
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
17 hours ago
·

.
.
วันที่ 2 ก.ค. 2568 ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ทนายความเข้าเยี่ยม “แอมป์” ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา นักกิจกรรมผู้ถูกคุมขังในคดีมาตรา 112 หลังศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำคุก 1 ปี 7 เดือน จากคดีปราศรัยในการชุมนุม #นับ1ถึงล้านคืนอำนาจให้ประชาชน บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2564
.
การพบกันครั้งนี้บทสนทนาพูดถึงการติดตามร่างกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชนที่คาดว่าอาจจะเข้าสู่การประชุมสภาในวันที่ 9 ก.ค. 2568 รวมไปถึงเรื่องราวทางการเมืองอื่น ๆ โดยเฉพาะความหวาดหวั่นต่อการใช้อำนาจตุลาการภิวัฒน์ที่อาจนำไปสู่สถานการณ์การเมืองที่แย่กว่าที่เป็นอยู่
.
แอมป์เปิดเผยเรื่องราวที่ยังไม่ค่อยถูกเล่าถึง เกี่ยวกับอาการทางดวงตาข้างซ้ายที่เป็นโรค 'จอตาลอก' ตั้งแต่ช่วงปี 2563 ก่อนการชุมนุมเยาวชนปลดแอก ผ่านการรักษาที่ยาวนานและซับซ้อน ปัจจุบันตาซ้ายมองเห็นได้เพียง 30% ส่งผลถึงมุมมองของดวงตาอยู่บ้าง แต่ก็สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ
.
ในภาพรวม การเยี่ยมครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงจิตใจที่เข้มแข็งของแอมป์ แม้จะต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพและการถูกคุมขังมาแล้ว 209 วัน แอมป์ยังคงติดตามสถานการณ์การเมืองอย่างใกล้ชิดและมองโลกในแง่บวก
_______________________________
บทสนทนาเริ่มต้นด้วยเรื่องเล่าเกี่ยวกับสภาพอากาศที่ครึ้มเศร้า “ช่วงนี้ฝนตกบ่อย แต่ตกปรอย ๆ ทุกวัน อากาศมันครึ้ม ทำให้อึดอัด” แอมป์เล่าด้วยน้ำเสียงสงบ แต่ก็รีบเสริมว่าร่างกายยังปกติอยู่
.
แต่ปัญหาสุขภาพที่มีอยู่เดิม ก็ยังคงอยู่ ความดันโลหิตยังคงค่อนข้างสูง แม้จะกินยาสม่ำเสมอแล้ว ตัวเลขยังคงค้างอยู่ที่ 140 “ไม่หลุดจากเลขสี่สักที” แอมป์พูดพร้อมหัวเราะน้อย ๆ
.
การสนทนาเลื่อนไปสู่การอัปเดตข่าวสารการเมืองภายนอก เรื่องที่แพทองธาร ชินวัตร ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี และเรื่องการชุมนุมเมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2568 ที่ผ่านมา “ท่าทีตำรวจค่อนข้างเป็นมิตรกว่าช่วงม็อบเยาวชน” แอมป์เล่าผ่านสังเกตการณ์ “กระแสสังคมที่ไม่ได้มีปัญหากับการมีม็อบ แต่ดูสังคมส่วนหนึ่งกังวลเรื่องการรัฐประหารมากกว่า”
.
เขาเล่าต่อด้วยความเป็นห่วงว่า จะมีการฉกชิงสถานการณ์ไปเป็นข้ออ้างในการรัฐประหาร และเขายังกังวลถึงประเด็นตุลาการภิวัฒน์ ที่ศาลใช้อำนาจรุกล้ำทางการเมืองมากเกินไป โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญ ที่มักสร้างจุดเปลี่ยนทางการเมืองเรื่อยมา “เหมือนรัฐประหารเงียบ ซึ่งน่ากลัวขึ้นไปอีก”
.
การสนทนาเลื่อนไปสู่ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชน ซึ่งคาดหมายเข้าสู่การประชุมสภาในวันที่ 9 ก.ค. แอมป์ถามย้ำถึงวันที่อย่างละเอียด พร้อมบอกว่าอยากให้ติดตามมาเล่าให้ฟังต่อไป และเขาหวังว่าร่างกฎหมายจะผ่านไปทุกร่างก่อนในวาระ เขายังสนใจเรื่องราวคดีทางการเมืองของเพื่อนคนอื่น ๆ ในช่วงนี้ด้วย
.
ความหงุดหงิดปรากฏชัดเจน เมื่อแอมป์รับทราบข่าวการสั่งห้ามนำเหตุการณ์ในห้องพิจารณาคดี 112 ออกมาเผยแพร่ “เป็นเรื่องที่ฟังแล้วหงุดหงิด เรื่องเกี่ยวกับการเมืองนี้ควรได้รับการพิจารณาอย่างเปิดเผย กรณีแบบนี้เป็นเรื่องเกินไปหรือเปล่า ถ้ายังมาห้ามยิบห้ามย่อยแบบนี้ ต่อไปจะห้ามเผยแพร่คำพิพากษาเลยไหม”
.
ช่วงท้ายของการเยี่ยม แอมป์เล่าเรื่องราวส่วนตัวที่ไม่ได้เล่ามาก่อน คือเรื่องดวงตาข้างซ้ายที่มีอาการโรค ‘จอตาลอก’ เขาบอกว่าเริ่มเป็นตั้งแต่ช่วงปี 2563 ก่อนที่จะมีการชุมนุมเยาวชนปลดแอก เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2563
.
“ที่ผ่านมาไม่ได้เล่าให้ฟังเพราะอาจจะชิน และบางทีอยู่กับมันจนไม่ได้รู้สึกลำบากอะไร” แอมป์กล่าวด้วยท่าทีปกติ ก่อนจะเล่าถึงการรักษาที่ยาวนานและซับซ้อน เริ่มต้นจากการใช้สิทธิบัตรทองที่โรงพยาบาลแถวฝั่งธนบุรี แต่ไม่สามารถรักษาได้ จนได้รับการส่งต่อมารักษาที่โรงพยาบาลศิริราช ในช่วงที่ภูมิร่างกายตกต่ำ จึงต้องผ่าตัดและนอนโรงพยาบาลประมาณครึ่งเดือน
.
การผ่าตัดครั้งแรกเป็นการใส่ซิลิโคนดันไว้เพื่อไม่ให้แผลปริ จากนั้นจึงผ่าตัดครั้งที่สองเอาซิลิโคนออกแล้วอัดอากาศเข้าไป เพื่อให้มีช่องว่างระหว่างตาและให้แผลปิดสนิท “หมอบอกว่าจะไม่ได้เป็นการรักษาเพื่อให้ตากลับมาดีดังเดิมได้ แต่เป็นการรักษาเพื่อให้อาการของโรคไม่หนักไปมากกว่านี้” แอมป์อธิบายด้วยความเข้าใจในสถานการณ์ของตนเอง
.
ปัจจุบันตาซ้ายมองเห็นได้เพียง 30% แต่ไม่ได้กระทบต่อการใช้ชีวิตมากนัก เพียงแต่อัตราการมองเห็นหรือทัศนวิสัยการมองเห็นฝั่งซ้ายจะไม่ค่อยชัด “ผมยังคงอ่านหนังสือ และทำกิจกรรมได้ตามปกติ ทุกคนไม่ต้องกังวล” แอมป์กล่าวปิดท้ายฝากถึงเพื่อน ๆ ที่รับรู้เรื่องนี้
https://tlhr2014.com/archives/76554