วันอาทิตย์, มกราคม 05, 2568

เปิดร่างแก้ไข รธน. ของพรรคประชาชน : เดินหน้าจัดทำ รธน. ฉบับใหม่ โดย สสร. เลือกตั้ง 100% + กระบวนการประชามติ 2 ครั้ง


พริษฐ์ วัชรสินธุ - ไอติม - Parit Wacharasindhu
20 hours ago
·
[ เปิดร่างแก้ไข รธน. ของพรรคประชาชน : เดินหน้าจัดทำ รธน. ฉบับใหม่ โดย สสร. เลือกตั้ง 100% + กระบวนการประชามติ 2 ครั้ง ]
.
ในวันที่ 14-15 ม.ค. ทางรัฐสภาจะมีการประชุมร่วมกันระหว่าง สส. และ สว. เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ
.
ร่างที่เราจะเสนอให้มีการพิจารณาเป็นหลัก คือร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผมและพรรคประชาชนยื่นสู่รัฐสภา เพื่อเพิ่มหมวด 15/1 (การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่) และแก้ไข มาตรา 256 (การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ) ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้ง 100% มาเดินหน้าจัดทำ รธน. ฉบับใหม่ โดยกระบวนการที่มีการทำประชามติทั้งหมด 2 ครั้ง
.
สาระสำคัญของร่างดังกล่าวมีดังต่อไปนี้
.
1. กำหนดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญมาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยกระบวนการที่มีการทำประชามติทั้งหมด 2 ครั้ง (ซึ่งสอดคล้องกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 4/2564)
- (i) ครั้งที่ 1 = ประชามติก่อนที่จะมีสภาร่างรัฐธรรมนูญมาจัดทำ รธน. ฉบับใหม่ เพื่อถามประชาชนว่าเห็นชอบหรือไม่ให้มีการจัดทำ รธน. ฉบับใหม่ (ตามข้อเสนอในร่างแก้ไข รธน. ที่รัฐสภาเห็นชอบ)
- (ii) ครั้งที่ 2 = ประชามติหลังจากที่สภาร่างรัฐธรรมนูญได้จัดทำ รธน. ฉบับใหม่แล้ว เพื่อถามประชาชนว่าเห็นชอบหรือไม่กับร่าง รธน. ฉบับใหม่ (ที่ถูกจัดทำโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ)
.
2. กำหนดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ ประกอบไปด้วยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) 200 คน ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด 100% โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท
- (i) 100 คนแบบแบ่งเขต โดยใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง (สมัครเป็นรายบุคคล / ประชาชนเลือกผู้สมัครได้ 1 คน / ผู้สมัครที่ได้คะแนนสูงสุดได้รับเลือก)
- (ii) 100 คน แบบบัญชีรายชื่อ โดยใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง (สมัครเป็นทีม / ประชาชนเลือกทีมผู้สมัครได้ 1 ทีม / แต่ละทีมได้จำนวน สสร. ตามสัดส่วนคะแนนที่ได้รับ)
- ระบบเลือกตั้งที่มี สสร. ทั้ง 2 ประเภท จะทำให้สภาร่างรัฐธรรมนูญมีทั้งตัวแทนเชิงพื้นที่ และตัวแทนเชิงประเด็น-กลุ่มอาชีพ-กลุ่มสังคม
.
3. กำหนดให้ สสร. มีอำนาจในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ (ตราบใดที่ไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือการเปลี่ยนแปลงรูปแบบรัฐ ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 255)
.
4. กำหนดให้ สสร. มีกรอบเวลาไม่เกิน 360 วัน ในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อให้ สสร. มีเวลาเพียงพอในการรับฟังความเห็นอย่างรอบด้านและทำงานอย่างรอบคอบ ในขณะที่ไม่ทำให้กระบวนการมีความยืดเยื้อจนทำให้เราได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างล่าช้าจนเกินไป
.
5. กำหนดอายุขั้นต่ำของผู้สมัคร สสร. ไว้ที่ 18 ปี ซึ่งสอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยสากลว่าอายุขั้นต่ำสำหรับการลงสมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งทางการเมืองใดๆก็ตาม มักยึดตามอายุขั้นต่ำในการมีสิทธิเลือกตั้ง (“ถ้าโตพอจะโหวตได้ ก็โตพอจะลงสมัครได้”)
.
6. กำหนดให้ สสร. มีคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่ประกอบไปด้วย สสร. ไม่น้อยกว่า 2/3 ของจำนวนกรรมาธิการ (เพื่อให้ กมธ. มีตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนเป็นเสียงส่วนใหญ่) และเปิดพื้นที่ให้กับคนนอกที่ สสร. คัดเลือกและอนุมติ (เพื่อให้ กมธ. มีพื้นที่ให้กับผู้เชี่ยวชาญ-ผู้มีประสบการณ์ ที่อาจไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งโดยตรง)
.
7. กำหนดให้ สสร. มีอำนาจจัดทำพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พรป.) และส่งให้รัฐสภาพิจารณาเห็นชอบ (ถ้ารัฐสภาไม่เห็นชอบ พรป. ฉบับไหนของ สสร. รัฐสภาจะมีอำนาจรับไปทำต่อเอง) เพื่อประหยัดเวลาและป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน
.
8. กำหนดให้ สสร. สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อได้ โดยไม่ถูกกระทบจากการยุบสภาฯ หรือ จากการที่สภาฯหมดวาระ เพื่อความต่อเนื่องของ สสร. ในการทำงาน และของกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
.
9. กำหนดให้ สสร. ห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง (เช่น สส / สว / รัฐมนตรี / ผู้บริหารหรือสมาชิกสภาท้องถิ่น / ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ / ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ) ภายใน 5 ปีแรก เพื่อป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน
.
10. ปรับเกณฑ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญ (มาตรา 256) โดยกำหนดให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญกระทำได้ หาก
- (i) ได้รับความเห็นชอบเกิน ½ ของสมาชิกรัฐสภา (ซึ่งประกอบไปด้วย สส. ที่มาจากการเลือกตั้ง และ สว. ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง) และ
- (ii) ได้รับความเห็นชอบเกิน ⅔ ของสภาผู้แทนราษฎร (ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน)
- (iii) (เฉพาะในกรณีที่เป็นการแก้ไขเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่) ได้รับความเห็นชอบจากประชาชนผ่านประชามติ
.
การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย เป็นภารกิจที่พรรคประชาชนเห็นว่าสำคัญต่อการฟื้นฟูประชาธิปไตย และเป็นนโยบายที่รัฐบาลได้ประกาศต่อรัฐสภาและพี่น้องประชาชน - ผมหวังว่ารัฐสภาจะเห็นชอบและรับหลักการร่างดังกล่าวในวันที่ 14-15 ม.ค. นี้ เพื่อให้ประเทศเรามีความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรมต่อเป้าหมายของการมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และเพื่อให้การมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทันก่อนการเลือกตั้งครั้งถัดไป ยังมีความเป็นไปได้
.
อ่านร่างฉบับเต็มได้ที่: https://shorturl.at/4NCpT

https://www.facebook.com/photo/?fbid=1134217054739745&set=a.477705887057535