วันจันทร์, กรกฎาคม 07, 2568

ไทย-กัมพูชา ติดกับดักมรดกอาณานิคม - ธงชัย วินิจจะกูล



ไทย-กัมพูชา ติดกับดักมรดกอาณานิคม

30.06.2025
มติชนออนไลน์

บทความพิเศษ | ธงชัย วินิจจะกูล

ไทย-กัมพูชา
ติดกับดักมรดกอาณานิคม

เอาเถอะ…ขอลองสวนกระแสพายุชาตินิยมอีกสักครั้ง ไหนๆ ก็เคยทำเช่นนี้มาแล้วในชีวิต อีกสักครั้งจะเป็นไรกัน

เกษียร เตชะพีระ เคยกล่าวนานแล้วว่า สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เตือนเราว่าอย่าหลงใหลคลั่งเจ้าจนเกินไป ตัวเขา (เกษียร) เตือนให้เราตั้งการ์ดระวังทุนนิยมให้ดี ส่วนผม ธงชัย ชี้ให้ระวังอันตรายของความเป็นชาติ ชาตินิยมและความคลั่งชาติ

ใช่ครับ…เพราะมันทำให้คนเราหน้ามืดฆ่ากันได้อย่างไร้สาระหรือเหตุผลใดๆ

แม้ว่าขณะนี้ข้อพิพาทชายแดนไทย-กัมพูชาจะเลยออกไปเป็นวิกฤตทางการเมืองโดยเฉพาะในประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว แต่ข้อพิพาทดังกล่าวก็ยังดำรงอยู่ และเป็นเชื้อมูลของวิกฤตทางการเมืองดังกล่าว

เช่นนี้แล้ว เราจึงควรจะต้องทำความเข้าใจปัญหากรณีพิพาทเกี่ยวกับเส้นเขตแดนกันอีกมาก

ไทยมีปัญหาขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้าน เกี่ยวกับเส้นเขตแดนมาหลายรอบแล้ว

ในช่วง 30 ปีหลังมานี้ มีเหตุให้เกิดการปะทะเสียชีวิตทหารและประชาชนที่อาศัยตามชายแดนของทุกฝ่ายในความขัดแย้งไปหลายร้อยคนแล้ว แต่ว่าไม่สามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้อย่างยั่งยืนแต่อย่างใด มีแต่ผูกใจเจ็บต่อกัน รอวันที่ความขัดแย้งใหม่ปะทุขึ้น แล้วก็เสียชีวิตกันอีกรอบ มีแนวโน้มจะวนเวียนเป็นเช่นนี้ไม่รู้จบ

ปัญหาเขตแดนระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นโดยพื้นฐานแล้วไม่มีทางแก้ไขได้อย่างเด็ดขาดยั่งยืนด้วยการทหาร

ไม่ว่าใครจะขัดแย้งกับใคร ใครได้เปรียบหรือเสียเปรียบ จะไม่มีวันแก้ไขให้จบได้ด้วยชัยชนะทางการทหาร

ทหารมีหน้าที่ต้องปกป้องอธิปไตยของชาติ แต่การปกป้องเขตแดนหรือสกัดการรุกล้ำไม่มีทางตัดสินปัญหาเขตแดนได้อย่างสิ้นสุด…ไม่มีทาง ไม่ว่าเมื่อวานนี้ วันนี้ หรือวันพรุ่งนี้

เพราะรากเหง้าของปัญหาเขตแดนทั่วทั้งภูมิภาคเป็นมรดกจากลัทธิอาณานิคมตั้งแต่ครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 เมื่อมหาอำนาจจักรวรรดินิยมมาสร้างระบอบภูมิศาสตร์การเมือง (political geography) อย่างใหม่ขึ้นบนแผ่นดินของรัฐจารีตในภูมิภาคนี้ ซึ่งไม่สอดคล้องเหมาะกับภูมิศาสตร์การเมืองและแผนที่ชนิดใหม่ จึงทิ้งปัญหาแก้ไม่ตกไว้เป็นมรดก

การทำแผนที่สมัยใหม่ที่ระบุเส้นเขตแดนชัดเจนต่อเนื่องกันหมดรายรอบประเทศหนึ่งๆ ตีกรอบให้แก่อธิปไตยเหนือดินแดนที่ชัดเจนเป็นประดิษฐกรรมที่จักรวรรดินิยมต้องการ เพื่อรับใช้ระเบียบโลกที่ตนได้ประโยชน์ แต่ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งใหม่ที่รัฐจารีตไม่เคยทำ สิ่งสำคัญที่สุดคือความคิดเรื่องอธิปไตยเหนือดินแดนประเภทที่เสียให้ใครไม่ได้แม้แต่ตารางนิ้วเดียวก็มากับระบอบภูมิศาสตร์การเมืองอย่างใหม่ในปลายศตวรรษที่ 19 รัฐจารีตก่อนหน้านั้น ไม่เคยแม้แต่จะคิด

ไม่ว่าสยาม หรือกัมพูชา หรือรัฐใดในภูมิภาคจึงไม่เคยมีธรรมเนียมปฏิบัติเกี่ยวกับเขตแดนหรืออำนาจเหนือดินแดนแบบสมัยใหม่ รวมทั้งไม่มีการหวงแหนชายแดนทุกตารางนิ้วจนต้องรบกัน

จะมีเส้นเขตแดนเป็นจุดๆ เป็นส่วนๆ เฉพาะตรงจุดที่อำนาจของรัฐจารีตสองรัฐมาบรรจบกัน

ตามป่าเขาหรือดินแดนห่างไกลที่รัฐไม่สนใจ อำนาจไม่บรรจบกัน ก็ไม่ต้องมีเส้นเขตแดน อธิปไตยเหนือดินแดนจึงเข้มบ้างจางบ้าง ยืดขยายได้ หดแคบลงก็ได้ ตามแต่อำนาจของรัฐจารีตซึ่งล้วนขึ้นๆ ลงๆ ด้วยกันทั้งนั้น

รัฐจารีตจึงแคร์เส้นเขตแดนเฉพาะจุดสำคัญๆ จนต้องตั้งด่านไว้ตรวจตราคนและสินค้า ส่วนนอกบริเวณด่านออกไปนั้น อำนาจของรัฐจารีตสิ้นสุดตรงไหนก็ไม่สำคัญ

ยิ่งไปกว่านั้น กล่าวโดยรวมๆ เจ้าองค์ใหญ่น้อยในภูมิภาคให้ความสำคัญกับการควบคุมคนเพื่อเกณฑ์แรงงานได้ เรียกส่วยเก็บภาษีได้ ดินแดนเป็นเพียงสิ่งที่พ่วงมากับคนที่เจ้าทั้งหลายมุ่งครอบครองควบคุม

พระเกียรติยศของเจ้าองค์ใหญ่น้อยเหล่านั้น วัดกันที่มีเจ้าอันดับรองๆ ยอมสวามิภักดิ์อยู่ใต้สังกัดมากน้อยขนาดไหน และเจ้ารองๆ เหล่านั้นครอบครองกำลังคนมากหรือน้อย สามารถเก็บภาษีและส่วยเป็นของดีมีราคาขนาดไหน

รัฐจารีตจึงสามารถยกดินแดนให้เป็นของกำนัลแก่เจ้ารัฐอื่นเพื่อความสัมพันธ์อันดี หรือเป็นรางวัลให้เจ้ารัฐอื่นด้วยความพึงพอใจก็ได้ หรือเพื่อความสมัครสมานเป็นทองแผ่นเดียวกันก็สามารถทำได้

บนพื้นฐานของจารีตความคิดและการปฏิบัติเกี่ยวกับดินแดนและเขตแดนเช่นนี้เอง การตีเส้นเขตแดนสมัยใหม่ตามหลักการทำแผนที่สมัยใหม่ จึงก่อปัญหากลายเป็นมรดกตกทอดที่แก้ยากมาก

ในดินแดนที่รกร้างว่างเปล่า ไม่มีจำนวนผู้คนมากพอที่รัฐจารีตจะสนใจ เช่น แถบป่าเขาระหว่างรัฐต่างๆ อย่างสยามกับพม่า เป็นต้น จึงอาจไม่มีรัฐใดเคลมว่าเป็นของตนเลยก็เป็นได้ ในทางกลับกันพื้นที่ที่มีผู้คนอาศัยอยู่เยอะ ซึ่งมักสะท้อนความอุดมสมบูรณ์ด้วย (ไม่ว่าจะด้วยทรัพยากรใดก็ตาม หรือเป็นชุมทางค้าขาย) จึงมักถูกเจ้ามากกว่าหนึ่งรายในเวลาเดียวกันเคลมว่าพื้นที่นั้นๆ อยู่ใต้อำนาจตน เคลมว่าตนมีสิทธิ์เกณฑ์ไพร่เกณฑ์ส่วยจากผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นั้น

นี่หมายความว่าดินแดนและผู้คนตรงนั้นมีเจ้าเหนือหัวมากกว่าหนึ่งราย หากแปลเป็นอำนาจอธิปไตยสมัยใหม่ ย่อมแปลว่าอำนาจอธิปไตยของรัฐสมัยใหม่ซ้อนทับกัน

ชายขอบอำนาจของรัฐสยามยุคจารีตอยู่ในภาวะเช่นนี้เป็นส่วนใหญ่

ด้วยเหตุนี้เมื่อเส้นเขตแดนขีดลงไป ไม่ว่าส่วนไหนของพื้นที่คลุมเครือดังกล่าว ก็เกิดปัญหาทั้งสิ้น เพราะรัฐสมัยใหม่ที่สืบทอดมาจากรัฐจารีตย่อมต้องถือว่าตนเสียดินแดนที่เคยเป็นของรัฐบรรพบุรุษของตนมาก่อน

ทุกประเทศในภูมิภาคจึงล้วนมีประวัติศาสตร์ว่าตน “เสียดินแดน” ไม่เคยมีใครบอกว่าตนได้ดินแดนเลย อย่างมากที่สุดก็บอกว่า “ได้ดินแดนที่เสียไปกลับคืนมา” เพราะในความเป็นจริงเราไม่สามารถกล่าวได้ว่าดินแดนเล่านั้นเป็นของใคร เราจึงบอกไม่ได้ว่าใครได้หรือใครเสีย

แผนที่ที่แสดงความยิ่งใหญ่ของสยามสมัยนั้นนี้ เป็นเพียงจินตนาการเพื่อสนองอารมณ์คลั่งชาติของคนไทยจำนวนหนึ่งเท่านั้น

เช่นนี้แล้วเขตแดนจำนวนมากจึงสามารถสร้างความเจ็บปวดจากประวัติศาสตร์ได้ เพราะเกิดจากการทึกทักเข้าข้างตัวเองของรัฐสมัยใหม่ต่างๆ นั่นเอง เขตแดนที่ขีดลงบนพื้นที่ซ้อนทับเหล่านี้เปรียบเสมือน “ระเบิดเวลา” ที่จะปะทุเมื่อไหร่ก็ได้ กำลังทหารจึงตัดสินได้เพียงชั่วคราว

เขตแดนสมัยใหม่ทุกแห่งทุกจุดบนโลกใบนี้เป็นเพียงเพื่อประโยชน์ของรัฐ ยามรัฐสองข้างเส้นเป็นมิตรกัน ก็ตกลงกันได้ง่าย ยามสิ่งสมมุติไม่เป็นมิตรกัน ระเบิดเวลาก็ปะทุได้เสมอ

ทั้งหมดทุกกรณีรอบประเทศไทยสามารถเป็นระเบิดเวลาได้ทั้งนั้น จะระเบิดหรือไม่ ไม่ได้ขึ้นกับแผนที่หรือเส้นสมมุติเหล่านั้นเลย แต่ย่อมขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ที่ดีหรือไม่ดีระหว่างรัฐคู่กรณี ถ้าสองฝ่ายเห็นประโยชน์ร่วมกันของสันติภาพ ระเบิดเวลาก็จะถูกถอดสลักอย่างยั่งยืน ดังเช่นหลายประเทศในยุโรปนับแต่สงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา

แต่ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคกลับเป็นมรดกตกทอดมาจากรัฐจารีตที่ทำให้เคลือบแคลงใจต่อกัน ดูถูกดูแคลนกัน วางตัวระแวงต่อกัน คิดเอาเปรียบต่อกัน ฯลฯ เหล่านี้ถูกส่งผ่านมาหลายรุ่นนับหลายร้อยปี ทั้งด้วยแบบเรียนในโรงเรียน ด้วยวัฒนธรรมมวลชนสารพัดชนิด ที่พร้อมจะถูกจุดประทุขึ้นได้ง่ายมากๆ

ในเมื่อเราต้องอยู่กับระเบิดเวลาชนิดนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หนทางเดียวที่จะถอดสลักระเบิดนั่นคือเจรจาตกลงกันบนโต๊ะ

ในความเป็นจริงทุกรัฐในภูมิภาคนี้ล้วนตระหนักถึงความลำบากจนแทบเป็นไปไม่ได้ที่จะตัดสินให้ลงตัวอย่างยั่งยืน คณะกรรมการชายแดนหลายแห่งจึงกระทำสิ่งที่ฉลาดที่สุดคือไม่เร่งรีบตัดสิน กรณีที่ตัดสินยังไม่ได้ ก็บันทึกไว้ว่าเพราะอะไรบ้าง นี้เป็นวิธีการทางการทูตซึ่งฉลาดแล้ว

การใช้กำลังทหาร อย่างเก่งก็แค่ระงับความขัดแย้งในระยะสั้นๆ เพราะกำลังทหารไปเปลี่ยนแปลงอดีตไม่ได้ ฝ่ายที่แพ้ในวันนี้ก็จะผูกใจเจ็บ รอวันเอาคืนในวันหน้า

เราจะรบกันเพราะกับดักที่ลัทธิอาณานิคมทิ้งไว้เป็นระเบิดเวลาไปทำไมกัน

ที่กล่าวมาในตอนนี้ ต้องการให้เห็นปัญหาระดับรากฐาน พ้นจากรากฐานนี้ไปยังมีปัญหาอีกมากมาย เช่น ปัญหาภูมิประเทศตามธรรมชาติที่ใช้เป็นเส้นเขตแดนเปลี่ยนแปลงได้ แต่รัฐต่างๆ กลับไม่ยอมรับว่าเส้นสมมุติก็ย่อมเปลี่ยนได้ ปัญหาแผนที่ซึ่งเราท่านเชื่อกันนักหนา ทั้งๆ ที่เชื่อไม่ค่อยได้ ฯลฯ ขอเก็บไว้ในตอนอื่น

https://www.matichon.co.th/weekly/column/article_848305