วันพุธ, มกราคม 12, 2565

"ทูตนอกแถว" วิเคราะห์เหตุประท้วงและเรื่องน่ารู้ของคาซัคสถาน อดีตสมาชิกสหภาพโซเวียต

เพลิงลุกไหม้สำนักงานนายกเทศมนตรีเมืองอัลมาตี ประเทศคาซัคสถาน เมื่อวันที่ 5 ม.ค. เมืองอัลมาตีเป็นเมืองที่เกิดเหตุจลาจลจากการประท้วงการขึ้นราคาเชื้อเพลิง

คาซัคสถาน: "ทูตนอกแถว" รัศม์ ชาลีจันทร์ วิเคราะห์เหตุประท้วงและเรื่องน่ารู้ของอดีตสมาชิกสหภาพโซเวียต

กุลธิดา สามะพุทธิ
ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
7 มกราคม 2022

คาซัคสถานกำลังเผชิญกับเหตุจลาจลที่มีจุดเริ่มต้นจากความไม่พอใจของประชาชนต่อการขึ้นราคาก๊าซแอลพีจี การประท้วงและการปราบปรามผู้ประท้วงยืดเยื้อมานานนับสัปดาห์ ล่าสุดมีเจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุมเสียชีวิตแล้วหลายสิบคน บาดเจ็บอีกหลายร้อยคน

นายรัศม์ ชาลีจันทร์ อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำคาซัคสถานติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด และมองว่าการประท้วงใหญ่ครั้งนี้เป็นการระเบิดออกของความไม่พอใจการบริหารประเทศของรัฐบาลและการทุจริตคอร์รัปชันที่สะสมมานานหลายปี

"ความไม่พอใจรัฐบาลก่อตัวขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีการประท้วงเป็นระยะ ๆ และผู้ประท้วงมักจะถูกจับกุม ประท้วงได้ไม่กี่นาที รถตำรวจก็มาลากคนไปหมด...แต่ครั้งนี้รุนแรงจนถึงกับต้องประกาศเคอร์ฟิว ตอนผมอยู่ไม่เคยมีการประกาศเคอร์ฟิวจากการประท้วง" นายรัศม์ย้อนเหตุการณ์เมื่อครั้งที่เขาเป็นเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงอัสตานา (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นกรุงนูร์สุลต่าน) เมื่อปี 2562

คาซัคสถาน : ตำรวจระบุ "กำจัด" ผู้ร่วมจลาจลไปหลายสิบคน สถานทูตเตือนคนไทยอย่าออกจากบ้าน
รู้จัก ‘คาซัคสถาน’ ผ่าน 7 ภาพน่าสนใจ
อัฟกานิสถาน : ตาลีบัน, ไอเอส และอัลไคดา ความเหมือนและต่างของ 3 กลุ่มติดอาวุธมุสลิม
ชาวมุสลิมปรับตัวอย่างไรในเดือนรอมฎอนท่ามกลางการระบาดของโควิด-19

นายรัศม์ ซึ่งเป็นแอดมินเพจเฟซบุ๊ก "ทูตนอกแถว" วิเคราะห์ว่าการประท้วงครั้งนี้ไม่น่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในคาซัคสถาน เพราะประธานาธิบดีคาสซิม โจมาร์ท โตกาเยฟ ยังคงได้รับการสนับสนุนจากประชาชนส่วนใหญ่ ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลที่นำโดยพรรคนูร์โอตานยังคงมีความแข็งแกร่งและมีผลงานการบริหารประเทศเป็นที่ประจักษ์ในช่วงที่ผ่านมา

อีกเหตุผลหนึ่งคือ ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลยังไม่มีตัวบุคคลที่จะขึ้นมาเป็นคู่แข่งทางการเมืองได้อย่างชัดเจน

ส่วนการปราบปรามผู้ประท้วงด้วยความรุนแรงนั้น นายรัศม์ประเมินว่าประเทศตะวันตกทั้งหลายที่ให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพทางการเมือและการปกป้องสิทธิมนุษยชนคงจะไม่แสดงท่าทีอะไรชัดเจนนัก หรือทำเป็นมองไม่เห็นในทำนอง "เอาหูไปนาเอาตาไปไร่" เพื่อรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับคาซัคสถานไว้ เนื่องจากหลายประเทศมีผลประโยชน์มหาศาล ทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจในประเทศที่ร่ำรวยทรัพยากรแห่งนี้



รู้จักคาซัคสถานและสรุปเหตุประท้วง

คาซัคสถานอยู่ในเอเชียกลาง ทิศเหนือติดกับรัสเซีย และทิศตะวันออกติดกับจีน เป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดและร่ำรวยที่สุดในบรรดาประเทศในเอเชียกลางที่แตกตัวมาจากอดีตสหภาพโซเวียต มีพื้นที่มากเป็นอันดับที่ 9 ของโลก หรือใหญ่กว่าไทยประมาณ 5 เท่า คาซัคสถานมีแร่ธาตุมากมาย มีน้ำมันดิบถึง 3% ของปริมาณน้ำมันสำรองของทั้งโลก อีกทั้งมีถ่านหินและก๊าซธรรมชาติจำนวนมาก

เมืองหลวงดั้งเดิมคือเมืองอัลมาตี ซึ่งเป็นเมืองที่มีการประท้วงอยู่ในขณะนี้ ต่อมาย้ายเมืองหลวงมาที่เมืองอัสตานา ซึ่งเมื่อปี 2562 ได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นกรุงนูร์สุลต่านเพื่อเป็นเกียรติแก่นายนูร์สุลต่าน นาซาร์บาเยฟ ประธานาธิบดีคนแรกของคาซัคสถาน

คาซัคสถานเป็นเอกราชจากสหภาพโซเวียตเมื่อปี 1991 และเพิ่งจะฉลองครบรอบ 30 ปีของการประกาศเอกราชไปเมื่อวันที่ 16 ธ.ค. ที่ผ่านมา คาซัคสถานมีระบบการเมืองแบบรัฐสภาโดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุขและเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด และนายกรัฐมนตรีทำหน้าที่เป็นหัวหน้ารัฐบาล


กองกำลังคาซัคสถานรักษาการณ์ในเมืองอัลมาตีเมื่อเช้าวันที่ 6 ม.ค.

  • นายนูร์สุลต่าน นาซาร์บาเยฟ ซึ่งเป็นอดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งคาซัคสถานตั้งแต่ยุคสหภาพโซเวียต ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีคนแรกของคาซัคสถานตั้งแต่ปี 2534 จนกระทั่งประกาศลาออกในปี 2562 จากนั้นนายคาสซิม โจมาร์ท โตกาเยฟ เข้ามารับตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีคนต่อมาจนถึงปัจจุบัน

  • การจลาจลที่เกิดขึ้นในขณะนี้เกิดขึ้นในเมืองอัลมาตี เริ่มจากการประท้วงครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 ม.ค. จากราคาเชื้อเพลิงที่พุ่งสูงขึ้น ต่อมาได้ขยายวงกว้างออกไปเป็นเรื่องของความคับข้องใจทางการเมืองด้านอื่น ๆ ทางการได้ส่งกำลังเข้าปราบปรามการชุมนุมอย่างหนัก จนกระทั่งวันที่ 4 ม.ค. ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและเคอร์ฟิว พร้อมกับขอให้รัสเซียส่งกองกำลังเข้ามาช่วยควบคุมสถานการณ์ ซึ่งล่าสุดวันนี้ (7 ม.ค.) ทหารรัสเซียได้เดินทางมาถึงแล้ว ขณะที่ประธานาธิบดีโตกาเยฟ อ้างว่าเหตุการณ์ความไม่สงบเป็นการกระทำของ "กลุ่มผู้ก่อการร้าย" ที่ได้รับการฝึกมาจากต่างประเทศ ทางการเมืองอัลมาตีระบุวานนี้ (6 ม.ค.) ว่ามีเจ้าหน้าที่เสียชีวิตแล้ว 18 นาย และมีผู้ก่อเหตุจลาจลถูกสังหารนับสิบราย

คาซัคสถานผ่านมุมมอง "ทูตนอกแถว"

เหตุรุนแรงในคาซัคสถานครั้งนี้ อาจทำให้หลายคนหันมาสนใจและอยากรู้จักประเทศอดีตสมาชิกสหภาพโซเวียตประเทศนี้มากขึ้น บีบีซีไทยประมวลเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับคาซัคสถานผ่านมุมมองของอดีตทูตรัศม์ ดังนี้

แหล่งอารยธรรม

คนส่วนใหญ่รู้จักคาซัคสถานในฐานะที่เป็นประเทศเกิดใหม่ที่เพิ่งได้รับเอกราชหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต แต่จริง ๆ แล้ว คาซัคสถานมีประวัติศาสตร์มายาวนานอีกทั้งยังเป็นแหล่งอารยธรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก คนที่อยู่ดั้งเดิมคือชนเผ่าร่อนเร่ บางเผ่าเป็นบรรพบุรุษของชนชาติเติร์กผู้สถาปนาจักรวรรดิออตโตมานอันยิ่งใหญ่

รวยสุดในกลุ่มอดีตสมาชิกสหภาพโซเวียต

คาซัคสถานเป็นประเทศที่ร่ำรวยทรัพยากรที่มีค่ามหาศาลทั้งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ แร่ธาตุ ทองคำ จึงเป็นประเทศที่ร่ำรวยระดับ "น้อง ๆ ตะวันออกกลาง" และมีฐานะดีที่สุดในกลุ่มอดีตสมาชิกสหภาพโซเวียต นับว่าเป็น "พี่เบิ้ม" ของประเทศแถบเอเชียกลาง

ความที่มีแหล่งน้ำมันขนาดใหญ่ ทำให้มีบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของโลกจากหลายประเทศเข้าไปลงทุน ทั้งรัสเซีย สหรัฐอเมริกา อิตาลี จีน บ.โททาลของฝรั่งเศส และ บ.เชลล์ของอังกฤษ ประเทศเหล่านี้จึงเอาใจคาซัคสถานทุกอย่าง ถือว่าเป็นประเทศที่ "เนื้อหอม" มาก


นายรัศม์ ชาลีจันทร์ (ซ้าย) ยื่นพระราชสาส์นตราตั้งแก่นายคาสซิม โจมาร์ท โตกาเยฟ ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐคาซัคสถาน ณ ทําเนียบประธานาธิบดี เพื่อดํารงตําแหน่งเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอํานาจเต็มแห่งราชอาณาจักรไทยประจําสาธารณรัฐคาซัคสถาน เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2562

มุสลิมสายกลาง

ประชากรส่วนใหญ่ของคาซัคสถานนับถือศาสนาอิสลาม แต่ไม่เคร่งศาสนาเหมือนในอัฟกานิสถาน ถือเป็น "มุสลิมสายกลาง" ผู้หญิงน้อยคนที่จะสวมฮิญาบ ความเป็นมุสลิมสายกลางนี้ทำให้คาซัคสถานได้รับการสนับสนุนจากประเทศตะวันตก ทั้งสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ที่มองคาซัคสถานเป็นตัวเชื่อมระหว่างประเทศมุสลิมกับประเทศตะวันตกได้ ซึ่งคาซัคสถานก็วางสถานะตัวเองเป็นเช่นนั้นด้วย

ต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์

คาซัคสถานเป็นหนึ่งในประเทศที่ต่อต้านอาวุธนิวเคลีย์อย่างแข็งขันเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก เพราะชาวคาซัคสถานจำนวนไม่น้อยได้รับผลกระทบจากกัมมันตภาพรังสีจากการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ของสหภาพโซเวียตในอดีต ที่ใช้คาซัคสถานเป็นที่ทดลองอาวุธ เพราะมีที่ราบกว้างใหญ่

เมื่อได้รับเอกราช อดีตประธานาธิบดีนาซาร์บาเยฟจึงทำลายอาวุธนิวเคลียร์ที่เคยเป็นของโซเวียตครั้งใหญ่ และมีจุดยืนหนักแน่นในเรื่องการต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์


กรุงอัสตานา เมืองหลวงของคาซัคสถานที่เพิ่งเปลี่ยนชื่อมาเป็นกรุงนูร์สุลต่าน จะเป็นที่ตั้งของ The Hazrat Sultan มัสยิดที่ใหญ่ที่สุดของเอเชียกลาง และประชากรของประเทศนี้กว่า 70% นับถือศาสนาอิสลาม แต่สังคมคาซัคกลับเป็นสังคมมุสลิมที่ไม่เคร่งครัดมากนัก สังเกตได้จากร้านอาหารบางแห่ง ที่มีบาร์เหล้า รวมถึงมีฟลอร์เต้นรำไว้บริการในที่เดียวกัน

พรรครัฐบาลกุมอำนาจเบ็ดเสร็จ

หากให้อธิบายสภาพการเมืองของคาซัคสถาน อดีตทูตรัศม์เปรียบเทียบว่าคล้ายกับสิงคโปร์ กล่าวคือมีพรรคการเมืองเดียวที่แข็งแกร่งและคุมอำนาจหมดทุกอย่าง ซึ่งก็คือพรรคนูร์โอตานของอดีตประธานาธิบดีนาซาร์บาเยฟ ส่วนพรรคการเมืองอื่นเหมือนเป็นไม้ประดับ การเลือกตั้งครั้งที่ผ่าน ๆ มา พรรคของนายนาซาร์บาเยฟได้คะแนนเสียงท่วมท้นถึง 80-90% แต่ชนะภายใต้กติกาที่โปร่งใสแค่ไหนหรือมีการปราบปรามฝ่ายค้านอย่างไรนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ช่วง 2 ทศวรรษแรกที่นายนาซาร์บาเยฟมาบริหารประเทศ เขาทำให้คาซัคสถานเจริญขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ถือเป็นผู้นำที่มีวิสัยทัศน์พอสมควร แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เริ่มมีปัญหาเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน การเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง ลูกเขยของนายนาซาร์บาเยฟตกเป็นข่าวอื้อฉาวเรื่องการยักยอกเงินจากธนาคาร มีการปราบปรามนักการเมืองฝ่ายค้านจนบางคนต้องหนีไปต่างประเทศ ความไม่พอใจเหล่านี้ผสมกับภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่จากราคาน้ำมันที่ดิ่งลง บ่มเพาะจนปะทุเป็นการประท้วงครั้งล่าสุด

เมืองอัลมาตี

อัลมาตีเป็นอดีตเมืองหลวงของคาซัคสถาน ปัจจุบันเป็นเมืองเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ ประชากรส่วนใหญ่มีฐานะดี มีความรู้และมักจะวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล การชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นที่เมืองอัลมาตี แต่หากไม่มีการประท้วงทางการเมืองแล้ว อัลมาตีจัดว่าเป็นเมืองที่น่าเที่ยวที่สุดแห่งหนึ่ง เนื่องจากค่าครองชีพถูกมากและขับรถออกไปไม่ไกลก็จะมีที่เล่นสกีที่สวยงามไม่แพ้ในยุโรป


ถึงจะเป็นประเทศที่มั่งคั่งที่สุดในเอเชียกลาง โดยมี GDP คิดเป็น 60% ของประเทศในแถบนั้น จากรายได้ที่มาจากน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และเหมืองแร่ แต่ระบบขนส่งสาธารณะของคาซัคสถานกลับยังไม่ครอบคลุมนัก โดยรถยนต์ยังเป็นพาหนะที่คนเมืองส่วนใหญ่ใช้กัน ส่วนรถไฟใต้ดิน (metro) ปัจจุบัน ยังมีเฉพาะในเมืองหลวงเก่าอัลมาตี้ ขณะที่ในกรุงอัสตานา ยังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง

ไทยกับคาซัคสถาน

คนไทยที่อยู่ในคาซัคสถานมีเป็นหลักร้อยคน ส่วนใหญ่เป็นคนงานของบริษัทขุดเจาะน้ำมัน อีกส่วนหนึ่งเป็นพนักงานในร้านอาหารและสปาในเมืองอัลมาตี ซึ่งเป็นเมืองเศรษฐกิจสำคัญ

ในทางการทูต ไทยต้องการเป็นมิตรที่ดีกับคาซัคสถาน เพราะเราเห็นความสำคัญของคาซัคสถานในฐานะที่เป็นตัวกลางเชื่อมกับประเทศมุสลิม

ไทยเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่ชาวคาซัคสถานโปรดปราน รัฐบาลคาซัคสถานเคยเสนอทำข้อตกลงยกเว้นการตรวจลงตรากับไทย เพื่ออำนวยความสะดวกในการไปมาหาสู่กัน แต่ไทยยังไม่ตกลง อาจเป็นเพราะหน่วยงานความมั่นคงเห็นว่าเป็นประเทศมุสลิม ทั้งที่หากมีการยกเว้นวีซ่า ไทยน่าจะได้ประโยชน์มากกว่าเพราะชาวคาซัคสถานจำนวนมากชอบมาไทย และเป็นนักท่องเที่ยวประเภท "จ่ายหนัก"

แม้ไทยจะไม่ตกลง แต่ขณะนี้รัฐบาลคาซัคสถานได้เปิดให้คนไทยเข้าประเทศได้โดยไม่ต้องขอวีซ่าแล้ว