วันอาทิตย์, กรกฎาคม 04, 2564

“บางครั้งเราคิดจะฆ่าตัวตาย” หัวอกนักธุรกิจกับความหวังในภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์

https://www.facebook.com/BBCnewsThai/videos/637934383860114

"อยากจะให้มีนักท่องเที่ยวมากัน เราจะได้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น" คือสิ่งที่อาทิตยา เทบำรุง หมอนวดบนชายหาดป่าตอง จ.ภูเก็ต อยากเห็นหลังจากพยายามประคับประคองกิจการนวดริมหาดของเธอมานานเกือบ 2 ปี ตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งทำให้เมืองที่ขับเคลื่อนด้วยนักท่องเที่ยวอย่างภูเก็ตเงียบเหงาจนน่าใจหาย
.
.
ตอนนี้อาทิตยาและเพื่อน ๆ หมอนวดเตรียมพร้อมที่จะรับนักท่องเที่ยวแล้ว อาศัยช่วงที่ไม่มีแขกปรับปรุงภูมิทัศน์ของร้านให้น่าใช้บริการ เธอบอกเราอย่างภูมิใจว่าที่ร้านมีทั้งเครื่องวัดอุณหภูมิ เจลแอลกอฮอลล์ สมุดบันทึกรายชื่อและเบอร์ติดต่อลูกค้า แต่หมอนวดลดลงจาก 40 เหลือแค่ 10 คนเพราะส่วนใหญ่สู้ไม่ไหวต้องไปหางานอย่างอื่นทำหรือกลับภูมิลำเนา

"คาดหวังจะให้มีนักท่องเที่ยวมา เราจะได้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ที่ผ่านมากินแต่มาม่ากับปลากระป๋องสลับกันไปเพราะไม่มีเงินไปซื้ออาหารอย่างอื่นกิน มันลำบากมาก"

แม้จะบอกว่าพร้อมมาก แต่ในใจลึก ๆ อาทิตยาก็มีความกลัวว่าจะติดโควิดอยู่ เพราะอาชีพหมอนวดต้องสัมผัสใกล้ชิดลูกค้า แม้หมอนวดทุกคนจะฉีดวัคซีนแล้ว แต่ก็รับประกันไม่ได้ว่าจะไม่ติดเชื้อ โดยเฉพาะเมื่อวัคซีนที่พวกเธอได้รับมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อไม่สูงนักเมื่อเทียบกับยี่ห้ออื่น ๆ ยังไม่ต้องพูดถึงไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่ ๆ ที่พบการระบาดมากขึ้นในหลายพื้นที่


หมอนวดนั่งรอลูกค้าที่ริมหาดป่าตอง

"เรากังวลมากเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของสายพันธุ์ใหม่ ๆ วัคซีนที่เราฉีดก็ได้ยินมาว่ามันป้องกันไม่ได้ เราเลยคิดว่าจะเก็บเงินไว้ซื้อวัคซีนที่ดี ๆ ที่ป้องกันได้ จะได้ไม่ต้องมากังวล"

"แต่สิ่งที่กังวลมากว่าก็คือคนจะกลับมาติดกันอีกจนโครงการนี้ต้องล้มเลิกไป แล้วจะไม่มีนักท่องเที่ยวมาอีกนาน ที่ผ่านมาเราก็หวังแบบนี้แหละว่านักท่องเที่ยวจะมา...แต่สงกรานต์ที่ผ่านมา พอมีนักท่องเที่ยวมา ก็เอาโรคมาด้วย ทำให้เราต้องปิดไปอีกเป็นเดือน ถ้าภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ทำให้เรากลับไปอยู่จุดนั้นอีก เราก็ไม่รู้จะอยู่ยังไง" อาทิตยากล่าว

ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ของไทยอยู่ที่ 4,000-5,000 รายต่อวัน ส่วน จ.ภูเก็ต ถูกจัดให้เป็น 1 ใน 36 จังหวัด "พื้นที่สีเขียว" ซึ่งมียอดผู้ติดเชื้อต่ำกว่า 10 คนในแต่ละวัน

สำหรับการฉีดวัคซีน จ.ภูเก็ตถือว่าเป็นจังหวัดที่ได้รับวัคซีนสูงที่สุด โดยมีผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 คิดเป็น 63.33% ของประชากรและเข็มที่ 2 จำนวน 40.73% โดยวัคซีนหลักของคนใน จ.ภูเก็ตคือซิโนแวค


ไม่กลัวติดเชื้อจากนักท่องเที่ยว แต่กลัวคนไทย

หลังการระบาดของโควิด-19 รอบแรกเมื่อต้นปี 2563 ที่ส่งผลให้ จ.ภูเก็ต ปิดเมือง งดรับนักท่องเที่ยวตั้งแต่เดือน มี.ค. 2563 ปิ่นพร ธีรารักข์ เจ้าของกิจการทัวร์ซันฟลาวเวอร์ ภูเก็ตทราเวล ก็เริ่มหาช่องทางอื่นในการทำมาหากิน เธอไปขายกล้วยทอดอยู่ได้ 5 เดือนแต่ก็สู้ไม่ไหวเพราะคนขายมีมากกว่าคนซื้อ

ปิ่นพรชาวพังงาวัย 39 ปี จึงตัดสินใจกลับมาเปิดบูธขายทัวร์ที่หน้าหาดป่าตองอีกครั้งเมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา เพราะคิดว่าอย่างน้อยก็น่าจะมีรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวไทยบ้าง เธอขายทัวร์ได้บ้างก็จริง แต่น้อยมากจากที่มีรายได้หลักแสนต่อเดือนเหลือเพียงไม่ถึงหมื่น

"เราปิดร้านไปตั้งแต่เดือน มี.ค. ปีที่แล้ว กลับมาเปิดใหม่เดือน มี.ค. ปีนี้ แต่วันที่ 8 พ.ค. ก็โดนปิดไปอีก (เพราะพบการระบาดที่ย่านบางลา ป่าตอง) แล้วเพิ่งกลับมาเปิดอีกทีวันที่ 1 มิ.ย." ปิ่นพรกล่าว เธอบอกว่าตอนนี้บริษัทของเธอเป็นเจ้าเดียวที่เปิด หลายบริษัทยังไม่กล้ากลับมาเปิดใหม่เพราะตามข้อกำหนดของภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ นักท่องเที่ยวก็ยังไปเที่ยวที่จังหวัดอื่นไม่ได้ในช่วง 14 วันแรก

ปิ่นพรเห็นว่าวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงเป็นกุญแจสำหรับการเปิดประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มอาชีพที่ต้องพบปะผู้คนจำนวนมาก เพราะเธอกังวลว่าจะติดเชื้อได้แม้ฉีดวัคซีน


ปิ่นพร เจ้าของกิจการทัวร์ที่หาดป่าตองอยากให้เลื่อนการเปิดเกาะออกไปจนถึงเดือน ต.ค. เพื่อให้แน่ใจว่าคุมสถานการณ์การระบาดได้

รู้ว่าเสี่ยงแต่ก็มีความหวัง

พัชราพร ศรีรัตนพันธุ์ พนักงานร้านแลกเปลี่ยนเงินตราโกลบอล ซูเปอร์ริช ภูเก็ต เปิดร้านรับแลกเงินอยู่บริเวณ ซ.บางลา ริมหาดป่าตอง คิดถึงบรรยากาศก่อนโควิดจะมา ภาพนักท่องเที่ยวซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวจีนต่อคิวแลกเงินที่ร้าน ทำรายได้เดือนละเป็นหลักล้าน แต่ตอนนี้เธอมีรายได้จากลูกค้าเก่กลุ่มเล็ก ๆ เท่านั้น

แต่ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ทำให้เธอกลับมาเตรียมกลับมาเปิดบูธแลกเงิน 5 สาขาทั่วเกาะภูเก็ต เริ่มจากทำความสะอาดและเตรียมสำรองเงินให้เพียงพอต่อความต้องการ

"ตอนนี้เราคาดหวังกับโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์มาก เพราะถ้าไม่เปิดก็อยู่ไม่ได้แล้วเพราะรัฐบาลก็มาจ่ายเงินเยียวยาเราใม่ไหวแล้ว ที่คาดการณ์ไว้ว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเป็นแสนคน เราหวังว่าจะได้ลูกค้าสักหมื่นคนก็พอ" พัชราพรบอกกับบีบีซีไทย

"มีนักท่องเที่ยวก็ดี ชาวป่าตองจะได้มีชีวิตอยู่ต่อได้ แต่พวกเราก็มีความเสี่ยงสูง เพราะวัคซีนที่ได้มา (ประสิทธิภาพ) ไม่ดีมาก แล้วเชื้อตัวใหม่อาจจะไม่ออกอาการเลยก็ได้ เรากลัวว่าคนที่เข้ามาจะเอาเชื้อใหม่เข้ามา ไม่รู้ว่าสถานการณ์จะดีขึ้นหรือแย่ลง"


บูธแลกเปลี่ยนเงินตราของพัชราพรเปิดให้บริการอยู่ที่ ซ.บางลา เมืองป่าตอง ที่ไม่เคยเงียบเหงาเท่านี้มาก่อน

อรุณ โสรส พ่อค้าขายข้าวไข่เจียวและผัดกะเพรา เป็นอีกคนหนึ่งที่ดิ้นรนให้อยู่รอดในช่วงที่ภูเก็ตไร้นักท่องเที่ยวมากว่าปีครึ่ง เขาเคยมีรายได้วันละ 2,000 บาท ตอนนี้เหลือแค่ 500 บาท

อรุณหวังว่าถ้าร้านอาหาร โรงแรม เตียงชายหาดกลับมาทำธุรกิจได้เหมือนเดิม บรรดาพนักงานและลูกจ้างซึ่งเป็นลูกค้าหลักที่มาซื้อข้าวผัดกระเพรา-ไข่เจียวของเขาก็จะกลับมาด้วย และเขาก็จะขายดีขึ้น

"เราต้องการภาพความคึกคักแบบเดิมคืนมาแต่ก็ยังคงเป็นไปไม่ได้ แต่ขอให้มีเข้ามาบ้างก็ยังดี ตอนนี้บางทีวิ่งเป็นชั่วโมงเพิ่งขายได้แค่จานเดียว" อรุณเล่าและบอกว่าเขาฉีดวัคซีนแล้ว แต่ก็ยังกังวลอยู่ว่าถ้าเปิดเกาะรับนักท่องเที่ยวและผู้คนกลับมาทำงานเหมือนเดิมแล้ว อาจจะเกิดการระบาดระลอกใหม่ขึ้นมาอีก

"แต่ก็ยังดีกว่าไม่มีอะไรเลย เพราะถ้าไม่มีนักท่องเที่ยวเราก็ขายของลำบาก" เขาบอก

อรุณบอกว่าเขาไม่ค่อยพอใจกับมาตรการเยียวยาของรัฐบาล เพราะเข้าถึงยาก มีกฎเกณฑ์หลายอย่าง


เจริญ ทรงกิจ อาชีพมอเตอร์ไซค์รับจ้างเคยมีรายได้ถึงวันละ 5,000-7,000 บาท ในฤดูท่องเที่ยวก่อนโควิดระบาด

"ถ้าเลือกได้อยากมีช่องทางให้ทำมาหากินได้เองมากกว่า เพราะพวกเรามีความสามารถที่จะหาเงินได้มากกว่ารอเงินเยียวยาจากรัฐบาล...ถ้ามีช่องทางให้ทำมากินได้จะดีกว่า"

เจริญ ทรงกิจ คนขี่มอเตอร์ไซด์รับจ้างวัย 61 ปี รอรับนั่งท่องเที่ยวอยู่ริมชายหาดป่าตอง ถึงแม้ว่าวันนี้จะยังไม่มีนักท่องเที่ยว แต่เจริญก็ยังมานั่งรอลูกค้าที่จุดเดิมที่เขาหากินมา 27 ปี จากที่เคยมีรายได้ถึง 5,000-7,000 บาทต่อวันช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว โควิดทำให้เจริญรายได้ลดลงเหลือวันละ 200 บาท

"ผมพอมีเงินเก็บเอาไว้ใช้ แต่ลูกหลานเราตกงานไม่งานทำ ทำให้เราต้องให้เงินเก็บไปให้ลูกหลานใช้" เจริญบอก "ผมหวังว่าการเปิดเกาะครั้งนี้ อย่าให้ตามมาด้วยการติดเชื้อเพิ่มขึ้นก็พอ เรื่องรายได้มาก็ดี แต่ไม่อยากให้ภูเก็ตต้องถูกปิดยาวไปอีก"

อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องความกังวลของคนในพื้นที่ต่อโอกาสที่จะกลับมาระบาดของโควิด-19 จากการเปิดเกาะนี้ ศบค. ได้เตรียมมาตรการรองรับไว้แล้ว โดยระบุว่า โครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์อาจถูกระงับหรือยกเลิกได้ หากเกิด 5 ปัจจัยต่อไปนี้

หากเกิดปัจจัยไม่พึงประสงค์ตามข้างต้น นพ. ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. ใช้คำว่า "เปิดได้ ก็ปิดได้" โดยรัฐพร้อมทบทวนและปรับเปลี่ยนโครงการ เริ่มต้นจากการปรับลดบางกิจกรรมลง, เปลี่ยนเงื่อนไขการเดินทางจากให้อิสระนักท่องเที่ยวไปได้ทั่วเกาะ เป็นจำกัดเส้นทาง (Sealed route), ให้กักตัวอยู่ในบริเวณที่พัก (Hotel Quarantine) และสุดท้ายคือยุติโครงการไปเลย

ที่มา บีบีซีไทย
อ่านบทความเต็มที่