๙ กรกฎาคมนี้ เป็นวันที่ร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ๔ ฉบับจะเข้าสู่การพิจารณาขงอสภาผู้แทนราษฎร ในจำนวนนั้นมีร่างฯ ของภาคประชาชนอยู่ด้วย ความสำคัญของร่างฯ นี้อยู่ที่ มีเนื้อหาให้นิรโทษกรรมรวมถึงผู้ต้องหาคดี ๑๑๒ ด้วย
ข้อแตกต่างของร่างฯ นิรโทษกรรมจากภาคประชาชน กับอีก ๓ ฉบับก็คือ กำหนดให้คดี ม.๑๑๒ คดี พรก.ฉุกเฉิน คดีตามประกาศและคำสั่ง คสช. คดีรณรงค์ พรบ.ประชามติต่อร่างรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๕๙ เข้าข่ายได้รับนิรโทษกรรมทันที
ร่างฯ ของพรรคก้าวไกล แม้จะรวมนิรโทษกรรมคดี ม.๑๑๒ และคดีการเมืองจากการชุมนุมอื่นๆ แต่ไม่ได้กำหนดให้นิรโทษกรรมทันที โดยให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาว่าจะนิรโทษกรรมกรณีใดบ้าง เช่นเดียวกับอีกสองร่าง
แต่อีกสองร่าง คือจากพรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคครูไทยเพื่อประชาชน มีเนื้อหาต่างออกไปอย่างฟ้ากับเหว เนื่องจากกำหนดไว้ตายตัว ไม่ให้รวมถึงคดีความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ โดยเด็ดขาด รายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆ เป็นเรื่องเงื่อนเวลา
ฉบับภาคประชาชนเริ่มนับช่วงเวลากระทำผิดตั้งแต่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ (วันที่มีการรัฐประหารรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร) จนถึงวันที่ พรบ.นี้ประกาศใช้ แต่ร่างของพรรคก้าวไกลยืดเวลาเริ่มไปที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ เพื่อรวมผู้ต้องหาการชุมนุมต่อต้านทักษิณไว้ด้วย
ทว่าร่างอีกสองฉบับของพรรค รทสช. และครูไทย แม้จะให้เริ่มนับตั้งแต่รัฐประหาร ๒๕๔๙ เป็นต้นมา แต่จำกัดเวลาไม่รวมถึงเหตุการณ์ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยปลายปี ๒๕๖๕ แสดงว่า ‘ใส่ใจ’ เฉพาะการชุมนุมในอดีต
ย้อนไปถึงยุคสมัยของพันธมิตรฯ และ กปปส. เท่านั้น “แต่ ‘ไม่สนใจ’ การชุมนุมในยุคหลังโดยเฉพาะการแสดงออกของประชาชนที่อาจเกิดขึ้นต่อรัฐบาลที่พวกเขาสังกัดอยู่ในตอนนี้” ดังที่ ไอลอว์ ให้ข้อคิดเห็นว่า ‘ตัวตึง’ จากยุคนั้น มีแนวโน้มจะได้รับนิรโทษกันเรียงหน้า
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งข้อสังเกตุว่า ข้ออ้างอย่างหนึ่งของฝ่ายที่ไม่ให้นิรโทษผู้ต้องหา ม.๑๑๒ คือ “คดีข้อหานี้ มีจำนวนไม่มากนัก คิดเป็นอัตราส่วนน้อยเมื่อเทียบกับข้อหาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม หรือแสดงออกทางการเมือง”
นั่นคือให้ความสำคัญกับผู้ต้องหาในกลุ่ม พธม. และ กปปส. เหนือกว่าเยาวชนและคนรุ่นใหม่ ที่ออกมาประท้วงในปี ๖๓-๖๔ แล้วโดนยัดข้อหา ๑๑๒ (หมิ่นกษัตริย์) บวก ๑๑๖ (ปลุกปั่นยุยง) ประกอบกับ พรบ.ชุมนุมสาธารณะ พรบ.คอมพิวเตอร์
รวมไปถึงข้อหา “ละเมิดอำนาจศาล” คดีเหล่านี้รวมกันแล้วมีเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่ม ‘เยาวชนปลดแอก’ โดนคดีที่ถูกแจ้งข้อหาอาญาจากการแสดงออกทางการเมือง ตั้งแต่กรกฎา ๖๓ ถึงมิถุนา ๖๘ ถึง ๑,๓๓๐ คดี มีผู้ต้องหา ๑,๙๗๗ คน
(https://www.facebook.com/lawyercenter2014/posts/kDdpN9tJXAR และ https://www.ilaw.or.th/articles/53059)