
iLaw
9 hours ago
·
จับตาสภา นัดถกร่างกฎหมาย “กาสิโน” ต่อด้วย “นิรโทษกรรม” โค้งสุดท้ายก่อนปิดสมัยประชุม
9 เมษายน 2568 สภาผู้แทนราษฎรนัดพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. …. (ร่างพ.ร.บ. สถานบันเทิงครบวงจรฯ) และร่างกฎหมายนิรโทษกรรมอีกสี่ฉบับ หลังสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคเพื่อไทยเสนอให้ “ลัดคิว” เลื่อนขึ้นมาพิจารณาก่อนร่างกฎหมายอื่นๆ ที่อยู่ในระเบียบวาระ
3 เมษายน 2568 ขณะที่สภาผู้แทนราษฎรกำลังจะเริ่มเข้าสู่วาระญัตติด่วนถกประเด็นปัญหาแผ่นดินไหวเพื่อส่งเรื่องไปยังคณะรัฐมนตรีรับไปดำเนินการพิจารณา อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส.พรรคเพื่อไทยก็ได้เสนอแก้ไขวาระการประชุมโดยให้นำร่างพ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจรฯ และร่างกฎหมายนิรโทษกรรมสี่ฉบับขึ้นมาพิจารณาก่อนในวันที่ 9 เมษายน 2568 สองวันก่อนปิดสมัยประชุมสามัญประจำปี 2568 ครั้งที่สองในวันที่ 11เมษายน 2568 โดยที่ 9 เมษายน 2568 เป็นวันสุดท้ายในสมัยประชุมนี้ที่สภาจะพิจารณาร่างกฎหมาย ตามธรรมเนียมปฏิบัติของสภาชุดนี้ที่สืบต่อจากสภาชุดที่แล้ว โดยแบ่งให้การประชุมสภาวันพุธพิจารณาร่างกฎหมาย ส่วนวันพฤหัสบดีจะเป็นการตั้งกระทู้ถาม พิจารณาญัตติ รายงานต่างๆ
ร่างพ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจรฯ เป็นหนึ่งในการนำเอานโยบายของรัฐบาลภายใต้การนำของแพทองธาร ชินวัตร สาระสำคัญคือ เปิดทางให้ประเทศไทยมีสถานบันเทิงครบวงจรที่มี “กาสิโน” ถูกกฎหมาย โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ต่อสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2568 ต่อมา 3 เมษายน 2568 สส. พรรคเพื่อไทย ก็ “รับลูก” เสนอญัตติให้เลื่อนระเบียบวาระ แต่ก็พ่วงกฎหมายนิรโทษกรรมตามมาด้วย
ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมทั้งสี่ฉบับ มีสาระสำคัญคือยกเว้นความผิดสำหรับคดีความบางประเภท ซึ่งเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ทางการเมือง ทำให้ผู้ที่ถูกดำเนินคดีรวมถึงบางส่วนอาจถูกพิพากษาไปจนถึงศาลฎีกาไร้มลทินจากคดีความทางการเมือง คืนความยุติธรรมให้แก่ผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมือง โดยร่างแต่ละฉบับกำหนดกรอบระยะเวลาและฐานความผิดที่จะนิรโทษกรรมแตกต่างกัน หนึ่งในฐานความผิดที่ร่างกฎหมายทั้งสี่ฉบับ กำหนดแตกต่างกันและจะเป็นหนึ่งในประเด็นที่ถกเถียงในสภา คือการนิรโทษกรรมโดยรวมความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมทั้งสี่ฉบับ บรรจุรออยู่ในระเบียบวาระมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2567 โดยร่างลำดับสุดท้ายที่ถูกเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2567 คือร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมประชาชน ที่ประชาชน 36,723 คน ร่วมกันเข้าชื่อเสนอ ขณะที่ร่างอื่นๆ เช่น ร่างที่เสนอโดย สส. พรรคร่วมไทยสร้างชาติ เสนอต่อสภาเมื่อ 28 มกราคม 2567 ร่างที่เสนอโดย สส. พรรคครูไทยเพื่อประชาชน (ต่อมาย้ายไปสังกัดพรรคกล้าธรรม) เสนอเมื่อ 20 ธันวาคม 2566 และร่างฉบับแรกสุดที่เสนอเข้าสภา คือร่างที่เสนอโดย สส. พรรคก้าวไกล (ก่อนศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคและสส. ที่ไม่โดนตัดสิทธิย้ายมาสังกัดพรรคประชาชน) ถูกเสนอตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม 2566 ทั้งนี้ รัฐบาลหรือ สส. พรรคเพื่อไทยยังไม่เคยเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมเข้ามาพิจารณาประกบแต่อย่างใด

เป็นที่น่าจับตาว่าด้วยกลวิธีเลื่อนญัตติที่ถูกเสนอโดย สส. พรรครัฐบาลขึ้นมาพิจารณาก่อนแซงร่างกฎหมายอื่นๆ อีกกว่าสิบฉบับ ทั้งที่ร่างพ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจรฯ เพิ่งถูกเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรได้เพียงสองวัน รวมถึงการนำร่างกฎหมายนิรโทษกรรมที่บรรจุวาระค้างในสภามากว่าหนึ่งปีจะเป็นเพียง “วิธีทางการเมือง” เพื่อมัดมือชกให้ สส. มีเวลาถกร่าง พ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจรฯ อย่าง “จำกัด” เพื่อให้เหลือเวลาได้ถกเถียงร่างกฎหมายนิรโทษกรรมภายใต้เวลาที่กระชั้นชิดหรือไม่
อนาคตของประชาชนที่ถูกดำเนินคดีทางการเมืองซึ่งบางส่วนยังคงถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำยังไม่ชัดเจน เมื่อรัฐบาลเลือกนำร่างกฎหมายที่เสนออย่าง “รีบร้อน” ที่ยังมีข้อถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์ขึ้นมาเพื่อพิจารณาก่อนและนำร่างกฎหมายนิรโทษกรรมที่ไม่มีแม้แต่ร่างฉบับรัฐบาลขึ้นมาพิจารณาต่อตามหลัง

https://www.facebook.com/photo?fbid=1074462331394052&set=a.625664032940553