วันอาทิตย์, มกราคม 16, 2565

ไม่ต้องรอ ‘น้ำลด ตอผุด’ ก็เห็น ตะหาน-ตำหวด แบ่งกันกินงบประมาณ ขณะเจ้าสัวยั๊วะ ฟ้องรัฐกีดกันเสียจน 'กำไรน้อย'

ทหารมีไว้ทำไร ขายหมู ขายไข่ ขายผัก น่ารักไปอีกอย่าง ท่ามกลางเสียงด่าของลิ่วล้อที่ดูเหมือนกำลังขอ ปลดแอกแบบ นิพนธ์ บุญญามณี พรรค ปชป.พูดหาเสียงโค้งสุดท้ายเลือกซ่อม ส.ส.สงขลา ต่อกรกับ พรรคพลเอก

“เราไม่ใช่พรรคเฉพาะกิจที่ตั้งมาเพื่อให้ใครสักคนขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี กับพรรคการเมืองต่างๆ มามาก ถ้าจะสู้กับพรรคนี้ เราเชื่อว่าวันไหนหมดพลเอกแล้ว พรรคนี้ก็คงตาย” ปัญหาอยู่ที่พลเอกไม่มีทางหมด ถ้าพรรคนี้ตายแสดงว่ามีพรรคใหม่แทนแล้ว

ตอนนี้พวกเขาแบ่งกันกินอยู่ ถึงคราวตำหวดรับประทานบ้าง จากงบฯ ๖๖ ทั้งสิ้นราว ๓.๓ ล้านล้านบาท ขอ ๔ พันกว่าล้านเอาไปสร้าง “อาคารที่จอดรถยนต์และอาคารที่พักอาศัยข้าราชการตำรวจฯ จำนวน ๖ อาคาร” ชวนให้หวนถึงโครงการแฟล็ตตำรวจสมัยเทือกฯ

จะลงท้ายเหมือนกันอีกไหม ต้องรอจนกว่า น้ำลด ตอผุดโน่นละมัง คราวนี้อ้างว่าสวัสดิการตำรวจ (ไม่เหมือนของพี่ตะหาน) ไม่สามารถเบิกค่าเช่าบ้าน (ตกเดือนละ ๕-๗ พันบาท) ได้ เงินเดือนแค่หมื่นกว่าๆ ไม่พอยาไส้

ข่าวว่าโครงการที่พักอาศัยตำรวจนี้ จะเป็นผลงานของ ผบ.ตร.คนปัจจุบัน ก่อนเกษียณอายุราชการในเดือนตุลานี้ “ไว้ให้เป็นมรดกในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ” โดยมิพักคำนึงถึง สัมภาระหนี้เงินกู้ของรัฐบาล ไว้ให้อนุชนรุ่นหลังตามชดใช้ไปอีก ๕๐ ปี

ทั้งที่ภาวะ ข้าวยากหมากแพง ยังกัดกร่อนอัตราความสมบูรณ์พูนสุขของประชากรลงไปไม่หยุดยั้ง จากหมูแพงลามไปเกือบจะถ้วนทั่วองคาพยพเศรษฐกิจรากหญ้า ล่าสุดที่เห็น ข้าวเหนียวนึ่ง ขอขึ้นราคาบ้าง ทั้ง เขี้ยวงู และ สันป่าตอง

ปรับเพิ่มราคา ๑๐๐-๒๐๐ บาทต่อกระสอบ (เป็น ๙๘๐ บาท และ ๘๕๐ บาท ตามลำดับ) กิจการบางอย่างไม่สามารถผลักภาระขาดทุนไปสู่ผู้บริโภคได้ ก็จะ เลิกขาย ไม่เพียงเพราะขาดทุน หากแต่ด้วยเหตุง่ายๆ กำไรน้อย ยิ่งถ้าเป็นกิจการอภิมหาระดับเจ้าสัว

อันเนื่องมาแต่ “บมจ.สินมั่นคงประกันภัย (SMK) ออกมาใช้สิทธิ ‘บอกเลิกกรมธรรม์’ ประกันภัยการติดเชื้อโควิด-19 ชนิด เจอ จ่าย จบ...สิ้นสุดความคุ้มครองทั้งฉบับ เมื่อล่วงพ้นกำหนด ๓๐ วัน นับแต่วันที่ผู้เอาประกันได้รับหนังสือเป็นต้นไป”

คปภ. หรือกรรมการกำกับระบบประกันภัย ออกคำสั่ง “ยกเลิกเงื่อนไขการใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 สำหรับบริษัทประกันวินาศภัย” ยับยั้งมาตรการของ บมจ.สินมั่นคง ร้อนถึงเจ้าสัวธุรกิจประกันภัย เครือไทยโฮลดิ้งของ เจริญ สิริวัฒนภักดี

“ยื่นฟ้อง สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการฯ (คปภ.) ในข้อหา กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย” ไม่เป็นไปตามบรรทัดฐานที่ศาลปกครองเคยวินิจฉัยไว้ ว่า “ฝ่ายปกครองไม่มีอำนาจออกกฎหรือคำสั่งทางปกครอง ให้มีผลย้อนหลังที่เป็นโทษ” ได้

กับอุทธรณ์ เรื่องการรักษาพยาบาลตามกรมธรรภ์ประกันภัย (ที่ ๑๗/๒๕๖๔ วันที่ ๑๒ เมษา ๖๔) ว่าคำสั่งดังกล่าว “ขยายความคุ้มครองในกรมธรรม์ประกันภัย...ส่งผลให้บริษัทประกันภัยต้องรับผิดชอบความคุ้มครองเพิ่มเติม”

โดยรวมที่บริษัทประกันเจ้าสัวอ้างว่าสถานการณ์โควิดทำให้ขาดทุน หลังจากเชื้อกลายพันธุ์ ออมมิครอนเริ่มระบาด ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มพรวด (แม้ในขณะนี้ระดับ ๗-๘ พันรายต่อวัน และจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่ม ๑๐-๒๐ รายต่อวัน)

เครือไทยโฮลดิ้งบอกว่าไตรมาส ๓ ของปีที่แล้ว ขาดทุนสุทธิ ๖๖๒ ล้านบาท เทียบกับเมื่อปีก่อน ที่มีกำไร ๘๙.๘๖ ล้านบาท ขณะที่จากการตรวจสอบของสำนักข่าว พบว่าเครือฯ นี้ “มีรายได้จากธุรกิจประกันภัยรวม ๒,๔๙๙ ล้านบาท

เพิ่มขึ้น ๓๗๑ ล้านบาท หรือ ๑๗.% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน” หรือถ้าย้อนหลังต่อไปอีก ๓ ปี ก็พบว่าไทยโฮลดิ้งมีกำไรจากการประกอบการมาโดยตลอด ปี ๖๓ กำไร ๗๒๘ ล้าน ปี ๖๒ กำไร ๓๐๔ ล้าน และปี ๖๑ กำไร ๙๙๘ ล้าน

เป็นอันว่าถ้าไม่ใช่เครือไทยโฮลดิ้งโกหกคำโตต่อกระบวนการ ปกครองด้วย (with) กฎหมายละก็ประเทศนี้มีกฎหมายและฐานข้อมูลธุรกิจ ที่ต่างกันสองชุดสำหรับเรื่องเดียวกัน ชุดหนึ่งใช้กับคนทั่วไป อีกชุดให้เจ้าสัวใช้

(https://thestandard.co/key-messages-covid-insurance-meet-payfinish-issue/, https://www.prachachat.net/politics/news-843026 และ https://www.facebook.com/NewsWorkpoint/posts/4978261818878777)