วันพุธ, กรกฎาคม 07, 2564
เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา เป็นกลอนที่มีประวัติว่าถูกแต่งขึ้นในช่วงสมัยอยุธยาตอนปลาย เพื่อเล่าให้เห็นสภาพและทำนายอนาคตไว้ว่า หากผู้นำของบ้านเมืองไม่มีศีลธรรมและความรู้ความสามารถ ไม่มีการจัดการที่ดี จนทำให้ระบบการจัดการของบ้านเมืองไม่มีประสิทธิภาพ สภาพกลียุคก็มาถึงบ้านเมืองและประชาชนในที่สุด
ประวัติศาสตร์ราชอาณาจักรสยาม
Yesterday at 3:53 AM ·
“...กรุงศรีอยุธยาเขษมสุข
แสนสนุกยิ่งล้ำเมืองสวรรค์
จะเป็นเมืองแพศยาอาธรรม์
นับวันแต่จะเสื่อมสูญเอย...”
ตอนหนึ่งของเพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา เป็นกลอนที่มีประวัติว่าถูกแต่งขึ้นในช่วงสมัยอยุธยาตอนปลาย เพื่อเล่าให้เห็นสภาพและทำนายอนาคตไว้ว่า หากผู้นำของบ้านเมืองไม่มีศีลธรรมและความรู้ความสามารถ ไม่มีการจัดการที่ดี จนทำให้ระบบการจัดการของบ้านเมืองไม่มีประสิทธิภาพ สภาพกลียุคก็มาถึงบ้านเมืองและประชาชนในที่สุด
ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกคนในช่วงนี้
ภาพ : ภาพวาดจำลองสถานการณ์การเสียกรุงศรีอยุธยาในปีพุทธศักราช 2310 อันเป็นเหตุจากระบบการจัดการภายในของรัฐอยุธยาที่ไร้ประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการจัดหาอาวุธ ยุทธศาสตร์การสงคราม ระบบไพร่ และความแข็งแกร่งของกองทัพพม่าที่มีประสิทธิภาพมากกว่า
.....
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ Charnvit Kasetsiri
April 26, 2019 ·
เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา
ชื่อหนังสือ : ชีวิตและงานกวีเอกของไทย
ผู้เขียน : สมพงษ์ เกรียงไกรเพชร
จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์ผ่านฟ้าพิทยา
พิมพ์ครั้งแรก : 27 มีนาคม พ.ศ.2508
ตั้งแต่เครือข่ายพันธมิตรประชาชนฯ เริ่มชุมนุมเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
เสียงจากสถานีเอเอสทีวี ก็กังวานไปทั่วบริเวณบ้านที่เช่าเขาอยู่
มันเป็นบ้านที่มีบ้านบริเวณกว้างขวาง และมีบ้านหลายหลังปลูกใกล้ ๆ กัน ใครเปิดทีวีช่องอะไรเป็นได้ยินกันทั่ว คนที่ไม่ได้เปิดก็เลยฟังไม่ได้สรรพ ต้องเดินเข้าบ้านเปิดทีวีของตัวเองดูจะได้มีเสียงส่วนตัว เพราะทุกบ้านเล่นยุทธวิธีเร่งวอลุ่มกันขนาดหนัก จนฟังเอะอะไปหมด
ที่สำคัญบ้านที่มีเอเอสทีวี ยังคอยกวักมือเรียกให้ไปดูด้วยกันอยู่นั่น ไอ้เราก็อยากอยู่นะ ไม่ใช่ไม่อยากดู แต่อย่างว่านั่นแหละ เราอยากมีเสียงส่วนตัวบ้าง อีกอย่างหนึ่ง ก็เพราะชอบอ่านหนังสือพิมพ์มากกว่าก็มัน “มัน” ดีนั่นเอง อยากพักตาตอนไหนก็พับเก็บไว้ก่อน ไม่ต้องขืนตัวเองนั่งจ้องหน้าจอ
ตั้งแต่พันธมิตรฯ เริ่มเคลื่อนไหว ยิ่งจำนวนผู้ชุมนุมหนาตามากเท่าไร คนที่อยู่นอกเหตุการณ์ ต่างพากันวิตกจนหน้าหมองไปหมด
บ้างก็ว่า กลียุคแท้ ๆ คนไทยจะฆ่ากันเอง
บ้างก็ว่าต้องมี “ใคร” ออกมาทำอะไรสักอย่างให้การชุมนุมยุติลงเสียที ไอ้อะไรที่มันร้าย ๆ เหมือนถูกขุดออกมาจากความทรงจำ
เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 หรือ 6 ตุลาคม 2519
และพฤษภาทมิฬ เหมือนฝันร้ายที่ตามหลอกหลอนไปทุกยุคทุกสมัย ทั้งที่การชุมนุมประท้วงเป็นปกติของระบอบประชาธิปไตย
แต่ทำไมทุกครั้งที่มีการชุมนุม อาการหวั่นวิตกว่าจะเกิดเหตุนองเลือดมันจะกำเริบทุกทีด้วยก็ไม่ทราบ
เรารักและหวงแหนความสงบสุขกันมากถึงเพียงนี้หรือ? หรือ “กระเหี้ยนกระหือรือ” อยากให้เรื่องมันจบลงซักที (ไม่ว่าจะจบอย่างไร)
เหมือนอย่างใน เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา
จากหนังสือเก่าเล่มที่นำมากล่าวถึง ก็เข้าทำนองเดียวกัน แต่ในเพลงยาวฯ คล้ายจะมีความรู้สึกหวงแหน อาลัยอาวรณ์เคล้าอยู่ด้วย
ลองอ่านดูดีไหมว่า บรรพบุรุษกวีสมัยพ.ศ.2199 –พ.ศ.2231 เขารู้สึกนึกคิดอย่างไรกับบ้านเมือง จะเป็นเหมือนกวีรุ่นลูกหลานเหลนสมัยนี้ไหม?
ขออนุญาตยกมาให้อ่าน ณ ที่นี้ จากหนังสือ ชีวิตและงานกวีเอกของไทย ที่พิมพ์เมื่อพ.ศ.2507 เก่าขนาดพร้อมพลีกายอำลาโลกเลยทีเดียว
ช่างเปราะบางเสียนี่กระไร หนังสือหนอ...
เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา
จะกล่าวถึงกรุงศรีอยุธยา
เป็นกรุงรัตนราชพระศาสนา
มหาดิเรกอันเลิศล้น
เป็นที่ปรากฏรจนา
สรรเสริญอยุธยาทุกแห่งหน
ทุกบุรีสีมามณฑล
จบสกลลูกค้าวานิช
ทุกประเทศสิบสองภาษา
ย่อมมาพึ่งกรุงศรีอยุธยาเป็นอัคคนิษฐ์
ประชาราษฎร์ปราศจากภัยพิศม์
ทั้งความพิกลจริตแลความทุกข์
ฝ่ายองค์พระบรมราชา ครองขันธสีมาเป็นสุข
ด้วยพระกฤษฎีกาทำนุก
จึงอยู่เย็นเป็นสุขสวัสดี
เป็นที่อาศัยแก่มนุษย์ในใต้หล้า
เป็นที่อาศัยแก่เทวาทุกราศี
ทุกนิกรนรชนมนตรี
คหบดีพราหมณพฤฒา
ประดุจดั่งศาลาอาศัย
ดั่งหนึ่งร่มพระไทรอันสาขา
ประดุจหนึ่งแม่น้ำพระคงคา
เป็นที่สิเนหาเมื่อกันดาร
ด้วยพระเดชเดชาอานุภาพ
อาจปราบไพรีทุกทิศาน
ทุกประเทศเขตขันธบันดาล
แต่งเครื่องบรรณาการมานอบนบ
กรุงศรีอยุธยานั้นสมบูรณ์
เพิ่มพูนด้วยพระเกียรติยศขจรจบ
อุดมบรมสุขทั้งแผ่นภพ
จนคำรบศักราชได้สองพัน
คราทีนั้นฝูงสัตว์ทั้งหลาย
จะเกิดความอันตรายเป็นแม่นมั่น
ด้วยพระมหากษัตริย์มิได้ทรงทศพิธราชธรรม์
จึงเกิดเข็ญเป็นมหัศจรรย์สิบหกประการ
คือเดือนดาวดินฟ้าจะอาเพท
อุบัติเหตุเกิดทั่วทุกทิศาน
มหาเมฆจะลุกเป็นเพลิงกาล
เกิดนิมิตพิสดารทุกบ้านเมือง
พระคงคาจะแดงเดือดดั่งเลือดนก
อกแผ่นดินเป็นบ้าฟ้าจะเหลือง
ผีป่าก็จะวิ่งเข้าสิงเมือง
ผีเมืองนั้นจะออกไปอยู่ไพร
พระเสื้อเมืองจะเอาตัวหนี
พระกาลกุลีจะเข้ามาเป็นไส้
พระธรณีจะตีอกไห้
อกพระกาลจะไหม้อยู่เกรียมกรม
ในลักษณะทำนายไว้บ่อห่อนผิด
เมื่อวินิศพิศดูก็เห็นสม
มิใช่เทศกาลร้อนก็ร้อนระงม
มิใช่เทศกาลฝนฝนก็อุบัติ
ทุกต้นไม้หย่อมหญ้าสารพัด
เกิดวิบัตินานาทั่วสากล
เทวดาซึ่งรักษาพระศาสนา
จะรักษาแต่คนฝ่ายอกุศล
สัปรุษจะแพ้แก่ทรชน
มิตรตนจะฆ่าซึ่งความรัก
ภรรยาจะฆ่าซึ่งคุณผัว
คนชั่วจะมล้างผู้มีศักดิ์
ลูกศิษย์จะสู้ครูนัก
จะหาญหักผู้ใหญ่ให้เป็นน้อย
ผู้มีศีลจะเสียซึ่งอำนาจ
นักปราชญ์จะตกต่ำต้อย
กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย
น้ำเต้าอันลอยนั้นจะถอยจม
ผู้มีตระกูลจะสูญเผ่า
เพราะจัณฑาลมันเข้ามาเสพสม
ผู้มีศิลนั้นจะเสียซึ่งอารมณ์
เพราะสมัครสมาคมด้วยมารยา
พระมหากษัตริย์จะเสื่อมสิงหนาท
ประเทศราชจะเสื่อมซึ่งยศถา
อาสัจจะเลื่องลือชา
พระธรรมาจะตกลึกลับ
ผู้กล้าจะเสื่อมใจหาญ
จะสาบสูญวิชาการทั้งปวงสรรพ
ผู้มีสินจะถอยจากทรัพย์
สัปรุษจะอับซึ่งน้ำใจ
ทั้งอยุศฆ์จะถอยเคลื่อนจากเดือนปี
ประเวณีจะแปรปรวนตามวิสัย
ทั้งพืชแผ่นดินจะผ่อนไป
ผลหมากรากไม้จะถอยรส
ทั้งแพทย์พรรณว่านยาก็อาเพด
เคยเป็นคุณวิเศษก็เสื่อมหมด
จวงจันทร์พรรณไม้อันหอมรส
จะถอยถดไปตามประเพณี
ทั้งข้าวก็จะยากหมากจะแพง
สารพันจะแห้งแล้งเป็นถ้วนถี่
จะบังเกิดทรพิษมิคสัญญี
ฝูงผีจะวิ่งเข้าปลอมคน
กรุงประเทศราชธานี
จะเกิดการกุลีทุกแห่งหน
จะอ้างว้างอกใจทั้งไพร่พล
จะสาละวนทั่วโลกหญิงชาย
จะร้อนอกสมณาประชาราษฎร์
จะเกิดเข็ญเป็นอุบาทว์นั้นมากหลาย
จะรบราฆ่าฟันกันวุ่นวาย
ฝูงคนจะล้มตายลงเป็นเบือ
ทางน้ำก็จะแห้งเป็นทางบก
เวียงวังจะรกเป็นป่าเสือ
แต่สิงห์สาระสัตว์เนื้อเบื้อ
นั้นจะหลงเหลือในแผ่นดิน
ทั้งผู้คนสารพัดสัตว์ทั้งหลาย
จะสาบสูญล้มตายเสียหมดสิ้น
ด้วยพระกาลจะมาผลาญแผ่นดิน
จะสูญสิ้นการณรงค์สงคราม
กรุงศรีอยุธยาจะสูญแล้ว
จะลับรัศมีแก้วเจ้าทั้งสาม
ไปจบคำรบปีเดือนคืนยาม
จะสิ้นนามศักราชห้าพัน
กรุงศรีอยุธยาเขษมสุข
แสนสนุกยิ่งล้ำเมืองสวรรค์
จะเป็นเมืองแพศยาอาธรรม์
นับวันจะเสื่อมสูญ เอย
เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา เป็นวรรณคดีสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ.๒๑๙๙-๒๒๓๑) พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่เชี่ยวชาญในวรรณคดีมาก
ยุคนี้วรรณคดีจึงฟูเฟื่องมากที่สุด ถือเป็นยุคทองของวรรณคดีไทย มีนักปราชญ์ราชบัณฑิตเกิดเป็นคู่ใต้พระบุญบารมีหลายท่าน เช่น พระมหาราชครู พระโหราธิบดี พระศรีมโหสถ ขุนเทพกวี ศรีปราชญ์
จนกล่าวกันทั่วไปว่าในสมัยของพระองค์ ข้าราชสำนักและไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินส่วนมากหายใจกันเป็นโคลงกลอนไปหมดทีเดียว นอกจากนั้นยังมีการดัดแปลงแต่งวรรณคดีประเภทใหม่ ๆ ขึ้นอีกหลายประเภทเช่น กาพย์ห่อโคลง และกาพย์ขับไม้
สำหรับเพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยานี้ ไม่ปรากฏแน่ชัดว่ากวีผู้ใดประพันธ์ แต่มีการกล่าวถึงในยุคหลังจากนั้น ขอยกบทวิจารณ์ที่น่าสนใจมาให้อ่านควบคู่กันไปด้วย
นั่นคือ “วิจารณ์เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยูธยา” ซึ่งเป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงวิจารณ์ไว้อย่างมีเหตุผลดียิ่งดังนี้คือ
“พิจารณาเนื้อความที่กล่าวในเพลงยาวบทนี้ มีคำพยากรณ์มาแต่ก่อน ว่ากรุงศรีอยุธยาจะสมบูรณ์พูลสุขเป็นอย่างเลิศล้นจนศักราชได้ ๒,๐๐๐ ปี พ้นนั้นไปจะ “เกิดเข็ญเป็นมหัศจรรย์ ๑๖ ประการ”
“เหตุด้วยพระมหากษัตริย์ไม่ทรงทศพิธราชธรรม” บ้านเมืองก็จะมีเภทภัยต่าง ๆ ที่สุดถึงฆ่าฟันกันตาย
จนกรุงศรีอยุธยาสูญไปตลอดอายุพระพุทธศานา ๕,๐๐๐ ปี ว่ามีคำพยากรณ์อยู่แล้วดังกล่าวมานี้ มาในสมัยหนึ่งเมื่อกรุงศรีอยุธยายังเป็นราชธานีอยู่นั้น ผู้แต่งเพลงยาวบทนี้สังเกตเห็นวิปริตต่าง ๆ ตาม
“ในลักษณะทำนายไว้บ่อห่อนผิด เมื่อวินิศพิศดูก็เห็นสม” เกรงว่าจะเข้ายุคเข็ญตามคำพยากรณ์ จึงแต่งเพลงยาวบทนี้ด้วยความอาลัยกรุงศรีอยุธยาลงท้ายว่า
“กรุงศรีอยุธยาเขษมสุข แสนสนุกยิ่งล้ำเมืองสวรรค์ จะเป็นเมืองแพศยาอาธรรม์นับวันแต่จะเสื่อมสูญเอย”
ตามความในเพลงยาวพึงเห็นได้ ว่าผู้แต่งเพลงยาวบทนี้ เป็นแต่อ้างตามคำพยากรณ์ที่มีอยู่แล้ว หาได้เป็นผู้พยากรณ์ไม่ จึงเกิดปัญหาเป็นข้อต้น ว่าใครเป็นผู้พยากรณ์....
แต่ในคำพยากรณ์กรุงศรีอยุธยาอ้างว่าจะเกิดยุคเข็ญ เมื่อศักราชได้ ๒,๐๐๐ ปี จึงเป็นปัญหาเกิดขึ้นอีกข้อ ๑ ว่า “ศักราชอันใด” ถ้าหมายว่า พุทธศักราช กรุงศรีอยุธยาสร้างเมื่อ พ.ศ. ๑๘๙๓ ครบ ๒,๐๐๐ ปีในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ กรุงศรีอยุธยาก็จะสมบูรณ์พูลสุขอยู่เพียง ๑๐๗ ปี แล้วก็เข้ายุคเข็ญมาก่อนแต่งเพลงยาวบทนี้ตั้ง ๑๐๐ ปีแล้ว ที่ผู้แต่งเพลงยาวเพิ่งหวั่นหวาดว่าจะถึงยุคเข็ญ
ก็ส่อให้เห็นว่ามิใช่พุทธศักราช หรือจะหมายว่ามหาศักราช ซึ่งตั้งภายหลังพุทธศักราช ๖๒๑ ปี ถ้าเช่นนั้นเมื่อคำนวณดูในพ.ศ.๒๔๗๙ (ปีที่เขียนคำวิจารณ์) นี้มหาศักราชได้ ๑,๘๕๘ ปี ยังอีก ๑๔๒ ปี จึงจะครบ ๒,๐๐๐ เข้าเขตยุคเข็ญที่พยากรณ์ ถ้าหมายความว่าจุลศักราชยังยิ่งช้าออกไปอีกมาก เพราะจุลศักราชตั้งภายหลังพุทธศักราชถึง ๑
.....
ฮานิ ลืมตังค์ ทอน
แล้วมันอาจจะเกิดขึ้นซ้ำอีก