วันอาทิตย์, กรกฎาคม 11, 2564

การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์จะเกิดขึ้นได้อย่างไร? หากไม่มีพลังจาก 4 ฝ่ายนี้ หากสิ่งที่ดำรงอยู่ไม่ยินยอม ขัดขวางไม่ให้เกิดการปฏิรูป เสียงเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงก็จะเดินหน้าเป็น “ปฏิวัติ” แทน


Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล
Yesterday at 7:55 AM ·

[ การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์จะเกิดขึ้นได้อย่างไร? ]
.
“ปฏิรูป” หรือที่ในภาษาอังกฤษเรียกว่า “Reform” คือ การเปลี่ยนแปลงรูปแบบลักษณะของสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้ดีขึ้นกว่าเดิม โดยที่สิ่งใดสิ่งนั้นยังคงดำรงอยู่ต่อไป ไม่ได้ถูกยกเลิกหรือล้มล้าง การปฏิรูปจึงไม่ใช่การทำลายสิ่งที่ดำรงอยู่ แล้วก่อตั้งใหม่จากสภาพว่างเปล่า แต่การปฏิรูปเริ่มต้นจากสิ่งที่ดำรงอยู่แล้ว ยืนยันว่าสิ่งนั้นยังคงอยู่ และปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสิ่งนั้นให้แตกต่างไปจากเดิม
.
เมื่อการปฏิรูปไม่ได้ทำลายสิ่งที่ดำรงอยู่ลงไป การปฏิรูปจะเกิดขึ้นได้จึงต้องเกิดจากความเห็นพ้องต้องกันจากสิ่งที่ดำรงอยู่ด้วยว่าพร้อมยินยอมให้ปฏิรูปหรือไม่ หากสิ่งที่ดำรงอยู่ยินยอม การปฏิรูปก็จะบังเกิดขึ้น ตรงกันข้าม หากสิ่งที่ดำรงอยู่ไม่ยินยอม ขัดขวางไม่ให้เกิดการปฏิรูป พลังของฝ่ายที่ต้องการเปลี่ยนแปลงรุกคืบ กระแสสูง เสียงเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงก็จะเดินหน้า จน “ปฏิรูป” ไม่เพียงพออีกแล้ว สายเกินการณ์แล้ว “ปฏิรูป” ก็จะเปลี่ยนเป็น “ปฏิวัติ”
.
ดังนั้น “ปฏิรูป” จะเกิดขึ้นหรือไม่? “ปฏิรูป” จะลื่นไถลกลายเป็น “ปฏิวัติ” หรือไม่? การตัดสินใจของสิ่งที่ดำรงอยู่ คือ ปัจจัยชี้ขาด
.
ความยินยอมพร้อมใจให้ตนเองถูกปฏิรูปอาจเกิดจากความตั้งใจแน่วแน่ อาจเกิดจากการถูกบังคับกดดันจนหลีกหนีการปฏิรูปไม่พ้น อาจเกิดจากเล็งเห็นว่าการยินยอมให้ปฏิรูปเป็นทางรอดเดียวที่เหลืออยู่ ไม่ว่าเกิดจากเหตุใดก็ตาม แต่ในท้ายที่สุดจำเป็นต้องมีความยินยอมจากสิ่งที่จะถูกปฏิรูป
.
เป้าหมายของการปฏิรูป คือ การเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า เหมาะสมกว่า ทันยุคมันสมัยกว่า เมื่อปฏิรูปสิ่งใดก็เพื่อให้สิ่งนั้นดีขึ้น
.
ดังนั้น การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ จึงมีวัตถุประสงค์ให้สถาบันกษัตริย์ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงภายใต้ยุคสมัยใหม่ พร้อมเผชิญกับความท้าทายใหม่
.
การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์จะเกิดขึ้นได้ จำเป็นต้องอาศัยพลังจากทั้ง 4 ฝ่าย ได้แก่
.
ฝ่ายแรก ประชาชน
.
ทุกสถาบันที่ใช้อำนาจรัฐดำรงอยู่ได้ด้วยความยินยอมของประชาชน ประชาชนยินยอมให้รัฐใช้อำนาจบังคับกดขี่ตนเองก็ด้วยเหตุผลความจำเป็น แต่เมื่อไรก็ตามที่ประชาชนไม่เห็นถึงความจำเป็น ไม่เชื่อในอำนาจนั้น ไม่ยินยอมให้อำนาจนั้นบังคับตนต่อไป อำนาจนั้นก็ไม่สามารถทำงานได้
.
สถาบันกษัตริย์เป็นสถาบันที่มีและใช้อำนาจรัฐ ดังนั้น สถาบันกษัตริย์จะดำรงอยู่ในสถานะใด มีพระราชอำนาจมาก มีพระราชอำนาจน้อย กฎเกณฑ์เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์จะเป็นแบบใด ทั้งหมดนี้ ประชาชนมีส่วนในการกำหนด อยู่ที่ว่าประชาชนจะยอมให้สถาบันกษัตริย์มีสถานะ มีอำนาจ มีบทบาท มีงบประมาณ แบบที่เป็นอยู่ทุกวันนี้? หรือประชาชนไม่ยอมอีกต่อไป?
.
ปัญหาที่ต้องพิจารณาเบื้องต้นมี 2 ประการ
.
ประการแรก ประชาชนฝักฝ่ายที่ไม่เห็นถึงความจำเป็นต้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์อย่างปัจจุบันทันทียังคงมีจำนวนมาก มีทั้งพวกที่ไม่เห็นความจำเป็นเลย มีทั้งพวกที่เข้าใจถึงความจำเป็นในการปฏิรูปแต่เชื่อว่ายังไม่ถึงเวลา มีทั้งพวกที่เห็นด้วยแต่ก็ไม่กล้าที่จะสนับสนุนอย่างเปิดเผย ทั้งหมดนี้ จะทำอย่างไรให้พวกเขาเหล่านี้เห็นพ้องต้องกันว่า ณ เวลานี้ จำเป็นต้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และพร้อมร่วมรณรงค์อย่างเปิดเผย
.
ประการที่สอง ประชาชนที่เห็นถึงความจำเป็นต้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ต้องมีข้อเสนอที่เป็นรูปธรรม เสมือน “พิมพ์เขียว” เพื่อใช้รณรงค์ทั่วประเทศ เพื่อโน้มน้าวให้ฝ่ายที่ยังไม่เห็นด้วยให้มาเห็นด้วย เพื่อเป็นวัตถุอยู่ในสถานะพร้อมใช้งานทันทีหากสถานการณ์สุกงอมเพียงพอ
.
ฝ่ายที่สอง สถาบันการเมืองผู้ใช้อำนาจรัฐ ได้แก่ รัฐสภา รัฐบาล และศาล
.
การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ต้องเข้าไปปรับปรุงบรรดากฎเกณฑ์และธรรมเนียมปฏิบัติทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ให้เหมาะสม ทันสมัย และสอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยที่ยืนยันเรื่องอำนาจสูงสุดเป็นของคนทุกคนในชื่อ “ประชาชน” การแบ่งแยกอำนาจให้ได้ดุลยภาพ และองค์กรใดใช้อำนาจ องค์กรนั้นต้องถูกตรวจสอบและรับผิดชอบ
.
การแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์เหล่านี้จำเป็นต้องใช้อำนาจรัฐเข้าไปเปลี่ยนแปลง ต่อให้ประชาชนเห็นพ้องต้องกันในเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์มากเท่าไร ต่อให้ประชาชนเรียกร้องและมีข้อเสนอเป็นรูปธรรมในการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์อย่างไร หากบรรดาสถาบันการเมืองที่ใช้อำนาจรัฐไม่เอาด้วย การปฏิรูปก็ไม่มีทางเกิด
.
การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์จะเกิดได้อย่างไรเล่า หากรัฐสภาไม่ยอมแก้ไขรัฐธรรมนูญ หมวด 1 หมวด 2 ไม่ยอมแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ไม่ยอมแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ไม่ยอมแก้ไขกฎหมายส่วนราชการในพระองค์ ไม่ยอมแก้ไขพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก ไม่ยอมตัดลดงบประมาณของสถาบันกษัตริย์
.
การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์จะเกิดได้อย่างไรเล่า หากรัฐบาลยังคงมีแนวทางปฏิบัติกับสถาบันกษัตริย์ในแบบเดิม แบบที่เป็นอยู่
.
การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์จะเกิดได้อย่างไรเล่า หากศาลทั้งหลายขัดขวาง ไม่ยอมให้การแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์มีผลบังคับใช้
.
หากสถาบันการเมืองเหล่านี้ไม่เดินหน้า นิ่งเฉย เฉื่อยชา บอกปัด อ้างเหตุในการไม่ปฏิรูปไปเรื่อยแล้วล่ะก็ ประชาชนก็ต้องกดดันทั้งในรูปแบบการรณรงค์ การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย หรือเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พร้อมปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เข้าไปในสภาให้มากที่สุด
.
ฝ่ายที่สาม กลุ่มก้อนชนชั้นนำจารีตประเพณีรายล้อมสถาบันกษัตริย์
.
สถาบันกษัตริย์ไม่ได้ดำรงอยู่อย่างตามลำพัง แต่มีองค์กรและกลุ่มคนรายล้อมที่คอยทำหน้าที่ค้ำจุนสนับสนุนอยู่ด้วย ไม่ว่าจะเป็น กองทัพ องคมนตรี กลุ่มคนที่ทำงานรับใช้ใกล้ชิด เป็นต้น
.
หากบรรดากลุ่มก้อนชนชั้นนำรายล้อมสถาบันกษัตริย์เห็นถึงความจำเป็นในการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์แล้ว ความคิดของพวกเขาย่อมส่งผลชี้นำไปยังสถาบันกษัตริย์ไม่มากก็น้อย และพวกเขาก็จะไม่เข้าขัดขวางการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
.
ฝ่ายที่สี่ สถาบันกษัตริย์
.
เมื่อสถาบันกษัตริย์เป็นสถาบันที่จะถูกปฏิรูป เมื่อปฏิรูปไม่ใช่ปฏิวัติ ไม่ใช่การทำลายสิ่งที่มีอยู่เพื่อสร้างสิ่งใหม่ ดังนั้น การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ จึงเริ่มจากการยืนยันว่าสถาบันกษัตริย์ยังคงดำรงอยู่ต่อไป และสถาบันกษัตริย์ที่ยังคงดำรงอยู่ต่อไปนั้น ต้องพร้อมยอมให้ตนถูกปฏิรูป
.
ณ วันนี้ เราไม่อาจทราบได้ว่า สถาบันกษัตริย์เล็งเห็นถึงความจำเป็นในการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์หรือไม่ สถาบันกษัตริย์ต้องการปฏิรูปตนเองหรือไม่ การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในความคิดของสถาบันกษัตริย์เป็นอย่างไร เหมือนหรือแตกต่างกับความคิดและเสียงเรียกร้องของประชาชน
.
สถาบันกษัตริย์ไทยเคยเผชิญหน้ากับความท้าทายมาโดยตลอด ครั้งนี้เป็นอีกครั้งหนึ่งที่สถาบันกษัตริย์กำลังเผชิญกับคลื่นลมแห่งความเปลี่ยนแปลง ประจันกับเสียงเรียกร้องแห่งยุคสมัย
.
ทั้งหมดสืบเนื่องมาจาก ยุคสมัยที่เปลี่ยนไป แต่ประเทศไทยกลับมีกฎเกณฑ์และธรรมเนียมปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์จำนวนมากที่ไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีกฎเกณฑ์และธรรมเนียมปฏิบัติจำนวนมากถูกเปลี่ยนแปลงไปนับตั้งแต่รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 จนหันเหออกจากหลักการประชาธิปไตยและมีแนวโน้มขยับเข้าใกล้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
.
หากสถาบันกษัตริย์มีวิสัยทัศน์ยาวไกล มองให้ไกลกว่ากษัตริย์องค์ใดองค์หนึ่ง มองให้ชัดว่าสถาบันกษัตริย์ประกอบไปด้วยหลายส่วน เล็งเห็นว่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่ว่าจะเปิดเผยหรือซ่อนรูปไม่อาจดำรงอยู่ได้ในยุคสมัยปัจจุบัน และมีเป้าหมายหลัก คือ ต้องรักษาสถาบันกษัตริย์เอาไว้ให้ดำรงอยู่ต่อไปในช่วงเวลาแห่งความท้าทาย เช่นนี้แล้ว สถาบันกษัตริย์ก็ย่อมเห็นว่า การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เป็นวิถีทางที่ต้องเกิดขึ้น หลีกหนีไม่พ้น
.
ความยินยอมพร้อมปฏิรูปของสถาบันกษัตริย์จะกลายเป็นปัจจัยชี้ขาดให้การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เกิดขึ้นได้อย่างราบรื่น ไม่เกิดความขัดแย้งกันระหว่างประชาชนกับสถาบันกษัตริย์ ไม่ต้องไปสู่สถานการณ์แตกหักที่ไม่มีใครคาดหมายได้ว่าจะจบลงเช่นไร

Alexis de Tocqueville เขียนเตือนสติไว้ใน “ประชาธิปไตยในอเมริกา” ตั้งแต่ปี 1835 ว่า “ไม่เคยเลยที่บรรดาประมุขแห่งรัฐจะคิดเตรียมการล่วงหน้ารอรับการปฏิวัติเช่นนั้น การปฏิวัติเกิดขึ้นเองแม้ไม่มีใครสนใจก็ตาม บรรดาชนชั้นที่สำคัญที่สุด มีสติปัญญามากที่สุด มีศีลธรรมสูงสุดของชาติ ก็ไม่เคยหาทางดึงเอาการปฏิวัตินี้เข้ามาแต่ประการใด เพื่อที่ตนจะได้เป็นผู้นำขบวนการนั้น...”
.
การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในประเทศไทยจำเป็นต้องเกิดขึ้น ไม่มีทางหลีกหนีพ้น ไม่เกิดวันนี้ ก็ต้องเกิดวันหน้า
.
แล้วเหตุใด ประชาชน รัฐสภา รัฐบาล ศาล กองทัพ ชนชั้นนำจารีตประเพณีรายล้อมสถาบันกษัตริย์ และสถาบันกษัตริย์ จึงไม่ร่วมกันปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ตั้งแต่วันนี้
.
ต้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ให้สอดคล้องกับประชาธิปไตย เพื่อยืนยันว่าประเทศไทยต้องเป็นประชาธิปไตย ไม่ใช่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไม่ใช่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ซ่อนรูป และเพื่อรักษาสถาบันกษัตริย์เอาไว้ให้ดำรงอยู่ได้ในยุคสมัยแห่งความท้าทาย
.
อย่านิ่งเฉยจนสถานการณ์เดินไปถึง “น้อยเกินไป ช้าเกินการณ์” จนไม่อาจปฏิรูปได้...
.
#ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ #สถาบันกษัตริย์ #ประชาธิปไตย #สมบูรณาญาสิทธิราชย์

https://www.facebook.com/PiyabutrOfficial/posts/3051523078464888


.....
.....

Somsak Jeamteerasakul
Yesterday at 2:15 AM ·

วชิราลงกรณ์ฟังเสียงประชาชนบ้างเปล่า? หรือมัวแต่แต่งตั้งพระโน่นพระนี่? เวลาตื่นเย็นๆค่ำๆนี่ มันไม่เหมาะจะตามงานเท่าไรนะผมว่า กว่าจะ "เล่งเจ็ง" นี่ก็ปาเข้าไปมืดสนิทแล้ว ประเทศไทยน่าสงสาร อยู่ในการบัญชาการของคนไม่ค่อยเอาไหน

("เล่งเจ็ง" คือไม่งัวเงีย Awaken แล้ว หรือจะว่า = ตาสว่างก็น่าจะได้)