
ทำไมเจรจาไม่ได้ผล? เปิดรายงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ทรัมป์อยากได้อะไรจากไทย
วรภา หฤษฎางค์กูร
11 Jul 2025
101World
การเจรจาภาษีกับสหรัฐฯ ขณะนี้ ไทยยังหลีกหนีภาษี 36% ไม่พ้น หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ส่งจดหมายยืนยันเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2568 ว่าจะเก็บภาษีไทยในอัตราเดิม พร้อมกำหนดเส้นตายวันที่ 1 สิงหาคมนี้
ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า หากการเจรจาล้มเหลว เศรษฐกิจไทยอาจได้รับผลกระทบอย่างหนัก และคาดว่าจีดีพีอาจหดตัวลงอย่างน้อย 1% ในปีนี้ ขณะที่ปลัดกระทรวงการคลัง ลวรณ แสงสนิท เปิดเผยเมื่อ 9 กรกฎาคม 2568 ว่ารัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณ 5 หมื่นล้านบาท เพื่อรับมือกับผลกระทบ โดยแบ่งเป็นงบฉุกเฉิน 1 หมื่นล้านบาท และเงินสำรองอีก 4 หมื่นล้านบาท
แม้รายละเอียดการเจรจาเมื่อ 3 กรกฎาคม 2563 จะไม่เปิดเผยต่อสาธารณะตามความต้องการของสหรัฐฯ แต่ ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ให้ข้อมูลว่า ข้อเรียกร้องทั้งหมดระบุอยู่ใน รายงานประมาณการการค้าแห่งชาติ (National Trade Estimate Report on Foreign Trade Barriers หรือ NTE) ที่สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) จัดทำขึ้น
เหตุใดสหรัฐอเมริกาจึงกดดันไทยอย่างหนักและทรัมป์ต้องการอะไรกันแน่ รายงานฉบับนี้ชี้ให้เห็นถึงสาเหตุที่อยู่เบื้องหลังว่าสหรัฐฯ มีเป้าหมายที่จะแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคทางการค้าของไทย ไล่ตั้งแต่อัตราภาษีสินค้าการเกษตรที่สูงเกินไป นโยบายกีดกันการค้า การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ไปจนถึงกฎหมายที่ไม่เอื้อต่อนักลงทุน ดังนั้น หากไทยอยากให้การเจรจาบรรลุผล คงต้องทบทวนและแก้ไขปัญหาที่ค้างคามานานให้ได้เสียก่อน

เหตุผลที่ไทยโดนภาษีสูง
จากรายงานประมาณการทางการค้าแห่งชาติประจำปี 2568 (National Trade Estimate หรือ NTE) ที่สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ยื่นต่อประธานาธิบดีทรัมป์และรัฐสภาสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2568 มีเนื้อหาที่สรุปถึงอุปสรรคที่ผู้ส่งออกสหรัฐฯ ต้องเผชิญในต่างประเทศ
แม้ว่าประกาศอย่างเป็นทางการเรื่องนโยบายภาษีของทำเนียบขาวจะไม่ได้เอ่ยถึงชื่อรายงานฉบับนี้โดยตรง แต่เหตุผลและประเภทของอุปสรรคทางการค้าที่ยกมาอ้างนั้น สอดคล้องกับหมวดหมู่และเนื้อหาที่ระบุไว้ในรายงานดังกล่าว
ตัวอย่างเช่น ประกาศของประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2568 อ้างถึง ‘อัตราภาษีที่ไม่เท่าเทียมและอุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษี’ ซึ่งรวมถึง ‘อุปสรรคเชิงเทคนิค’ และ ‘มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช’ ซึ่งก็เป็นหมวดหมู่ที่สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ใช้จัดทำรายงาน
ในแถลงการณ์ของผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ระบุด้วยว่า เนื้อหาหลักของรายงานปี 2568 นี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับ ‘นโยบายการค้าอเมริกาต้องมาก่อน’ (America First Trade Policy) ของประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งคาดการณ์ได้ว่าฝ่ายบริหารนำรายงานฉบับนี้มาใช้เป็นฐานข้อมูลเพื่อกำหนดนโยบายและสร้างความชอบธรรมให้แก่มาตรการภาษี
เนื้อหาในรายงานยังเป็นเครื่องมือที่ใช้ประเมินและจัดอันดับอุปสรรคการค้า ก่อนที่จะตัดสินใจว่าประเทศใดควรตอบโต้อย่างไร ซึ่งมีข้อสังเกตว่า การกำหนดอัตราภาษีกับไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ให้สูงกว่าภาษีตอบโต้พื้นฐาน 10% เป็นเพราะตัวเลขขาดดุลและอุปสรรคทางการค้าที่รุนแรงกว่าชาติอื่น

การค้าไม่เป็นธรรมกับสหรัฐฯ
ปลัดกระทรวงการคลังของไทยเปิดเผยถึงข้อเสนอใหม่ที่ยื่นให้สหรัฐฯ เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2568 ระบุว่าไทยจะเปิดให้สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าหลายรายการโดยไม่เสียภาษี และมั่นใจว่าไทยจะรอดพ้นภาษี 36% ได้ทันก่อนเส้นตายวันที่ 1 สิงหาคม 2568 อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า การเจรจาครั้งนี้อาจไม่ง่าย และไทยต้องแข่งขันกับอีกเกือบ 100 ประเทศที่พยายามยื่นข้อเสนอให้สหรัฐฯ เช่นกัน
การค้าระหว่างไทยและสหรัฐฯ ที่ผ่านมาติดขัดปัญหาในหลายเรื่อง ซึ่งผู้แทนการค้าสหรัฐฯ นำเสนอไว้ในรายงาน โดยที่ผ่านมา สหรัฐฯ ร่วมทำการค้ากับไทยภายใต้ข้อตกลงกรอบการค้าและการลงทุน (TIFA) ที่ลงนามตั้งแต่ปี 2545
สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกหลักของไทย ส่วนไทยเป็นคู่ค้าอันดับ 19 ของสหรัฐฯ โดยปี 2566 การค้าระหว่างกันมีมูลค่า 75,300 ล้านดอลลาร์ ซึ่งสินค้าหลักของไทย ได้แก่ เครื่องจักร สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และผลิตภัณฑ์ยาง ขณะที่สหรัฐฯ ส่งออกเครื่องจักร อิเล็กทรอนิกส์ และเชื้อเพลิง โดยขาดดุลการค้ากับไทยถึง 45,000 ล้านดอลลาร์
รายงานฉบับนี้สะท้อนว่า ตัวเลขจากการขาดดุลเป็นเพียงปัญหาส่วนหนึ่ง แต่เรื่องที่เป็นปัญหาเรื้อรัง คือนโยบายและข้อกฎหมายไทยที่ไม่เป็นสากล ทำให้การค้าไม่เป็นธรรม และแม้จะกำหนดกรอบการหารือถึงประเด็นต่างๆ ร่วมกันแล้ว แต่ปัญหาที่สะสมมากว่าสองทศวรรษ ไม่เคยได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง

ไทยเก็บภาษีแพงเกินไป
ปัญหาที่เป็นรูปธรรมมากที่สุดคือภาษีในอัตราสูง รายงานชี้ว่าไทยเก็บภาษีนำเข้ากับประเทศที่ได้รับสิทธิพิเศษทางการค้า (Most Favored Nation หรือ MFN) เฉลี่ย 9.8% แต่เมื่อแยกประเภทสินค้าจะเห็นถึงความไม่สมดุล โดยไทยเก็บภาษีสินค้าภาคการเกษตรสูงถึง 27% ส่วนสินค้าอื่นๆ อยู่ที่ 7.1%
บริษัทในอเมริกายังเจอปัญหาการประเมินราคาศุลกากรที่ไม่คงที่ แม้ไทยจะมีระบบอิเล็กทรอนิกส์ (National Single Window) ที่เชื่อมโยงข้อมูลการส่งออกกับรัฐและเอกชน รวมถึงเข้าร่วมข้อตกลงการอำนวยความสะดวกทางการค้า (Trade Facilitation Agreement หรือ TFA) แล้วก็ตาม
นอกจากนี้สหรัฐฯ ยังกังวลถึงนโยบาย ‘การให้รางวัล’ ของกรมศุลกากรไทย ที่จ่ายเงินจูงใจให้เจ้าหน้าที่ในการสืบสวนคดี จำนวน 20% ของค่าปรับ หรือสูงสุด 5 ล้านบาทจากมูลค่าสินค้าที่ยึดได้ แม้จะกำหนดเงื่อนไขว่าต้องพิสูจน์เจตนาฉ้อโกง แต่ระบบนี้อาจทำให้เจ้าหน้าที่ทุจริต หรือสร้างแรงจูงใจให้สอบสวนคดีโดยไม่เป็นธรรม และเป็นการเพิ่มต้นทุน ความไม่แน่นอน และขาดความโปร่งใส

นโยบายเอื้อผู้ผลิตในไทย
รายงานจากผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ยังระบุถึงมาตรการกีดกันสินค้าเกษตรที่มากเกินจำเป็น และไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มารองรับ
สินค้าที่เป็นปัญหาอันดับแรกคือ ‘เอทานอล’ ไทยห้ามนำเข้าเอทานอลจากข้าวโพดและเชื้อเพลิงชีวภาพมาตั้งแต่ปี 2548 โดยให้เหตุผลว่าต้องการปกป้องผู้ผลิตในประเทศ ประเด็นนี้สหรัฐฯ มองว่า การนำเข้าจะช่วยลดราคาเอทานอลในไทยให้ถูกลง แต่ไทยยังติดกับดักที่ต้องปกป้องกลุ่มผลประโยชน์ในประเทศ ซึ่งขัดแย้งกับนโยบายส่งเสริมพลังงานทดแทนของตัวเอง และไม่สอดคล้องกับหลักการค้าสากล
นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังถูกจำกัดนำเข้า ‘เนื้อหมู’ ที่เลี้ยงด้วยสารเร่งเนื้อแดง หรือสารแรคโตพามีน ทั้งที่คณะกรรมาธิการโครงการมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ (Codex) กำหนดค่ามาตรฐานสารตกค้างสูงสุด (MRL) ตั้งแต่ปี 2555 แต่จนปัจจุบัน ไทยยังไม่ยอมกำหนดค่า MRL ภายในประเทศ ทำให้สหรัฐฯ ส่งออกเนื้อหมูไปไทยไม่ได้ จนเป็นเหตุให้สหรัฐฯ เพิกถอนสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ของไทยในเดือนธันวาคม 2563
ไทยยังห้ามนำเข้า ‘เครื่องในวัว’ ที่เลี้ยงด้วยสารเบต้าอะโกนิสต์ แม้ว่า Codex จะรับรองความปลอดภัยแล้ว และยังห้ามนำเข้า ‘เนื้อไก่และไก่งวง’ ตั้งแต่ปี 2557 เนื่องจากการระบาดของไข้หวัดนกสายพันธุ์รุนแรง (HPAI) โดยใช้มาตรการจำกัดเนื้อไก่จากทั้งประเทศ ซึ่งขัดกับข้อแนะนำขององค์การสุขภาพสัตว์โลก (WOAH) ที่ให้จำกัดเฉพาะพื้นที่ที่ระบาดเท่านั้น
นอกจากการจำกัดสินค้า ไทยยังขยายอำนาจให้กรมปศุสัตว์กำกับดูแลครอบคลุม ‘ผลิตภัณฑ์เนื้อแปรรูป’ เช่น ไส้กรอก แฮม ซาลามี และเบคอน มาตั้งแต่ปี 2561 แต่จนถึงสิ้นปี 2567 ก็ยังไม่ประกาศข้อกำหนดการนำเข้าที่ชัดเจน ส่งผลให้เจ้าหน้าที่อนุมัติผลิตภัณฑ์ใหม่ได้ล่าช้า
เมื่อเดือนมิถุนายน 2567 ไทยได้ออกกฎระเบียบเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ‘ผลิตภัณฑ์อาหารเด็กเล็ก’ ซึ่งสหรัฐฯ มองว่ายังขาดความชัดเจนและอาจกระทบต่อการส่งออกนมหลายชนิด แต่ไทยกลับประกาศใช้ระเบียบนี้ก่อนที่ระยะเวลารับฟังความเห็นจะสิ้นสุดลง ซึ่งสะท้อนว่าไทยเพิกเฉยต่อความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
การขอใบอนุญาตที่ยุ่งยากเป็นปัญหากับผู้ส่งออกอเมริกัน รวมทั้งยังมีมาตรการโควตาภาษี (Tariff Rate Quotas หรือ TRQs) ที่บังคับให้ต้องซื้อสินค้าไทยก่อน และค่าธรรมเนียมประเมินคุณภาพอาหารที่แพงเกินไป โดยไทยเรียกเก็บกับสินค้าอาหารและอาหารสัตว์ในอัตรา 7 บาทต่อกิโลกรัม และสินค้าอื่นในอัตรา 3 บาทต่อกิโลกรัม รวมทั้งกรมปศุสัตว์ยังมีอำนาจปรับขึ้นค่าธรรมเนียมได้ 5 เท่า ทำให้ต้นทุนผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นจนไม่สามารถแข่งขันได้

ภาพ White House Photo by Andrea Hanks
สินค้าก็อปปี้เกลื่อนตลาด
แม้ไทยจะเข้าร่วมสนธิสัญญาว่าด้วยลิขสิทธิ์ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO Copyright Treaty หรือ WCT) และสนธิสัญญาว่าด้วยการแสดงและบันทึกเสียง (WIPO Performances and Phonograms Treaty หรือ WPPT) เมื่อเดือนมีนาคม 2566 แต่สหรัฐฯ ยังคงจัดให้ไทยอยู่ในบัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง (Watch List) ตามรายงาน Special 301 ฉบับปี 2024
เหตุผลหลักมาจากไทยยังไม่แก้ไขปัญหาละเมิดลิขสิทธิ์ผ่านช่องทางออนไลน์และสินค้าเลียนแบบที่ยังแพร่หลายในท้องตลาด โดยเฉพาะสื่อและภาพยนตร์ที่ลักลอบเผยแพร่ผ่านกล่องดูทีวีและแอปพลิเคชันเถื่อน รวมทั้งห้างสรรพสินค้ามาบุญครอง (MBK Center) ที่ยังคงปรากฏชื่ออยู่ในบัญชีแหล่งที่พบสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังกังวลถึงกระบวนการจดสิทธิบัตรที่ล่าช้า ระบบการให้สิทธิผูกขาดข้อมูล (Data Exclusivity) ที่ไม่มีประสิทธิภาพ และกระบวนการฟ้องร้องในคดีแพ่งที่ใช้เวลานาน ซึ่งสะท้อนว่าไทยยังไม่มีระบบที่เอื้อต่อการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา
กฎหมายไม่เอื้อต่างชาติ
ในแง่ปัญหาทางการค้าภาคบริการ สหรัฐฯ ระบุว่าการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของไทยไม่มีมาตรฐานสากลมารองรับ เพราะไทยไม่ได้ทำข้อตกลงการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ (Government Procurement Agreement หรือ GPA) ขององค์การการค้าโลก และยังให้สิทธิเฉพาะผู้ประกอบการในประเทศ ทำให้บริษัทต่างชาติเสียเปรียบในการแข่งขัน
นักลงทุนสหรัฐฯ ติดอยู่กับเงื่อนไขในกฎหมายการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ที่จำกัดสัดส่วนการถือหุ้นของต่างชาติในหลายธุรกิจ และกังวลถึงกระบวนการอนุมัติใบอนุญาตที่ล่าช้าและไม่โปร่งใส
สหรัฐฯ มองว่าไทยยังไม่เปิดกว้างในภาคการเงินและการลงทุน ซึ่งกฎหมายจำกัดให้ชาวต่างชาติถือหุ้นได้ไม่เกิน 49% และรัฐบาลไม่ออกใบอนุญาตให้ธนาคารต่างชาติมาตั้งแต่ปี 2556 นอกจากนี้ยังจำกัดให้ถือหุ้นในธุรกิจประกันภัยได้ไม่เกิน 25% และลงทุนได้ไม่เกิน 49% รวมถึงธุรกิจโทรคมนาคมที่ต่างชาติถือหุ้นได้ 25% เท่านั้น
ในภาคธุรกิจสื่อและภาพยนตร์ กฎหมายไทยระบุให้ต่างชาติถือหุ้นได้ไม่เกิน 25% ส่วนธุรกิจอีคอมเมิร์ซและแพลตฟอร์มออนไลน์ ไทยมี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่ให้อำนาจรัฐควบคุมเนื้อหาออนไลน์อย่างกว้างขวาง จนอาจกระทบสิทธิในการแสดงออก แม้กฎหมายจะมีข้อยกเว้นให้ผู้ให้บริการออนไลน์ไม่ต้องรับผิดหากลบเนื้อหาตามเวลาที่กำหนด แต่กำหนดเวลาก็แตกต่างกันไป และบางกรณีสั้นมากเพียง 24 ชั่วโมง หากไม่ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ผู้ให้บริการอาจถูกลงโทษรุนแรง เสมือนเป็นผู้โพสต์เนื้อหานั้นเอง.

สิ่งที่ไทยต้องทำเพื่อแก้วิกฤต
รายงานฉบับนี้ระบุอุปสรรคทางการค้าของไทยไว้จำนวนมาก ซึ่งที่ผ่านมาสหรัฐฯ ได้เรียกร้องให้ไทยปรับปรุงกฎหมายให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล รวมถึงเปิดตลาดการค้าให้มากขึ้น แต่ไทยไม่ได้แก้ไขตามที่ร้องขอ
ก่อนหน้านี้ สหรัฐฯ ได้ลงโทษโดยเพิกถอนสิทธิทางภาษี (GSP) ของไทยมาแล้วถึงสองครั้ง ครั้งแรกในเดือนเมษายน 2563 จากปัญหาด้านสิทธิแรงงาน และครั้งที่สองในเดือนธันวาคม 2563 จากเรื่องสารเร่งเนื้อแดง เป็นเหตุให้ไทยสูญเสียผลประโยชน์มูลค่าหลายร้อยล้านดอลลาร์ต่อปี
หากมองปัญหาทั้งหมดในภาพรวม ทำให้เห็นว่าภาษี 36% ที่ทรัมป์เรียกเก็บจากไทย น่าจะมีที่มาจากปัญหาที่สะสมมานาน ทั้งเรื่องอุปสรรคทางภาษีศุลกากร การจำกัดนำเข้าสินค้าเกษตร ปัญหาละเมิดลิขสิทธิ์ และข้อจำกัดด้านการลงทุน
จากนี้เราต้องติดตามดูว่ารัฐบาลจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างไร และประเทศไทยจะหลุดพ้นกำแพงภาษีของสหรัฐฯ ได้ทันเส้นตายหรือไม่
ข้อมูลอ้างอิง
Press Release: USTR Releases 2025 National Trade Estimate Report
Full Report: 2025 National Trade Estimate Report on Foreign Trade Barriers (PDF)
White House Fact Sheet: President Donald J. Trump Continues Enforcement of Reciprocal Tariffs and Announces New Tariff Rates
หมายเหตุ: งานชิ้นนี้มีการแก้ไขข้อมูลที่ผิดพลาดเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2568 เวลา 07.44 น.
Full Report: 2025 National Trade Estimate Report on Foreign Trade Barriers (PDF)
White House Fact Sheet: President Donald J. Trump Continues Enforcement of Reciprocal Tariffs and Announces New Tariff Rates
หมายเหตุ: งานชิ้นนี้มีการแก้ไขข้อมูลที่ผิดพลาดเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2568 เวลา 07.44 น.
https://www.the101.world/thailand-us-trade-dispute-2025/