วันเสาร์, มกราคม 04, 2568

ชาวแอฟริกาโดนหลอกมาทำงานที่กรุงเทพ แล้วโดนแก๊งจีนเทาลักพาตัวไปค้ามนุษย์ที่ชายแดนพม่า ถูกบังคับให้ทำงานเป็น scammer เขาบอกว่าถ้าใครไม่ทำงานจะโดนลงโทษเฆี่ยนตี แล้วเขาบอกว่ายังมีอีกหลายพันคนโดนจับตัวมาทำงานแบบนี้ คนโดนลักพาตัวค้ามนุษย์กลางกรุงด้วยแก๊งจีนเทา รัฐไทยทำอะไรได้บ้าง


- anchr @_femrt
·10h

ชาวแอฟริกาโดนหลอกมาทำงานที่กรุงเทพ แล้วโดนแก๊งจีนเทาลักพาตัวไปค้ามนุษย์ที่ชายแดนพม่า ถูกบังคับให้ทำงานเป็น scammer เขาบอกว่าถ้าใครไม่ทำงานจะโดนลงโทษเฆี่ยนตี แล้วเขาบอกว่ายังมีอีกหลายพันคนโดนจับตัวมาทำงานแบบนี้ 

มูบารัค ยามาล เมื่อเดินทางถึงไทยเป็นระยะสั้น ๆ เพื่อหางานทำ

อมานูเอล เยลคาล
บีบีซีแผนกภาษาอัมฮารา
3 มกราคม 2025

มูบารัค ยามาล ชาวเอธิโอเปียวัย 26 ปี ไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่า การแสวงหาอนาคตที่ดีกว่าจะนำไปสู่บททดสอบอันน่าสะพรึงกลัว เมื่อต้องติดอยู่ใน "ค่ายแรงงานทาสไซเบอร์" ในประเทศเมียนมา

เขาหมดหวังที่จะเลี้ยงดูครอบครัวซึ่งอยู่ตอนกลางของภูมิภาคโอโรเมีย หลังออกจากวิทยาลัยเอกชนก่อนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาเศรษฐศาสตร์ และเมื่อได้ยินข่าวลือเกี่ยวกับข้อเสนองานที่ให้ค่าตอบแทนสูงถึง 1,500 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 54,000 บาท) ในประเทศไทย เขาจึงไม่รั้งรอที่จะคว้าโอกาสนี้ไว้

"ผมไม่ได้ถามเกี่ยวกับรายละเอียดงานมากนัก" เขายอมรับ

ตัวแทนหางานซึ่งรู้จักกันในชื่อว่า "อับดิ" รับรองว่าทุกอย่างจะเรียบร้อยอย่างรวดเร็ว และเพียง 5 วันเท่านั้น มูบารัคก็ได้บินออกจากกรุงแอดดิสบาบา เมืองหลวงของเอธิโอเปีย มุ่งหน้าสู่กรุงเทพมหานคร

เรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นเมื่อเดือน ก.ย. 2023 โดยเขาเดินทางมาพร้อมกับชาวเอธิโอเปียอีกหนึ่งราย ซึ่งต่อมาทั้งคู่พบว่า ความหวังทั้งหมดได้พังทลายลงในไม่ช้าเมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทย

แทนที่จะได้ทำงานตามที่สัญญากันไว้ อับดิกลับส่งพวกเขาขึ้นรถบัสไปยัง จ.เชียงราย ซึ่งเป็นเมืองชายแดนทางภาคเหนือของไทย จากนั้นถูกลักลอบส่งไปยังประเทศลาว และท่ามกลางหนึ่งสัปดาห์แห่งความสับสน พวกเขาถูกส่งกลับมายังประเทศไทยอีกครั้งและถูกนำตัวขึ้นรถบัสไปยัง อ.แม่สอด จ. ตาก ซึ่งเป็นเมืองชายแดนไทย-เมียนมา

เมื่อเดินทางมาถึงแม่สอด ชาวจีนเข้าควบคุมและนำตัวกลุ่มชาวเอธิโอเปีย 6 คน ขึ้นเรือข้ามแม่น้ำเมยไปยังเมียนมาในตอนดึก ซึ่งเป็นค่ายที่มีการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด

ค่าย "ช่องแคบ" ('Jiao Ke' camp)



สิ่งที่พวกเขาเดินทางมาถึงนั้นไม่ใช่สถานที่ทำงานถูกกฎหมาย แต่มันเป็นหนึ่งในค่ายฉ้อโกงหลายแห่งที่ดำเนินการโดยกลุ่มอาชญากรทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้นสำหรับมูบารัคแล้ว ฝันร้ายกำลังเปิดฉากขึ้นอย่างแท้จริง

จากข้อมูลของสำนักงานสหประชาชาติว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรม (UNODC) ระบุว่า ค่ายเหล่านี้เชี่ยวชาญด้านโรแมนซ์สแกมหรือหลอกให้รัก ฟอกเงิน และค้ามนุษย์ โดยในตอนแรกมีเพียงพลเมืองจีนที่ถูกนำเข้ามาเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมดังกล่าว แต่ตอนนี้มันขยายเป็นปฏิบัติการระดับโลก ดึงดูดผู้คนจำนวนมากจากภูมิภาคตอนใต้ของทะเลทรายซาฮารา (Sub - Saharan Africa) ซึ่งถูกค้ามนุษย์เพื่อใช้แรงงานในการหลอกลวงผู้คนต่าง ๆ

"คืนที่เรามาถึงค่าย ทุกคนช็อกมาก เราจึงแทบไม่ได้พูดคุยอะไรกันเลย ได้แต่ยอมรับในสิ่งที่พวกเขาบอก" มูบารัคเล่าย้อนความหลัง

มีรายงานว่ามีผู้คนอย่างน้อย 120,000 คน ที่ถูกบังคับให้ทำงานฉ้อโกงทางออนไลน์ในเมียนมาเพียงแห่งเดียว จากรายงานของข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

ในจำนวนเหล่านี้ยังรวมถึงชาวแอฟริกาตะวันออกจากประเทศต่าง ๆ เช่น เอธิโอเปีย ยูกันดา เคนยา และซูดาน แต่พบว่าชาวเอธิเปียมีจำนวนมากขึ้น เนื่องจากพวกเขาเดินทางไปยังประเทศไทยได้ง่ายเพราะไม่ต้องขอวีซ่าล่วงหน้าและมีเที่ยวบินตรงให้บริการ

เมื่อเดินทางมาถึง "ค่ายช่องแคบ" ('Jiao Ke' camp) ตรงข้าม อ.พบพระ จ.ตากของไทย โดยโทรศัพท์และหนังสือเดินทางทั้งหมดถูกยึดทันที จากนั้นชาวเอธิโอเปียถูกนำไปไว้ที่ตู้สินค้าที่ตั้งเรียงซ้อนกันเป็นที่พักอาศัย โดยแต่ละหลังจะมีคนอยู่ประมาณ 12-15 คน

มูบารัคบอกว่า ในขั้นต้นพวกเขาต้องผ่านการฝึกอบรมเป็นเวลา 15 วัน เพื่อเรียนรู้เทคนิคการหลอกลวงออนไลน์

"การเชือดหมู (Pig butchering)"

มูบารัคบอกว่า การฝึกอบรมมุ่งเน้นไปที่เทคนิคการหลอกลวงแบบโรแมนซ์สแกมที่เรียกกันว่า "การเชือดหมู" ซึ่งเริ่มต้นจากการทำให้เหยื่อเริ่มไว้วางใจอย่างช้า ๆ ก่อนที่จะฉ้อโกงเงินที่พวกเขาเก็บออมมาทั้งชีวิต โดยเขาบอกว่าเริ่มแรกได้รับคำสั่งให้มุ่งเน้นไปที่เหยื่อในตุรกี ปากีสถาน และซาอุดีอาระเบีย ภายใต้นามแฝงของผู้หญิงที่ชื่อว่า "อลิเซีย"

เขาเล่าการหลอกลวงดำเนินไปอย่างเป็นขั้นตอน เริ่มต้นด้วย "อลิเซีย" ที่ปลอมตัวเป็นนักธุรกิจหญิงที่ประสบความสำเร็จ โดยมูบารัคจะแชทกับเป้าหมายผ่านแอปพลิเคชันวอทส์แอป (Whatsapp) โดยใช้สคริปต์หรือบทที่เขียนไว้แล้วล่วงหน้า และใช้ภาพนางแบบต่าง ๆ สำหรับการวิดิโอคอลเพื่อทำให้มันดูน่าเชื่อถือมากขึ้น

ในช่วงแรกเขาจะขอให้เหยื่อลงทุนในจำนวนเล็กน้อยผ่านเว็บไซต์ปลอมที่เลียนแบบบริษัทต่าง ๆ เช่น แอมะซอน (Amazon) โดยอนุญาตให้เหยื่อทำกำไรและถอนเงินออกมา เพื่อสร้างความมั่นใจ จากนั้นเหยื่อจะถูกชักจูงให้ฝากเงินหลายพันดอลลาร์สหรัฐ โดยไม่สามารถถอนเงินออกมาได้อีกต่อไป และเมื่อพวกเขาตระหนักถึงสิ่งที่เกิดขึ้น ก็กลายเป็นว่าสูญเสียทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเงินออม บ้าน หรือ รถยนต์

การลงโทษที่โหดร้าย


มูบารัคอธิบายวิธีการทรมานที่เขากล่าวว่าถูกใช้ในค่ายช่องแคบ

สำหรับใครก็ตามที่ปฏิเสธการมีส่วนร่วมในการหลอกลวงหรือหาเงินไม่เป็นไปตามเป้า ผู้นำค่ายจะใช้ความรุนแรงขั้นสุดเพื่อบังคับให้ทำตามคำสั่ง

"มีครั้งหนึ่งที่ผมถูกทุบตีอย่างรุนแรงจนหมดสติ" มูบารัคเล่า "ผมพยายามป้องกันตัวเอง จากนั้นพวกเขาก็เริ่มทรมานด้วยเครื่องช็อตไฟฟ้า"

ผู้จัดการแคมป์แห่งนี้จะคัดเลือกคนงานจำนวนไม่กี่คนขึ้นมาเพื่อเลื่อนตำแหน่งให้เป็นหัวหน้าเพื่อดูแลเพื่อนร่วมชาติของตนเอง มูบารัคจำได้ว่ามีชาวเอธิโอเปียรายหนึ่งทำหน้าที่เป็นหัวหน้าทีมเพื่อดูแลการทำงานของเขา

"ถ้าเขาโกรธ เขาอาจส่งตัวคุณไปลงโทษได้" มูบารัคกล่าว

หลังจากมูบารัคทำเงินไม่ได้ตามยอดที่เขากำหนดไว้ว่าต้องหาเงินให้ได้เดือนละ 5,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 170,000 บาท) เขาก็ถูกทุบตี บังคับให้อดนอน และถูกขังอยู่ในห้องมืด โดยบอกว่าต้องจ่ายเงิน 5,000 ดอลลาร์สหรัฐ หากต้องการออกจากค่าย

ในที่สุด ครอบครัวของเขาจำต้องขายปศุสัตว์ที่เลี้ยงไว้รวมถึงผลผลิตธัญพืชต่าง ๆ เพื่อให้ได้ค่าไถ่เป็นเงินรวมกัน 4,500 ดอลลาร์สหรัฐ (153,000 บาท) เพื่อนำตัวเขาออกมา

เรื่องราวของผู้รอดชีวิต


ร่องรอยการถูกทำร้ายตามร่างกายของมูบารัค

ในที่สุด มูบารัคก็ได้รับการปล่อยตัวและสามารถเดินทางกลับไปยังบ้านเกิดในเอธิโอเปียด้วยความช่วยเหลือจากองค์กรพัฒนาเอกชนหรือเอ็นจีโอ (NGOs) ท่ามกลางความเจ็บปวดที่หลั่งรากลึก

"ขอบคุณพระเจ้าที่ทำให้ผมรอดมาได้" มูบารัคกล่าว พร้อมกับเปิดรอยแผลเป็นบนร่างกายที่เกิดจากการทุบตีในค่ายให้ดู

ปัจจุบัน เขากลับมาอาศัยอยู่กับครอบครัวในภูมิภาคโอโรเมียและไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างปกติ เนื่องจากผลกระทบจากการทุบตียังส่งผลให้ร่างกายของเขาอ่อนแอจนถึงทุกวันนี้

เขาบอกว่ายังมีอีกหลายพันคนที่ติดอยู่ในค่ายคล้ายคลึงกันและไม่สามารถหลบหนีออกมาได้ เว้นแต่ว่าจะยอมจ่ายค่าไถ่ที่ถูกเรียกสูงมาก ครอบครัวของเหยื่อเองก็วิงวอนซ้ำแล้วซ้ำเล่าให้ทางการเอธิโอเปียเข้ามาแทรกแซง แต่ก็ไม่มีความคืบหน้ามากนัก

บีบีซีพยายามขอความเห็นต่อคณะผู้แทนเอธิโอเปียในญี่ปุ่นและอินเดียซึ่งดูแลประเทศไทยและเมียนมาไปหลายครั้ง แต่ยังไม่ได้รับคำตอบ

ในแถลงการณ์ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2024 เอกอัครราชทูตเนเบียต เกตาชิว โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของเอธิโอเปียได้เน้นย้ำถึงความพยายามอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยเหลือพลเมืองในเมียนมากลับสู่ประเทศ และเตือนประชาชนเกี่ยวกับการฉ้อโกงทางออนไลน์ในลักษณะยื่นข้อเสนอลวงที่เกี่ยวข้องกับโอกาสทำงานในต่างประเทศ

บางครั้งมูบารัคยังคงเห็นวิดีโอต่าง ๆ บนสื่อสังคมออนไลน์ซึ่งปรากฏชื่อ "อับดิ" ที่เป็นนายหน้าจัดหางาน

"ผมนึกถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเองในค่ายอยู่บ่อย ๆ" มูบารัคสะท้อนความรู้สึก "ผมอยากเห็นเขาถูกจับกุมและนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม"

https://www.bbc.com/thai/articles/c390e78nj9mo