วันอังคาร, ธันวาคม 27, 2565

เหตุใด ทร. ไม่ตั้งผู้ตรวจสอบภายนอกร่วมการสอบสวนเหตุเรือหลวงสุโขทัยอับปาง



เหตุใด ทร. ไม่ตั้งผู้ตรวจสอบภายนอกร่วมการสอบสวนเหตุเรือหลวงสุโขทัยอับปาง

วัชชิรานนท์ ทองเทพ
Role,ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
เมื่อ 9 ชั่วโมงที่แล้ว

กองทัพเรือเผยไม่มีระเบียบที่เปิดช่องให้ตั้งคณะผู้ตรวจสอบภายนอกร่วมการสอบสวนเหตุเรือหลวงสุโขทัยอับปางในคืนวันที่ 18 ธ.ค. ที่ผ่านมา แต่ยืนยันว่าจะสอบสวน "อย่างตรงไปตรงมา"

เข้าสู่สัปดาห์ที่ 2 หลังจากโศกนาฎกรรมเรือหลวงสุโขทัยที่มีกำลังพลกว่า 105 นายถูกคลื่นซัดอับปางลงที่ทะเลนอกจากฝั่ง อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ จนถึงขณะนี้ ยังมีผู้สูญหาย 11 ราย และพบผู้เสียชีวิตแล้ว 18 นาย ส่วนกำลังพลที่เหลือปลอดภัย

การวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมถึงสาเหตุของโศกนาฏกรรมดังกล่าว พร้อมเรียกร้องความรับผิดชอบจากกองทัพเรือ ทั้งต่อชีวิตผู้เสียชีวิตและครอบครัว รวมถึงคำถามเกี่ยวกับปฏิบัติการกู้ภัยกระทำเป็นไปอย่างทันสถานการณ์หรือไม่

ในวันนี้ (26 ธ.ค.) กองทัพเรือ โดย พล.ร.อ. เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีเรือหลวงสุโขทัยอับปางแล้ว ประกอบด้วย คณะอนุกรรมการจำนวน 2 คณะ

คณะแรก คือ คณะทำงานสอบสวนข้อเท็จจริงเพื่อหาสาเหตุที่ทำให้เรือหลวงสุโขทัยอับปาง มีหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อหาสาเหตุ ทั้งด้านความพร้อมของเรือและการปฏิบัติงานของเรือ

"ตั้งแต่การออกเรือมาจากท่าเรือสัตหีบ พร้อมด้านกำลังพล องค์บุคคลหรือวัตถุต่าง ๆ ว่ามีความพร้อมหรือไม่ ขณะเดียวกัน ยังรวมถึงเหตุที่ประสบในทะเล นอกจากเหตุคลื่นลมแรงแล้ว มีสาเหตุอื่นอีกหรือไม่ ถึงเป็นเหตุให้เรื่องอับปางลง พูดง่าย ๆ คือ เป็นการสอบสวนหาสาเหตุการอับปาง" พล.ร.อ. ปกครอง มนธาตุผลิต โฆษกกองทัพเรือ อธิบายให้บีบีซีไทย


กองทัพเรือนำร่างผู้เสียชีวิตที่เก็บกู้ได้ ส่งพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล

คณะที่สอง คือ คณะทำงานสอบสวนข้อเท็จจริงในการดำเนินการภายหลังจากเรือหลวงสุโขทัยอับปาง มีหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อตรวจสอบการดำเนินการในขั้นตอนของการสละเรือใหญ่ การค้นหาและช่วยเหลือกำลังพลภายหลังประสบเหตุ ว่าเป็นไปตามหลักการและแนวทางการปฏิบัติที่กำหนดไว้หรือไม่

"หน้าที่สำหรับคณะที่สองยังรวมไปถึง การวางแผนในการค้นหาและช่วยเหลือ มีการจัดเตรียมกำลังเข้าไปช่วยเพียงพอหรือไม่ แผนในการลาดตระเวนทำได้ครอบคลุมพื้นที่หรือไม่อย่างไร" พล.ร.อ. ปกครอง ตอบจากที่ผู้สื่อข่าวสอบถามว่า การช่วยเหลือที่ผ่านมาเป็นระยะเวลากว่าสัปดาห์ทำได้ทันท่วงทีหรือไม่

ทร. สามารถแต่งตั้งคณะผู้ตรวจสอบภายนอกได้หรือไม่

ภายหลังจากเกิดเหตุโศกนาฏกรรมนี้ขึ้นซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตเป็นกำลังพลแล้ว 18 นาย และยังสูญหายอีก 11 นาย ทำให้สังคมและผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงเสนอแนะว่า ควรจะมีคณะผู้ตรวจสอบภายนอก หรือ คณะกรรมการกลางเข้าไปมีส่วนร่วมในการสังเกตการณ์หรือร่วมตรวจสอบกระบวนการไต่สวนครั้งนี้หรือไม่



"ต้องเรียนว่า จริง ๆ แล้ว เรื่องนี้ในระเบียบ กระทำไม่ได้นะครับ ในการตั้งคณะกรรมการต่าง ๆ เพื่อมาเป็นคณะกรรมการของหน่วยราชการนั้น ๆ หรือผู้ดำเนินการ ส่วนเรื่องการตอบข้อซักถามหลังจากสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น คณะกรรมการต่างๆ ทางทหาร สามารถเรียกเข้าไปให้ชี้แจงเพิ่มเติม กรณีเช่นนี้ สามารถทำได้" โฆษกกองทัพเรืออธิบาย

"เบื้องต้นเท่าที่ผมได้ทราบมา น่าจะเป็นคณะกรรมการซึ่งแต่งตั้งโดยกองทัพเรือเท่านั้น" เขากล่าวย้ำ


เรือหลวงสุโขทัย เริ่มจมใต้ผิวน้ำเมื่อเวลา 23.30 น. ของคืนวันที่ 18 ธ.ค. และจมโดยสมบูรณ์ในเวลา 00.12 น.

มูลค่าความเสียหายเบื้องต้นเป็นเท่าไหร่

นอกจากการสูญเสียในส่วนของชีวิตแล้ว ยังมีทรัพย์สินต่าง ๆ อาวุธยุทโธปกรณ์ที่สูญหายไปในเหตุเรือหลวงสุโขทัยอับปางในครั้งนี้ โฆษกกองทัพเรือ เปิดเผยว่า กองทัพเรือได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นอีกหนึ่งคณะ ที่จะทำหน้าที่กู้ซากเรือหลวงสุโขทัยซึ่งอับปางลง และได้ดำเนินการไปแล้ว เช่น การส่งนักประดาน้ำลงไปสำรวจบริเวณจุดที่เรืออับปางโดยรอบ และนำข้อมูลการจมของเรือมาประกอบในการวางแผน

"เนื่องจากเรายังไม่ได้กู้ซากเรือขึ้นมา ทำให้เรายังไม่สามารถประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ครับ หากว่าสามารถกู้ซากเรือขึ้นมาได้ กองทัพเรือก็จำเป็นต้องประเมินความคุ้มค่าอีกครั้งว่า จะสามารถนำเรือดังกล่าวกลับมาใช้งานได้อีกครั้งหรือไม่"


จุดที่คาดว่าเรือหลวงสุโขทัยอับปาง

โฆษกกองทัพเรือยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะกู้ซากเรือหลวงลำดังกล่าวที่มีความยาวเกือบ 100 เมตร ขึ้นมาได้ ต้องใช้ทักษะพอสมควร ซึ่งกองทัพเรือจะดำเนินการเองคงไม่ได้ คงต้องจ้างวานบริษัทเอกชนทั้งในไทยและต่างประเทศมาด้วยกันดำเนินการเรื่องนี้ด้วย

"ยังประเมิน(โครงการกู้ซากเรือ)ไม่ได้ อย่างที่นำเรียนว่า ต้องเอาข้อมูลมาประกอบกับหลักฐานแล้วยื่นให้ทางบริษัทเอกชนมาดูและเข้าประเมินราคาส่งมาให้เรา" พล.ร.อ. ปกครอง กล่าวย้ำ

ส่วนมูลค่าของเรือหลวงสุโขทัยที่อับปางลงไปนั้น โฆษกกองทัพเรืออธิบายว่า เรือหลวงลำนี้กองทัพเรือจัดซื้อมาเมื่อ 36 ปีที่แล้ว ราคาประมาณ 2,000 ล้านบาท แต่ในขณะนั้นมีเรือฝาแฝดอีกลำหนึ่ง ซึ่งราคาทั้งสองลำรวมกับอาวุธ รวมเป็นมูลค่าประมาณ 4,000 ล้านบาท

"ค่อนข้างมีคุณภาพ และคุณค่ามหาศาลครับ"


เรือหลวงสุโขทัย เข้าประจำการตั้งแต่ปี 2527

"เราจะสอบสวนอย่างตรงไปตรงมา และนำข้อมูลเหล่านี้มาแจ้งให้กับประชาชนทั่วไปได้รับทราบ" โฆษกกองทัพเรือระบุ โดยขอให้สังคมเข้าใจและให้กองทัพเรือได้ใช้เวลาสอบสวนข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นก่อน