วันพุธ, มกราคม 01, 2568

2 วัยรุ่นไร้สัญชาติ 'โอ๋' และ 'โชไอซ์ ปาทาน' เล่าเรื่องราวระหว่างเส้นทางการต่อสู้อันยาวนาน เมื่อไม่มีบัตรประชาชน สองคนสามารถเข้าถึงการศึกษาและมีความฝันได้ไกลแค่ไหน ความยากลำบากที่ต้องเผชิญมีอะไรบ้าง



เส้นทางการต่อสู้ของ 2 วัยรุ่นไร้สัญชาติ

30 ธันวาคม 2567
ประชาไท
รายงาน: อาทิตยา เพิ่มผล

โอ๋ ไม่มีนามสกุล

โอ๋ผู้จบการศึกษาปริญญาตรี คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวว่า “โอ๋โตมากับความอยากเรียนหนังสือ เพราะอยากมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อยากทำงานด้านสังคมสังเคราะห์ เพราะอยากยกระดับคุณภาพชีวิตของทุกคนด้วยวิชาชีพที่เรียนมา อยากเห็นเด็กๆ ได้เข้ารับการศึกษา เพื่อที่จะได้มีความรู้และพิทักษ์สิทธิต่างๆ ของตนเองได้”


โอ๋

“พ่อของโอ๋เป็นชาวมอญ แม่เป็นชาวมะริด ซึ่งอพยพเข้ามาเป็นแรงงานในประเทศไทย เมื่อ 40 ปีที่แล้ว มาสร้างครอบครัวที่จังหวัดระนอง โอ๋เกิดโดยหมอตำแย ไม่ได้ไปแจ้งเกิด จนหลังจากโอ๋เกิด มีนโยบายการขึ้นทะเบียนแรงงาน นายจ้างจึงพาพ่อแม่ของโอ๋ไปดำเนินการจัดทำเอกสารประจำตัว และโอ๋ก็ได้รับเอกสารยืนยันตัวตน คือ ‘ท.ร. 38/1’ หรือทะเบียนประวัติคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยและได้รับการผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในประเทศไทยได้ชั่วคราว เลขประจำตัวประชาชนของโอ๋ ขึ้นต้นด้วยเลข 00 คือกลุ่มผู้ติดตามแรงงาน และโอ๋ก็ใช้เอกสารนี้เข้าเรียนในโรงเรียนซึ่งเป็นมูลนิธิสำหรับลูกหลานแรงงานข้ามชาติ

โอ๋ กล่าวต่อว่า “จนชั้น ม.5 ได้ยินเพื่อนคุยกันถึงอาชีพในอนาคต โอ๋ก็อยากจะเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น อยากเรียนต่อมหาลัยเหมือนเพื่อน ประกอบกับได้รับข้อมูลความช่วยเหลือจากมูลนิธิศุภนิมิต จังหวัดระนอง ที่ทำงานอาสาสมัคร ว่าเด็กทุกคนต้องมีพื้นฐานจากการมีใบเกิด โอ๋มีความรู้และมั่นใจเพราะเกิดที่ระนอง จึงตัดสินใจไปที่อำเภอ เพื่อดำเนินการเพื่อทำบัตรประชาชนไทย โดยการแจ้งเกิดย้อนหลัง เพื่อยืนยันว่าโอ๋เกิดในประเทศไทย ซึ่งมาได้หนังสือรับรองการเกิด (ท.ร. 20/1) ช่วงที่เข้าศึกษาต่อมหาวิทยาลัย คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับความช่วยเหลือจาก ผศ.เคท ครั้งพิบูลย์ อาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ และดร.ศิวนุช สร้อยทอง และ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร บางกอกคลินิก คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้ให้การช่วยเหลือสนับสนุนอื่นๆ ทำการพิสูจน์การเกิดอีกครั้งหนึ่ง จนได้รับหนังสือรับรองการเกิด (ท.ร. 20/1)

หลังจากนั้น โอ๋ รวบรวมหลักฐานหนังสือรับรองการทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศไทย ในการทำกิจกรรมทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย ทำกิจกรรมกับ UNICEF เป็นกระบอกเสียงให้เด็กๆ ไร้สัญชาติ เพื่อดำเนินการขอรับรองสัญชาติไทย เนื่องจากเงื่อนไขในการขอรับรองสัญชาติไทยสำหรับบุตรแรงงานข้ามชาติ เมื่อมีหลักฐานการเกิดในประเทศไทยแล้วสามารถทำได้ในสองกรณี

กรณีแรกคือสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี

และอีกกรณีหนึ่งคือการทำคุณประโยชน์ให้ประเทศชาติ โดยต้องได้รับการรับรองจากองค์กร กรม หรือกระทรวง จึงยื่นเรื่องไปที่อำเภอเมืองระนองตั้งแต่เดือนตุลาคม ปี 2566 จนเดือน ส.ค. 2567 ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็รับรองเงื่อนไขการทำคุณประโยชน์และได้ส่งหนังสือต่อกรมการปกครองแล้ว

โอ๋กล่าวถึงความฝันของเธอว่า “ความฝันของโอ๋คืออยากเป็นนักสังคมสงเคราะห์ และอยากเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยในอนาคต แต่การต่อสู้ที่ผ่านมาหรือใบปริญญาจะมีความหมายอะไร ถ้าเรายังทำงานเลี้ยงตัวเองและครอบครัวไม่ได้เลย เราเข้าใจว่านี่คือราคาที่ต้องจ่ายให้กับสิ่งที่เราต้องการ แต่มันยาวนานและแพงเกินไป ช่วงที่เราเสียคุณพ่อไปเมื่อปีที่แล้ว เรากลับมาลังเลว่าเราคิดถูกไหมที่เลือกเดินเส้นทางการศึกษา ถ้าเราไม่เรียนตั้งแต่แรก แต่ทำงานแทน เราจะมีเงินมากพอให้พ่อได้รับการรักษาที่ดีกว่านี้ไหม แล้วถึงตอนนี้พ่ออาจยังมีชีวิตอยู่ก็ได้”

และอีกหนึ่งในความฝันของโอ๋คืออยากส่งเสริมให้เด็กทุกคนเข้าถึงการศึกษา เพราะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต ให้พวกเขารู้จักตัวเอง ทั้งในเรื่องความฝันและการใช้ชีวิต การทำงานสังคมสงเคราะห์ สามารถช่วยลดปัญหาเรื่องการค้ามนุษย์ การใช้แรงงานเด็ก หรือประเด็นทับซ้อนต่างๆ ลดตามไปด้วย การศึกษาเป็นพื้นฐาน ให้เด็กเข้าใจสิทธิและพิทักษ์สิทธิต่างๆ ของตนเองได้ และโอ๋ได้พูดถึงความท้าทาย เรื่องการเข้าถึงการศึกษา การเข้าถึงกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา การแสดงตัวตนในการสมัครเรียน โดยจังหวัดที่เป็นชายแดน มีระบบที่ต่างกัน ความเข้าใจในการเข้าเรียนในระดับที่สูงขึ้น อย่างเรียนปริญญาตรีก็ไม่ใช่เรื่องง่าย สำหรับเด็กไร้สัญชาติทุกคน ทั้งค่าใช่จ่าย ระยะทาง การขอเอกสารออกนอกพื้นที่เพื่อการเรียน

โชไอซ์

“ผมเป็นเด็กบ้านๆ คนหนึ่ง ไม่เคยคิดไม่เคยฝันว่าจะได้เรียนในรั้วมหาวิทยาลัย ได้รับโอกาสจากเครือข่ายการเเก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทย 4 จังหวัด และได้รับทุนการศึกษาระดับปริญญาตรี วิทยาลัยผู้นำและนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต หลังจากเรียนจบก็กลับมาช่วยเครือข่ายฯ และเรียนต่อระดับปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหงจนจบ จนตอนนี้ยังไม่ได้สัญชาติครับ (ต.ค. 2567)” โชไอซ์กล่าว


โชไอซ์

โชไอซ์ ปาทาน อาสาสมัครเยาวชนคนไทยพลัดถิ่น เครือข่ายการเเก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทย 4 จังหวัด (ประจวบฯ ชุมพร ระนอง พังงา) และอนุกรรมการแก้ไขปัญหาสิทธิและสถานะบุคคล กล่าวว่า “ชีวิตผมเริ่มจาก 0 หรือ (0-89) พ่อของผม เข้ามาประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2529 และแม่เข้ามาเมื่อปี พ.ศ. 2537 ทางจังหวัดระนอง โดยก่อนหน้านี้ถูกขึ้นทะเบียนเป็นแรงงานต่างด้าว ช่วงปี พ.ศ.2539 - 2540 จนปี พ.ศ. 2552 ได้รับการถอนจากทะเบียนแรงงานต่างด้าว และสำรวจบุคคลตามยุทธศาสตร์ฯ ผมขอสัญชาติ ตามมาตรา 7 ทวิ วรรค 2 ตั้งแต่ปี 2562 พร้อมกับน้องๆ อีก 3 คน คนที่สองเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (ชุมพร) คนที่สามและสี่เรียนอยู่ระดับชั้นมัธยมศึกษา โรงเรียนสามร้อยยอดวิทยาคม ซึ่งได้รับสัญชาติทั้ง 3 คนแล้ว”

โชไอซ์กล่าวถึงความฝันถึงการทำให้พี่น้องที่ไร้สิทธิและสถานะบุคคลได้สัญชาติว่า “ผมไม่รู้สึกน้อยใจที่ตัวเองไม่มีสัญชาติ แต่รู้สึกว่า เราจะเป็นคนตัวเล็กๆ เป็นอิฐก้อนหนึ่งยังไง เพื่อจะก่อสร้างบ้านหลังนี้ให้สมบูรณ์และทำให้พี่น้องของผมได้สัญชาติไทย ซึ่งการเห็นพี่น้องทยอยได้สัญชาติ เข้ามาเติมเต็มความเป็นไทยที่มีอยู่ของผม”

เส้นทางการขอสัญชาติที่ยาวนาน กับสิทธิที่ต้องเสียไป

โอ๋ กล่าวว่า “เป็นเวลา 6 ปีแล้ว ที่เดินอยู่ในเส้นทางของขอรับรองสัญชาติ เคยเกือบต้องแก้เลขประจำตัวใหม่ สืบพยานพิสูจน์การเกิดใหม่ทั้งหมด แล้วพยานที่เป็นคนแก่ เขาก็ไม่อยู่แล้ว เราจะไปหาพยานจากไหน สุดท้ายก็มีการสืบพยานใหม่โดยเป็นผู้ที่รู้เห็นการเกิดจริง และพิจารณาว่าเอกสารการเกิดก่อนหน้านี้สามารถใช้เป็นหลักฐานประกอบได้”

ระหว่างที่โอ๋มาเรียนคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต้องขอหนังสือออกนอกพื้นที่เพื่อการศึกษา 4 ปีตามหลักสูตรที่เรียน จากปกติหนังสือออกนอกพื้นที่ มีอายุ 1 ปี ซึ่งต้องไปรายงานตัวที่ อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ทุก 6 เดือน ในระหว่างที่เรียน ซึ่งโอ๋มีความตั้งใจว่าอยากรับปริญญาบัตรในชื่อ ‘ณัฐวี มาลีลักษณ์’ จนเรียนจบก็ยังไม่ได้รับการรับรองสัญชาติไทย ทำให้ต้องใช้ชื่อตามเอกสารยืนยันตัวตน คือ ‘โอ๋’ ไม่มีนามสกุล

เมื่อเข้าสู่การทำงาน โอ๋ต้องกลับไปที่จังหวัดระนอง เพื่อทำหนังสือออกนอกพื้นที่สำหรับการทำงาน ขออนุญาตได้เป็นระยะเวลา 6 เดือนในครั้งแรก แล้วปรับเป็น 1 ปี แบบต่ออายุรายปี เนื่องจากมีเอกสารขออนุญาติทำงาน อายุ 5 ปี เสียค่าธรรมเนียม 100 บาท ตามกฎหมายแรงงาน โดยต้องไปดำเนินการที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดที่โอ๋ทำงานอยู่

โอ๋กล่าวเพิ่มเติมว่า “ในเรื่องค่าใช้จ่ายต่อครั้งในการเดินทางไปทำหนังสือออกนอกพื้นที่ รวมถึงติดตามการขอสัญชาติ จากกรุงเทพ-ระนอง นั่งรถจากสายใต้ 800 บาท เวลาเดินทาง 9 ชั่วโมง นั่งรถจากขนส่งไปบ้านอีก 5 ชั่วโมง ค่าอาหารอะไรอีก รวมประมาณ 3,000 บาท หลังจากทำงาน ก็เดินทางไปทำเดินเรื่องทำเอกสาร สอบพยานบุคคล รวม 3-4 ครั้ง ซึ่งต้องไปในวันที่ทางเจ้าหน้าที่อำเภอนัดหมายด้วย

ส่วนโชไอซ์ กล่าวถึงสาเหตุที่ยังไม่ได้รับสัญชาติว่า “ติดในส่วนของการอนุมัติ จากผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งข้อติดขัดคือเขาไม่เชื่อว่าพ่อกับแม่ผม ได้รับการจัดทำสำรวจเป็นการจัดการปัญหาของคนที่มีปัญหาทั้งด้านสิทธิและสถานะบุคลในประเทศไทย ผมถูกระบุว่าเป็นผู้ผลัดถิ่นสัญชาติเมียนมา ตอนนั้นพ่อแม่ไม่มีพยานมารับรอง จึงไม่สามารถเชื่อได้ว่ากลุ่มเป้าหมายถูกหรือไม่ มีการยื่นอุธรณ์ไปแล้ว 2 ครั้ง ถึงปัจจุบัน 5 ปีเต็ม ที่อยู่ในกระบวนการขั้นตอนการพิสูจน์สัญชาติ และเมื่อปี พ.ศ. 2564 กรมการปกครองได้ส่งหนังสือมาที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และอำเภอได้ส่งมาถึงเทศบาล เทศบาลจึงส่งต่อมาที่พ่อและแม่ของผม เพื่อให้พ่อและแม่ไปอุทธรณ์การเปลี่ยนแปลงรายการลงสัญชาติจากคนถือบัตรเลข 0 ประเภทเกี่ยวข้องกับผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า ไปเป็นคนถือบัตรเลข 0 ประเภทคนต่างด้าว ซึ่งตอนนั้นส่งผลให้น้องทั้ง 3 คน เกือบต้องถูกถอนสถานะการมีสัญชาติ”

โชไอซ์ กล่าวว่า “จากการประชุมอนุกรรมการแก้ไขปัญหาสิทธิและสถานะบุคคล กับทางกระทรวงมหาดไทย โดยท่านรัฐมนตรีช่วย ทรงศักดิ์ ทองศรี มีแนวทางสำหรับกรณีของผม ให้ใช้พยานบุคคล โดยไม่ต้องเป็นญาติที่อยู่ในผังเครือญาติ ในกลุ่มเป้าหมายเดียวกันมาพิสูจน์ได้ ซึ่งในการประชุมนั้น ผมได้ถามคำถามถึงในกรณีเด็กที่ยังไม่ได้สัญชาติไทย ที่กำลังเรียนปริญญาตรีในประเทศไทย หรือว่าเด็กที่จบปริญญาตรีแล้วที่จะต้องไปศึกษาต่อปริญญาโท หรือว่าไปแลกเปลี่ยนที่ต่างประเทศว่าสามารถได้หรือไม่ ได้คำตอบคือสามารถไปได้ โดยการทำหนังสือไปที่อำเภอ ให้ทางอำเภอส่งเรื่องไปทางกรมการปกครอง ท่านอธิบดีกรมการปกครอง จะส่งให้ท่านรัฐมนตรี เพื่อที่จะเซ็นรับรองให้สามารถเดินทางได้ ทำเรื่องวีซ่าและพาสปอร์ตต่อไป”

“การไม่มีสัญชาติเป็นเรื่องราวที่เจ็บปวด ผมจบการศึกษาระดับปริญญาโทก็จริง ก็ยังไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน ซึ่งเป็นใบเบิกทางในการเข้าถึงสิทธิ เข้าถึงสวัสดิการ เเละเป็นใบเบิกทางในการทำในคุณภาพชีวิตดีขึ้น ต้องขอบคุณเครือข่ายการเเก้ไขปัญหาคืนสัญชาติคนไทย 4 จังหวัด ที่ทำให้พี่น้องรวมตัวกันในการพัฒนาคุณภาพชีวิต ในทุกๆด้าน สุขภาพ อาชีพ การเข้าถึงสิทธิ บัตรประชาชนไม่ใช้คำตอบสุดท้าย ผมจะสู้จนกว่าจะได้สิทธิและเสรีภาพ” โชไอซ์กล่าว

จากการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 29 ตุลาคม 2567 มีมติอนุมัติ หลักเกณฑ์เพื่อเร่งรัดการแก้ไขปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคลให้แก่บุคคลที่อพยพเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นเวลานานและกลุ่มบุตรที่เกิดในราชอาจักร เพื่อแก้ไขปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคลของเด็ก นักเรียน นักศึกษา และบุคคลไร้สัญชาติที่เกิดในประเทศไทยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มบุคคลที่อพยพเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นเวลานาน และกลุ่มบุตรที่เกิดในประเทศกว่า 483,626 คน ซึ่งการดำเนินการของทั้งสองกลุ่มนั้น หากนับเฉพาะผู้ที่กำลังรอพิจารณากำหนดสถานะ รวมกว่า 483,626 คน หากไม่มีการแก้ไขหลักเกณฑ์คาดว่าจะใช้เวลาถึง 44 ปี ถึงดำเนินการเสร็จสิ้น

สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) จึงเสนอขออนุมัติหลักเกณฑ์เพื่อเร่งรัดการแก้ไขปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคลฯ เพื่อใช้ทดแทนหลักเกณฑ์ตามมติ ครม.เดิม โดยยึดกรอบหลักการเดิม (กลุ่มเป้าหมายเดิม) แต่เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขหลักเกณฑ์เพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปด้วยความรวดเร็ว

โดยมีหลักเกณฑ์ คือ

1. บุคคลที่ได้รับการสำรวจจัดทำทะเบียนประวัติไว้ในอดีต จนถึงปี พ.ศ.2542 (เลขประจำตัวประเภท 6) และที่สำรวจเพิ่มระหว่างปี 2548 – 2554 (เลขประจำตัวประเภท 0 กลุ่ม 89)

2. บุคคลที่อพยพเข้ามาอยู่ภายในปี พ.ศ.2542 เด็กและบุคคลที่กำลังเรียนหรือจบการศึกษาแล้ว คนไร้รากเหง้า และคนที่ทำคุณประโยชน์แก่ประเทศซึ่งเข้ามาอยู่อาศัยภายใน 18 ม.ค.2548 แต่ตกหล่นจากการสำรวจ (เลขประจำตัวประเภท 0 กลุ่ม 00)

3. บุตร ของชนกลุ่มน้อยและกลุ่มชาติพันธุ์ 19 กลุ่ม มีหลักฐานการเกิดในไทยแต่ยังไม่ได้รับสัญชาติ พูดและเข้าใจภาษาไทยกลาง หรือภาษาถิ่นที่ใช้แพร่หลายในพื้นที่ภูมิลำเนา

โดยการขอมีสัญชาติไทยของบุตรบุคคลต่างชาติ : ลดเวลาดำเนินการ จาก 180 วัน เหลือ 5 วัน

1. ยื่นคำขอพร้อมหลักฐาน ใน กทม. ที่ สำนักงานเขต จังหวัดอื่น อำเภอ ตรวจคุณสมบัติ เอกสาร หลักฐาน (1 วัน)

2. พิจารณาอนุญาต (3 วัน)

3. เพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน และทำบัตรประจำตัวประชาชนคนไทย (1 วัน)

เงื่อนไข : หากพบภายหลังว่า ขาดคุณสมบัติ หรือ มีลักษณะไม่เป็นไปตามกำหนด เพิกถอนการอนุญาตได้

เป็นทิศทางที่ดี และชวนติดตามต่อไป ถึงการแก้ไขปัญหาเรื่องสัญชาติและสถานะบุคคลให้แก่บุคคลที่อพยพเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นเวลานานและกลุ่มบุตรที่เกิดในราชอาณาจักร เพื่อแก้ไขปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคลของเด็ก นักเรียน นักศึกษา และบุคคลไร้สัญชาติ จากการการลดระยะเวลา เพิ่มโอกาสให้กับทั้งบุคคลไร้สัญชาติและเยาวชนไร้สัญชาติ ว่าจะมีเส้นทางสู่ความฝัน โอกาสและสัญชาติ และได้ใช้สิทธิอย่างที่ควรจะได้รับอย่างไร


บทความนี้ได้รับการสนับสนุนโดย IOM ผ่านโครงการทุนเพื่อการรายงานข่าวเกี่ยวกับการโยกย้ายถิ่นฐาน

https://prachatai.com/journal/2024/12/111879