วันอังคาร, กรกฎาคม 08, 2568

“เราเป็นเพียงประชาชนธรรมดา…ที่รอวันกลับบ้าน” เมื่อผู้ต้องขังการเมืองส่งสารเรื่องนิรโทษกรรม



“เราเป็นเพียงประชาชนธรรมดา…ที่รอวันกลับบ้าน” เมื่อผู้ต้องขังการเมืองส่งสารเรื่องนิรโทษกรรม

7/07/2568
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

วันที่ 9 ก.ค. 2568 จะเป็นวันที่ประวัติศาสตร์เขียนใหม่ หรือเป็นเพียงวันที่ความหวังถูกเลื่อนออกไปอีกครั้ง เมื่อรัฐสภาเตรียมพิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรม 4 ฉบับ รวมทั้งร่าง “นิรโทษกรรมประชาชน” ที่รอคอยมาตั้งแต่ต้นปี 2567 นอกจากหลายชีวิตที่อยู่นอกเรือนจำต่างจดจ่อรอคอยกฎหมายฉบับนี้ ในปัจจุบันยังมี 51 คนที่กำลังนับวันอยู่หลังกำแพงคุก พวกเขาไม่ใช่อาชญากรธรรมดา แต่เป็นประชาชนที่แสดงออกทางการเมือง โดยเฉพาะ 32 คน ที่ติดคุกด้วยมาตรา 112 ที่เหมือนเงื่อนงำลึกลับที่ฝ่ายการเมืองพยายามไม่แตะต้อง

ในช่วงเวลา 20 ปีที่ผ่านมา สามัญชนจำนวนมากออกมาชุมนุมและแสดงออกทางการเมืองเพื่อเรียกร้องในประเด็นปัญหาทางการเมืองและประชาธิไตยสำหรับสังคมไทย บางคนสูญเสียชีวิต บางคนบาดเจ็บ และอีกหลายคนถูกตีตราว่าเป็นอาชญากร จนถูกคุมขัง แม้ว่าพวกเขาจะเป็นเพียงประชาชนธรรมดาที่มีเจตจำนงทางการเมือง ยิ่งสิ่งที่เกิดขึ้นกับหลาย ๆ คนในช่วงชุมนุมตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา มีคนเข้าออกเรือนจำเพราะเหตุทางการเมืองในจำนวนมาก และอีกมากมายที่ยังไม่ได้ออกมาจากสถานที่อันไร้เสรีภาพ

วันเวลาที่ผ่านมาผู้ต้องขังเหล่านี้ไม่ได้เงียบเฉย พวกเขาส่งเสียงออกมาจากภายในเรือนจำเสมอ ๆ บอกเล่าถึงความหวังที่มีต่อการนิรโทษกรรม บางคนเรียกร้องให้รวมมาตรา 112 ด้วย บางคนยอมรับว่าภายใต้สถานการณ์ที่มาตรา 112 ถูกปฏิเสธการนับรวม การนิรโทษกรรมเรื่องนี้อาจจะไม่เกิดขึ้น แต่ก็ขอแค่ให้คนอื่นได้กลับบ้านก่อน

ทั้ง 6 เสียงที่ส่งออกมาล้วนสะท้อนความเป็นคนธรรมดาที่ต้องการเสรีภาพ ความปรารถนาที่จะกลับไปใช้ชีวิตกับครอบครัว และมีส่วนสร้างสังคมที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

__________________________________________________________

“เก็ท โสภณ”: “ทุกสีทุกฝั่งต้องมานั่งคุยกันอย่างจริงจัง หากไม่เช่นนั้นก็จะมีคนต้องเคราะห์ร้ายจากการแสดงออกต่อไปเรื่อย ๆ”



สำหรับเก็ท เขาตระหนักว่าในทุก ๆ ครั้งของการต่อสู้อาจจะต้องมีการสูญเสีย แม้ไม่อยากให้เกิดขึ้น แต่ประชาชนที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยออกมาเรียกร้องสิทธิ ก็เผชิญกับความสูญเสีย ไม่ว่าจะเป็นความคิดเห็นของเสื้อสีอะไรก็ตาม

ทั้งที่จริง ๆ ตามขบวนการประชาธิปไตยและตามหลักสิทธิมนุษยชน รัฐควรให้สวัสดิภาพกับประชาชน ถ้าประชาชนพูดหรือแสดงความคิดเห็นในที่สาธารณะตามหลัก ควรได้รับความปลอดภัยไม่ว่าเขาจะพูดเรื่องอะไรก็ตาม

แต่ปัญหาคือสมดุลระหว่างประชาชนกับรัฐไม่เท่ากัน อำนาจของรัฐมากกว่า ความสูญเสียของประชาชนที่ออกมาขับเคลื่อนสังคมจึงเกิดขึ้น ทีนี้การชดเชยความเสียหายในสิ่งที่ไม่ควรเสียหายเหล่านั้นจะทำยังไง ใครต้องเป็นคนรับผิดชอบ แน่นอนว่าการจ่ายเงินชดเชยอย่างเดียวคงไม่พอ เพราะบางคนที่ออกมาขับเคลื่อน ไม่ได้เสียหายแค่ทุนทรัพย์ บางคนบาดเจ็บ ล้มตาย บางคนติดคุก บางคนถูกจั่วหัวเป็นอาชญากร บางคนถูกผลกระทบจากข้อมูลอันเป็นเท็จ ทำให้สังคมเข้าใจเขาผิด

ทีนี้เราจะชดเชยให้กับประชาชนผู้บริสุทธิ์และมีเจตนาดีต่อสังคมเหล่านี้อย่างไร จะสานต่อเจตนารมณ์เหล่านี้อย่างไร สิ่งนี้คือสิ่งที่ทั้งสองฝ่ายไม่ว่าจะอนุรักษ์นิยมหรือหัวก้าวหน้า เสื้อทุกสีทุกฝั่งต้องมานั่งคุยกันอย่างจริงจังด้วยเหตุผล หากไม่เช่นนั้นก็จะมีคนต้องเคราะห์ร้ายจากการแสดงออกต่อไปเรื่อย ๆ

จนถึงปัจจุบัน (7 ก.ค. 2568) เก็ท อายุ 26 ปี ถูกคุมขังด้วยคดีมาตรา 112 มาแล้ว 684 วัน

.
“บัสบาส”: “จะล้างมลทิน ก็ต้องล้างให้หมดเลย ไม่ใช่ครึ่ง ๆ กลาง ๆ”



สำหรับบัสบาส เคยกล่าวไว้ว่าจะสนับสนุนพรรคที่ยังรักษาอุดมการณ์ประชาธิปไตย ทั้งยังผลักดันเรื่องนิรโทษกรรม และช่วยเหลือผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมือง ยังหวังว่าพรรคประชาชนจะยังคงอุดมการณ์เดิมและผลักดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ให้ได้ เขามองว่าการนิรโทษกรรมที่ไม่รวม ม.112 เป็นเหมือนการทอดทิ้งคนที่โดน รู้สึกเหมือนไร้ตัวตน และยังเชื่อมั่นว่าการนิรโทษกรรมคดีการเมือง จะต้องรวมถึงข้อหา 112 ด้วย

“มันจะล้างมลทิน ก็ต้องล้างให้หมดเลย ไม่ใช่ครึ่ง ๆ กลาง ๆ” ซึ่งบัสบาสยังหวังว่าจะมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ที่รวมข้อหามาตรา 112 ด้วยแน่นอนในสักวันหนึ่ง โดยทุก ๆ วันที่ผ่านไปเขามีความหวังเสมอ และมั่นใจว่าคนที่อยู่ด้านนอกจะต้องช่วยกันผลักดัน ซึ่งจะต้องประสบความสำเร็จไม่ช้าก็เร็ว

จนถึงปัจจุบัน (7 ก.ค. 2568) บัสบาส วัย 32 ปี ถูกคุมขังที่เรือนจำกลางจังหวัดเชียงรายด้วยคดีมาตรา 112 มาแล้ว 1 ปี 5 เดือน 12 วัน หลังถูกศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาลงโทษรวมกันในสามคดีคิดเป็นจำคุก 54 ปี 6 เดือน ซึ่งเป็นโทษที่มากที่สุดเป็นประวัติการณ์

.
“อัญชัญ”: “ป้าเห็นด้วยว่านิรโทษกรรมต้องรวม ม.112 ด้วย มันคดีการเมืองชัด ๆ เลย”



อัญชัญเคยกล่าวถึงแคมเปญนิรโทษกรรมประชาชนที่เธอได้รับฟังเนื้อหาว่า “ขอบคุณมาก ๆ เลยที่ยังสนใจผู้ต้องขังทางการเมือง ขอบคุณที่ยังสู้อยู่ ยังไม่ทิ้งกัน ป้าหวังว่าสักวันมันจะเป็นประโยชน์ ฝากให้กำลังใจพรรคการเมืองที่ร่วมกันผลักดันเรื่องนี้ด้วยนะลูก ถ้าประชาชนไม่สู้ เขาก็คงไม่รู้ว่าประชาชนคิดยังไง ป้าเห็นด้วยว่านิรโทษกรรมต้องรวม ม.112 ด้วย มันคดีการเมืองชัด ๆ เลย”

จนถึงปัจจุบัน (7 ก.ค. 2568) อัญชัญ วัย 70 ปี ถูกคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลางด้วยคดีมาตรา 112 มาแล้ว 1,631 วัน หรือ 4 ปี 5 เดือน 21 วัน ก่อนหน้านั้นเธอถูกคุมขังระหว่างสอบสวนและพิจารณาคดีมาแล้ว 3 ปี 9 เดือน 3 วัน เมื่อรวมสองช่วงเวลาเข้าด้วยกันขณะนี้อัญชัญรับโทษถึง 8 ปี 2 เดือน 24 วัน

.
“พรชัย”: “ผมคิดว่ามีความจำเป็นในการนิรโทษกรรมในคดีทางการเมือง ทุกข้อหา แบบไร้เงื่อนไข”



พรชัยเคยให้ความเห็นว่า สังคมไทยมีความจำเป็นในการนิรโทษกรรมในคดีทางการเมือง ทุกข้อหา แบบไร้เงื่อนไข เพราเราจะต้องมานั่งตั้งคำถามว่าเราทำผิดอะไร เราเป็นเพียงแต่ประชาชนธรรมดาที่ต้องการให้เกิดความเท่าเทียมในสังคม ไม่ได้มีอิทธิพลทางการเมือง ไม่ได้วางแผนก่อการร้าย ไม่ได้ล้มล้างอะไร

ในทัศนะของพรชัยการนิรโทษกรรม จะทำให้ประชาชนหลายคนได้ออกไปเริ่มต้นใหม่ สิ่งที่จะต้องแก้ไขก็แก้ไขกันใหม่ ได้กลับไปเจอครอบครัว เป็นการสะท้อนภาพรวมของประชาธิปไตยที่มีแนวโน้มที่ดีขึ้น เป็นการให้โอกาสผู้ต้องขังทางการเมือง เพราะหลายคนถูกปฏิบัติแบบอาชญากร

“ผมเพียงแต่มีความเห็นต่างทางการเมืองเท่านั้น” ถึงที่สุดการนิรโทษกรรมถึงอย่างไรก็ควรรวมคดีมาตรา 112 เรื่องนี้เป็นเหมือนความหวังเดียวของผู้ต้องขังคดีนี้ แต่หากการผลักดันไม่สำเร็จ เกิดการนิรโทษกรรมคดีอื่น ๆ โดยยกเว้นมาตรา 112 ก็เห็นว่าอย่างน้อยก็ทำให้พี่น้องที่เคยออกมาชุมนุมเคลียร์คดีไปได้บางส่วน และอีกบางส่วนหากถูกคุมขังอยู่ ก็อาจจะได้กลับบ้าน

จนถึงปัจจุบัน (7 ก.ค. 2568) พรชัย ชาวปะกาเกอะญอ วัย 41 ปี ถูกคุมขังด้วยข้อหาตามคดีมาตรา 112 มาแล้ว 460 วัน หรือ 1 ปี 3 เดือน 5 วัน

.
“วิจิตร” : หวังพรรคการเมืองผ่านกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชน



“ผมคิดว่า พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเป็นกฎหมายที่ให้ผลบวกกับพรรคการเมืองทุกพรรคที่สนับสนุน เขาจะได้รับคะแนนนิยมจากประชาชนบนถนนสายปาะชาธิปไตยแน่นอน คือมันให้ความช่วยเหลือผู้ต้องขังทางการเมือง

ซึ่งภาคประชาสังคมกับภาคประชาชนมีพลังมาก ที่จะทำให้พรรคการเมืองนิ่งเฉยไม่ได้ ก็ให้มันเป็นไปตามกลไกของสังคม แต่ถ้าได้ออกไปเร็ว ๆ ผมจะดีใจมากที่จะได้ออกไปทำงานด้วยตัวของผมเอง”

จนถึงปัจจุบัน (7 ก.ค. 2568) วิจิตร วัย 59 ถูกคุมขังจากข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาแล้ว 112 วัน

.
“ขุนแผน”: “ถ้านิรโทษกรรมไม่มี 112 ก็ช่างมัน ก็ปล่อยให้นิรโทษกรรมคดีอื่นไปก่อน แล้วค่อยมาเคลื่อนเรื่อง 112 เน้น ๆ”



“ผมว่าการยื้อมันแย่สุด เลยอยากให้จบไว ๆ ถ้านิรโทษกรรมไม่มี 112 ก็ช่างมัน ไม่เป็นไร ก็ปล่อยให้นิรโทษกรรมคดีอื่นไปก่อน แล้วค่อยมาเคลื่อนเรื่อง 112 เน้น ๆ ไปเลยหลังจากนั้น” ด้วยเพราะเห็นว่าถ้านิรโทษกรรมลากยาวจะเข้าเกมฝั่งผู้มีอำนาจ กฎหมายจะถูกดองไปเรื่อย ๆ คลุมเครือแบบนี้ยิ่งทำให้คนอยากให้มีนิรโทษกรรมทะเลาะกันเอง “เราเองก็ต้องทำใจ ว่าคดี 112 มันยาว รู้สภาพกันอยู่ อดทนหน่อย”

จนถึงปัจจุบัน (7 ก.ค. 2568) ขุนแผน หรือ เชน ชีวอบัญชา วัย 58 ปี ถูกคุมขังที่เรือนจำด้วยคดีมาตรา 112 มาแล้ว 355 โดยขุนแผนจะครบ 1 ปี ในวันที่ 18 ก.ค. 2568 นี้
.

อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ทำไม ม.112 ถึงเป็น “คดีทางการเมือง”: การนิรโทษกรรมที่ไม่นับรวม ยิ่งสะท้อนความเป็นการเมือง


https://tlhr2014.com/archives/76642