The MATTER
13h ·
BRIEF: “ห้ามนั่ง ก็ไม่ต่างกับสั่งปิด” ร้านอาหารผุด แคมเปญ #กูจะเปิดมึงจะทำไม ชวนเปิดร้านนั่งกิน ทำอารยะขัดขืนมาตรการกึ่งล็อกดาวน์
.
เมื่อคืนวันที่ 26 มิ.ย เวลาประมาณเที่ยงคืนรัฐบาลได้ออกมาตรการควบคุม COVID-19 ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการห้ามนั่งกินอาหารในร้าน โดยมีผลบังคับใช้เช้าวันที่ 28 มิ.ย.
.
ด้วยช่วงเวลาที่กระชั้นชิดเพียง 1 วันเศษ ทำให้ผู้ประกอบการร้านอาหารหลายคนไม่สามารถวางแผนปรับเปลี่ยนแนวทางการขายได้ทัน บางส่วนก็สั่งวัตถุดิบไปแล้ว บางส่วนก็ใช้เงินไปกับการ pr ร้าน การสั่งห้ามนั่งในชั่วข้ามคืนจึงส่งผลกระทบอย่างหนัก
.
และอย่างที่เราเห็นกัน ผู้ประกอบการบางส่วนออกมาประกาศปิดร้าน เพราะไม่สามารถแบกภาระได้อีกต่อไป แต่ก็มีอีกกลุ่มหนึ่งที่ตัดสินใจฮึดสู้เพื่อกิจการที่ตัวเองปั้นมากับมือ จนเกิดแคมเปญ #กูจะเปิดมึงจะทำไม ซึ่งเป็นการรวมตัวของร้านอาหารเจ้าเล็กเจ้าใหญ่ ที่ยืนยันว่าจะประคองธุรกิจของตัวเองต่อไปให้ได้ แม้จะขัดคำสั่งรัฐก็ตาม
.
สำหรับแคมเปญ #กูจะเปิดมึงจะทำไม ได้มีการเชิญชวนให้ร้านกาแฟ ร้านอาหาร ร้านลาบ ร้านคราฟท์เบียร์ ร้านเหล้าต่างๆ ลงชื่อในแบบฟอร์มที่ทีมงานเตรียมไว้ให้ เพื่อใช้ติดต่อเป็นการส่วนตัวและสร้างเครือข่ายแนวร่วมสำหรับการทำงานระยะต่างๆ โดยไม่เปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ
.
ทีมงานได้วาง Road Map ของแคมเปญนี้ไว้อย่างชัดเจน โดยกิจกรรมระยะแรก จะมีการจัด Flashmob ดาวกระจาย ชวนผู้ประกอบการเปิดร้านขายอาหารและเครื่องดื่มแบบกลับบ้าน เปิดเวทีปราศรัย เล่นดนตรีแบบ Unplugged ในร้าน โดยจะให้ลูกค้าเข้าฟังร้านละ 20 คน จัดงานครั้งละ 1 เขต เขตละ 5-10 ร้านในวันเดียวกัน เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเลือกร้านที่ตัวเองสะดวกได้
.
กิจกรรมระยะที่ 2 จะให้เปิดให้นั่งทานในร้าน มีการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เล่นดนตรีสด ภายใต้มาตรการรักษาระยะห่าง แต่จะไม่มีการประชาสัมพันธ์ในวงกว้าง เป็นเพียงการเปิดโอกาสให้ลูกค้าประจำออกมาสนับสนุน และหากมีการใช้กฎหมายบังคับให้ปิดร้าน เครือข่าย #กูจะเปิดมึงจะทำไม ระบุว่า จะมีทีมทนาย และทีมเจรจาคอยให้คำปรึกษา โดยเน้นย้ำว่าจะไม่มีร้านไหนต้องต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว
.
และสำหรับกิจกรรมระยะที่ 3 คือ Market Place + Mob เป็นการจัดม็อบกึ่งตลาดอาหาร เปิดลานเบียร์ ตั้งเวทีเล่นดนตรี ปราศรัยต่างๆ โดยจะมีการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับมาตรการควบคุมออกมาร่วมสนับสนุนร้านค้าที่ได้รับความเดือดร้อน
.
The MATTER ได้ไปสัมภาษณ์ ประภาวี เหมทัศน์ ผู้จัดทำแคมเปญและเป็นตัวแทนจำหน่ายคราฟเบียร์ ถึงแนวทางการทำแคมเปญ และจุดเริ่มต้นที่ทำให้ตัดสินใจออกมาเคลื่อนไหวในครั้งนี้ โดยประภาวี เล่าว่า ก่อนหน้านี้ เธอเคลื่อนไหวประเด็นเกี่ยวกับคราฟเบียร์ และ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มาโดยตลอด
.
และนั่นทำให้เธอเห็นว่า ตั้งแต่ช่วงแรกที่มีการออกมาตรการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้าน แต่ยังนั่งทานได้ เพื่อนร่วมอาชีพพยายามปรับตัวมาตลอด หลายร้านหันมาขายอาหาร มาเปิดเป็นเดลิเวอรี่ทั้งที่ไม่เคยทำ แต่พอคราวนี้ รัฐไม่ให้นั่ง บรรดาร้านคราฟเบียร์ที่ปรับมาเป็นร้านอาหารยิ่งขายไม่ได้เข้าไปใหญ่ ร้านอาหารทั่วไปที่ไม่ควรโดน ก็กลับมาโดนด้วย มาตรการเหล่านี้ทำให้เธอรู้สึกโกรธมาก เลยตัดสินใจออกมาชวนผู้ประกอบการทำอารยะขัดขืนต่อมาตรการของรัฐ
.
“เราไม่มีความตั้งใจจะยื่นข้อเสนออะไรหลังจากนี้ เพราะเรายื่นมานานมากแล้ว ยื่นมาตลอดกับทุกกลุ่ม กลุ่มคราฟเบียร์ กลุ่มนักดนตรีกลางคืน เรายื่นมา 20-30 ที่แล้ว เราเลยรู้สึกว่าสิ่งเดียวที่เราทำได้คืออารยะขัดขืน เพราะเราทำทุกอย่างแล้ว ไปเทเบียร์หน้ากระทรวงสาธารณสุขก็ทำมาแล้ว มันเป็นสิ่งสุดท้ายที่เราจะทำได้แล้วจริงๆ” ประภาวี กล่าว
.
เธอเล่าอีกว่า เธอตั้งใจจะทำแคมเปญนี้ไปจนกว่ารัฐจะผ่อนคลายมาตรการ โดยจะมีการจัดกิจกรรมในระยะต่างๆ (ตามด้านบน) เพราะการสั่งห้ามนั่งกิน ไม่ต่างอะไรกับการสั่งปิดร้าน เธอจึงตั้งใจจะรวมเครือข่ายคนที่ได้รับความเดือดร้อนจากเรื่องนี้ เพื่อให้พวกเขามีกำลังต่อรองกับรัฐมากพอ แน่นอนว่าทุกร้านต่างต้องรับความเสี่ยง แต่ถ้าเครือข่ายแข็งแกร่งมากพอ ก็จะไม่มีร้านไหนต้องสู้อย่างโดดเดี่ยว
.
สำหรับกระแสตอบรับการเปิดตัวแคมเปญ ประภาวี กล่าวว่า มีร้านอาหารข้างทางมาร่วมลงชื่อเยอะมาก ทั้งก๋วยเตี๋ยว ลาบ ข้าวมันไก่ ร้านยำ ส่วนร้านเหล้ากับร้านที่มีชื่อเสียงก็พอมีเข้ามาบ้าง แต่ส่วนใหญ่เป็นร้านของประชาชนตัวเล็กตัวน้อย มันยิ่งทำให้เห็นว่า การห้ามนั่งกินในร้านครั้งนี้ พวกเขาก็ได้รับผลกระทบมากจริงๆ
.
สำหรับแนวทางหลังจากนี้ ประภาวี บอกว่าทีมเครือข่าย #กูจะเปิดมึงจะทำไม วางแผนจะทำช่องทางง่ายๆ เพื่อสื่อสาร และกระจายข่าว อย่างเฟซบุ๊กแฟนเพจ ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างจัดเตรียมข้อมูล และวางแนวทางกันอยู่
.
แม้ว่าแคมเปญ #กูจะเปิดมึงจะทำไม จะยังไม่เปิดตัวอย่างเป็นทางการ แต่ก็ได้รับกระแสตอบรับค่อนข้างดี ในทวิตเตอร์แฮชแท็ก #กูจะเปิดมึงจะทำไม ขึ้นเทรนด์อันดับ 1 ประเทศไทย ผู้ใช้โซเชียลส่วนใหญ่บอกว่าจะไปร่วมอุดหนุนร้านค้าที่เข้าร่วมแคมเปญ เพราะร้านอาหารข้างทางถือเป็นกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการรัฐมาโดยตลอด แต่ไม่เคยได้รับการเยียวยาที่เหมาะสม
.
ขณะที่ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ทราบเรื่องแล้ว และจะขอความร่วมมือกับกลุ่มผู้ประกอบการให้หยุดทำแคมเปญนี้ ควบคู่ไปกับการดำเนินการทางกฎหมาย เนื่องจากการตรวจสอบที่ผ่านมา พบว่าการติดเชื้อ COVID-19 หลายๆ กรณีเกิดจากการรวบตัวในร้านอาหาร ส่วนประเด็นเรื่องการเยียวยา ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ หรือ ศบศ. ก็จะดำเนินการเยียวยาตามสมควรต่อไป
.
.
อ้างอิงจาก
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/946253
https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_2802404
https://www.prachachat.net/politics/news-701744
#Brief #TheMATTER