วันศุกร์, พฤษภาคม 10, 2567

จับสัญญาณเมียนมา ดูจังหวะก้าว “ทักษิณ” กำลังเล่นบทใดในความขัดแย้งเพื่อนบ้าน


"ใครเป็นนายกฯ ตัวจริง" คือคำถามจาก สส.ฝ่ายค้าน หลังเกิดประเด็นที่นายทักษิณ พยายามมีบทบาทเป็นตัวกลางการเจรจาสันติภาพในเมียนมา

บีบีซีไทย - BBC Thai
10 hours ago
·
เจ้าหน้าที่ของพรรคก้าวหน้าแห่งชาติกะเรนนี (KNPP) ซึ่งเข้าพบปะพูดคุยกับนายทักษิณ ชินวัตร เปิดเผยกับบีบีซี แผนกภาษาพม่าว่า ทักษิณต้องการทราบถึงสถานการณ์ทางการเมืองและกระบวนการต่าง ๆ ในเมียนมา และทาง KNPP ได้สอบถามว่า นายทักษิณจะช่วยเหลืออย่างไรได้บ้าง แต่ทาง KNPP ไม่ได้คาดหวัง เพราะเห็นว่า อดีตนายกฯ ทักษิณ มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐบาลทหารเมียนมา
.
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://bbc.in/3wz3SBi
.....

จับสัญญาณเมียนมา ดูจังหวะก้าว “ทักษิณ” กำลังเล่นบทใดในความขัดแย้งเพื่อนบ้าน

9 พฤษภาคม 2024
บีบีซีไทย

ความเคลื่อนไหวของนายทักษิณ ชินวัตร ที่พบหารทอกับผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเมียนมาหลายกลุ่มเพื่อหวังเป็นตัวกลางการเจรจาสันติภาพระหว่างกลุ่มต่าง ๆ สร้างแรงกระเพื่อมทั้งในประเทศไทยและในเมียนมา ล่าสุด หนึ่งในสมาชิกของกลุ่มชาติพันธุ์ที่พบปะกับนายทักษิณ เปิดเผยความคิดเห็นต่อบีบีซีแผนกภาษาพม่า

รายงานข่าวเมื่อวันที่ 7 พ.ค. ของวีโอเอ ภาคภาษาพม่า ของสหรัฐอเมริกา และบีบีซี แผนกภาษาพม่า ระบุว่า นายทักษิณ ได้พบกับผู้นำฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเมียนมาหลายกลุ่ม ทั้งฝ่ายรัฐบาลเงา และผู้นำกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์

นายทักษิณ ได้พบกับผู้นำของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government - NUG) หรือรัฐบาลเงาของเมียนมา ระหว่างการเยือน จ.เชียงใหม่ เมื่อเดือน มี.ค.-เม.ย. ที่ผ่านมา และยังมีการพบปะกับผู้นำกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union-KNU), พรรคก้าวหน้าแห่งชาติคะเรนนี (Karenni National Progressive Party-KNPP) และองค์การแห่งชาติคะฉิ่น (Kachin National Organization-KNO)

เจ้าหน้าที่ของพรรคก้าวหน้าแห่งชาติกะเรนนี (KNPP) ที่เข้าร่วมการประชุม กล่าวกับบีบีซี แผนกภาษาพม่าว่า นายทักษิณต้องการทราบถึงสถานการณ์ทางการเมืองและกระบวนการต่าง ๆ ในเมียนมา และทาง KNPP ได้สอบถามว่า นายทักษิณจะช่วยเหลืออย่างไรได้บ้าง แต่ทาง KNPP ไม่ได้คาดหวัง เพราะเห็นว่า อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐบาลทหารเมียนมา

"ตั้งแต่สมัยนายพล เน วิน และนายพลตาน ฉ่วย เขา [ทักษิณ] มีสายสัมพันธ์กับคน [นายพล] เหล่านี้ เขาอาจช่วยทางฝ่ายนั้น (ฝั่งทหาร) และหลังจากพบกับกลุ่มชาติพันธุ์ ทักษิณบอกว่าจะเข้าพบมิน อ่อง หล่าย ด้วย และบอกว่ามีความเป็นไปได้ที่จะได้พูดคุย"

ส่วนโฆษกของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติหรือรัฐบาลเงาเมียนมา (NUG) และกลุ่ม KNU ที่เข้าร่วมการประชุมกับนายทักษิณ ไม่ตอบรับการขอสัมภาษณ์จากบีบีซี แผนกภาษาพม่า


นายทักษิณ ชินวัตร และ พลเอกอาวุโส ตาน ฉ่วย ประธานสภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐและนายกรัฐมนตรีเมียนมา ระหว่างการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างไทย-เมียนมา ว่าด้วยความร่วมมือในการควบคุมยาเสพติด เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2544 ปีแรกที่นายทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรี

ทักษิณพูดคุยอะไร และรัฐบาลไทยว่าอย่างไร

รายงานจากสำนักข่าววีโอเอ แผนกภาษาพม่า อ้างแหล่งข่าวอีกคนหนึ่งว่า หนึ่งในผู้ที่นายทักษิณได้พบ คือ พล.อ.ยอดศึก ประธานสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน (Restoration Council of the Shan State) และกองทัพรัฐฉาน (Shan State Army)

รายงานข่าวระบุว่า นายทักษิณแสดงเจตจำนงในการเป็นตัวกลางระหว่างคณะรัฐประหารของเมียนมาและกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ซึ่งต่อสู้กับรัฐบาลรัฐประหารนับตั้งแต่เข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลจากการเลือกตั้งเมื่อเดือน ก.พ. 2021

นายทักษิณ ไดัขออนุญาตเดินทางเข้าไปยังเมียนมา แต่ยังไม่มีการตอบรับจากรัฐบาลทหารเมียนมา โดยวีโอเอ แผนกภาษาพม่า ไม่สามารถยืนยันในเรื่องนี้จากทั้งสองฝ่าย

แต่ปฏิกิริยาของรัฐบาลไทย จากนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศคนใหม่ ดูเหมือนจะไม่สอดคล้องกัน

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ปฏิเสธเมื่อวันที่ 7 พ.ค.ว่า ไม่ทราบถึงการพบกันระหว่างนายทักษิณกับฝ่ายต่อต้านและกลุ่มชาติพันธุ์ในเมียนมา แต่ยืนยันว่า ในภาพรวมประเทศไทยมีความชอบธรรมในการเป็นผู้นำการเจรจาเพื่อให้เกิดสันติภาพในเมียนมา

"ผมไม่ทราบว่า มีการไปเจรจาหรือเปล่า แต่เราเอง กระทรวงต่างประเทศ ฝ่ายความมั่นคงเอง มีการพูดคุยกับทุก ๆ กลุ่ม แต่เป็นเรื่องชั้นความลับ และเป็นเรื่องที่เราไม่อยากเปิดเผย" นายเศรษฐา ระบุ



ส่วนนายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ตอบคำถามผู้สื่อข่าวทำเนียบรัฐบาลในเรื่องนี้ว่า ได้รับทราบข่าวมาเช่นกัน

รมว.ต่างประเทศคนใหม่ของ ครม.เศรษฐา 1/1 ระบุว่า ต้องยอมรับว่า นายทักษิณเป็นคนกว้างขวางและมีเพื่อนฝูงมาก ทางเมียนมาคงเห็นว่านายทักษิณจะสามารถช่วยได้ และยืนยันว่าไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลไทย

"ผมเพิ่งได้ยินจากข่าว อย่างที่บอกเราไม่ได้ยุ่งอะไร เป็นเรื่องของเมียนมาที่จะไปว่ากันเอง ซึ่งเป็นสิทธิของเขา ว่าจะไปปรึกษาหารือใคร ซึ่งอันนี้ไม่เกี่ยวกับรัฐบาล"

ส่วนแนวทางของนายทักษิณจะตรงกับแนวทางของรัฐบาลหรือไม่ นายมาริษกล่าวว่า ทางรัฐบาลก็ดำเนินการในส่วนของอาเซียน ขณะเดียวกันในการช่วยเหลือสิทธิมนุษยชน ไทยก็ดำเนินการต่อไปภายใต้กรอบของอาเซียน

ในขณะที่รัฐบาลไทยออกมาปฏิเสธว่า ไม่มีความเกี่ยวข้องกับความเคลื่อนไหวของนายทักษิณ บีบีซี แผนกภาษาพม่ารายงานว่า รัฐบาลทหารเมียนมาชี้ว่า ไม่ควรมีการกระทำใด ๆ ที่ทำลายผลประโยชน์ของเมียนมา

"เราไม่ควรสนับสนุนกลุ่มก่อการร้าย" พล.ต.ซอ มิน ตุน โฆษกรัฐบาลทหารเมียนมา ระบุ

ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ มีทั้ง “สุ่มเสี่ยง” และ “เป็นบวก”

ดร.ปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการด้านความมั่นคงและการต่างประเทศ กล่าวกับรายการเจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยแลนด์ ทางสถานีโทรทัศน์ MCOT HD เมื่อวันที่ 8 พ.ค. ว่า ความเคลื่อนไหวของนายทักษิณ "ค่อนข้างสุ่มเสี่ยงและล่อแหลม"

เขากล่าวว่า การเจรจาโดยทั่วไปเป็นเรื่องที่ดีหากทำเป็นระบบและสอดประสานทุกภาคส่วน ทั้งการเจรจาอย่างเป็นทางการ กึ่งทางการ และไม่เป็นทางการ แต่การเสริมการเจรจาเข้าไป ควรพิจารณาว่า ทำอย่างไรให้ถูกต้องตามกฎหมาย ต่างชาติไม่สับสน และเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง ซึ่งประเทศไทยต้องตั้งหลักให้ดีทั้งกระทรวงการต่างประเทศ และสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)

ดร.ปณิธาน กล่าวต่อไปว่า บทที่เล่นกันนี้ ทั้งบรูไน อดีตนายกฯ ฮุน เซน ของกัมพูชา รวมทั้งจีนที่เคยดำเนินมาก่อน ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะทหารเมียนมาไม่ยอมลงจากอำนาจ และตอนนี้ทหารก็เตือนมายังไทยแล้วว่า ความสำคัญในเรื่องพลังงานละเลยไม่ได้ การดูแลตามแนวชายแดน มีการรั่วไหลอยู่หลายกรณี และข้อพิพาทเรื่องบริษัทปูนซีเมนต์ของไทยและเมียนมา ประเด็นเหล่านี้ จำเป็นต้องเดินความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการ และไทยต้องมีหัวในการเดินยุทธศาสตร์

ดร.ปณิธานกล่าวว่า หากจะมีเอกชน อดีตนายกรัฐมนตรี หรือเอกอัครราชทูต ไปพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งมีความยืดหยุ่นกว่าก็จริง สามารถทาบทาม ลองเชิงกดดันได้ แต่ต้องมีสัญญาณที่สอดคล้องกันกับการขับเคลื่อนแบบ "กึ่งทางการ" ด้วย

"ถ้าใครจะกระโจนลงมาระหว่างทาง วงอาจจะแตกได้ ถ้าไม่ซักซ้อมกันให้ดี" นักวิชาการด้านความมั่นคง ซึ่งเป็นอดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ระบุ


ชายแดน อ.แม่สอด จ.ตาก และฝั่งตรงข้าม คือ จ.เมียวดี ของเมียนมา

ด้าน รศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช รอง ผอ.สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวกับรายการเจาะลึกทั่วไทย ฯ ในวันเดียวกันว่า เบื้องต้นถ้าดูเจตนาในการเข้าไปสร้างสันติภาพในเมียนมา ก็ออกไปในทิศทางเชิงบวก

"ทางการไทย มีแทร็ก[ช่องทางการพูดคุย]เป็นทางการ ส่วนแทร็กที่ไม่เป็นทางการ เป็นธรรรดาที่ต้องอาศัยคนที่มีคอนเนกชันเยอะ ๆ และเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีที่เทน้ำหนักมาที่กิจการพม่า ซึ่งคุณทักษิณ ก็อยู่ใน category (กลุ่ม) นี้ แต่สุดท้ายแล้ว แบบทางการกับแบบที่ 'เป็นอะไรไม่รู้' จะสอดประสานกันแค่ไหน หรือว่าเรื่องนี้ ฝ่ายหนึ่งรู้ ฝ่ายหนึ่งไม่รู้ เป็นเรื่องที่ ทางประเทศไทยเอง องคาพยพโดยรวมต้องประสานกันให้มั่น"

แรงกระเพื่อมในไทย คำถามถึงสถานะทักษิณ “ผู้มีบารมี” และ “นายกฯ ตัวจริง”

ภายหลังนายทักษิณได้รับการพักโทษเมื่อเดือน ก.พ. ถนนทุกสาย ทั้งในพรรคเพื่อไทย (พท.) ที่บุตรสาวมีสถานะเป็นหัวหน้าพรรคคนปัจจุบัน และรัฐบาลดูเหมือนจะต่อสายตรงไปยังอดีตนายกฯ ผู้นี้ ความเคลื่อนของนายทักษิณ ที่เดินทางไปยังจังหวัดต่าง ๆ มักจะมีข้าราชการระดับสูงในจังหวัด และนักการเมือง ห้อมล้อม

ทว่า ความเคลื่อนไหวของเขาในการไปพบปะกับกลุ่มชาติพันธุ์ในเมียนมา ถือเป็นครั้งแรกที่บทบาทของเขาก้าวไปสู่ประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร แสดงความกังวลว่า สิ่งที่นายทักษิณดำเนินการนั้นจะสร้างความสับสน ต่อบทบาทประเทศไทยในการสร้างสันติภาพในเมียนมา เพราะนายทักษิณไม่มีตำแหน่งใดในรัฐบาล และรัฐบาลไม่ได้มอบหมายให้ในฐานะตัวแทนรัฐไทยไปดำเนินการ

นายรังสิมันต์กล่าวว่า สนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นคนกลางเพื่อสร้างสันติภาพในเมียนมา แต่ควรเป็นไปในกลไกที่ถูกต้องและมีความชอบธรรม แต่กรณีของนายทักษิณนั้นไม่รู้เป็นมาอย่างไร ไปเจรจาต่าง ๆ ได้อย่างไร และการที่นายทักษิณไม่มีตำแหน่งใดในรัฐบาล ทำให้ไม่มีกลไกกำกับความสัมพันธ์ หากนายทักษิณเจรจารับคำ เหมือนกับผูกพันรัฐบาลด้วย จะทำให้เป็นปัญหาในเชิงการทำงานและการตรวจสอบ

ประธาน กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐฯ กล่าวต่อไปว่า ท่าทีของรัฐบาลต่อกรณีของนายกทักษิณ ที่นายเศรษฐา และ นายมาริษแสดงในลักษณะปัดความรับผิดชอบ ไม่รับรู้ จะเป็นปัญหาได้ในเรื่องภาวะผู้นำตัวจริงของรัฐบาล

"เมื่อรัฐบาลไม่ปฏิเสธสิ่งที่นายทักษิณทำ เท่ากับเพิ่มพลังของนายทักษิณทำให้การเจรจาที่ทำนั้น ไม่แตกต่างอะไรจากการเจรจาของรัฐบาล ซึ่งจะส่งผลให้ลดภาวะผู้นำของนายกฯ ลงไป อีกทั้งเมื่อไม่ปฏิเสธชัดเจน ถือเป็นปัญหาที่น่าปวดหัวว่าใครคือ นายกฯ ตัวจริง ใครคือผู้มีอำนาจตัดสินใจ" นายรังสิมันต์ ระบุ


เศรษฐา ทวีสิน โพสต์ภาพเข้าอวยพรนายทักษิณ เนื่องในเทศกาลปีใหม่ไทย บนแพลตฟอร์ม "เอ็กซ์" ของเขาเอง

ด้านนายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของนายทักษิณเช่นกัน

เขาระบุว่า ไม่ทราบ และไม่ทราบว่าจริงหรือไม่ แต่หากจริง นายสุทินมองว่า ไม่ใช่เรื่องเสียหายถือเป็นเรื่องดีการแก้ไขปัญหาในอดีตหลายประเทศที่มีปัญหากันบางครั้งไม่ได้จบระดับไตรภาคีหรือทวิภาคี แต่จะจบด้วยเอกชนหรือคนนอกบางคน ไปเป็นตัวกลาง คนที่มีบารมีก็อาจจะไปช่วยพูดคุย ก็อาจจะจบได้

เมื่อถามว่า พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย รับทราบด้วยหรือไม่เพราะตามมารยาทการช่วยเจรจา คู่กรณีต้องเห็นพ้อง นายสุทิน ระบุว่า "ผมไม่ทราบ แต่ถ้าท่านทำจริง ผมเชื่อว่า [เมียนมา] ต้องรู้ทุกระดับ เพราะท่าน [ทักษิณ] เป็นคนมีบารมีไม่ใช่คนที่ไม่มีบารมี เป็นอดีตนายกฯ หากคิดจะทำอย่างนั้นคงจะคุยตั้งแต่หัวถึงหางจนจบ" รมว.กลาโหม กล่าว

ไทยกับการเป็นตัวกลางคลี่คลายความขัดแย้งเมียนมา

รศ.ดร.นฤมล ทับจุมพล หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญด้านการย้ายถิ่นและการพัฒนา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวกับบีบีซีไทยว่า การแสดงบทบาทของนายทักษิณ ซึ่งเป็นอดีตผู้นำทางการเมืองและนักธุรกิจ และเป็นอดีตผู้นำประเทศที่เปิดความสัมพันธ์แบบปกติกับรัฐบาลเมียนมา ต้องแยกบทบาทให้ชัดเจนออกจากบทบาทของรัฐบาลไทย

ผู้เชี่ยวชาญด้านเมียนมาจากจุฬาฯ กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่น่าสนใจคือ การเจรจาย่อมดีกว่าการไม่เจรจา เพราะในแง่ของสถานการณ์สงคราม มีแต่สร้างความสูญเสีย ดังนั้น หากใครมีความพยายามหรือมีการริเริ่มที่จะคุยกับฝ่ายกองทัพเมียนมา หรือฝ่ายกลุ่มต่อต้าน ไม่ว่าจะเป็นกองกำลังชาติพันธุ์หรือรัฐบาลเงา ก็นับว่าดีกว่า

"คิดว่าทักษิณ ก็อาจจะมีความพยายามก็ได้ว่าจะทำยังไงที่จะเปลี่ยนการสู้รบมาสู่การเจรจา เพียงแต่ว่าโจทย์มันไม่ได้ง่ายขนาดนี้ และเรายังไม่เห็นตัวแสดงกลุ่มอื่น เรายังไม่เห็นจีนที่ยังไม่รู้ว่าจะพูดอะไร หรือสหรัฐฯ ที่มีการกดดันอีกรูปแบบหนึ่ง หรืออินเดีย หรือญี่ปุ่น ก็อาจจะมีก็ได้ เพียงแต่ว่าเขาอาจจะไม่เอิกเกริก"



ขณะที่ อ.ดร.ศิรดา เขมานิฏฐาไท อาจารย์ประจำสำนักวิชาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวกับบีบีซีไทยว่า ประเทศไทยมีศักยภาพในการเป็นตัวกลางในการพูดคุยสันติภาพภายในเมียนมาได้อยู่แล้ว เนื่องจากมีความสัมพันธ์กับกลุ่มต่าง ๆ เมียนมาไม่ว่าจะฝ่ายใดในทุกระดับ ทั้งระดับที่เป็นทางการ และไม่เป็นทางการ อีกทั้งไทยยังเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของการเมืองเมียนมา ไทยได้รับผลกระทบโดยตรงจากการสู้รบบริเวณชายแดน ไม่ว่าด้านความมั่นคง ด้านเศรษฐกิจ และการย้ายถิ่นฐานระหว่างประเทศ

"แม้ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารพม่าเห็นว่ารัฐไทยเรามีความสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาลทหาร แต่เขาอยากมีความสัมพันธ์กับทางการไทย อยากให้ไทยมีบทบาทสำคัญในการพูดคุยสันติภาพหรือการแก้ไขปัญหาการเมืองของเมียนมา พร้อมให้ความไว้วางใจไทย เพราะแต่ละตัวแสดงในเมียนมาล้วนมีความสัมพันธ์กับประเทศไทยทางใดทางหนึ่ง และฝ่ายต่อต้านส่วนมากเองก็รู้สึกขอบคุณประเทศไทยในฐานะที่เราเป็นประเทศผู้รับผู้ลี้ภัยและผู้หนีภัยทางการเมืองด้วย นี่เป็นโอกาสของประเทศไทยในการแสดงบทบาทนี้"

ความเคลื่อนไหวของฮุน เซน

อีกด้านหนึ่งเมื่อวันอังคาร สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า สมเด็จอัครมหาเสนาบดี เดโช ฮุน เซน ประธานคณะองคมนตรีกัมพูชา และอดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ได้พูดคุยกับ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา ผ่านวิดีโอคอล โดย สมเด็จฮุน เซน ได้ร้องขอให้ผู้นำทหารเมียนมาอนุญาตให้ เขาติดต่อพูดคุยโดนตรงกับนางออง ซาน ซู จี อดีตที่ปรึกษาแห่งรัฐ ผ่านวิดีโอคอล โดยในเฟซบุ๊กทางการของสมเด็จ ฮุนเซน ได้โพสต์ภาพและวิดีโอระหว่างการพูดคุยกับ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย

สมเด็จฮุน เซน อ้างว่า พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย รับคำขอของฮุน เซน ไว้พิจารณาเป็นพิเศษ และกัมพูชาจะส่งผู้แทนพิเศษไปยังเมียนมาด้วย

รอยเตอร์รายงานว่า ปัจจุบัน สมเด็จฮุน เซน ไม่ได้มีบทบาทเป็นตัวกลางอย่างเป็นทางการในการเจรจายุติความขัดแย้งในเมียนมาภายหลังรัฐประหาร และไม่มีความชัดเจนว่าเหตุใดเขาจึงต้องการติดต่อกับนาง ออง ซาน ซูจี โดยรอยเตอร์ไม่สามารถขอคำชี้แจงจากรัฐบาลทหารเมียนมาต่อเรื่องนี้

นางออง ซาน ซู จี ถูกจับกุมระหว่างการรัฐประหารเมื่อปี 2021 และถูกพิพากษาจำคุก 27 ปีในหลายข้อหา แต่ปัจจุบัน ไม่แน่ชัดว่าเธอถูกคุมขังไว้ที่ใด โดยทนายความและครอบครัวระบุว่า พวกเขาไม่สามารถติดต่อกับอดีตผู้นำเมียนมาหญิงรายนี้ได้ ขณะที่ทหารเมียนมาระบุว่า นางออง ซาน ซู จี อยู่ระหว่างกระบวนการรับโทษ


การพบปะของอดีตสองผู้นำเมื่อปี 2019

https://www.bbc.com/thai/articles/c72py4dkkvgo