วันอาทิตย์, มกราคม 05, 2568

ปีเก่าผ่านพ้นไป ล่วงเข้าสู่ปีใหม่ 2568 แต่สถานการณ์ผู้ต้องถูกคุมขังในคดีจากการแสดงออกทางการเมืองยังดำเนินต่อไป ชวนย้อนอ่าน 6 เรื่องราวและบทสัมภาษณ์ของผู้ผ่านข้ามปีอยู่ภายในเรือนจำ


ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
17 hours ago
·
ปีเก่าผ่านพ้นไป ล่วงเข้าสู่ปีใหม่ 2568 แต่สถานการณ์ผู้ต้องถูกคุมขังในคดีจากการแสดงออกทางการเมืองยังดำเนินต่อไป ปีที่ผ่านพ้น ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้พูดคุยและบอกเล่าเรื่องราวบางส่วนของผู้ต้องขังในคดีมาตรา 112 ซึ่งยังถูกคุมขังอยู่ ทั้งจากแง่มุมของผู้ต้องขังเอง และผ่านญาติหรือบุคคลใกล้ชิด ชวนย้อนอ่าน 6 เรื่องราวและบทสัมภาษณ์ของผู้ผ่านข้ามปีอยู่ภายในเรือนจำ
.
.
#ธนพร แม่ลูกอ่อนจากอุทัยธานีวัย 24 ปี กลายผู้ถูกคุมขังอยู่ที่ทัณฑสถานหญิงธนบุรี มาตั้งแต่วันที่ 27 พ.ค. 2567 เธอต้องรับโทษตามคำพิพากษาจำคุก 2 ปี ของศาลฎีกาในคดีที่ถูกกล่าวหาว่าไปคอมเมนต์ข้อความในเพจเมื่อช่วงปี 2564 เดิมศาลชั้นต้นพิพากษาให้รอลงอาญา แต่ศาลอุทธรณ์แก้คำพิพากษา และศาลฎีกาเห็นเช่นเดียวกับศาลอุทธรณ์ ทำให้ชีวิตแม่ของลูกวัย 2 ขวบ และ 6 เดือน ต้องเปลี่ยนแปลงไป
.
“หนูเป็นห่วงลูก 2 คนนะ เพราะถ้าเราไม่อยู่ คนโตจะร้องไห้ทั้งคืนเลยแน่นอน ยิ่งถ้าเราหายไปหลายวัน เขาก็จำเราไม่ได้แล้ว มีครั้งหนึ่งที่เราไม่อยู่ 7 วัน เรากลับมาเจอหน้า เขาก็บอกว่านี่ไม่ใช่แม่ คือเขาดูลังเลว่าจะใช่แม่เขาไหมเนี่ย เขาก็น่าสงสารนะพี่ เราก็ไม่ได้อยากจะห่างลูก หัวอกคนเป็นแม่”
.
อ่านเรื่องราวของธนพร https://tlhr2014.com/archives/67106
.
.
#มีชัย อดีตพนักงานโรงแรมที่เกาะช้างและผู้ชุมนุมเสื้อแดงวัย 53 ปี ผู้ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำกลางสมุทรปราการ เขาถูกคุมขังมาตั้งแต่วันที่ 25 ก.ค. 2567 หลังคดีมาตรา 112 กรณีโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก 2 ข้อความ เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2563 มีเนื้อหาตั้งคำถามต่อการใช้ภาษีประชาชนของสถาบันกษัตริย์ ที่เขาถูกกล่าวหาาสิ้นสุดลง และไม่มีผู้พิพากษารับรองให้ฎีกา ทำให้ต้องรับโทษตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 คือ จำคุก 2 ปี 8 เดือน
.
“ผมเจอเรื่องงบประมาณสถาบันฯ ตอนนั้นก็แค่โพสต์ถาม เพราะความเป็นอยู่ของประชาชนทั่วไป ตอนโควิดนั้นเศรษฐกิจแย่ แต่งบสถาบันฯ ยังคงสูงอยู่ เลยคิดว่าถ้าแบ่งมาใช้กับประชาชนในช่วงเศรษฐกิจแย่ คงจะดีกว่าไหม ไม่ได้คิดจะล้มล้างอะไรเลย”
.
อ่านเรื่องราวของมีชัย https://tlhr2014.com/archives/71298
.
.
#บัสบาส มงคล ถิระโคตร กลายเป็นผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 ที่ถูกลงโทษสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ หลังในปีที่ผ่านมา ศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีคำพิพากษารวมกัน 3 คดี ลงโทษจำคุก 54 ปี ทำให้เขาถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำกลางเชียงรายมาตั้งแต่วันที่ 18 ม.ค. 2567 และยังต่อสู้คดีต่อในชั้นฎีกา
.
“ในส่วนเรื่องที่ผมถูกตัดสินในคดีมาตรา 112 โทษสูงสุดในประวัติศาสตร์ของไทย ถึง 50 ปี ในเรื่องนี้ผมไม่ได้ซีเรียส ก็แค่ยักไหล่แล้วไปต่อ ผมยังหายใจอยู่นี่หน่า ผมเป็นนักสู้ จะอยู่ที่ไหนผมก็ยังคงเป็นนักสู้ ชีวิตนี้มีหนเดียว แล้วถ้าสุดท้ายปลายทาง ชัยชนะแม้จะไม่มีผม ซึ่งไม่เป็นอะไรเลย ผมถือว่าผมได้เขียนหน้าประวัติศาสตร์ของตัวเองไว้แล้ว ผมเชื่อว่าทุกคนย่อมมีที่ทางในหน้าประวัติศาสตร์ของตัวเองไม่ว่าจะรูปแบบไหนก็ตาม”
.
อ่านบันทึกเยี่ยมบ้านบัสบาส https://tlhr2014.com/archives/68949
.
.
#ขนุน สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ เป็นนักศึกษาและนักกิจกรรม ผู้กลายเป็นผู้ต้องขังระหว่างอุทธรณ์ในคดีมาตรา 112 ในปีที่ผ่านมา หลังถูกศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาจำคุก 2 ปี แม้คดียังสามารถอุทธรณ์และฎีกาได้ แต่ยังไม่มีใครอธิบายได้ว่าทำไมเขาไม่ได้รับการประกันตัว เขาเป็นที่รู้จักของมิตรสหายนักศึกษาที่ตื่นตัวทางการเมือง รวมทั้งคณาจารย์หลายคนที่เห็นความกระตือรือร้นและความสนใจในทางวิชาการของเขา ที่กำลังก่อตัวขึ้น แต่กลับถูกตัดโอกาสเหล่านั้นไป หลายคนช่วยกันพูดถึงขนุนจากแง่มุมต่าง ๆ เอาไว้
.
“เขาเป็นคนมีเสน่ห์ สุภาพเรียบร้อย ผู้หลักผู้ใหญ่คงชื่นชอบ เป็นคนไม่ได้อวดอ้างความรู้ว่าตนเองมีความรู้อะไร คุยกับใครก็เข้าได้หมดเลย แต่ขณะเดียวกันก็เป็นคนที่มีอุดมการณ์ที่หนักแน่น ในเรื่องของการต่อสู้คือไม่เปลี่ยนแปลงไปเลย”
.
“ในภาพกว้าง ผมเห็นว่าสังคมไทยเสียโอกาสไปมาก ที่นำคนหนุ่มสาวแบบนี้ไปอยู่ในเรือนจำ เขาควรได้มีโอกาสเรียนหนังสือต่อ เขาอายุยังน้อย มีโอกาสในชีวิตต่าง ๆ อีกเยอะ ผมอ่านจดหมายที่เขาส่งออกมา ก็เห็นว่าเขาอยากออกมาเรียน แต่เสียโอกาสต่าง ๆ ไป เพราะต้องถูกคุมขังแบบนี้ ผมไม่อยากให้เขาถูกพรากอะไรไปมากกว่านี้ สังคมควรจะโอบรับเขามากกว่านี้”
.
อ่าน “ขนุน” จากมุมมองของเพื่อน ๆ https://tlhr2014.com/archives/68092
และ “ขนุน” จากมุมมองของคณาจารย์ https://tlhr2014.com/archives/69392
.
.
การมีบุคคลในครอบครัวถูกคุมขังในเรือนจำ ก็สร้างผลกระทบให้หลายชีวิตที่อยู่ข้างหลัง ทำให้พ่อกับแม่ พี่น้อง สามีภรรยา หรือลูก ๆ ของผู้ถูกคุมขัง เสมือนได้รับ “โทษทัณฑ์” บางประการจากการไม่มีคนในครอบครัวใช้ชีวิตอย่างมีเสรีภาพอยู่เหมือนปกติ ครอบครัวของ #เก็ท โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง และครอบครัวของ #อุดม ก็ต่างเผชิญกับสถานการณ์ที่ผ่านเทศกาลของปีที่ผ่านมา โดยการไม่มีคนที่รักอยู่เคียงข้าง
.
“คุณพ่อกับคุณแม่ก็เหมือน ‘ติดคุก’ อยู่กับเก็ทเลยจ้ะ เหมือนว่าบ้านเราตอนนี้กลายเป็น ‘เรือนจำ’ ด้วยอีกที่หนึ่ง”
.
“ปกติทุกปีเราก็จะไปรับลูกจากบ้านแม่ที่สระแก้วมาที่บ้านด้วย เพราะปิดเทอมด้วย ตอนกลางวันลูกสาวเขาก็จะแช่น้ำอยู่ในอ่างน้ำหน้าบ้านกับพ่อเขาแทบทุกวัน”
.
ย้อนอ่านเรื่องของครอบครัวของเก็ทและอุดม https://tlhr2014.com/archives/66324
.
.
มาลัย นำภา เป็นแม่ของ #อานนท์นำภา อดีตคนงานโรงงานผู้หนุนเสริมการเติบโตของ ลูกชายจากจังหวัดร้อยเอ็ด ให้กลายมาเป็นทนายความสิทธิมนุษยชน และนักกิจกรรมคนสำคัญในประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของประเทศนี้ แม้เวลาในเรือนจำของลูกชายจะเนิ่นยาวออกไป และยังไม่มีทีท่าที่จะได้รับอิสรภาพ แต่ในนามของคนเป็นแม่ สองมือที่โอบอุ้มมา ยังพร้อมประคองและเคียงข้างต่อไป
.
“ก็ต้องอดทน รอลูกกลับมา เราต้องกินข้าวเยอะ ๆ หายใจลึก ๆ รักษาสุขภาพ ทำตัวให้ร่าเริง ถึงจะร้องไห้ก็ช่างมัน อย่าเพิ่งตาย รอลูกก่อน”
.
“ขอให้ลูกรู้ว่าแม่คนนี้เป็นห่วง คิดถึงลูกตลอดเวลา ตอนเช้าแม่ตื่นขึ้นมาก็คิดว่าลูกแม่จะได้กินข้าวหรือเปล่า กินกับอะไร เวลานอนจะนอนยังไง ตอนที่ลูกเข้าไปอยู่ในเรือนจำครั้งแรกก็ไม่เท่าไหร่ แต่ตอนนี้ลูกมีทั้งลูกสาว ลูกชาย ลูกชายตัวเล็ก ๆ ที่มาหาพ่อที่ศาลก็คงจะคิดถึงลูกมากเหมือนแม่คนนี้นี่แหละ คิดถึงลูกนะ”
.
อ่านเรื่องราวของมาลัย https://tlhr2014.com/archives/70211
.
https://www.facebook.com/photo?fbid=1006998194603984&set=a.656922399611567