ใครกินข้าวมื้อละ 300 บาทขึ้นไปโดยเฉพาะแถวทองหล่อหรือสยามสแควร์ และพูดเรื่องอย่าขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ จัดว่าเป็นคนขี้เหนียวขี้ตืดไร้ empathy จงรู้ตัวกันเสียบ้าง #ค่าแรง
— กานดา นาคน้อย (@kandainthai) January 11, 2022
11 มกราคม 2565
โดย กานดา นาคน้อย
มติชนออนไลน์
ระยะนี้เนื้อหมู เนื้อไก่ และไข่ไก่ขึ้นราคาพรวดพราด จึงมีเสียงเรียกร้องให้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ อีกเสียงก็แย้งว่าจะทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ
บทความนี้ชวนเปรียบเทียบราคาไข่ไก่และค่าแรง ที่มลรัฐแมสซาชูเซตส์ ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และเปรียบเทียบบทบาทแบงก์ชาติไทยกับแบงก์ชาติสหรัฐ
ไข่ไก่และสวัสดิภาพไก่
เมื่อ 6 ปีที่แล้ว 77% ของพลเมืองมลรัฐแมสซาชูเซตส์ลงมติสนับสนุนกฎหมายสวัสดิภาพไก่ กฎหมายนี้ห้ามขายไข่ไก่จากแม่ไก่ที่เลี้ยงในกรงที่จำกัดและจะมีผลบังคับใช้ปีนี้ แต่ปลายปีที่แล้วบรรดาซุปเปอร์มาร์เก็ตที่นำเข้าไข่ไก่จากมลรัฐอื่นร้องเรียนว่าจะต้องหยุดนำเข้าไข่ เพราะมลรัฐอื่นไม่มีกฎหมายนี้ จะทำให้ขาดแคลนไข่ ราคาไข่จะแพงขึ้น และล็อบบี้ให้แก้กฎหมาย ทั้งๆ ที่ผู้บริโภคลงมติสนับสนุนกฎหมายนี้เพราะยินยอมจ่ายราคาแพงขึ้น ในที่สุด ส.ส.และ ส.ว.ในสภามลรัฐผ่านกฎหมายก่อนปีใหม่โดยการแก้นิยามคำว่ากรงที่จำกัดให้หละหลวมเพื่ออำนวยความสะดวกให้นำเข้าไข่จากมลรัฐอื่น [1]
ฉะนั้นราคาขายปลีกไข่ไก่ที่มลรัฐแมสซาชูเซตส์ยังไม่แพงขึ้น ไข่ขนาดใหญ่ที่ไม่ใช่ไข่ไก่ไร้กรง ไม่ใช่ไข่ไก่ออร์แกนิค และไม่ใช่ไข่ไก่ฟรีเรนจ์ราคาฟองละ 6 บาท ที่ซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป (ถ้าเสียค่าน้ำมันรถเพื่อไปร้านยักษ์ใหญ่ ซึ่งไม่มีทุกเมืองจะได้ราคาถูกกว่านี้) ส่วนที่ไทยขายปลีกราคาฟองละ 5 บาท (ราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มฟองละ 3 บาท) เปรียบเทียบกันแล้วราคาขายปลีกแทบไม่ต่างกันเลย
ค่าแรงขั้นต่ำ
รัฐบาลกลางสหรัฐ กำหนดค่าแรงขั้นต่ำ $7.25/ชั่วโมง และให้อำนาจรัฐบาลมลรัฐออกกฎหมายค่าแรงขั้นต่ำเอง หมายความว่าทุกมลรัฐออกกฎหมายค่าแรงขั้นต่ำสูงกว่านี้ได้แต่ห้ามกำหนดต่ำกว่านี้ มลรัฐที่เป็นฐานเสียงพรรคเดโมแครตปรับค่าแรงขั้นต่ำกันอย่างต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว
วันที่ 1 มกราคมปีนี้ มลรัฐแมตซาชูเซตส์ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 5.56% จาก $13.50/ชั่วโมงเป็น $14.25/ชั่วโมง เปรียบเทียบแล้วค่าแรงขั้นต่ำที่มลรัฐแมตซาชูเซตส์สูงถึง 11 เท่าของค่าแรงขั้นต่ำที่กรุงเทพฯ [2] ปีหน้าค่าแรงขั้นต่ำที่มลรัฐแมสซาชูเซตส์จะปรับขึ้นอีก 5.26% ให้เป็น $15/ชั่วโมงพร้อมกับมลรัฐแคลิฟอร์เนีย
ขณะนี้มลรัฐแคลิฟอร์เนียกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ $14/ชั่วโมงและให้อำนาจเมืองกำหนดค่าแรงขั้นต่ำที่สูงกว่านี้ได้ [3] มหานครลอสแองเจลิสกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ $15/ชั่วโมง และเมืองซานฟรานซิสโกกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ $16.25/ชั่วโมง
มลรัฐนิวยอร์กกำหนดค่าแรงขั้นต่ำในเขตมหานคร $15/ชั่วโมง แต่ในเขตอื่นยังต่ำกว่า $15/ชั่วโมง [4]
ชัดเจนว่าการปกครองแบบกระจายอำนาจเอื้ออำนวยให้แต่มลรัฐและเมืองกำหนดค่าแรงขั้นต่ำตามโครงสร้างการผลิตและค่าครองชีพ เมืองใหญ่ค่าอาหารแพงกว่าเพราะจ่ายค่าขนส่ง ค่าเช่าก็แพงกว่าเพราะประชากรอาศัยอยู่อย่างแออัด ฉะนั้นเมืองใหญ่ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเร็วกว่า ในขณะเดียวกันกลุ่มแรงงานซึ่งมีนักเศรษฐศาสตร์แรงงานสนับสนุนก็เคลื่อนไหวให้รัฐบาลกลางปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น $15/ชั่วโมงทั่วประเทศด้วย
แบงก์ชาติ
แบงก์ชาติมีหน้าที่สร้างเสถียรภาพทางการเงิน “เพื่อส่งเสริมให้เศรษฐกิจเติบโต” เศรษฐกิจในที่นี้ไม่ได้วัดด้วยกำไรของธนาคารพาณิชย์เท่านั้น แต่วัดด้วยรายได้ของทั้งระบบเศรษฐกิจ ทั้งรายได้ที่แบ่งให้แรงงานและรายได้ที่แบ่งให้ทุน ถ้าเราวัดด้วยกำไรธนาคารพาณิชย์เท่านั้น จะเข้าใจผิดอย่างมหันต์ว่าไทยกำลังอยู่ในยุคเศรษฐกิจเติบโตรุ่งโรจน์โชติช่วงชัชวาลเลยทีเดียว เพราะในไตรมาส 3 ของปีนี้ธนาคารพาณิชย์ไทยมีกำไรรวม 140,535 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31.55% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว [5]
ด้านนโยบายการเงินแบงก์ชาติไทยประกาศเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อ 1%-3% ถ้าอัตราเงินเฟ้อออกนอกกรอบนี้ก็ไม่ใช่ว่าผู้ว่าฯ แบงก์ชาติจะลาออก แต่ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติจะขอให้คณะรัฐมนตรีปรับกรอบเงินเฟ้อ [6] ส่วนแบงก์ชาติสหรัฐ ประกาศคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อแต่ไม่ประกาศเป้าหมายเงินเฟ้อ เพราะถ้าหลุดจากเป้าหมายจะเสียความน่าเชื่อถือ และปรับดอกเบี้ยอย่างยืดหยุ่นได้โดยไม่ต้องขอให้คณะรัฐมนตรีปรับกรอบอะไรเลย
ผีเงินเฟ้อ
วาทกรรม “ผีเงินเฟ้อ”เสนอว่า “ถ้าขึ้นค่าแรง จะเกิดภาวะเงินเฟ้อ” วาทกรรมนี้จงใจสร้างความหวาดกลัวราวกับกลัวภูติผีปิศาจ เช่น ผีปอบ ผีกระสือ ผีกระหัง ผีตายโหง ฯลฯ ขอถามว่าอ่านแล้วคุ้นๆ ไหม? หลายปีก่อนก็มีวาทกรรมผีโน่น ผีนี่ ผีนั่น หวาดกลัวผีจนชักชวนกันไปเป่านกหวีดกู้ชาติปรี๊ดๆๆ จำได้ไหม?
แท้จริงแล้ววาทกรรมนี้ตั้งอยู่บนสมมุติฐานว่า “แบงก์ชาติกระจอกงอกง่อยโง่เง่าเต่าตุ่น จึงควบคุมเงินเฟ้อไม่เป็นโล้เป็นพาย ฉะนั้นต้องพึ่งพาการกดค่าแรง”
ถ้าเชื่อวาทกรรมนี้ ก็จะไม่จำเป็นต้องมีแบงก์ชาติให้สิ้นเปลืองเงินเดือนและสวัสดิการผู้บริหารมากมายมหาศาล จะไม่จำเป็นต้องมีโครงการทุนแบงก์ชาติเพื่อส่งคนไทยไปเรียนเศรษฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศทุนนิยม ขอเพียงแค่มีโรงพิมพ์ธนบัตรที่พิมพ์ธนบัตรเพิ่มเท่าอัตราการขยายตัวของผลผลิตและยกเลิกกฎหมายค่าแรงขั้นต่ำเท่านั้น แค่เพียง 2 อย่างนี้ก็จะควบคุมอัตราเงินเฟ้อได้อย่างสงบเรียบร้อยราบคาบไร้กังวล ส่วนพลเมืองที่รายได้ต่ำเท่าแรงงานทาส ก็จงยอมรับว่าโชคไม่ดีที่มีบุญวาสนาต่ำ จะต้องเลือกทางใดทางหนึ่งดังนี้ ก) ขายตัว ข) ขายยาเสพติด ค) ปล้นจี้ ง) ฆ่าตัวตาย
นี่คือสาระของวาทกรรม “ผีเงินเฟ้อ”
ในอดีตหลายประเทศในละตินอเมริกาเผชิญวิกฤตเงินเฟ้อ 3-4 หลักที่เรียกว่า “ไฮเปอร์อินเฟลชั่น” (hyperinflation) ไม่ใช่เพราะปรับค่าแรงขั้นต่ำ แต่เพราะรัฐบาลไม่มีวินัยทางการคลัง กู้ยืมหน้ามืดจนขายพันธบัตรให้สถาบันการเงินไม่ได้ จึงหันมาขายให้กับแบงก์ชาติ เป็นการบังคับให้แบงก์ชาติพิมพ์ธนบัตรอย่างล้นหลาม ไทยจะไปถึงภาวะนั้นหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับวินัยทางการคลังของรัฐบาล ไม่ใช่การปรับค่าแรงขึ้นต่ำ
บทสรุป
ค่าแรงเป็นเพียงหนึ่งในหลายปัจจัยที่กำหนดราคา มีปัจจัยอื่นๆ ที่มีสัดส่วนในราคาสูงมากกว่าค่าแรง กล่าวคือกำไร ค่าวัตถุดิบ ดอกเบี้ย และค่าขนส่ง ในกรณีของธุรกิจไก่ค่าแรงมีสัดส่วนต่ำกว่าปัจจัยอื่นหลายสิบเท่าตัว ผู้อ่านสามารถคำนวณจากรายงานประจำปีของผู้ผลิตไก่จากตลาดหลักทรัพย์ หรือรายงานวิเคราะห์ธุรกิจ
หมายเหตุ
[1] New Law Averts Possible 2022 Egg Shortage In Massachusetts – CBS Boston (cbslocal.com)
[2] Massachusetts law about minimum wage | Mass.gov
[3] California’s minimum wage (ca.gov)
[4] New York State’s Minimum Wage (ny.gov)
[5] ‘10 แบงก์ไทย’ โชว์กำไรไตรมาส 3 ปีนี้กว่า 4.2 หมื่นล้านบาท โต 43% ‘SCB’ แชมป์กำไรสูงสุด ขณะที่ CIMBT กำไรเติบโตสูงสุด – THE STANDARD
[6] https://www.bot.or.th/English/MonetaryPolicy/MonetPolicyKnowledge/AnnounceMPC/AnnouncementMPCTarget_2021.pdf
ค่าแรง = กำลังซื้อ ถ้าไม่ขึ้นค่าแรงแล้วจะเอากำลังซื้อมาจากไหน? รอกำลังซื้อโปรยปรายจากฟากฟ้าสุราลัยรึ? นายทุนไทยขนเงินออกไปลงทุนซื้อห้างฯ กับโรงแรมที่ต่างประเทศ สื่อตีปี๊บปลาบปลื้มปีติว่าโกอินเตอร์ ซื้อห้างฯกับโรงแรมแล้วส่งคนไทยไปทำงานตปท.และจ่ายค่าแรงอ้ตราตปท.กี่คน? #ค่าแรง
— กานดา นาคน้อย (@kandainthai) January 11, 2022