ภาพวาด Karl Marx และ Friedrich Engels โดย รามิล-ศิวะ วิธญ
'ขายรูปส่งตัวเองสู้คดี' จากเชียงใหม่ถึงนราฯ : รามิล นักศึกษา มช. ผู้ต้องหาทางการเมือง 7 คดี
2022-01-12
วรรณา แต้มทอง : รายงาน
ประชาไท
“ขายรูปส่งตัวเองสู้คดี” ของ “รามิล-ศิวะ วิธญ” นักศึกษา มช. จากเชียงใหม่ถึงนราธิวาสราคาที่ต้องจ่ายทางของผู้ต้องหา 7 คดีทางการเมือง
“สวัสดีครับ, ช่วงเดือนมกราคมปีนี้ ผมมีทริปขึ้นเหนือล่องใต้ เดินทางไปอัยการที่นราธิวาส (คดีคาร์ม็อบนราธิวาส), ขึ้นมารับทราบข้อกล่าวหา ที่ สน.ลุมพินี กทม. (ม็อบ 12.12 ยกเลิก 112, ราษฎรประสงค์) และกลับมาที่เชียงใหม่ นัดอัยการส่งฟ้องศาล (พ.ร.บ.ธงชาติ+112) .... จึงนำภาพชุดนี้มาเปิดประมูล เพื่อเป็นเงินสำรองจ่ายในการเดินทางครั้งนี้!!” รามิล-ศิวะ วิธญ, 1 ม.ค.2565
วันที่ 1 ม.ค.ที่ผ่านมา ในเฟซบุ๊กส่วนตัวของรามิล-ศิวะ วิธญ นักศึกษาภาควิชาปรัชญาและศาสนา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ไม่มีข้อความสวัสดีปีใหม่หรือ New Year's resolution ใดๆ มีแต่ถ้อยคำที่โพสต์เชิญชวนเพื่อนๆ และคนรู้จักร่วมกันประมูลภาพวาด ฝีมือของเขา เพื่อหาค่าใช้จ่ายสำหรับเดินทางไปต่อสู้คดี
7 คดี เชียงใหม่ กทม. จนถึงนราฯ
ความตื่นตัวและเอาจริงเอาจังกับการทำกิจกรรมทางการเมืองของรามิล ทำให้เขาถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 7 คดี
- คดีที่ 1 ถูกแจ้งข้อหาตาม ม.116 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และพ.ร.บ.โรคติดต่อฯ จากการชุมนุม #เชียงใหม่จะไม่ทน ที่ประตูท่าแพ เมื่อวันที่ 29 ก.ค.63 ซึ่งในคดีนี้มี 37 นักศึกษา นักกิจกรรม และคนเสื้อแดง ที่ถูกแจ้งข้อหา
- คดีที่ 2 ถูกแจ้งข้อหาตาม ม.116 จากการชุมนุม “เชียงใหม่จะไม่ทน” ที่ประตูท่าแพ จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2563 เป็นการร่วมแฟลชม็อบที่มีทนายอานนท์ นำภา ขึ้นปราศรัยเน้นย้ำ 3 ข้อเรียกร้องของประชาชนปลดแอก 1. ให้หยุดคุกคามประชาชน 2. ให้มีการยุบสภา และ 3. ให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
- คดีที่ 3 ได้รับหมายเรียกฐานฝ่าฝืน พ.ร.บ.ความสะอาดฯ จากการนำกระดาษทิชชู่สกรีนลาย “หมายเรียกมาตรา 112” ไปติดตามจุดต่างๆ ในเมืองเชียงใหม่
- คดีที่ 4 ถูกนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย แจ้งข้อหา ม.112 พ.ร.บ.ธง จากการแสดงผลงานศิลปะที่ม็อบวันที่ 14 มี.ค. 64 ภายในสนามรักบี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยศรีสุวรรณกล่าวหาว่าผลงานศิลปะดังกล่าวคล้ายธงชาติและมีข้อความสื่อถึงกษัตริย์ เข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.112
- คดีที่ 5 ถูกแจ้งข้อหาจากการร่วมจัด “คาร์ม็อบนราธิวาส” เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2564 ทั้งหมด 5 ข้อกล่าวหา ได้แก่ ร่วมกันยุยงให้เกิดความไม่สงบ ร่วมกันจัดกิจกรรมที่สุ่มเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโควิด ฝ่าฝืนคำสั่งผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ส่งเสียงดังทำให้ประชาชนตกใจ และใช้เครื่องเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต
- คดีที่ 6 ถูกพ.ต.ท. อานนท์ เชิดชูตระกูลทอง แจ้งข้อหา ม.112 เป็นคดีที่ 2 จากการกระทำ Performance Art เรียกร้องให้คืนสิทธิประกันตัวให้ประชาชน หน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 64 หลังจากที่ สุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์ แม่ของเพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์ โกนผมเรียกร้องสิทธิประกันตัวให้ลูกชาย ได้มีนักศึกษา มช. จำนวนหนึ่งรวมตัวกันแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เรียกร้องให้ศาลคืนสิทธิประกันตัวให้แก่ประชาชนบริเวณหน้ามหาวิทยาลัย
- คดีที่ 7 ถูกแจ้งข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อจากสน.ลุมพินี หลังไปยืนอ่านบทกวี 2 บท ประกอบการ Performance art ของเพื่อน ใน “ม็อบ 12.12 ยกเลิก 112” ที่ราชประสงค์ กรุงเทพ เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 64
4 'คาร์ม็อบนราฯ' เข้ารับทราบ 5 ข้อหา ตั้งแต่ยุยงถึงส่งเสียงให้ ปชช.ตกใจ
ขายรูปส่งตัวเองไปสู้คดี
รามิลเปิดประมูลภาพวาดที่ 0 บาท ในเวลา 20.00 น. ของวันปีใหม่ ก่อนจะปิดประมูลในเวลา 21.00 น. ของวันถัดไป โดยที่มีเก่งกิจ กิติเรียงลาภ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นคนประมูลไปในราคา 6,500 บาท จะเรียกว่าการขายภาพวาดครั้งนี้เป็นการ “ขายรูปส่งตัวเองไปสู้คดี” ก็ไม่ผิดนัก
เขาใช้เงินจำนวนนี้ไปกับค่าใช้จ่ายในการเดินจากเชียงใหม่ไปสถานีตำรวจภูธรจเมืองนราธิวาส
วันที่ 4 ม.ค. 65 เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรจเมืองนราธิวาสได้เรียกให้ 4 สมาชิก “นราธิวาสปลดแอก” เข้าพบกับเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกครั้งในคดี “คาร์ม็อบนราธิวาส” หลังทางเจ้าหน้าที่ตำรวจลงความเห็นว่าจะส่งสำนวนคดีนี้ให้อัยการยื่นฟ้องทั้ง 4 คนในข้อหา ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่การเดินทางในช่วงเวลาคาบเกี่ยวกับวันหยุดยาวหลังปีใหม่ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ผู้ถูกกล่าวหาจากแดนไกลอย่างรามิลจึงได้พยายามขอเลื่อนนัดเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นวันที่ 10 ม.ค. แทน
รามิลเล่าว่า เขาในฐานะผู้ถูกกล่าวหานั่งเครื่องบินจากเชียงใหม่ไปนั่งรอเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ สภ.เมืองนราธิวาสในเวลา 09.00 น. แต่กลับไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจคนไหนเรียกเขาไปทำเรื่องอะไร เขานั่งรออยู่อย่างนั้น จนกระทั่งในเวลาประมาณ 11.00 น. เพื่อนของเขาซึ่งเป็นผู้ถูกกล่าวหาอีกคนได้โทรมาแจ้งว่า ตำรวจบอกว่าไม่ต้องมาแล้ว “ยังไงพวกเราก็ไม่หนี” คดียังไปไม่ถึงอัยการ เนื่องจากหนึ่งในผู้ถูกกล่าวหาได้เดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศ ทำให้ผู้ถูกกล่าวหาไม่ครบ ไม่สามารถส่งสำนวนให้อัยการได้ เจ้าหน้าที่ตำรวจจำเป็นต้องออกหมายจับผู้ถูกกล่าวหาคนดังกล่าวก่อน
สุดท้ายคดีนี้ต้องเลื่อนออกไปก่อน โดยที่เจ้าตำรวจเองก็ไม่ได้แจ้งให้ทราบว่าจะนัดอีกครั้งเมื่อไหร่ ความสับสนในขั้นตอนการดำเนินคดีของเจ้าหน้าที่ตำรวจครั้งนี้สร้างภาระด้านค่าใช้จ่ายให้แก่รามิลเป็นอย่างมาก เงินจากการขายภาพวาดของเขาหมดไปกับการเดินทางต่อสู้คดีครั้งนี้แบบที่เจ้าตัวบอกว่าไม่เหลือเงินให้เขากินเกาลัดเยาวราชเลย
“เงินสักบาทจะเอาไว้ซื้อเกาลัดเยาวราช ก็ยังไม่มี ฉันหมดเงินเยอะ ฉันอยากกินเกาลัดเยาวราช” รามิล กล่าว
ไม่ใช่คดี แต่ยังมีความยากลำบากของการถูกดำเนินคดี
ต่อคำถามที่ว่าความสับสนในขั้นตอนการดำเนินคดีของเจ้าหน้าที่ตำรวจครั้งนี้ สร้างความยากลำบากอะไรบ้างนั้น รามิล กล่าวว่า ความลำบากแรกคือ การจะต้องดีลกับตำรวจ เพื่อเลื่อนวันนัดส่งสำนวนอัยการ ไปมาๆ ก็เปลี่ยนมาเป็นมารายงานตัวเฉยๆ ยังไม่ส่งอัยการ แล้วอยู่ๆ ก็บอกไม่ต้องมาก็ได้
การแสดงของรามิลใน “คาร์ม็อบนราธิวาส” เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2564
"แล้วให้ฉันแถกเหงือกมาทำไมจากเชียงใหม่" รามิล กล่าว พร้อมระบุว่า ความลำบากอีกอย่างคือเรื่องการเดินทาง เที่ยวบินมานราธิวาสและบินกลับนั้นไม่ได้มีทุกวัน เราจะต้องวางแผนกันยาวๆ ว่า ถ้านัดวันนี้ จะต้องไปก่อนวันไหน และจะต้องรออีกกี่วัน ถึงจะมีเที่ยวบินกลับ
"ชีวิตของประชาชนที่รัฐมองว่าเป็นศัตรูนั้นต้องดิ้นรนอะไรอีก ฉันต้องเอางานที่ทำมาเปิดประมูล เงินสักบาทจะเอาไว้ซื้อเกาลัดเยาวราชก็ยังไม่มี ต้องเงินเอาไปสำรองจ่ายทั้งค่าเครื่องบิน ค่ารถในการเดินทาง ค่าที่พัก ไปๆ มาๆ ครั้งนี้หมดค่าเครื่องบินไป 3,000 – 4,000 บาท ค่ารถอีกเกือบ 1,000 บาท ค่าที่พักอีก 1,000 กว่าบาท หมดเลยเงินประมูลภาพ 6,500 บาท ต้องขอรับบริจาคจากเพื่อน เพื่อมาเป็นค่าใช้จ่ายที่เหลือและค่ากินแต่ละวันอีก
อยากถามจริงๆ เลยนะ เจ้าหน้าที่รัฐอย่างตำรวจควรจะมีไว้ทำอะไร คดีนี้ก็ตำรวจเป็นคนแจ้งความเอง ถอนแจ้งความไหมล่ะ การชุมนุมเป็นสิทธิทางการเมืองของประชาชนอยู่แล้ว ทำไมถึงกลายเป็นคดี" รามิล กล่าว พร้อมยืนยันว่า การชุมนุมที่ผ่านมามีการอบเวลา เริ่มและจบ ภายในไม่กี่ชั่วโมง แต่ตำรวจที่อยู่กินเงินภาษีจนเกษียณ และมีบำนาญอีกก็ควรจะทำให้การไปหาตำรวจไม่ว่าจะในสถานะไหน เจ้าทุกข์หรือผู้ถูกกล่าวหา ไม่ใช่เรื่องยุ่งยากขนาดนี้ และตำรวจควรจะถ่อมตนบ้าง ไม่ใช่โทรไปขอเลื่อน แล้วมาบอกว่า “ถ้าน้องไม่มา จะให้พี่ออกหมายจับเหรอ”
"เชียงใหม่ไปนราธิวาสมัน 3 โล 5 โลเหรอ ทีหลังหัดแจ้งล่วงหน้า 2 - 3 อาทิตย์ ไม่ใช่ช่วงสิ้นปีมาแจ้ง แล้วหลังปีใหม่จะให้ไปเลย ตำรวจเองก็อยากจะพักวันหยุด ฉันก็อยากจะพักเหมือนกัน" ผู้ต้องหาทางการเมือง 7 คดี เชียงใหม่ กทม. จนถึงนราฯ กล่าว
รู้อยู่ว่าเมื่อสู้ต้องโดนคดี จึงต้องเตรียมใจไว้ก่อนแล้ว
นอกจากเรื่องเงินและกระทบต่อการจัดการชีวิตประจำวันแล้ว ความยุ่งเหยิงที่มันพ่วงมากับการโดนฟ้องคดีที่ไม่เป็นธรรมส่งผลต่อจิตใจหรือไม่นั้น รารามิล กล่าวว่า การที่เรารู้ว่ารัฐบาลมันไม่ดีนั้น เจ้าหน้าที่รัฐไม่จำเป็นต้องไม่ดีตามก็ได้ เข้าใจว่าทำตามหน้าที่ ซึ่งหน้าที่ที่ว่าก็คือการรับใช้นาย ไม่ใช่รับใช้ประชาชน แต่ก็จะไม่ขยายความเรื่องนี้ต่อ การโดนคดีที่ไม่เป็นธรรมในรัฐที่ไม่มีความชอบธรรม ทำให้คดีความเหล่านี้ถูกเตรียมไว้จัดการกับผู้ต่อต้านรัฐ ดังนั้นในการต่อต้านจึงต้องเตรียมใจไว้ก่อนแล้ว ตนเองจึงไม่ได้รู้สึกว่ามันจะทำร้ายจิตใจอะไร อีกอย่างคือยังมีแรงสนับสนุนของเพื่อนๆ และคนอื่นๆ
"แต่สิ่งที่รู้สึกว่าโดนทำร้ายจากการเดินทางไปนราธิวาสครั้งนี้ คือผมเป็นคนนราธิวาส จากวันที่เรามาอยู่เชียงใหม่ และวันนี้ที่เรากลับไป หรือกระทั่งในวันที่ยังเป็นเด็ก ภาพชินตามันยังไงฝังแน่นและอยู่อย่างเฉยชิน คำถามของเราก็คือเมื่อไหร่รัฐจะยอมรับสักทีว่าสิ่งที่กำลังทำกับคนจังหวัดชายแดนภาคใต้ มันประสานรอยร้าวอะไรไม่ได้ ความสำคัญอยู่ที่อธิปไตยของรัฐ หรือชีวิตของประชาชน ? ถ้าความสำคัญอยู่ที่ชีวิตของประชาชนรัฐควรจะถอยและเปิดพื้นที่ให้คนจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้กำหนดชีวิตตัวเอง เก็บทหารเข้าค่าย เอานายพลกลับคืนกรุงเทพฯ" รามิล กล่าวทิ้งท้าย