iLaw
18h ·
สำหรับการต่อสู้คดีมาตรา 112 ที่พิจารณาพิพากษาคดีโดยศาลที่ทำงานภายใต้พระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ ผู้ถูกกล่าวหาย่อมรู้สึกไม่มั่นคงในสิทธิของตัวเองที่จะต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ จากการติดตามสังเกตการณ์พบว่าผู้ถูกกล่าวหาได้รับสิทธิตามที่กฎหมายระบุเอาไว้ ‘บ้าง’ แต่สิทธิหลายประการก็อยู่ในลักษณะ ‘ได้บ้างไม่ได้บ้าง’ ขึ้นอยู่กับลักษณะของคดีและบรรยากาศทางการเมืองแต่ละช่วงเวลา
ชวนศึกษาและทำความเข้าใจ ปรากฏการณ์การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมในคดีมาตรา 112 ได้ที่นี่ https://freedom.ilaw.or.th/blog/Fairtrial112
.
การวินิจฉัยคดีโดยผู้พิพากษาที่เป็นกลางและเป็นอิสระ เป็นปัจจัยสำคัญของสิทธิที่จะเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรม (Right to Fair Trial) หากปราศจากความเป็นอิสระของผู้พิพากษาแล้ว การได้รับสิทธิอื่นๆ ก็ย่อมไม่มีความหมายอะไร
เมื่อพลิกดูรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 ซึ่งกล่าวถึงหลักการว่า อํานาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุข ทรงใช้อํานาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล และในมาตรา 191 มีหลักการว่า ก่อนเข้ารับหน้าที่ ผู้พิพากษาและตุลาการต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคําดังต่อไปนี้
“ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์...”
จึงกลายเป็นที่มาของความเข้าใจที่ว่า ‘ศาลพิจารณาและพิพากษาคดีภายใต้พระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์’
เมื่อคดีมาตรา 112 เข้าสู่มือของศาล หลักการข้างต้นจึงเป็นอุปสรรคที่ทำให้ฝ่ายจำเลยเกิดความไม่ไว้วางใจ ว่า ศาลจะพิจารณาคดีอย่างเป็นกลางและจำเลยจะได้รับความยุติธรรมหรือไม่
ยิ่งพฤติการณ์ที่ศาลแสดงออกระหว่างการพิจารณาหลายคดี ก็ยิ่งส่งผลให้เกิดความไม่ไว้วางใจ เช่น คดีของธันย์ฐวุฒิ ระหว่างสืบพยานอยู่นั้น ผู้พิพากษาตะคอกใส่พยานว่า “คดีนี้ รู้ไหมว่าหมิ่นใคร?” พร้อมกับชี้ไปที่พระบรมฉายาลักษณ์ซึ่งติดอยู่เหนือบัลลังก์ศาล หรือการที่ผู้พิพากษาเดินขึ้นบัลลังก์แล้วหันหลังไปโค้งคำนับให้พระบรมฉายาลักษณ์ก่อนเริ่มการพิจารณาคดี ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่พบหลายครั้งในการตัดสินคดีมาตรา 112 ทั้งที่ไม่ได้อยู่ในข้อบังคับใด และไม่ได้เกิดขึ้นในการพิจารณาคดีทุกครั้งด้วย
นอกจากนี้ จากการติดตามสังเกตการณ์การอ่านคำพิพากษาคดีมาตรา 112 พบว่าหลายๆ ครั้งผู้พิพากาษามักจะเริ่มอ่านคำพิพากษาตั้งแต่บรรทัดแรกที่พิมพ์ไว้บนแบบฟอร์มเอกสารของศาล คือคำว่า ‘ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์’ ก่อนจะเริ่มอ่านรายละเอียดคำพิพากษาและผลสรุป
นอกจากพฤติกรรมที่สังเกตเห็นได้ ก็อาจสังเกตุได้จากผลคำพิพากษาประกอบกับแนวทางการต่อสู้คดีของจำเลยหลายๆ คดีประกอบกัน
สำหรับจำเลยที่ถูกฟ้องด้วยมาตรา 112 ถ้าหากตัดสินใจยอมรับว่าเป็นคนกล่าวหรือเขียนข้อความตามที่ถูกฟ้องจริง แต่ขอต่อสู้คดีว่า ข้อความเหล่านั้นไม่เป็นความผิด ไม่ได้มีเจตนาดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาท ข้อความไม่เข้าองค์ประกอบของมาตรา 112 หรือต่อสู้ว่า ‘สิ่งที่ทำไม่ผิด’ แนวทางการต่อสู้คดีแบบนี้แทบไม่มีทางชนะ จำเลยที่รู้ว่าตัวเองเกี่ยวข้องกับการกระทำที่ถูกฟ้อง แม้จะเชื่อว่าเนื้อหาที่แสดงออกนั้นไม่ได้เป็นความผิด แต่ส่วนหนึ่งก็เลือกรับสารภาพในชั้นศาล โดยไม่ต้องการต่อสู้คดีให้เวลายืดยาวออกไป
สำหรับจำเลยที่ต่อสู้คดีว่า ไม่ได้เป็นคนกล่าวหรือเขียนข้อความตามที่ถูกฟ้องทั้งสิ้น หรือต่อสู้ว่า ‘ไม่ได้ทำ’ หากโจทก์ไม่มีหลักฐานตามสมควรว่าจำเลยเป็นผู้กระทำ ศาลก็จะพิพากษายกฟ้องโดยยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย
อย่างไรก็ดี ในแต่ละคดีก็มีบริบทที่แตกต่างกันไป การที่ศาลจะพิพากษายกฟ้องหรือลงโทษอาจขึ้นอยู่กับความหนักเบาของพยานหลักฐานและปัจจัยอื่นประกอบกันด้วย
นอกจากนี้ในระบบการทำงานของศาล ยังมีระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ฉบับวันที่ 22 มกราคม 2562 ซึ่งเรียกกันย่อๆ ว่า ‘ระเบียบการรายงานคดีสำคัญฯ’ https://ilaw.or.th/node/5413 ได้มีการกำหนดให้คดีมาตรา 112 และคดีในหมวดความมั่นคงทั้งหมดจัดเป็น ‘คดีสำคัญ’ ที่ประธานศาลอุทธรณ์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น อธิบดีผู้พิพากษาศาลต่างๆ รวมทั้งอธิบดีผู้พิพากษาภาค มีหน้าที่รายงานต่อประธานศาลฎีกาทันทีที่รับฟ้อง และยังกำหนดให้ผู้พิพากษาเจ้าของคดี มีหน้าที่ส่งสำนวนและร่างคำพิพากษาให้อธิบดีผู้พิพากษาภาคตรวจทานก่อน ‘เพื่อรักษาแนวบรรทัดฐานของคำพิพากษา’
เช่นนี้แล้วก็หมายความว่า ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีอยู่บนบัลลังก์ไม่ได้มีอำนาจและอิสระเต็มร้อยที่จะตัดสินคดีไปทางใดทางหนึ่งตามที่ได้รับฟังพยานหลักฐาน แต่ยังต้องผูกพันกับแนวบรรทัดฐานของผู้พิพากษาระดับสูงอีกด้วย
.
สถิติผลจากการต่อสู้คดีมาตรา 112 ในช่วงระหว่างปี 2552-2557
จากทั้งหมด 37 คดี จำเลยตัดสินใจต่อสู้ 18 คดี
ต่อสู้คดีว่า ‘สิ่งที่ทำไม่ผิด’ 8 คดี แพ้ 7 คดี คดีเดียวที่ศาลยกฟ้องคือคดีของสนธิ ลิ้มทองกุล
ต่อสู้คดีว่า ‘ไม่ได้ทำ’ 8 คดี แพ้ 3 คดี ชนะ 5 คดี
สถิติผลจากการต่อสู้คดีมาตรา 112 ในช่วงระหว่าง ปี 2557- มีนาคม 2564
จากบันทึกข้อมูล 77 คดี มีคดีที่ทราบผลคำพิพากษาแล้ว 60 คดี
ต่อสู้ว่า ‘สิ่งที่ทำไม่ผิด’ 10 คดี ชนะ 6 คดี
ต่อสู้ว่า ‘ไม่ได้ทำ’ 8 คดี ชนะ 4 คดี
ต่อสู้แนวทางอื่นๆ เช่น เป็นผู้ป่วยทางจิต 8 คดี
เป็นคดีที่ยังไม่ถูกฟ้อง 11 คดี และไม่ทราบข้อมูล 6 คดี
ระหว่างช่วงปี 2561-2563 ที่มาตรา 112 ไม่ถูกบังคับใช้ มีปรากฏการณ์แปลกประหลาดมากมาย https://freedom.ilaw.or.th/changein112 เช่น ไม่ว่าจำเลยจะต่อสู้คดีอย่างไรหรือให้การรับสารภาพ ศาลก็จะยกฟ้องในข้อหามาตรา 112