วันพฤหัสบดี, กรกฎาคม 08, 2564

เธอ... มีประเทศไหนบ้างนะที่ประชาชนต้องควักกระเป๋าซื้อวัคซีนโควิด-19 เอง


ภายใต้สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 “วัคซีนโควิด-19” คืออาวุธสำคัญที่หลายประเทศทั่วโลกให้การยอมรับว่า เป็นทางออกสู่แสงสว่างที่แน่นอนที่สุด และทำให้ทุกประเทศทั่วโลกเร่งจัดหาวัคซีนฟรีให้ประชาชนของตน ถือเป็นหนึ่งในความรับผิดชอบของรัฐต่อประชาชนในช่วงที่เกิดวิกฤต

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การฉีดวัคซีนในบางประเทศกลับน้อยจนน่าใจหาย เป็นเหตุให้ภาครัฐของประเทศเหล่านั้นต้องยอมเปิดทางให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดหาและจำหน่ายวัคซีนด้วย

นอกจากนี้ การที่ประชาชนต้องเสียเงินซื้อวัคซีนเองยังสะท้อนปัญหาของภาครัฐได้ 2 ประการ คือ หนึ่ง ภาครัฐจัดหาวัคซีนได้ไม่ทันตามความต้องการ มีความล่าช้าในการจัดหาวัคซีน และสอง วัคซีนที่ภาครัฐจัดหามาได้ขาดประสิทธิภาพหรือไม่เป็นที่ไว้ใจของประชาชน

ปัจจุบันมีไม่กี่ประเทศเท่านั้น ที่เปิดทางให้เอกชนจัดหาลจำหน่ายวัคซีนโควิด-19 ให้ประชาชนได้โดยตรง โดยจากการสำรวจพบว่ามีเพียง 2-3 ประเทศเท่านั้น ดังนี้



ปากีสถาน

เมื่อช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. ที่ผ่านมา ปากีสถานเผชิญกับการระบาดระลอกที่ 3 ของเชื้อไวรัสโควิด-19 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เฉลี่ย 5,000 รายต่อวัน แต่กลับมีวัคซีนโควิด-19 เพียงจำนวนน้อยนิดที่รัฐบาลจัดหาและได้รับบริจาคมา

นั่นทำให้ปากีสถานเป็นหนึ่งในประเทศแรก ๆ ที่อนุญาตให้ภาคเอกชนนำเข้าและขายวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชาชนโดยตรงได้ เพื่อพยายามเร่งการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในประเทศ โดยวัคซีนที่เปิดขายคือวัคซีนสปุตนิกวี (Sputnik-V) ของรัสเซีย

เปิดขายครั้งแรกช่วงต้นเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นไปอย่างชุลมุนโกลาหลเล็กน้อย เนื่องจากผู้คนต่างรีบวิ่งไปที่ศูนย์ฉีดวัคซีน และเข้าคิวรอจ่ายเงินฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นเวลาหลายชั่วโมง

ศูนย์ฉีดวัคซีนโควิด-19 ลหายแห่งในปากีสถานขายวัคซีนสปุตนิกวีหมดภายในไม่กี่วัน และจากเริ่มแรกที่อนุญาตให้สามารถวอล์กอินได้ก็ต้องเปลี่ยนไปจองคิวออนไลน์แทนเพื่อหลีกเลี่ยงการรวมกลุ่มของประชาชน กระนั้นระบบการจองคิวฉีดวัคซีนแบบเสียเงินผ่านช่องทางออนไลน์จำนวนมากก็เกิดอาการระบบล่มชั่วคราวบ่อยครั้ง สะท้อนถึงความต้องการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของประชาชนในปากีสถานที่ค่อนข้างล้นหลาม

เนื่องจากวัคซีนโควิด-19 มีจำกัด ทำให้ในช่วงแรก โครงการฉีดวัคซีนของรัฐบาลปากีสถานจำกัดไว้ให้เฉพาะบุคลากรการแพทย์และประชากรที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปเท่านั้น ส่งผลให้เมื่อเอกชนนำเข้าและจำหน่ายวัคซีนได้โดยตรง จึงมีประชากรกลุ่มอื่นจำนวนมาให้ความสนใจ และหวังว่าตนจะได้รับวัคซีนโควิด-19 เช่นเดียวกันแม้ต้องเสียเงินก็ตาม

อย่างไรก็ดี ราคาของวัคซีนโควิด-19 สปุตนิกวีที่เอกชนในปากีสถานนำมาจำหน่ายนั้น มีราคาค่อนข้างสูง อยู่ที่ 6,000 รูปีปากีสถาน (ราว 1,200 บาท) ต่อโดส ถ้าจะฉีดให้ครบโดสก็ต้องจ่ายรวมแล้วประมาณ 12,000 รูปีปากีสถาน (ราว 2,400 บาท)

หน่วยงานกำกับดูแลยาของปากีสถาน (DRAP) กล่าวว่า ราคาดังกล่าวสูงกว่าราคาตลาดต่างประเทศถึง 4 เท่า และคิดเป็นประมาณ 30% ของรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนของชาวปากีสถาน ซึ่งอยู่ที่ 41,545 รูปีปากีสถาน (ราว 8,400 บาท) ต่อเดือน

ปัจจุบัน ปากีสถานฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปแล้วราว 17.4 ล้านโดส คาดว่ามีประชากรได้รับวัคซีนแล้วอย่างน้อย 1 เข็มเพียง 4% จากประชากร 216 ล้านคน ส่วนตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 964,000 ราย เสียชีวิตสะสม 22,400 ราย โดยจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันช่วงนี้เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1,100 ราย



อินเดีย

ก่อนหน้านี้ มีคำยืนยันจาก นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดียว่า ประชากรในอินเดียจะได้รับวัคซีนโควิด-19 ฟรี ๆ ไม่ต้องเสียเงิน

แต่ล่าสุดเมื่อปลายเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เมื่อโมดีประกาศแผนใหม่ โดยจะให้ภาครัฐมีสัดส่วนการซื้อวัคซีนโควิด-19 โดยตรงจากผู้ผลิต 75% ส่วนที่เหลืออีก 25% ให้เป็นความรับผิดชอบในการจัดซื้อจัดจ้างโดยโรงพยาบาลเอกชน ทั้งนี้เพื่อพยายามเร่งให้เกิดการฉีดวัคซีนโควิด-19

แน่นอนว่า วัคซีนโควิด-19 ในส่วนที่โรงพยาบาลเอกชนเป็นผู้จัดซื้อจัดหานั้นไม่ฟรี และประชาชนต้องจ่ายเงินโดยตรงให้กับโรงพยาบาลเอกชน

สำหรับราคาวัคซีนโควิด-19 ที่เอกชนได้รับอนุญาตให้จำหน่ายได้ วัคซีนโควิชิลด์ (Covishield) หรือที่เราเรียกกันว่าวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า ถูกกำหนดไว้ที่ 780 รูปีอินเดีย (ราว 330 บาท) ต่อโดส ส่วนวัคซีนสปุตนิกวีกำหนดราคาไว้ที่ 1,145 รูปีอินเดีย (ราว 495 บาท) ต่อโดส และวัคซีนโควาซิน (Covaxin) มีราคาอยู่ที่ 1,410 รูปีอินเดีย (ราว 610 บาท) ต่อโดส

วัคซีนโควิด-19 เป็นที่ต้องการสูงในอินเดีย โดยมีรายงานว่าการจะจองวัคซีนของเอกชนผ่านระบบออนไลน์นั้นอาจต้องแย่งชิงกันและใช้เวลาถึงครึ่งวันกว่าจะจองได้สำเร็จ

อินเดียเป็นหนึ่งในฐานการผลิตวัคซีนโควิด-19 ทั้งแอสตร้าเซเนก้าและโควาซิน และในช่วงแรกนั้น อินเดียเน้นส่งออกวัคซีนให้กับประเทศอื่นจนส่งผลให้วัคซีนในประเทศขาดแคลน เป็นเหตุให้ต้องดำเนินนโยบายนำภาคเอกชนเข้ามาช่วย

ปัจจุบัน อินเดียฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปแล้ว 347 ล้านโดส มีประชากรได้รับวัคซีนเข็มแรกราว 288 ล้านคน ดูเป็นจำนวนที่มาก แต่เมื่อเทียบกับจำนวนประชากร 1 พันล้านคนแล้ว คิดเป็นเพียง 21% ของประชากรทั้งประเทศเท่านั้น

อินเดียยังคงต้องเร่งผลักดันอัตราการฉีดวัคซีนให้สูงขึ้นหากต้องการให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ภายในประเทศและลดอัตราการติดเชื้อลง ก่อนหน้านี้อินเดียเคยพุ่งแตะจุดพีคพบผู้ติดเชื้อวันเดียว 400,000 ราย แต่ปัจจุบันสถานการณ์ทุเลาลง พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ต่อวันราว 40,000 ราย



ไทย

เมื่อพูดถึงประเทศที่ต้องเสียเงินเพื่อฉีดวัคซีนโควิด-19 แน่นอนว่าจะไม่พูดถึงประเทศไทยก็คงไม่ได้ ปัจจุบันประเทศไทยมีวัคซีน 2 ยี่ห้อที่ต้องเสียเงินซื้อ คือ ซิโนฟาร์ม และโมเดอร์นา

วัคซีนซิโนฟาร์มนั้น ยังอยู่ในระยะที่ 1 คืออนุญาตให้จองวัคซีนได้เฉพาะ องค์กรนิติบุคคล หน่วยงานทั้งภาครัฐ องค์กรการกุศล และหน่วยงานเอกชน คิดอัตราราคาเข็มละ 888 บาท รวมค่าวัคซีน ค่าขนส่ง ค่าเก็บรักษาพร้อมประกันผลข้างเคียงที่อาจเกิดจากวัคซีนแล้ว แต่ไม่รวมค่าบริการของแต่ละโรงพยาบาล

การจองวัคซีนโควิด-19 ซิโนฟาร์มระยะที่ 1 นี้ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก และมีคิวจองแล้วหลายล้านคิว แต่ในส่วนของประชาชนทั่วไปนั้น ปัจจุบันยังไม่มีการเปิดให้จอง

แต่ ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้โพสต์ในเฟซบุ๊คส่วนตัวว่า คาดว่าจะมีการเปิดให้จองวัคซีนโควิด-19 ซิโนฟาร์มสำหรับประชาชนทั่วไปในเร็ววันนี้

ปัจจุบัน ประเทศไทยได้รับวัคซีนโควิด-19 ซิโนฟาร์มแล้วจำนวน 2 ล็อต รวม 2 ล้านโดส และเริ่มฉีดแล้วตั้งแต่วันที่ 25 มิ.ย. ที่ผ่านมา

ส่วนวัคซีนโมเดอร์นานั้น เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. ที่ผ่านมา องค์การเภสัชกรรม (อภ.) มีการกำหนดราคาขายวัคซีนโมเดอร์นาให้กับโรงพยาบาลเอกชนแล้วโดสละ 1,100 บาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ค่าขนส่ง และค่าประกันภัยรายบุคคล

หลังจากนั้นสมาคมโรงพยาบาลเอกชนได้กำหนดราคากลางค่าบริการฉีดที่เป็นอัตราเดียวกันทุกโรงพยาบาลไว้ที่ 1,700 บาท

ส่วนโรงพยาบาลรามาธิบดีนั้น เปิดให้จองวัคซีนโมเดอร์นาได้ช่นกัน ตั้งแต่วันที่ 5-11 ก.ค. ค่าวัคซีนและค่าบริการฉีด 1,500 บาทต่อโดส โดยวัคซีนมีจำนวนจำกัด

ผลการเปิดให้จองวัคซีนโควิด-19 โมเดอร์นาในประเทศไทยพบว่าได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจนคิวจองเต็ม และบางโรงพยาบาลก็เกิดปัญหาเว็บไซต์ล่มจากการที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมาก

ทั้งนี้ วัคซีนโมเดอร์นาล็อตแรกจะนำเข้า 5 ล้านโดส เริ่มนำเข้าไตรมาส 4/64 จำนวน 3.9 ล้านโดส และไตรมาส 1/65 จำนวน 1.1 ล้านโดส

ปัจจุบัน ประเทศไทยฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปแล้ว 10.7 ล้านโดส มีประชาได้รับวัคซีนเข็มแรกแล้ว 7.8 ล้านคน หรือราว 11% ของประชากรทั้งประเทศ ส่วนจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสมอยู่ที่เกือบ 290,000 ราย เสียชีวิตกว่า 2,200 ราย

นอกจากประเทศเหล่านี้แล้ว ยังมีบางประเทศที่มีความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการอนุญาตให้เอกชนนำเข้าและจำหน่ายวัคซีนโควิด-19 ได้โดยตรง

เมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา นิโคลัส มาดูโร ประธานาธิบดีเวเนซุเอลา กล่าวว่าเขาวางแผนจะเปิดทางให้บริษัทเอกชนนำเข้าและจำหน่ายวัคซีนโควิด-19 ได้โดยตรง แต่ยังไม่มีความเคลื่อนไหวเพิ่มเติมจนถึงปัจจุบัน

ส่วนบ้านใกล้เรือนเคียงของเราอย่างมาเลเซียและอินโดนีเซียเอง ก็มีแผนจะเปิดให้ภาคเอกชนนำเข้าและจำหน่ายวัคซีนโควิด-19 ให้ประชาชนได้โดยตรงเช่นกันภายในครึ่งปีหลังนี้ แต่ยังมีความกังวลว่า การให้เอกชนขายวัคซีนอาจนำไปสู่ความไม่เท่าเทียมกันในการรับวัคซีนของประชากรที่สถานะทางเศรษฐกิจต่างกัน

ปัจจุบัน ทั่วโลกฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปแล้วทั้งสิ้นกว่า 3.2 พันล้านโดส มีประชากรโลกได้รับวัคซีนแล้วอย่างน้อย 1 เข็มราว 1.2 พันล้านคน หรือคิดเป็น 16% ของประชากรทั้งโลก

เรียบเรียงจาก BBC / CNN / The Edge Markets / The Striats Times

ภาพจาก AFP

ที่มา PPTV HD

.....
Thanapol Eawsakul
1h ·
ตอนนี้ประเทศไทยมีวัคซีนโควิดอยู่ 3 เจ้า
เจ้าชีวิต
เจ้าฟ้า
เจ้าสัว