้อง อาทิ พรรคการเมืองที่จะถูกยุบ นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี หรือ ส.ส. ที่จะถูกวินิจฉัยให้พ้นตำแหน่ง มีโอกาสได้ต่อสู้คดีทั้ง #ข้อกฎหมาย และ #ข้อเท็จจริง ได้อย่างเต็มที่ดังเช่นในศาลยุติธรรม
ที่ผ่านมาหลายครั้งที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่ให้ผู้ถูกร้องสู้ในประเด็นข้อกฎหมาย และบ่อยครั้งที่ไม่ให้สู้ในประเด็นข้อเท็จจริง โดยการอ้างอำนาจตาม พรป. #วิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 58 ที่บัญญัติว่า “หากศาลเห็นว่าคดีใดเป็นปัญหาข้อกฎหมาย หรือมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ ศาล #อาจ ประชุมปรึกษาเพื่อพิจารณาและ #วินิจฉัยโดยไม่ทำการไต่สวน หรือยุติการไต่สวนก็ได้“
มาตรา 58 นี้ใช้คำว่า ศาล #อาจ หมายความว่าถ้าศาลจะรับฟังผู้ถูกร้องอย่างเต็มที่ ก็สามารถทำได้ การจะไม่รับฟังข้อกฎหมาย หรือไม่ไต่สวนข้อเท็จจริง ควรต้องเคร่งครัดอย่างยิ่งโดยใช้หลักเดียวกับศาลยุติธรรม คือข้อต่อสู้ของผู้ถูกร้องไม่เป็นสาระอันควรแก่การพิจารณาเท่านั้น ถึงจะปฏิเสธไม่รับฟังได้ มิใช่รับฟังก็ได้ไม่รับฟังก็ได้ทั้งที่เป็นข้อต่อสู้ที่มีสาระอันควรแก่การพิจารณา
ผู้ถูกร้องเขาถูกร้องยุบพรรค ถูกร้องให้ตัดสิทธิ ถูกร้องให้พ้นตำแหน่ง แล้วเขาก็มากันตามรัฐธรรมนูญ ผิดถูกอย่างไรศาลรัฐธรรมนูญต้องเปิดโอกาสให้เขาสู้คดีอย่างเต็มที่ ไม่ใช่ใช้การโหวตตัดสินกันเป็นหลัก แล้วข้อเท็จจริงกับข้อกฎหมายมาทีหลังดังเช่นที่ผ่านมาครับ
เรื่องที่ผมว่าไปนี้ คือให้ศาลรัฐธรรมนูญใช้ข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงในการตัดสิน โดยให้ผู้ถูกร้องสู้คดีได้อย่างเต็มที่ #ศาลรัฐธรรมนูญสามารถปฏิรูปเองได้ ไม่ต้องแก้รัฐธรรมนูญ หรือให้ใครมาเปลี่ยนให้ ซึ่งจะ #ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลจริงๆ ไม่ใช่ศาลการเมืองดังที่คนเขารู้สึกกันครับ
(ภาพประกอบจากประชาชาติธุรกิจ)
Wasant Techawongtham
การที่คนจำนวนมากมองว่าศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลการเมืองก็มีเหตุผลความเป็นมาที่ทำให้คนมองเช่นนั้น จากหลายๆ กรณีที่พฤติกรรมและการตัดสินของศาลขัดกับความรู้สึกและวิจารณญานของผู้คนจำนวนมาก ทำให้รู้สึกว่าศาลกระทำการโดยมิชอบ และความจริงที่ว่าการตัดสินของศาลผูกพันทุกองค์กรและไม่มีกลไกที่จะอุทธรณ์หรือแก้ไขคำตัดสินยิ่งทำให้คนเกิดความท้อแท้และสิ้นหวัง รวมทั้งสิ้นศรัทธา ต่อตัวศาลรธน.และตุลาการเองด้วย
https://www.facebook.com/photo/?fbid=24281393628144580&set=a.271670256210253