วันอังคาร, มกราคม 18, 2565

‘I-Bo’ “โวข่าวดี” สิ้นเดือนนี้จัดการ 'เพิกถอน' แอมเนสตี้ฯ แล้วต่อยอดไล่กำจัดเอ็นจีโอที่ไม่เข้ากรอบรัฐ

นายเสกสถล อัตถาวงศ์ ทส. (เด็กซื้อโอเลี้ยง) ของประยุทธ์ จันทร์โอชา “โวข่าวดี” ได้ชื่อคนสนับสนุนขับไล่องค์การแอมเนสตี้ อินเตอร์แน้ทชั่นแนล ครบ ๑ ล้านแล้ว สิ้นเดือนนี้จะไปยื่นกรมการปกครอง เพิกถอน ใบอนุญาตประกอบการ

‘I-Bo’ หรือที่รู้จักกันในนาม โบ้อีสานถือโอกาสรณรงค์ต่อยอด โพลนิด้าซึ่งออกมาเมื่อสองวันก่อน ให้กำกับควบคุม เอ็นจีโอ หรือองค์กรภาคประชาชนมากขึ้น ทั้งในด้านการเปิดเผยแหล่งเงินทุน และข้อห้ามทำโน่นทำนี่

เช่น ห้ามทำกิจกรรมที่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ห้ามทำกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคม และห้ามทำกิจกรรมลักษณะ แสวงหาอำนาจรัฐ และเอื้อประโยชน์ต่อพรรคการเมือง แม้นว่าผู้ตอบสำรวจจำนวน ๓๑% ของทั้งหมดพันกว่าคนเห็นว่า

ข้อห้ามต่างๆ ต่อเอ็นจีโอจะส่งผลกระทบต่อประชาชนวงกว้าง ในการใช้สิทธิเสรีภาพ และในการรวมกลุ่มกัน ทั้งนี้ ไอโบ ได้จังหวะออกลูกตอแหลแบบนาย โกหกหน้าตายว่า “ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ายังมี NGO บางองค์กรอาจมีส่วนเกี่ยวข้อง เชื่อมโยง หรือสนับสนุน

การเคลื่อนไหวของม็อบกลุ่มต่างๆ อยู่ ประชาชนจึงอยากให้ออกกฎหมายเพื่อควบคุม...NGO ที่มาจากต่างประเทศเข้ามาสนับสนุนการเคลื่อนไหวต่างๆ เพื่อสร้างความเดือดร้อนในประเทศ...ตนจึงเห็นว่า NGO ที่เคลื่อนไหวร่วมกับม็อบสามกีบ

ทำลายความมั่นคงคิดล้มล้างสถาบันเหล่านี้ คือกลุ่มอันตรายที่สุด ที่คนไทยส่วนใหญ่ของประเทศที่ปกป้องประเทศชาติและสถาบันเบื้องสูง จะไม่มีวันยอมให้องค์กรเหล่านี้มีที่ยืน” รวมความว่าจะปรับให้เป็นแบบเกาหลีเหนือมากขึ้น ชัดแจ้งขึ้น

ว่าไปแล้วบทบาทของ ไอ่โบ่ (โปรดเลือกใส่วรรณยุกต์ตามชอบ) ไม่พอทำเนาที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรตามใจได้ ปฏิบัติการขององค์กรพลเรือนสากลในประเทศไทย มีพันธกรณีและสำนึกมั่น มากกว่าการเพิกถอนใบอนุญาตโดยกรมการปกครองจะกำจัดได้ง่ายๆ

บทบาทของโบ้ไม่ต่างอะไรกับประดา ตัวป่วน ต่างๆ ของรัฐกึ่งเผด็จการ ที่ออกมาดำเนินงานอย่างเอกชน ไม่ว่าจะเป็น เหรียญทอง แน่นหนา วรงค์ เดชกิจวิกรม หรือสนธิญาน ชื่นฤทัยในธรรม เพียงเที่ยวเตะตัดขา พลังประชาธิปไตย ให้นายของพวกตนดูดโอเลี้ยงคล่องคอ

รัฐบาลสืบทอดอำนาจเผด็จการชุดนี้ มีชั้นเชิงขยายผลขอบข่ายอำนาจอีกหลายรูปแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการใช้กฎหมาย (ตีความบิดเบี้ยว) สร้างกฎหมาย (ไม่รู้แบบเดียวกับที่ ตู่ ให้สร้างหมูขึ้นมาใหม่ ทดแทนหมูที่เป็นอหิวาห์ตาย หรือเปล่า)

ร่างกฎหมายใหม่ฉบับหนึ่งซึ่งคณะรัฐมนตรีลักไก่ ผ่านออกมาเมื่อ ๑๑ มกรา ปีนี้ คือร่าง พรบ.มาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน หากปล่อยให้เข้าสภาอย่างฉลุย ประชาชนอาจจะได้กฎหมายอีกฉบับ ไว้สำหรับกดหัว ข่มเหง สิทธิเสรีภาพการเสพสื่อ โดยไม่รู้ตัว ในไม่ช้าก็ได้

ขอบคุณสมาพันธ์สื่อไทยเพื่อประชาธิปไตย หรือ DemAll’ ที่เปิดเบาะแสของร่างกฎหมายคุมสื่อฉบับนี้ ให้เห็นว่า ครม.ของประยุทธ์คืบคลานปฏิบัติการครอบหัวประชาชนอย่างไรบ้าง นอกจาก “กระทบต่อสิทธิเสรีภาพในการรายงานข่าวสาร” และเข้าถึงข่าวแล้ว

“มาตรา ๕ ของร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว แม้จะรับรองเสรีภาพในการเสนอข้อมูลข่าวสาร” แต่ก็เอาประโยคที่ว่า “ไม่ขัดต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน” มาบังหน้าและปิดกลบเสรีภาพต่างๆ เสียหมดสิ้น

ดังที่ DemAll ชี้ว่าประโยคดังกล่าว “มักถูกรัฐตีความอย่างกว้างขวางเพื่อใช้ในทางจำกัดเสรีภาพตลอดมา” แล้วยังเรื่อง ผลประโยชน์ทับซ้อนจากการเปิดช่องทางให้รัฐเข้าไปครอบงำ โดย “เงินที่รัฐบาลจ่ายให้เป็นทุนประเดิม, เงินอุดหนุนทั่วไป...”

และเงินที่จัดสรรให้ โดย กทปส.ปีละ ๒๕ ล้านบาท แล้วอย่างนั้น หลักการ “สื่อมวลชนต้องเป็นผู้ตรวจสอบการดำเนินการของภาครัฐ” จะสัมฤทธิ์ผลได้อย่างไร “หากมีแหล่งรายได้มาจากรัฐเสียเอง” ไม่เท่านั้นร่าง กม.กำหนดจัดตั้ง ‘สภาวิชาชีพสื่อ’

สภานี้จะเป็นผู้กำหนด “มาตรฐานจริยธรรมของสื่อมวลชน พร้อมกำกับดูแลการทำงานของสื่อ” ให้มีกรรมการทั้งสิ้น ๑๑ คน มาจากตัวแทนองค์กรวิชาชีพสื่อ ๕ คน ผู้ทรงคุณวุฒิจากการสรรหาอีก ๕ คน กับ ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยฯ อีกหนึ่งคน

คณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อที่มาจากการสรรหานั้น “ประกอบด้วยกลุ่มบุคคลในวงจำกัด” คือให้เป็นคณบดี หัวหน้าภาควิชาด้านนิเทศศาสตร์จากมหาวิทยาลัยรัฐ ราชภัฏ และมหาวิทยาลัยเอกชน คัดกันมาเองแล้ว ๓ คน อีกสองคนยังไม่รู้มาจากไหน

กรรมการสภาดังกล่าว ๑๑ คน อยู่ในตำแหน่งคราวละ ๔ ปี ได้สองสมัย แต่ “ไม่มีกลไกเอื้อให้สมาชิกมีส่วนร่วมหรือตรวจสอบการทำงานของคณะกรรมการสภา” ได้เลย ถ้าอยู่กัน ๘ ปี แบบที่ตู่อยู่มาแล้ว ประชาชนไม่ได้ ๕ อะไรเลยละก็

ตั้งตารอ กระดาษเปื้อนหมึก หรือ โพสต์เปรอะเว็บ กันได้เลย เจอแน่

(https://www.facebook.com/DemAllDemocracyAlliance/posts/264297775773770, https://www.posttoday.com/politic/news/673108 และ https://www.khaosod.co.th/politics/news_6839488)