วันเสาร์, มกราคม 15, 2565

Human Rights Watch ออกรายงาน World Report 2022 ระบุถึงประเทศไทยว่า “การเคารพสิทธิมนุษยชนเลวร้ายลงไปอีก”


Human Rights Watch ออกรายงาน World Report 2022 ระบุถึงประเทศไทยว่า “การเคารพสิทธิมนุษยชนเลวร้ายลงไปอีก”

วันนี้ (13 ม.ค. 2565) ฮิวแมนไรท์วอทช์ (HRW) องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน เพิ่งเผยแพร่ ‘World Report 2022’ รายงานประจำปีที่ประเมินถึงสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนทั่วโลกในปีที่ผ่านมา โดยมีส่วนหนึ่งที่รายงานเกี่ยวกับประเทศไทยด้วย

เคนเนธ โรธ์ ผู้อำนวยการบริหารของ HRW เขียนอธิบายสถานการณ์ทั่วโลกในรายงานฉบับนี้ว่า ที่ผ่านมา มีการลงถนนประท้วงเป็นจำนวนมากในหลายๆ ประเทศ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ประชาชนยังศรัทธาในระบอบประชาธิปไตย และระบอบเผด็จการไม่สามารถควบคุมได้อย่างเต็มที่ มาตรการปราบปรามที่รุนแรงทั้งหลายนั้น จึงควรถูกมองว่าเป็นที่พึ่งสุดท้าย ที่เผยให้เห็นความอ่อนแอของระบอบเหล่านี้มากกว่าความแข็งแกร่ง

ในส่วนของสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย HRW ได้รายงานปัญหาการละเมิดสิทธิในหลายๆ ด้าน อาทิ การชุมนุมของนักศึกษา, การจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก, การอุ้มหายและการทรมาน, ความรุนแรงโดยรัฐ, การทำงานอย่างไม่ได้รับการคุ้มครองขององค์กรด้านสิทธิ, ประเด็นผู้ลี้ภัย รวมทั้งความเหลื่อมล้ำทางเพศ

สำหรับขบวนการนักศึกษา HRW รายงานว่า แทนที่รัฐบาลจะรับฟังในประเด็นต่างๆ กลับพยายามขัดขวางไม่ให้การชุมนุมกระจายตัวได้มากขึ้น โดยการประท้วงที่ผ่านมาก็ได้ถูกขัดจังหวะอย่างจริงจังด้วยมาตรการล็อกดาวน์ รวมทั้งการกลั่นแกล้งทางกฎหมาย การสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรง และการรังแกผู้ชุมนุม

การประกาศมาตรการตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยังเป็นการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก มีผู้ชุมนุมอย่างน้อย 1,100 คนที่ถูกดำเนินคดีภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รวมทั้งข้อหายุยงปลุกปั่น นอกจากนี้ HRW รายงานว่า มีประชาชนอย่างน้อย 151 คน รวมเด็ก 12 คน ที่ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112

ในประเด็นความเหลื่อมล้ำทางเพศ HRW แสดงความกังวลถึงกฎหมายหลายฉบับ เช่น การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาในเรื่องการทำแท้ง ซึ่งยังคงไม่สามารถรับประกันสิทธิของผู้ตั้งครรภ์ได้อย่างเต็มที่ ในส่วนของ พ.ร.บ.คู่ชีวิต HRW มองว่าจะเป็นก้าวที่สำคัญ แต่ร่างฉบับปัจจุบันยังต้องมีการปรับปรุงเพื่อให้ได้มาตรฐานระหว่างประเทศ นอกจากนี้ HRW ยังแสดงความกังวลถึงการเปลี่ยนสถานะเพศในทางกฎหมายที่ยังไม่มีกระบวนการรองรับในไทย

อีกประเด็นหนึ่งที่ HRW ให้ความสำคัญคือ การทรมานและการอุ้มหาย ซึ่งจากหลักฐานที่ผ่านมา ก็พบว่า มีการทรมานเกิดขึ้นบ่อยครั้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งมีการใช้การทรมานเป็นการลงโทษทหารเกณฑ์ด้วย ในส่วนของการอุ้มหาย HRW อ้างรายงานของสหประชาชาติ ระบุว่า การอุ้มหายในประเทศไทยเกิดขึ้นทั้งหมด 91 ครั้ง และมีผู้ลี้ภัยอย่างน้อย 9 คนที่ถูกอุ้มหายในประเทศเพื่อนบ้าน

สำหรับการละเมิดสิทธิโดยภาครัฐ HRW ระบุว่า ยังไม่มีเจ้าหน้าที่จากภาครัฐและกองทัพคนใดต้องรับผิดชอบกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในหลายๆ ครั้ง โดยเฉพาะเหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดง พ.ศ. 2553 ที่มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 99 ศพ รวมทั้งเหตุการณ์สงครามยาเสพติดในสมัยของนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ด้วย

แบรด อดัมส์ ผอ.ภูมิภาคเอเชียของ HRW ให้ความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในไทยโดยภาพรวมว่า “ทางการไทยดำเนินคดีกับผู้เห็นต่าง ใช้ความรุนแรงเพื่อสลายการชุมนุมอย่างสงบ และเซ็นเซอร์ข่าวสารและโซเชียลมีเดีย” ซึ่งในปีที่ผ่านมานั้น “การเคารพสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยได้เลวร้ายลงไปอีก ในขณะที่รัฐบาลไม่ปฏิบัติตามคำสัญญาที่จะปฏิรูป”

สามารถอ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่: https://www.hrw.org/world-report/2022

อ้างอิงจาก
https://www.hrw.org/news/2022/01/13/thailand-deepening-repression-rights
https://www.hrw.org/world-report/2022/country-chapters/thailand
https://www.theguardian.com/global-development/2022/jan/13/increased-repression-and-violence-a-sign-of-weakness-says-human-rights-watch

ที่มา The Matter