วันอังคาร, มกราคม 07, 2568

“พอมีที่ดินที่มากเกินไปจึงเกิดการทำสนามกอล์ฟ” นักวิชาการพาดพิงกองทัพ เป็น ‘รัฐพันลึก’ ผู้ถือครองที่ดินมากที่สุดในไทย มากกว่า ‘เสี่ยเจริญ’ มากกว่า สนง. ‘ทรัพย์สินฯ’

เมื่อสองอาทิตย์กว่าๆ ที่ผ่านมา มีการเสวนาทางวิชาการเกี่ยวกับอำนาจทางเศรษฐกิจของกองทัพไทย ซึ่งพูดถึงสมรรถนะทางธุรกิจของกองทัพไว้อย่างน่าทึ่งยิ่งนัก ดัง สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี วิทยากรท่านหนึ่งระบุว่าเป็นรัฐพันลึก (Deep State) นั่นเลยเชียว

การประกอบกิจการเพื่อทำกำไรให้แก่กองทัพเองก็มีมากหลายแทบไม่น่าเชื่อ แต่เนื่องจากเป็นผู้ถือครองที่ดินมากที่สุดในประเทศไทย “พอมีที่ดินที่มากเกินไปจึงเกิดการทำสนามกอล์ฟ” แจ้งไว้ต่อกรรมาธิการสภาผู้แทนฯ ๕๕ แห่ง ไม่แจ้งอีก ๔ แห่ง

ธุรกิจอื่นๆ แบบติดพันก็มี “โรงแรม/ที่พัก มากกว่า ๑๘ แห่ง สถานที่ท่องเที่ยว/การจัดการท่องเที่ยวบนที่ดินของกองทัพ กว่า ๓๗๑ แห่ง” นอกนั้นมีสวนปาล์มแห่งหนึ่งที่สุราษฎร์ กิจการจำหน่ายไฟฟ้า ๑ แห่งที่อำเภอสัตหีบ น้ำมันเชื้อเพลิงที่ฝาง

ส่วนกิจการโทรคมนาคมไม่ต้องพูดถึง วิทยุ โทรทัศน์มากกว่า ๒๐๐ ช่อง ร้านค้าของชำอีก ๑๖๓ แห่ง ทั้งหลายเหล่านี้สุภลักษณ์ชี้ว่า เนื่องมาจาก “เมื่อทหารอยู่ในการเมืองมากเกินไป นานเกินไป บ่อยเกินไป...ทหารจึงไปควบคุมเศรษฐกิจ”

ปริมาณที่ดินซึ่งกองทัพถือครอง ๖.๒๕ ล้านไร่ บวกกับที่ดินซึ่ง กานดา นาคน้อย นักเศรษฐศาสตร์ ม.คอนเน็คติกัต บอกว่าบวกกับ “ที่ดินที่เช่ากรรมสิทธิ์ต่อจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ อีกกว่า ๒.๖ ล้านไร่” รวมเป็นเกิน ๗ ล้านไร่ นั้น

ทิ้งห่างผู้ถือครองที่ดินประเทศไทยมากเป็นอันดับสอง คือเสี่ย เจริญ สิริวัฒนภักดี ซึ่งมีประมาณ ๖ แสนไร่ และมากกว่าหลายเท่าของที่ดินทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งมีราวๆ ๔๑,๐๐๐ ไร่ นำไปสู่คำถามว่า ทำไมต้องใส่ใจกับการถือครองที่ดินจำนวนมากๆ เหล่านี้

อจ.กานดาให้คำตอบกรณีของกองทัพว่า “เหล่านี้ถูกนำไปใช้ประโยชน์เพื่อกำไรและสวัสดิการของผู้นำในกองทัพไทยเพียงเท่านั้น ซ้ำยังขาดความโปร่งใสในการตรวจสอบการใช้ประโยชน์จากที่ดิน” ข้อสำคัญ รัฐบาลก็ไม่สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ด้วยได้

อีกคำถามว่า “เราเคยเจอร่องรอยการเสียภาษีหรือไม่” จากที่ดินซึ่งกองทัพนำไปทำธุรกิจเหล่านี้ สุภลักษณ์บอกว่า “กิจการส่วนใหญ่ของกองทัพเป็นกิจการเพื่อสวัสดิการของกำลังพล ดังนั้นจึงไม่เข้าข่ายของภาษี” แต่ในกรณี ธนาคารทหารไทย

กานดาเน้นว่า “อันนี้เป็นหน่วยงานที่จ่ายภาษีตามปกติ...แต่กลับมีปัญหาว่าจริงๆ แล้วธนาคารทหารไทยมีหนี้สินเยอะและเอาภาษีไปอุ้ม เสร็จแล้วก็ได้ปรับโครงสร้างหนี้ให้หมดไป ปัจจุบันเหลือประมาณ ๑% เศษ” เสร็จแล้วจึงสรุปเป็นปุจฉาไว้ได้ว่า

ธุรกิจของกองทัพเหล่านั้น แม้บางอย่างประกอบการตามระเบียบกฏเกณฑ์ทางการค้า แต่ก็มีส่วนได้เปรียบ มากกว่าผู้ประกอบการทั่วๆ ไป เช่นนี้มันเหมาะควรหรือไม่ เพียงใด

(https://prachatai.com/journal/2025/01/111913)