
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
20 hours ago
·
กุญแจเท้าและโซ่ตรวน: เมื่อข้อยกเว้นกลายเป็นความปกติ - ทบทวนปัญหาการใช้เครื่องพันธนาการและข้อเรียกร้องของ “ธงชัย วินิจจะกูล” ก่อนศาลอาญานัดไต่สวน
.
.
ในวันที่ 21 ก.ค. 2568 เวลา 9.00 น. ศาลอาญานัดให้มีการไต่สวนคำร้องของ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ธงชัย วินิจจะกูล พร้อมกับมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ขอให้ไต่สวนเพื่อยุติการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม ต่อ อานนท์ นำภา ทนายความและนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน หลังจากพบเห็นอานนท์ปรากฏตัวที่ศาลโดยมีกุญแจเท้าและโซ่ตรวนล่ามอยู่บ่อยครั้งเมื่อต้องมาศาลทั้งในฐานะจำเลยและทนายความ โดยเป็นการยื่นคำร้องตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565
.
ภาพผู้ต้องขังแต่ละคนที่ถูกคุมตัวมาโดยเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ มีกุญแจเท้าและโซ่ตรวน พร้อมกับเดินเท้าเปล่าเช่นนี้ อาจเป็นภาพที่แสนปกติคุ้นตาที่พบเห็นได้ทั่วไป หากผู้ใดมีโอกาสได้เดินทางไปศาลเพื่อเข้าร่วมรับฟังการสืบพยานหรือฟังคำพิพากษาในคดีอาญาต่าง ๆ
.
ทว่า ภาพที่ดูแสน “ปกติ” คุ้นตา และถูกทำให้เป็นเรื่องอันคุ้นชิน แท้จริงกลับควรเป็น “ข้อยกเว้น” ตามกฎหมาย ที่จะนำกุญแจข้อเท้าและโซ่ตรวนที่พันธนาการผู้ต้องขังมาใช้ได้เมื่อมีเหตุอันสมควรเท่านั้น
.
ก่อนการไต่สวนนัดนี้ ซึ่งมูลนิธิผสานวัฒนธรรมเปิดเผยว่า จะมีผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน, คณะกรรมการแห่งชาติตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ, นักวิชาการด้านกฎหมาย และอานนท์ นำภา มาเป็นพยานในนัดนี้ ชวนทบทวนหลักกฎหมายว่าด้วยการสวมใส่เครื่องพันธนาการและหลักการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ต่อผู้ต้องขัง และทบทวนข้อเรียกร้องของ ธงชัย วินิจจะกูล
.
.

.
พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 ฉบับที่ใช้ในปัจจุบัน มาตรา 21 บัญญัติว่า ห้ามใช้เครื่องพันธนาการแก่ผู้ต้องขัง แต่ก็มีเหตุยกเว้นไว้เฉพาะในกรณี
.
(1) ผู้ต้องขังมีพฤติการณ์ที่จะทำอันตรายต่อชีวิตหรือร่างกายของตนเองหรือผู้อื่น
(2) ผู้ต้องขังมีพฤติกรรมหรืออาการส่อว่าเป็นบุคคลวิกลจริต หรือจิตไม่สมประกอบซึ่งอาจทำอันตรายต่อชีวิตหรือร่างกายของตนเองหรือผู้อื่น
(3) ผู้ต้องขังมีพฤติการณ์ที่จะหลบหนีการควบคุม
(4) เมื่อผู้ต้องขังถูกคุมตัวไปนอกเรือนจำและเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้มีหน้าที่ควบคุมเห็นเป็นการสมควรที่จะต้องใช้เครื่องพันธนาการ
(5) เมื่ออธิบดีสั่งว่าเป็นการจําเป็นต้องใช้เครื่องพันธนาการ เนื่องจากสภาพของเรือนจําสภาพของท้องถิ่น หรือเหตุจําเป็นอื่น
.
จะเห็นได้ว่าใน พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ ได้มีการบัญญัติห้ามใช้เครื่องพันธนาการแก่ผู้ต้องขัง โดยกรณีที่จะใช้ได้นั้น ก็บัญญัติไว้โดยมีสถานะเป็น “ข้อยกเว้น” ที่จะต้องมีกรณีอันเป็นเหตุจำเป็นจริง ๆ แต่ในแนวปฏิบัติที่พบเห็นได้ทั่วไปในปัจจุบันนั้น ข้อยกเว้นดังกล่าวกลับกลายมาเป็นแนวทางปฏิบัติปกติ ในการควบคุมตัวผู้ต้องขังทุกคนออกมานอกเรือนจำโดยมีการใส่เครื่องพันธนาการเป็นการทั่วไป โดยมีการอ้างถึงเพื่อความสะดวกของเจ้าหน้าที่ โดยไม่ได้คำนึงถึงความเหมาะสมตามกรณีดังที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย
.
นอกจากนี้ ใน พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ มาตราดังกล่าว ยังบัญญัติให้ผู้บัญชาการเรือนจําแต่ละแห่งกําหนดตัวพัศดีผู้มีอํานาจสั่งให้ใช้เครื่องพันธนาการแก่ผู้ต้องขัง และให้บันทึกเหตุผลหรือความจําเป็นที่ต้องใช้เครื่องพันธนาการกับผู้ต้องขังนั้นไว้ด้วย แต่สภาพความเป็นจริงที่นำข้อยกเว้นมาเป็นแนวปฏิบัติปกติเช่นนี้ กลับกลายทำให้ภาระหน้าที่ตกไปอยู่ที่ผู้ต้องขังและทนายความเองที่จะต้องทำเรื่องร้องเป็นกรณี ๆ ว่ามีเหตุผลใดที่ทำให้ไม่มีความจำเป็นในการใส่ตรวน
.
.

.
พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ ได้กำหนดกรณียกเว้นที่จะให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการใช้เครื่องพันธนาการได้ หากผู้ต้องขังมีพฤติการณ์ที่จะหลบหนีการควบคุม แต่กลับกลายเป็นว่าเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้ทำการเหมารวมผู้ต้องขังทั้งระบบว่าอาจมีพฤติการณ์หลบหนี จึงได้มีการใส่เครื่องพันธนาการกับผู้ต้องขังทุกคนเมื่อต้องออกมานอกเรือนจำ
.
การเหมารวมว่าผู้ต้องขังทุกคนจะหลบหนี ได้สร้างแนวปฏิบัติทั่วไปที่ไม่ปกติขึ้นมา โดยอิงกับความสะดวกของเจ้าหน้าที่ในการดูแลควบคุมตัว ลดขั้นตอนการที่เจ้าหน้าที่จะต้องทำบันทึกเหตุผลเป็นรายกรณีไปว่าผู้ใดมีพฤติการณ์หลบหนี และพฤติการณ์เช่นว่านั้นเป็นอย่างไร
.
กรณีอานนท์ นำภา นอกจากจะไม่พบพฤติการณ์ที่ส่อว่าจะหลบหนีแล้ว ยังมีการสื่อสารในช่องทางต่าง ๆ และผ่านทางจดหมายว่าตนไม่มีความประสงค์จะลี้ภัย และยังเคยทำการถอนประกันตัวเอง เพื่อแสดงเจตจำนงว่าจะยืนหยัดสู้ต่อไปแม้จะอยู่ในเรือนจำ ก็ยิ่งทำให้เห็นชัดเจนว่า อานนท์ นำภา นั้น ไม่มีพฤติการณ์ที่จะหลบหนีแต่อย่างใด ดังนั้น การใช้เครื่องพันธนาการกับอานนท์จึงเป็นแนวปฏิบัติแบบเหมารวมมากกว่าที่จะพิจารณาถึงพฤติการณ์จริง ๆ ของผู้ต้องขัง
.
.

.
นอกจากกุญแจเท้าและโซ่ตรวนแล้ว การที่ผู้ต้องขังที่ถูกควบคุมตัวมาจากเรือนจำในเท้าเปล่าก็เป็นอีกหนึ่งภาพที่พบเห็นได้บ่อยครั้ง ไม่เพียงแต่ อานนท์ นำภา เท่านั้น แต่ผู้ต้องขังทั่วไปที่ถูกควบคุมตัวมาศาล ก็มาในสภาพที่ไม่ได้สวมรองเท้าเช่นกัน
.
ธงชัย ตั้งข้อสังเกตว่า ใน พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ รวมไปถึงระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมตัวผู้ต้องขัง ไม่มีการบัญญัติถึงการห้ามสวมรองเท้าในห้องพิจารณาคดีแต่อย่างใด แนวปฏิบัติที่ไม่มีเหตุผลรองรับเช่นนี้ เป็นส่วนหนึ่งในการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องขัง
.
หนึ่งในหลักการพื้นฐานของข้อกำหนดแมนเดลา (Nelson Mandela Rules) ซึ่งเป็นข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง ได้กำหนดไว้ว่า ผู้ต้องพึงต้องได้รับการปฏิบัติด้วยความเคารพต่อศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นมนุษย์
.
.

.
ธงชัย ในฐานะนักประวัติศาสตร์ ชวนมองว่า ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการยกเลิกการสอบสวนและลงโทษแบบจารีตนครบาลเมื่อ พ.ศ. 2439 ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติที่โหดร้ายป่าเถื่อน มีโทษที่รุนแรง เช่น โทษตัดตีนมือ จำโซ่ตรวน เฆี่ยนด้วยลวดหนัง โทษประจาน แห่รอบตลาด ฯลฯ และได้พัฒนาแนวปฏิบัติทางราชทัณฑ์เรื่อยมาโดยอิงแนวคิดที่จะคืนศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ให้กับผู้ต้องขัง
.
แม้กระทั่ง พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2479 ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับแรกเกี่ยวกับราชทัณฑ์ของไทย ก็ยังได้มีการบัญญัติถึงข้อห้ามในการใช้เครื่องพันธนาการไว้ โดยมีข้อยกเว้นบางกรณี ซึ่งในส่วนนี้มีเนื้อหาสอดคล้องกับ พ.ร.บ. ราชทัณฑ์ฉบับปัจจุบัน ซึ่งคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องขังมากขึ้น
.
การใส่ตรวนหรือกุญแจเท้ากับผู้ต้องขังอย่างเป็นปกตินั้น ไม่เพียงแต่ขัดต่อ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ เท่านั้น แต่ยังขัดกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 4, 25, 28 ที่ให้ความคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในร่างกายของประชาชน รวมไปถึงขัดต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 14 อีกด้วย
.
แนวทางปฏิบัติราชทัณฑ์สมควรต้องพัฒนาไปในแนวทางที่ลดทอนความโหดร้าย คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แต่แนวทางปฏิบัติของราชทัณฑ์ในปัจจุบันกลับสวนทาง คำนึงถึงความสะดวกในการทำดำเนินงานมากกว่าศักดิ์ศรีของผู้ต้องขัง ทำสภาวะยกเว้นให้กลายเป็นสภาวะปกติ ซึ่งสมควรต้องปรับปรุงแก้ไขอย่างเร่งด่วน
.
.

.
พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 มาตรา 26 มีเนื้อหาว่า เมื่อมีการอ้างว่าบุคคลใดถูกกระทำทรมาน ถูกกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สามารถมีการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อมีคำสั่งให้ยุติการกระทำเช่นนั้นทันที โดยผู้ยื่นสามารถเป็นบุคคลอื่นใดที่ยื่นเพื่อประโยชน์ของผู้เสียหาย
.
กฎหมายกำหนดให้เมื่อได้รับคำร้อง ให้ศาลไต่สวนฝ่ายเดียวโดยพลัน โดยให้ศาลมีอำนาจเรียกเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือบุคคลใดมาให้ถ้อยคำหรือส่งเอกสารประกอบการไต่สวนได้
.
จึงเป็นเหตุเมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2568 ธงชัยได้ยื่นขอให้ศาลทำการไต่สวนเจ้าหน้าที่ผู้ควบคุม อานนท์ นำภา ว่ามีเหตุผลอย่างไรจึงจำเป็นต้องใส่เครื่องพันธนาการในกรณีนี้ ซึ่งเป็น “ข้อยกเว้น” ตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 รวมไปถึงให้มีการทบทวนการใส่เครื่องพันธนาการต่อผู้ต้องขังโดยทั่วไปอีกด้วย
.
ศาลอาญาสั่งให้มีการไต่สวนกรณีดังกล่าวในวันที่ 21 ก.ค. 2568 หลังจากการยื่นคำร้องหลายกรณีก่อนหน้านี้ ศาลสั่งยกคำร้องโดยไม่ได้ให้มีการไต่สวน โดยศาลเห็นไปในลักษณะที่ว่าการใช้เครื่องพันธนาการ เป็นไปตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 21 (4) ไม่ถือว่าเป็นการกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จึงไม่มีเหตุที่ศาลจะมีคำสั่งยุติการกระทำดังกล่าว
.
ธงชัย ย้ำว่าการเรียกร้องในครั้งนี้ ไม่ใช่เป็นการให้อภิสิทธิ์แก่อานนท์แต่เพียงผู้เดียว ไม่ใช่เป็นการทำให้อานนท์มีสถานภาพผู้ต้องขังที่เหนือกว่าผู้อื่นแต่อย่างใด แต่เป็นคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์แก่ผู้ต้องขังทุกคน โดยหากการไต่สวนพบว่าการใส่เครื่องพันธนาการในกรณีอานนท์เป็นการกระทำที่ไม่สมควร ไม่เข้าข่าย “ข้อยกเว้น” ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย ก็อาจส่งผลต่อแนวปฏิบัติต่อผู้ต้องขังทุกคนของราชทัณฑ์ ให้กลับไปใช้แนวทางปกติที่คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย
.
.

https://tlhr2014.com/archives/76949