Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล
8h
[ ปิยบุตร ตอบ 10 ประเด็น ข้อซักถามและความเข้าใจผิดของสมาชิกรัฐสภา ที่มีต่อร่าง “ปลดล็อกท้องถิ่น” ]
.
***1.ไม่ได้เสนอยกเลิกกำนันผู้ใหญ่บ้าน ***
.
ขอให้อ่านทุกตัวอักษรในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญปลดล็อกท้องถิ่น ไม่มีจุดไหนเลยที่ระบุว่าจะให้เลิกกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน
.
และต้องขอสอนหนังสือสังฆราชสักเล็กน้อย เพราะกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน เป็นกลไกที่อยู่ในการปกครองส่วนท้องที่ และใน พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ราชการส่วนภูมิภาคประกอบด้วยจังหวัดและอำเภอเท่านั้น การยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค ไม่มีอะไรที่เกี่ยวกับการยกเลิกกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านเลย
.
ในทางกลับกันหากมีการกระจายอำนาจได้อย่างแท้จริง แล้ว กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน อาจจะมีสถานะที่ดีกว่าเดิมเสียด้วยซ้ำ ค่าตอบแทนอาจจะดีกว่าเดิม และอาจจะมีความสุขมากกว่าก็ได้ หากต่อไปได้ทำงานกับนายกท้องถิ่น เพราะได้ทำงานตามวิสัยทัศน์การพัฒนาที่มาจากคนท้องถิ่นจริงๆ ไม่ใช่เป็นเครื่องมือทำงานให้ราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของคนท้องถิ่น
.
***2.การยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค ให้ประชาชนเป็นคนตัดสิน ***
.
ร่างฯ นี้ไม่ได้ส่งผลให้มีการเลิกราชการส่วนภูมิภาคโดยทันที เพียงแต่เสนอว่าในอนาคต ให้คณะรัฐมนตรีต้องมีแผนสำหรับกรณีที่มีความจำเป็นต้องยุบโอนขึ้นมาจริงๆ เมื่อมีการกระจายอำนาจเกิดขึ้นแล้ว
.
นอกจากนี้ ผลสุดท้ายจะเกิดการยกเลิกหรือไม่ เป็นการตัดสินใจของประชาชนผ่านการออกเสียงประชามติ เพราะอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน ไม่มีใครคนใดคนหนึ่งเป็นคนบอกได้ทั้งนั้น แต่ประชาชนจะเป็นคนบอกเอง ว่าจะให้มีราชการส่วนภูมิภาคต่อไปหรือไม่
.
***3.ไม่กระทบความเป็นรัฐเดี่ยว จะมีหรือไม่มีส่วนภูมิภาคก็เป็นรัฐเดี่ยวอยู่ดี ***
.
ความเป็นรัฐเดียวหรือสหพันธรัฐ ไม่ได้ยึดโยงกับการมีหรือไม่มี ราชการส่วนภูมิภาค มีประเทศมากมายบนโลกนี้เต็มไปหมด ที่เป็นรัฐเดี่ยว โดยมีการปกครองส่วนภูมิภาค และโดยไม่มีการปกครองส่วนภูมิภาค ซึ่งในร่างฯ นี้ยังล็อกเอาไว้แล้วด้วย ว่าการกระจายอำนาจจะต้องไม่กระทบกับรูปแบบของรัฐ
.
***4.จัดการอำนาจที่ซ้ำซ้อนกันระหว่างส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค กับส่วนท้องถิ่น ***
.
จากสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มกระจายอำนาจอย่างเป็นระบบตามรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ทำให้เกิด พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ ปี 2542 ขึ้นมา โดยตั้งใจให้เป็นกฎหมายกลาง ที่เมื่อมีข้อกฎหมายที่ขัดหรือแย้งกัน เป็นอำนาจซ้ำซ้อนของส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ให้ยึดถือว่าเป็นอำนาจของท้องถิ่น
.
แต่ในทางปฏิบัติ พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ กลับไม่ใช่กฎหมายกลาง แนวทางการตีความของกฤษฎีกากลับตีความให้อำนาจแก่ราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาคยังคงมีอยู่
.
จึงต้องมีการใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญในลักษณะนี้ว่ารัฐสภาต้องจัดการร่างกฎหมายเพื่อให้อำนาจแก่ท้องถิ่น ยกเลิกอำนาจที่ซ้ำซ้อนกันของส่วนกลางกับส่วนภูมิภาคให้แล้วเสร็จ หรือหากไม่แล้วเสร็จ ก็ต้องถือให้เป็นอำนาจของท้องถิ่นเสีย
.
***5.ไม่ใช่การทำเอากระแส ทำมานานแล้วตั้งแต่ 1 เม.ย. 65 แต่สภาเพิ่งมาบรรจุวาระ ***
.
เราเริ่มรณรงค์ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 ปิดโครงการตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2565 แต่สภาเพิ่งทำการบรรจุเข้าวาระการประชุม จนเกิดการอภิปรายและนำเสนอในวันนี้ขึ้นมา คนที่มีอำนาจในการบรรจุวาระคือสภา ไม่ใช่ตน
.
***6.การเกิดขึ้นองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษเป็นอำนาจของสภา ไม่ใช่ใครนึกอยากตั้งก็ทำได้เลย ***
.
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษใหม่ๆ จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการเสนอเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เพราะฉะนั้นก็จะถูกตัดสินโดยสภาเป็นผู้พิจารณา ไม่ใช่นึกอยากตั้งแล้วตั้งได้เลย
.
***7.สภาพลเมืองท้องถิ่นไม่อาจถูกครอบงำโดยฝ่ายการเมืองท้องถิ่นได้ ***
.
รูปแบบของสภาพลเมือง จะเปิดให้พลเมืองในท้องถิ่นทุกคนสามารถมาขึ้นทะเบียน เพื่อหมุนเวียนกันเป็นสมาชิกคนละปี ดังนั้น ฝ่ายการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะ ไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงเพื่อการยึดสภาพลเมืองท้องถิ่นได้เลย
.
***8.การออกเสียงประชามติคือการจัดการความแตกต่างทางความคิดที่ดีที่สุด ***
.
ประเด็นที่มีความเห็นแตกต่างกันในสังคมยิ่งเป็นเรื่องที่ต้องไปทำประชามติ ไม่ใช่เรื่องที่รัฐบาลหรือสภาตัดสินใจโดยลำพังได้ เป็นเรื่องที่ต้องถามประชาชนทั้งประเทศ และสังคมไทยเติบโตมาจนมีวุฒิภาวะแล้ว พูดคุยตัดสินกันด้วยกลไกที่เรามีอยู่ได้ เป็นกลไกประชาธิปไตย
.
***9.เราคิดว่าเราร่างมาดีแล้ว แต่ถ้าท่านคิดว่ายังไม่ดีพอ ก็ขอให้ไปแก้ในวาระที่ 2 และ 3 ***
.
มีคนติติงมาว่าเราไม่ร่างมาให้ดีก่อน แล้วจะมาบีบให้ผ่านวาระหนึ่งไปก่อนแล้วไปแก้ทีหลังได้อย่างไร
.
ก่อนร่างขึ้นมา เราได้มีการศึกษา สอบถามความคิดเห็นจากทั้งผู้รู้และผู้ปฏิบัติงาน รวมถึงศึกษาจากงานวิจัยต่างๆ มาแล้ว เราคิดว่าร่างมาดีอย่างสมบูรณ์แล้ว แต่ถ้าเมื่อสภาเห็นว่ายังไม่ดีพอ ก็ควรไปถกเถียงปรับแก้กันในชั้นต่อไป เป็นกลไกตามปกติในระบอบประชาธิปไตยอยู่แล้ว
.
***10.การไม่มีผู้ว่าและราชการส่วนภูมิภาค จะไม่กระทบกับความเหลื่อมล้ำทางรายได้ระหว่าง อปท. ***
.
เงินอุดหนุนจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการขจัดความเหลื่อมล้ำระหว่างพื้นที่ ระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละประเภทที่แตกต่างกันในแต่ละระดับ ระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับเดียวกันที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ หมายความว่าท้องถิ่นไหนเก็บภาษีได้น้อยก็จะได้รับเงินอุดหนุนเพิ่มเติมมาทดแทนกัน
.
#ปลดล็อกท้องถิ่น #ปิยบุตร