วันอาทิตย์, กรกฎาคม 11, 2564

อิสรภาพที่ขมขื่นของ 'นางประพันธ์' อดีตผู้ต้องขังคดี 'สหพันธรัฐไทย' นานกว่า 2 ปี



09/07/2564
Admin28
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ในเช้าตรู่ของวันที่ 1 มิถุนายน เมื่อประตูรั้วสำนักงานของศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชนเลื่อนออก เราพบว่ากลางลานกว้าง มีหญิงสาววัยกลางคนผู้หนึ่งกำลังนั่งรอใครบางคนอยู่ ท่ามกลางแสงแดดที่กำลังร้อนจ้าขึ้นทุกที เธอรูปร่างเล็ก ผอมบาง ผมหงอกสีขาวแซมอยู่แทบจะทั่วทั้งหัว ตอนนี้เธอดูอิดโรย ข้างกายมีเพียงกระเป๋าเป้สีดำหนึ่งใบและถุงพลาสติกใส่ของวางรวมกันอยู่

“นี่ป้าเปียเอง” เธอชิงแนะนำตัวก่อน ว่าเธอคือ “ประพันธ์” หรือ “ป้าเปีย” วัย 60 ปี อดีตผู้ต้องขังในคดีสวมเสื้อดำที่มีสัญลักษณ์ ‘สหพันธรัฐไท’ เธอถูกคุมขังในข้อหา ‘ยุยงปลุกปั่น’ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และ ‘อั้งยี่’ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 นานกว่า 2 ปีเศษ อยู่ที่ทัณฑสถานหญิงกลางมาตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคม 2562 และเพิ่งได้รับการปล่อยตัวในช่วงเย็นของวันที่ 31 พฤษภาคม 2564
.
‘คืนแรกนอกกรงขัง’

เดิมทีเธอเคยอาศัยอยู่ในห้องเช่าเล็กๆ เท่านั้น ลูกชายเพียงคนเดียวก็ไปรับข้าราชการไกลถึงสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังประพันธ์ได้รับอิสรภาพแล้ว เธอจึงคิดไม่ตกว่าจะทอดร่างนอนพักในคืนแรกหลังถูกปล่อยตัวได้ที่ไหน

“สถานีขนส่งหมอชิต” ภาพแรกที่ผุดวาบขึ้นมาในหัวเธอ ที่นั่นพลุกพล่านไปด้วยผู้คนมากมาย ไม่ว่าจะกลางคืนหรือกลางวันก็ตาม ทั้งคนไร้บ้านหรือผู้โดยสารต่างจังหวัดก็มักจับจองพื้นที่พักอย่างไม่เขินอาย แต่ปรากฏว่าเมื่อเธอไปถึง ช่วงระบาดโควิดเช่นนี้ ทำให้หมอชิตแทบจะกลายเป็นสุสานเลยก็ว่าได้

เธอเดินไปถามเจ้าของร้านขายโทรศัพท์ที่ยังคงเปิดอยู่ในบริเวณนั้นว่า “พอจะมีที่ไหนให้นอนได้บ้าง” “นอนม้านั่งหน้าร้านได้เลย ให้เช่าคืนละ 100 บาท” เจ้าของร้านตอบกลับ

ในคืนแรกนอกกรงขัง เธอจึงได้อาศัยนอนบนเก้าอี้ม้านั่ง หน้าร้านขายโทรศัพท์มือถือแห่งนั้นเพียงลำพังตลอดทั้งคืน

ครั้นพอรุ่งเช้าวันที่ 1 มิถุนายน ภาพในหัวของเธอยังคงว่างเปล่า ทนายผู้ว่าความคดีสหพันธรัฐไทของเธอเป็นสิ่งเดียวที่พอนึกออกในตอนนี้ เธอจึงตั้งใจเดินทางมาที่สำนักงานทนายฯ ตั้งแต่เช้าตรู่ในวันนี้

ระหว่างนั้นเราจึงได้มีโอกาสพูดคุยถึงชีวิต 2 กว่าปีของเธอในเรือนจำ และการวางแผนใช้อิสรภาพที่ได้รับหลังจากนี้

หลายคนที่เคยเจอเธอเมื่อ 2 ปีก่อน ต่างก็พูดว่าเธอดูมีอายุมากขึ้นจากเดิมไม่น้อยทีเดียว แต่กระนั้นก็ยังคงดูอ่อนเยาว์ด้วยรอยยิ้มที่เบิกกว้างอยู่แทบจะตลอดเวลา และการใช้สรรพนามแทนตัวเองว่า ‘แม่’ ยิ่งทำให้เธอดูอบอุ่น เข้าถึงได้ง่าย ราวกับว่าไม่ได้เดือดเนื้อร้อนใจกับอนาคตที่ไม่แน่นอนต่อจากนี้เลย


ป้าประพันธ์ขณะมาเยือนศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน หลังออกจากทัณฑสถานหญิงกลาง
.
‘ใบบริสุทธิ์’

เธอทราบว่าตัวเองติดโควิดมาตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2564 ต่อมาได้รับการแยกกักตัวและรักษาจนครบ 14 วันเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม เธอจึงได้รับการปล่อยตัวออกมาพร้อมใบรับรองแพทย์เพื่อยืนยันว่าหายจากโรคโควิดแล้ว

ป้าประพันธ์ถูกปล่อยตัวออกมาจากทัณฑสถานกลางหญิงในช่วงเย็นของวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 เวลาประมาณ 16.00 น. ทั้งที่หมายปล่อยตัวของเธอระบุไว้วันที่ 23 พฤษภาคม 2564 หมายความว่าเธออยู่ในเรือนจำเกินมาถึง 8 วัน อีกทั้งราชทัณฑ์ยังไม่ได้มอบ “ใบบริสุทธิ์” เพื่อยืนยันว่าป้าประพันธ์ได้รับการปล่อยตัวอย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้วอีกด้วย

เธอก้าวเท้าออกมาจากเรือนจำ และพบว่าขณะนั้นมีประชาชนกลุ่มหนึ่งกำลังรวมตัวกันเพื่อทำกิจกรรม ‘ยืนหยุดขัง’ อยู่พอดิบพอดี เธอหยุดยืนมองพร้อมชูสามนิ้วให้พวกเขา

“ชูสามนิ้วแล้วรู้สึกถึง Freedom”

“เราก็พูดเองในใจว่า ‘ฉันเนี่ยเพิ่งออกจากเรือนจำ’ เราจำหน้าเพื่อนที่อยู่หน้าเรือนจำตอนนั้นได้ หลายคนเคยเป็นกลุ่มกิจกรรมด้วยกันมาก่อน แต่เขาคงจำเราไม่ได้หรอก

“แม่อยากฝากว่า อยากให้ประชาชนสู้เหมือนป้าเปีย ลองออกไปอยู่ต่างประเทศสักล้าน สองล้านคน เขาจะยอมไหม ฝากให้คนรุ่นใหม่เน้นเรื่องของรัฐสวัสดิการ ตั้งแต่เกิดจนถึงตาย เรียนฟรีตั้งแต่ชั้นอนุบาล ให้ได้รักษาฟรีทุกโรค

“ฝากให้กำลังใจน้องรุ้ง ทนายอานนท์ เพนกวิน และทุกคนที่ออกมาต่อสู้ อย่าทิ้งอุดมการณ์นะลูก” เธอย้ำกับเรา
.
‘กินไม่อิ่ม’

ป้าประพันธ์ในตอนนี้ดูซูบผอมขึ้นมาก นับจากวันแรกที่ต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำ

“กินไม่อิ่ม” เธอบอกเราถึงเหตุผลที่น้ำหนักตัวลดฮวบอย่างเห็นได้ชัด

“ขอให้มีแค่พริก เกลือ น้ำตาล สามอย่างนี้คือสิ่งวิเศษที่สุดที่อยู่ในเรือนจำแล้ว แม่กินข้าวกับเกลือ กับซอสบ้าง กับน้ำปลาบ้าง อาทิตย์หนึ่งถึงจะได้กินขนมสักที ถือเป็นโบนัสในแต่ละอาทิตย์ ส่วนขนมที่ว่าก็เป็นขนมธรรมดาในร้านโชห่วยนี่แหละ

“ช่วงหนึ่งถึงสองเดือนแรก ข้าหลวงใหญ่จากยูเอ็นมาเยี่ยมแม่เลยนะ เราคุยกันประมาณ 1 ชั่วโมงได้ ลูกชายก็มาเยี่ยมบ้าง แล้วก็มีทนายคอยแวะเวียนมาเยี่ยมแม่ตลอด

“เวลาอาบน้ำอาบได้แค่ครั้งละ 8 ขัน พื้นห้องอาบน้ำสกปรกมาก มีแต่เชื้อรา คราบดำ แต่เราก็ต้องจำใจนั่งอาบไป แล้วถ้าอยากจะดื่มน้ำอุ่นก็ต้องไปต่อคิวรอกับคนอื่น เวลานี้จะวุ่นวายมาก ต่างคนก็ต่างแซงคิวกัน จนต้องทะเลาะตบตี ด่ากัน คำว่า ‘เหี้ย’ มีให้ระคายหูอยู่ทุกวัน เรื่องที่ทะเลาะกันประจำก็คือ เรื่องของหาย เสื้อผ้าหาย ถ้าไม่อย่างงั้นก็จะแย่งที่ตากผ้ากัน ซึ่งปกติมันก็มีไม่พอตากให้ครบทุกคนอยู่แล้ว

“จังหวะเดียวที่ทุกอย่างสงบลงจากพายุความวุ่นวายของผู้คน ก็คือช่วง “ว.สามห้า” หมายถึง เวลาตรวจงานเวรหรือมีช่างจากข้างนอกเข้ามาซ่อมบางอย่าง เมื่อทุกคนได้ยินคำนี้ เราจะต้องนั่งอยู่กับที่นิ่งๆ ห้ามไปไหนเด็ดขาด

“ตอนขึ้นเรือนนอนจะแอบพกของ อย่างยาหม่อง ขึ้นด้วยก็ไม่ได้นะ แต่มีขาย (หัวเราะ) คนแก่อย่างแม่ก็อยากใช้ยาหม่องบ้าง ก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมถึงเอาขึ้นเรือนนอนไม่ได้

“พื้นที่ในเรือนจำก็คับแคบ ยิ่งสร้างเรือนจำแบบน็อคดาวน์เข้ามาอีก ยิ่งทำให้พื้นที่ใช้สอยน้อยกว่าเดิมไปอีก แต่ก็ยังดีที่มีร่มให้พวกเราได้ไปหลบอยู่บ้าง”


คุณแหวน-ณัฏฐธิดา มีวังปลา พยาบาลอาสาทำการตรวจหาเชื้อโควิดให้กับป้าประพันธ์อีกครั้ง หลังทราบว่าตนเองติดเชื้อตั้งแต่อยู่ในทัณฑสถานหญิงเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2564 แต่ได้รับการรักษาจนแพทย์ในเรือนจำยืนยันว่าหายเป็นปกติ จึงได้อนุญาตปล่อยตัวออกมา
.
‘โควิด’ ในทัณฑสถานหญิงกลาง

“โควิดมีเข้ามาในเรือนจำตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม แต่ระบาดเยอะช่วงเมษายน พอเดือนพฤษภาคมก็ยิ่งหนักกว่าเดิมเข้าไปอีก เพราะข้างในนั้นแทบจะติดกันหมดทุกคนอยู่แล้ว

“วันที่ 27 เมษายน 2564 แม่ออกจากเรือนจำเพื่อมาฟังคำพิพากษาคดีของศาลชั้นอุทธรณ์ ที่ศาลอาญา รัชดาฯ กลับไปเราก็ถูกแยกกักตัวจากคนอื่นตามปกติ อีกสองวันต่อมาก็รู้ว่า คนที่อยู่ในห้องกักโรคเดียวกันนั้น ติดโควิดไปแล้วประมาณ 17 คน

“วันที่ 15 พฤษภา แม่ว่าแม่ติดแล้ว ไข้มันขึ้น จนแม่ถูกพาตัวไปที่เรือนพยาบาล ห้องหมายเลข 3 หมายเลข 1 แล้วถูกย้ายต่อไปที่เรือนนอนบ้านบุตร จนถึงวันที่ 17 พฤษภาคม ถึงได้กินยาต้านโควิด (ยาฟาวิพิราเวียร์)

“ที่กักโรคมีการวัดไข้ วัดความดันทุก 4 ชั่วโมง ถ้ามีไข้ เขาก็ให้กินยาแก้ยาพาราเซตามอล ส่วนโรงพยาบาลราชทัณฑ์มีเฉพาะคนที่อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป หรือคนที่มีโรคประจำตัวเท่านั้นถึงจะได้เข้าไปรักษาได้

“วันที่แม่ย้ายห้องเพื่อกักตัวและรักษาตัว แม่จะมีไข้ทุกครั้ง มันคงเป็นสัญญาณว่าเราติดเชื้อแล้ว อุณหภูมิสูงสุดของร่างกายที่เคยวัดได้ คือ ประมาณ 37.8 องศา

“โควิดระบาดในเรือนจำรุนแรงจนขนาดที่ว่า เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ต้องมาทำกับข้าวให้นักโทษกินด้วยตัวเอง เพราะผู้ต้องขังที่ทำงานครัวต่างก็พากันติดโควิดหมด มันทำให้เจ้าหน้าที่เขาลำบากอยู่ ช่วงเดือนพฤษภาคมคนติดเชื้อกันเยอะมาก แทบจะเป็นกันหมดทุกคน ซึ่งในนั้นก็มีคนแก่ คนป่วยรวมอยู่ด้วย”
.
‘กำลังใจ’ ของกันและกัน

ข้างในนั้นป้าประพันธ์ได้มีโอกาสเจอกับ ‘รุ้ง ปนัสยา’ แกนนำคณะราษฎร ที่เรือนนอนเพชรด้วย “ป้าชื่อ ‘ป้าเปีย’ นะ มาจากคดีสหพันธรัฐไท” ประโยคแรกที่เธอเข้าไปแนะนำตัวกับรุ้ง และพร้อมเอ่ยให้กำลังใจรุ้งว่า “สู้ๆ นะลูก” แล้วทั้งสองก็เข้าสวมกอดกัน

“อีกครั้งหนึ่งที่ได้เจอ คือตอนที่รุ้งลงมาจากห้องกักโรค แม่เลยเดินเอาน้ำอัดลมกระป๋องไปให้ เพราะเห็นเขาบอกว่าอดอาหารอยู่ กินได้แค่นมและน้ำอัดลม จากนั้นแม่เลยชวนเขามาอ่านคำอุทธรณ์ของคดีสหพันธรัฐไทด้วยกัน”

“แม่นอนห้องเดียวกันกับ ‘ป้าอัญชัน’ เราคุยกันทุกเรื่อง คอยดูแลกันและกัน เขาชอบแบ่งขนม แบ่งน้ำให้แม่ เพราะล็อกเกอร์ของอัญชัญไม่พอเก็บ แต่พอน้องรุ้งเข้ามา เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ก็ย้ายอัญชัญไปแดนเด็ดขาด แม่เองยังไม่ทันได้บอกลาเขาเลย

“ตอนปี 2562 แม่เจอ ‘คุณซี จันทนา’ แกโดนคดีอาวุธสงคราม ตอนนั้นเราสองคนดูแลกันอยู่หลายเดือนเลยนะ ก่อนที่เขาจะย้ายไปอยู่เรือนจำกลางลพบุรี คนสุดท้ายที่ได้เจออีกคนก็โดนคดีอาวุธสงครามเหมือนกัน รับโทษมาได้ประมาณมาห้าปีแล้ว”


ป้าประพันธ์แผ่ตากเสื้อผ้าของเธอลงกับพื้น หลังจากใช้สวมอาบน้ำกลางแจ้ง บริเวณลานกว้างสำนักงานศูนย์ทนายเพื่อสิทธิฯ
.
บทส่งท้าย

ในวันนั้น เรามาถึงสำนักงานก็ใกล้เวลาของมื้อเที่ยง เราจึงสั่งซื้อน้ำแดงโซดาและผัดซีอิ๊วมาให้เธอทาน พร้อมกับถามเธอว่าพอจะทานได้ไหม “กินได้ อาหารดีกว่าข้างในอีก” เธอบอกอย่างนั้น

หลังทานข้าวอิ่ม เธอบอกว่าขออนุญาตอาบน้ำชำระร่างกายเสียหน่อย เพราะตั้งแต่ก้าวเท้าออกมาจากเรือนจำจนไปนอนค้างที่หมอชิตเมื่อวาน เธอยังไม่ได้อาบน้ำเลย เธอเปิดก๊อกน้ำใกล้ๆ ที่อยู่ข้างศาลพระภูมิกลางลานกว้าง แล้วนั่งยองลง จัดการชโลมร่างชำระคราบเหงื่อไคล โดยที่เธอยังคงสวมเสื้อผ้าทุกชิ้นอยู่ เธอฟอกสบู่ สระผม และแปรงฟัน เมื่อเสร็จเธอก็เปลี่ยนชุด เอาเสื้อผ้าที่เปียกจากการใส่อาบน้ำเมื่อครู่บิดจนแห้งมาดๆ และแผ่ลงตากกับพื้น

ระหว่างรอให้เสื้อผ้าที่ตากแดดแห้งสนิท เราได้ติดต่อไปหายังพยาบาลอาสา เพื่อให้มาทำการตรวจเลือดหาเชื้อโควิดกับป้าประพันธ์อีกครั้ง ต่อมาผลการตรวจพบว่าป้าประพันธ์ยังคงมีเชื้อโควิดอยู่ แม้ว่าเธอจะอาการดีขึ้นจนหายเป็นปกติแล้ว โดยได้ใบรับรองแพทย์ยืนยันมาด้วย ตอนถูกปล่อยตัวออกจากเรือนจำ

14 วันต่อจากนั้นเธอจึงได้กักตัว โดยอาศัยอยู่ที่บ้านผู้มีน้ำใจ จนมั่นใจว่าตนเองหายเป็นปกติแล้วจริงๆ จึงออกไปถ่ายบัตรประชาชนใบแรกในรอบกว่า 3 ปี และย้ายไปอยู่กับเพื่อนที่ต่างจังหวัด

ครั้งล่าสุดที่เราติดต่อกลับไปหาเธอ เธอบอกกับเราว่าได้รับงานทำชั่วคราวแล้ว แต่กระนั้นบทสนทนาส่งท้ายก็ยังคลุมเครือไปด้วยความมืดแปดด้าน

“ต่อจากนี้แม่ก็ไม่มีอะไรแล้ว สู้เราก็สู้คนเดียว ไม่มีใครซัพพอร์ต เอาเงินทั้งหมดที่มีใช้ในการต่อสู้ของเราเอง

“ตอนนี้อยากจะมีร้านนวดเป็นของตัวเอง เล็กๆ ก่อน เพราะแม่เก่งเรื่องนวดฝ่าเท้า อยากจะรับจ้างนวดพอให้ได้มีเงินกินข้าวไปวันๆ แค่นี้แหละ

“ตอนนี้ไม่เหลืออะไรเลย แทบจะร้องไห้แล้ว”