วันจันทร์, กรกฎาคม 21, 2568

อ.พวงทอง เสนอทำความเข้าใจใหม่กับ คำสั่ง 66/2523 ที่เข้าใจกันว่า "เป็นกฎหมายนิรโทษกรรม" เราต้องอ่านคำสั่ง 66/2523 ควบคู่ไปกับคำสั่ง 65/2525 แล้วจะได้ข้อสรุปว่ามันคือนโยบายอะไรกันแน่

https://www.facebook.com/puangthong.r.pawakapan/posts/pfbid024FfBbznkpxBR46uwPoN9VgePbVJfAePg1GZ5ejzyEcESfrhbWZSTUxdzFWFggQd4l

Puangthong Pawakapan
6 hours ago
·
ความเข้าใจผิดต่อคำสั่ง 66/2523 - ควันหลงจากเรื่องนิรโทษกรรมนักโทษการเมือง
คิดว่านี่เป็นโอกาสที่ดีที่จะทำความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบาย 66/2523
ผู้คนเข้าใจผิดกันมานานว่าคำสั่งนายกฯ 66/2523 ที่ออกโดยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ในปี 2523 เป็นกฎหมายนิรโทษกรรม นักวิชาการหลายคนก็เอาไปเขียนแบบนี้ วิกิพีเดียเรื่องพคท.ก็เขียนเช่นนี้ แสดงว่าไม่เคยเปิดคำสั่งอ่านเลย เราจึงขอเอาตัวคำสั่งยาว 2 ½ หน้า มาแปะให้อ่านกัน ก็จะพบว่าไม่มีข้อความใดในคำสั่งนี้พูดเรื่องนิรโทษกรรมเลย และยังมีความเข้าใจผิดอีกว่าคำสั่งนี้เป็นต้นกำเนิดของแนวคิด “การเมืองนำการทหาร” แล้วคำสั่งนี้คืออะไร?
ในความเป็นจริง “การเมืองนำการทหาร” ก่อตัวขึ้นมาตั้งแต่กลางทศวรรษ 2500 เพื่อเป็นแนวทางหลักในการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ และนำมาสู่การก่อตั้ง กอ.รมน. ในปี 2508 นั่นเอง
กอ.รมน.ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นองค์กรนำในการผลักดัน "การเมืองนำการทหาร" เพื่อเอาชนะใจประชาชน ด้วยการพัฒนา และสงครามจิตวิทยา แต่ตลอดช่วงทศวรรษ 2500-2510 กอ.รมน.กลับมีชื่อเสียไปในทางใช้ความรุนแรงกับประชาชน ยิ่งสู้ฝ่าย พคท. กลับยิ่งเข้มแข็งขึ้น พูดอีกอย่างคือล้มเหลว สายพิราบในกองทัพที่วิพากษ์ความล้มเหลวนี้ยังมักถูกโจมตีว่าเป็นคอมมิวนิสต์เสียเอง เช่น พันเอกหาญ พงศ์สิฎานนท์ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นต้น
แต่สถานการณ์หลัง 14 ตุลา 2516 ทำให้ชนชั้นนำฝ่ายขวาตกอยู่ในภาวะแพนิค ว่าไทยอาจจะกลายเป็นโดมิโนตัวต่อไป กล่าวคือ สหรัฐฯ ถอนทหารจากไทยและเวียดนาม ประเทศเพื่อนบ้านกลายเป็นคอมมิวนิสต์ การสังหารหมู่ 6 ตุลา 2519 และรัฐบาลเผด็จการ ธานินทร์ กรัยวิเขียร ได้ช่วยกันผลักไสให้นักศึกษากรรมกรชาวนาเข้าร่วมกับ พคท. เร็วขึ้น ปัจจัยเหล่านี้ทำให้คณะทหารที่ทำรัฐประหาร 6 ตุลา 2519 ตัดสินใจทำรัฐประหารต่อรัฐบาลธานินทร์ ที่พวกเขาช่วยกันตั้งขึ้นมาเสียเอง
พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกฯ และผลักดันแนวทางการเมืองอย่างจริงจัง ด้วยการออกกฎหมายนิรโทษกรรมผู้นำนักศึกษา 18 คน และมีนโยบายอนุญาตให้นักศึกษาออกจากป่าได้ โดยไม่มีความผิดทางอาญา .. มีหลักฐานว่าแกนนำนักศึกษาปัญญาชนเริ่มเดินทางออกจากป่าก่อนหน้าก่อนที่คำสั่ง 66/2523 จะประกาศใช้ และเป็นข่าวหน้า 1 ในนสพ.ด้วย
สรุป การผลักดันนโยบายการเมืองนำการทหารที่แท้จริง เริ่มขึ้นในสมัยของพลเอกเกรียงศักดิ์ แล้วพลเอกเปรมมาสานต่อ
เมื่อมีคำสั่ง 66/2523 ออกมา ก็ทำให้คนหลั่งไหลออกจากป่ามากขึ้น โดยคำสั่งระบุแค่ว่าให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติต่ออดีตคอมฯ หรือผู้หลงผิด เยี่ยงเพื่อนร่วมชาติ และให้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายของรัฐ ก็คือเอาเข้าค่ายอบรมเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ส่วนใหญ่จะมีแต่ชาวนาที่ถูกจับเข้าค่ายอบรม
กระนั้น ไม่ได้หมายความว่าอดีต พคท. ทุกคนรอดพ้นจากการดำเนินคดี .. เช่น คุณสุรชัย แซ่ด่าน (วัฒนานุสรณ์) และพวก ถูกดำเนินคดีอาญาข้อหาทำให้จนท.เสียชีวิต ศาลลงโทษประหารชีวิต ลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต
ยังมีคนโนเนมอีกหลายคนโดนดำเนินคดีอาญาด้วย โดยจนท.อ้างว่าคนเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการสังหาร จนท.รัฐ ... ซึ่งจริงๆ เป็นการเลือกปฏิบัติ ดิฉันเคยเข้าไปสัมภาษณ์พวกเขาที่เรือนจำบางขวาง (ตอนจบใหม่ๆ รับทำวิจัยรวบรวมชื่อนักโทษการเมืองให้ สสส. เพื่อรณรงค์ให้นิรโทษกรรม ซึ่งทำสำเร็จสมัยรัฐบาลชาติชาย กระนั้น คนเหล่านี้ไม่ได้รับนิรโทษกรรมอยู่ดี)
แล้ว 66/2523 เกี่ยวกับอะไรเป็นสำคัญ ... เราต้องอ่านคำสั่ง 66/2523 ควบคู่ไปกับคำสั่ง 65/2525 แล้วจะได้ข้อสรุปว่ามันคือนโยบายที่สนับสนุนให้มีการขยายการจัดตั้งมวลชนของรัฐ
ในขณะที่ 6 ตุลา ทำให้เราเห็นความโหดเหี้ยมของมวลชนฝ่ายขวา ที่เกิดจากการจัดตั้งของรัฐในช่วงทศวรรษ 2510 แต่พวกเขาไม่ได้เห็นว่าเป็นความผิดพลาดแต่ประการใด คำสั่ง 66/2523 คือการยกระดับการจัดตั้งมวลชนให้เป็น “นโยบายระดับชาติ” ที่มี กอ.รมน.เป็นหน่วยงานหลักผลักดันนโยบายนี้ และหน่วยราชการทั้งหลายจะต้องน้อมรับไปปฏิบัติ หรือให้การสนับสนุน กอ.รมน.
แนวนโยบายนี้ยังถูกสานต่อโดยกองทัพมาจนถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้ คำสั่ง 66/2523 มักถูกให้เครดิตเกินจริง ว่าเป็นปัจจัยที่ทำให้ พคท. พ่ายแพ้อย่างรวดเร็ว ขอเก็บเรื่องนี้ให้ผู้ที่สนใจไปหาอ่านต่อเอาเอง
อ่านหนังสือ “ในนามของความมั่นคงภายใน” หรือบทความ “การขยายบทบาทของกองทัพในยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ: การจัดตั้งมวลชนของรัฐ” ในหนังสือ “มนุษยภาพ” ก็ได้ ... ขายของเฉย 555