อาจารย์ กม. จุฬา-ธรรมศาสตร์ ชี้ถึงเวลาเอาผิด ผู้บริหารสูงสุดรัฐ บริหารสถานการณ์พลาด หลักฐานชัด
3 ก.ค. 2564
ข่าวสดออนไลน์
อาจารย์กฎหมาย จุฬา-ธรรมศาสตร์ ประสานเสียง ถึงเวลาเอาผิด ผู้บริหารสูงสุดของรัฐ บริหารสถานการณ์ฉุกเฉินผิดพลาด ทำคนตาย-สถานการณ์แย่ ชี้หลักฐานชัดแล้ว
รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน คณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ โพสต์แสดงความคิดเห็นผ่านทาง เฟซบุ๊ก ความว่า ถึงเวลาที่ศาลต้องสร้างบรรทัดฐานทางกฎหมายในการเอาผิดกับผู้บริหารสูงสุดของรัฐในการบริหารจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินที่ผิดพลาดจนก่อให้เกิดความเสียหายใหญ่หลวงต่อประชาชน การเพิกเฉยไม่ทบทวนผลลัพธ์ของการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาด
การไม่รับฟังข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหาอย่างรอบด้าน และความล่าช้าในการดำเนินการแก้ปัญหาทั้งที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จสามารถดำเนินการได้ทันทีโดยไม่มีคำอธิบายที่สมเหตุสมผล เป็นพยานหลักฐานที่ชี้ชัดถึงการ “งดเว้น” หน้าที่ที่พึงต้องกระทำ และ “จงใจ” ที่จะให้ความเสียหายดำรงอยู่ต่อเนื่องไป การกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐในขณะนี้เลยระดับของความประมาทเลินเล่อไปแล้ว
ต่อมาแสดงความคิดเห็น อีกว่า ในสถานการณ์ปกติ ต้นเหตุของความล่าช้าอาจมาจากระบบราชการที่ซับซ้อนและไม่มีประสิทธิภาพ แต่ในสถานการณ์ฉุกเฉินที่นักการเมืองรวบอำนาจตามกฎหมายแบบเบ็ดเสร็จเพื่อแก้ปัญหา ความล่าช้าและความล้มเหลวทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดหาวัคซีน จัดสรรวัคซีน การจัดการกับผู้ป่วย และการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ไม่อาจโทษใครได้เลย นอกจากความไร้ประสิทธิภาพและขาดความรับผิดชอบของผู้ใช้อำนาจนั้น
ขณะที่ รศ.ดร.เอื้ออารีย์ อิ้งจะนิล รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แชร์โพสต์ของรศ.ดร.มุนินทร์ พร้อมแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า ในฝรั่งเศส ปี 1999 อดีตนายกรัฐมนตรี รมต.กระทรวงสาธารณสุข และ รมต.กระทรวงสังคม ต้องขึ้นศาลยุติธรรมแห่งสาธารณรัฐ ด้วยข้อหาฆ่าคนตายและทำให้คนบาดเจ็บโดยไม่เจตนา (homicides et blessures involontaires – คดี l’affaire du sang contaminé)
จากมาตรการตรวจสอบเชื้อ HIV ในการบริจาคโลหิตไม่ได้ดำเนินการอย่างเร่งด่วน ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ จนทำให้มีผู้เสียชีวิตจากการรับบริจาคโลหิตปนเชื้อ HIV ที่ไม่ได้ผ่านการตรวจสอบมากกว่า 1 พันคน
ในวันแรกของการพิจารณาคดี แม่ของเด็กวัย 5 ขวบที่เสียชีวิตจากการรับบริจาคโลหิตมีเชื้อ HIV รายหนึ่ง ตะโกนใส่อดีตผู้บริหารประเทศ 3 รายนี้ … “การเพิกเฉยของพวกคุณต่อความเร่งด่วนของโรคเอดส์ ไม่ต่างอะไรกับการเพิกเฉยของการมีค่ายกักกันเมื่อปี 1945”
คดีนี้เป็นคดีแรกในสาธารณรัฐที่ 5 ของฝรั่งเศส (1958) ที่นักการเมืองเข้าสู่กระบวนการพิจารณาความรับผิดในทางอาญาต่อการบริหารอำนาจหน้าที่ของตน
ทั้งนี้มีผู้เข้ามาคอมเมนต์ถามว่า ”ฟ้องนายก ทางไหนได้บ้างครับ จงใจไม่ซื้อวัคซีน mRNA ปล่อยคนไทยตายที่บ้าน”
โดย รศ.ดร.เอื้ออารีย์ ยังตอบคำถามที่ว่า ไม่ใช่แค่นายก… รมต. / ทีมแพทย์ที่ปรึกษา / ขรก. ที่เกี่ยวข้อง ต้องเอามาชำระความให้หมด พวกคุณไปถึงเจตนาทำคนตายแล้ว