วันพฤหัสบดี, ธันวาคม 01, 2565

มลพิษทางอากาศอันตรายกว่าที่คิด ท่านทราบหรือไม่ มลพิษทางอากาศนำไปสู่โรคมะเร็งปอดได้ แม้ไม่เคยสูบบุหรี่เลย


บีบีซีไทย - BBC Thai
18h

ฝุ่นละอองขนาดเล็กกำลังจะกลับมาหรือไม่
.
บรรยากาศท้องฟ้าในพื้นที่เขตจอมทอง กทม. ปกคลุมด้วยหมอกหนากว่าปกติ ขณะที่ สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. รายงานคุณภาพอากาศในพื้นที่กรุงเทพมหานครพบว่า เวลา 07.00 น. วันนี้ ผลการตรวจวัดฝุ่นละอองขนาดเล็ก มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในหลายเขต
.
สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. รายงานว่าพบฝุ่นละออง PM2.5 มีค่าเกินมาตรฐาน จำนวน 3 เขต ได้แก่ เขตสาทร เขตหนองแขม และเขตบางกอกน้อย โดยตรวจวัดได้ระหว่าง 20-54 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ส่วน PM2.5 ค่ามาตรฐาน เฉลี่ย 24 ชม. ไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม. เมื่อ 30 พ.ย. 2565
.
ทั้งนี้ ในช่วงวันที่ 30 พ.ย.–4 ธ.ค. 65 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ส่งผลให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนองในระยะแรกและมีฝนตกหนักบางพื้นที่ หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลงกับมีลมแรง และวันนี้กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ลมอ่อน อัตราการระบายฝุ่นละอองไม่ดี ความเข้มของฝุ่นละออง PM2.5 ต่ำ
.
แล้วทราบไหมว่า มลพิษทางอากาศ เป็นต้นตอของมะเร็งปอดได้
อ่านเพิ่มเติมทางนี้ https://bbc.in/3OOoGd1
.....
มะเร็งปอด : มลพิษทางอากาศนำไปสู่โรคมะเร็งปอดได้ แม้ไม่เคยสูบบุหรี่เลย

11 พฤศจิกายน 2022
เจมส์ กัลลาเฮอร์
ผู้สื่อข่าวสายสุขภาพและวิทยาศาสตร์ บีบีซี


นักวิจัยชี้ชัดว่า มลพิษทางอากาศนำไปสู่มะเร็งปอดได้ แม้ในผู้ที่ไม่สูบบุหรี่

นักวิจัยค้นพบว่ามลพิษทางอากาศนำไปสู่การเกิดโรคมะเร็งปอดได้อย่างไร ซึ่งถือเป็นการค้นพบที่เปลี่ยนความเข้าใจถึงการเกิดขึ้นของเนื้องอก โดยเฉพาะในผู้ที่ไม่เคยแม้แต่จะสูบบุหรี่เลย

เมื่อเดือน ก.ย. ทีมวิจัยสถาบันฟรานซิส คริก ในกรุงลอนดอน ระบุว่า มลพิษทางอากาศก่อให้เกิดมะเร็งปอดได้จริง แม้ในผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ ด้วยการกระตุ้นหรือปลุกเซลล์เก่า ๆ ที่เสียหายขึ้นมา มากกว่าการสร้างความเสียหายให้เซลล์ ตามความเชื่อเดิม

หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญระดับโลก คือ ศาสตราจารย์ ชาร์ลส์ สแวนตัน ระบุว่า การค้นพบดังกล่าวทำให้วงการแพทย์ “เข้าสู่ยุคใหม่” และอาจนำไปสู่การพัฒนาตัวยา เพื่อยับยั้งมะเร็งไม่ให้ก่อตัวขึ้น

โดยปกติแล้ว การก่อตัวของมะเร็งจะเกิดเป็นลำดับขั้นตอน คือ เริ่มจากเซลล์ที่แข็งแรง แล้วค่อย ๆ เกิดการกลายพันธุ์ในระดับสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอ จนถึงจุดที่กลายเป็นเซลล์ผิดปกติ สู่เซลล์มะเร็ง และเติบโตอย่างควบคุมไม่ได้

แต่แนวคิดการเกิดมะเร็งเช่นนี้ มีปัญหา เพราะการกลายพันธุ์เป็นเซลล์มะเร็งได้เกิดขึ้นในเนื้อเยื่อที่แข็งแรง แต่กลับกลายเป็นว่าต้นตอของมะเร็ง รวมถึงมลพิษทางอากาศ ไม่ได้สร้างความเสียหายต่อดีเอ็นเอ แต่เป็นการกระตุ้นเซลล์ที่เสียหายให้กลับมาทำงานอีกครั้งมากกว่า

ศาสตราจารย์ สแวนตัน ระบุว่า “ความเสี่ยงเกิดมะเร็งปอดจากมลพิษทางอากาศ มีน้อยกว่าการสูบบุหรี่ แต่เพราะมนุษย์ควบคุมการหายใจของตนเองไม่ได้ และทั่วโลก ผู้คนอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัยจากมลพิษทางอากาศมากขึ้นกว่า การสูดสารเคมีที่เป็นพิษจากควันบุหรี่”

แล้วเกิดอะไรขึ้น

นักวิจัยซึ่งทำงานอยู่ที่มหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน หรือยูซีแอล ได้ค้นพบหลักฐานถึงแนวคิดใหม่ถึงการเกิดมะเร็ง โดยเฉพาะในบุคคลที่ไม่สูบบุหรี่ โดยระบุว่า อันที่จริงแล้ว ความเสียหายได้ฝังตัวอยู่ในดีเอ็นเอของเซลล์ ในระหว่างที่เราเติบโตและมีอายุมากขึ้น

แต่ต้องมีสิ่งที่มากระตุ้นความเสียหายในดีเอ็นเอของเซลล์ก่อน มันถึงจะกลายเป็นเซลล์มะเร็งได้

การค้นพบนี้ มาจากการตรวจสอบว่าทำไมบุคคลที่ไม่สูบบุหรี่ถึงเป็นโรคมะเร็งปอด แน่นอนว่า สาเหตุส่วนใหญ่ของผู้ป่วยมะเร็งปอดมาจากการสูบบุหรี่ แต่ก็พบว่า 1 ใน 10 ของผู้ป่วยมะเร็งปอดในสหราชอาณาจักร มีสาเหตุมาจากมลพิษทางอากาศ

ทีมวิจัยของสถาบันฟรานซิส คริก ให้ความสำคัญกับอนุภาคฝุ่นพีเอ็ม 2.5 (PM 2.5) ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าเส้นผมของมนุษย์


มลพิษทางอากาศอันตรายกว่าที่คิด

และเมื่อดำเนินการทดลองในสัตว์และมนุษย์โดยละเอียด พวกเขาพบว่า สถานที่ที่มีมลพิษทางอากาศสูง จะพบผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดที่ไม่ได้เกิดจากการสูบบุหรี่ ในสัดส่วนที่มากขึ้น

โดยเมื่อสูดฝุ่นพีเอ็ม 2.5 เข้าไปในร่างกาย จะกระตุ้นให้หลั่ง “อินเทอร์ลิวคิน 1 เบตา” ออกมา เป็นการตอบสนองทางเคมี จนนำไปสู่อาการอักเสบ จนร่างกายต้องกระตุ้นเซลล์ในปอดให้เข้ามาซ่อมแซม

แต่เซลล์ปอดนั้น ทุก ๆ 600,000 เซลล์ ในบุคคลอายุราว 50 ปี จะมีอย่างน้อยหนึ่งเซลล์ ที่สุ่มเสี่ยงต่อการกลายพันธุ์เป็นเซลล์มะเร็งได้ ซึ่งปกติแล้ว ร่างกายจะเกิดเซลล์ที่สุ่มเสี่ยงนี้ เมื่อมนุษย์อายุมากขึ้น แต่เซลล์จะยังดูแข็งแรงอยู่ จนกว่าจะถูกกระตุ้นให้กลายพันธุ์

การค้นพบที่สำคัญยิ่งกว่า คือ นักวิจัยสามารถยับยั้งการก่อมะเร็งในหนูที่ปล่อยให้เผชิญอยู่ในสภาวะมลพิษทางอากาศ ด้วยการใช้ตัวยาเพื่อยับยั้งการตอบสนองทางเคมีดังกล่าว ผลลัพธ์จึงถือเป็นการค้นพบครั้งใหญ่ 2 ครั้งซ้อน คือ เพิ่มความเข้าใจถึงผลกระทบของมลพิษทางอากาศ และหลักการเกิดมะเร็งในร่างกาย

ดร. เอมิเลีย ลิม หนึ่งในผู้วิจัย ซึ่งประจำอยู่ที่คริกและยูซีแอล ระบุว่า โดยปกติแล้ว บุคคลที่ไม่เคยสูบบุหรี่เลย แต่กลับเป็นโรคมะเร็งปอด มักจะไม่ทราบถึงสาเหตุ

“ดังนั้น การให้เบาะแสพวกเขาถึงสาเหตุการเกิดมะเร็ง จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก” และ “ยิ่งสำคัญมากขึ้น เมื่อประชากร 99% ในโลก ล้วนอาศัยอยู่ในสถานที่ที่ระดับมลพิษทางอากาศ สูงเกิดกว่าข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก”

คิดเรื่องมะเร็งเสียใหม่

ผลลัพธ์ของการทดลองนี้ ยังแสดงให้เห็นว่า การกลายพันธุ์ในเซลล์เพียงอย่างเดียว ไม่ใช่ปัจจัยนำไปสู่การเกิดมะเร็งเสมอไป แต่อาจมีปัจจัยอื่นเสริมด้วย

ศาสตราจารย์ สแวนตัน ระบุว่า การค้นพบที่น่าตื่นเต้นที่สุดในห้องทดลอง คือ “แนวคิดการเกิดเนื้องอกที่ต้องหันกลับมาทบทวนเสียใหม่” และนี่อาจนำไปสู่ “ยุคใหม่” ของการป้องกันมะเร็งในระดับโมเลกุล อาทิ แนวคิดที่ว่าถ้าคุณอยู่ในสถานที่ที่มีมลพิษทางอากาศสูง คุณอาจทานยาต้านมะเร็งได้ เพื่อลดความเสี่ยง

ศาสตราจารย์ สแวนตัน บอกกับบีบีซีว่า เราอาจต้องพิจารณาถึงหลักการที่ว่า การสูบบุหรี่ก่อให้เกิดมะเร็ง ด้วยซ้ำ และอันที่จริง แนวคิดที่ว่า ดีเอ็นเอกลายพันธุ์นั้นไม่เพียงพอที่จะก่อให้เกิดโรคมะเร็ง เพราะต้องมีปัจจัยอื่นกระตุ้นให้เซลล์มะเร็งเติบโต มีการนำเสนอมาตั้งแต่ปี 1947 แล้ว โดย ไอแซค เบเรนบลูม


วิทยาศาสตร์ อาศัยการทำงานอย่างหนักหลายปี และกำลังเปลี่ยนแนวคิดว่ามะเร็งเกิดขึ้นได้อย่างไร"

อย่างไรก็ดี มิเชลล์ มิตเชลล์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยมะเร็งแห่งสหราชอาณาจักร ย้ำว่า ปัจจุบัน “บุหรี่ยังเป็นสาเหตุหลักของการเกิดมะเร็งปอด” แต่ “วิทยาศาสตร์ อาศัยการทำงานอย่างหนักหลายปี และกำลังเปลี่ยนแนวคิดว่ามะเร็งเกิดขึ้นได้อย่างไร และตอนนี้ เรามีความเข้าใจถึงสิ่งกระตุ้นให้เกิดมะเร็งได้มากขึ้นแล้ว”

แล้วมะเร็งปอดพบเห็นได้มากแค่ไหน สมาคมอเมริกันแคนเซอร์ ระบุว่า มะเร็งปอดทั้งแบบชนิดเซลล์เล็ก และชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก เป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดอันดับ 2 ในสหรัฐฯ ขณะที่ในผู้ชายนั้น มะเร็งที่พบมากที่สุด คือ มะเร็งต่อมลูกหมาก ส่วนผู้หญิงนั้น จะเป็นมะเร็งเต้านม

ทางสมาคมประเมินว่า ปี 2022 พบผู้ป่วยมะเร็งปอดมากขึ้น 236,740 คน และเสียชีวิต 130,180 คน โดยผู้ป่วยมะเร็งปอดส่วนใหญ่ เป็นผู้มีอายุ 65 ปีขึ้นไป แต่ก็มีโอกาส แม้จะน้อยมาก ๆ ที่ประชาชนอายุ ชต่ำกว่า 45 ปี จะเป็นโรคมะเร็งปอด โดยอายุเฉลี่ยของผู้ป่วยมะเร็งปอดอยู่ที่ 70 ปี

มะเร็งปอดยังคิดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง เกือบ 25% ของผู้เสียชีวิตจากมะเร็งทั้งหมด

สำหรับประเทศไทยนั้น นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า มะเร็งปอดเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดทั่วโลก สำหรับประเทศไทยโรคมะเร็งปอดถือเป็น 1 ใน 5 ของมะเร็งที่พบบ่อย ซึ่งพบมากเป็นอันดับ 2 ในเพศชาย และอันดับ 5 ในเพศหญิง แต่ละปีจะมีผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 17,222 ราย เป็นเพศชาย 10,766 ราย และเพศหญิง 6,456 ราย ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 14,586 ราย หรือคิดเป็น 40 รายต่อวัน

ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของโรคมะเร็งปอดคือการสูบบุหรี่หรือการได้รับควันบุหรี่มือสองและการสัมผัสสารก่อมะเร็ง อาทิ ก๊าซเรดอน แร่ใยหิน รังสี ควันธูป ควันจากท่อไอเสีย และมลภาวะทางอากาศ โดยเฉพาะฝุ่นพีเอ็ม 2.5