วันอังคาร, กรกฎาคม 01, 2568

“ต้องชำระประเทศ”: ถ้าจะสรุปแนวคิดพวกม็อบหมื่นปี อันนี้ชัดเจนที่สุด ใช้ศาลองค์กรอิสระถอดนายกฯ ใช้ ม.144 ล้าง สส. สว. แล้วใช้ “มาตรา 5 ก่อนเลือกตั้ง”


Atukkit Sawangsuk
20 hours ago
·
ถ้าจะสรุปแนวคิดพวกม็อบหมื่นปี อันนี้ชัดเจนที่สุด
ใช้ศาลองค์กรอิสระถอดนายกฯ ใช้ ม.144 ล้าง สส. สว.
แล้วใช้ “มาตรา 5 ก่อนเลือกตั้ง”
มันบ้าแหละแต่มันคิดกันอย่างนี้ เลี่ยงการเรียกหารัฐประหารเพราะรู้ว่าประชาชนไม่เอาแล้ว

The Publisher
Yesterday
·
“ต้องชำระประเทศ”:
ไม่ใช่รัฐประหาร แต่คือการรีเซ็ตผ่านรัฐธรรมนูญ
วิเคราะห์ท่าทีม็อบ 28 มิ.ย.68
“ประเทศนี้โกงเห็น ๆ ขายชาติเห็น ๆ จะรอให้ชิบหายไปถึงไหน… วันนี้ประเทศไทยถ้าไม่แก้ปัญหาที่ต้นตอ ไม่ว่าจะเจอรัฐบาลแบบไหน มีรัฐประหารแบบใด ออกนโยบายอย่างไร ได้แค่บรรเทาอาการ รักษาโรคและฟื้นฟูไม่ได้… เชื้อชั่ว ดีเอ็นเอชั่วกระจายไปทั้งแผ่นดิน ไม่ใช่แค่ตระกูลนี้ แต่กระจายไปทั่วหน่วยงานรัฐ ต้องชำระประเทศ!”
— นิติธร ล้ำเหลือ (ทนายนกเขา)

นั่นคือคำปราศรัยที่ชัดเจนว่าวิธีคิดของผู้ที่รวมกลุ่มกันในชื่อ รวมพลังแผ่นดินปกป้องอธิปไตย ไปไกลกว่าคำว่า “รัฐประหาร” ตามที่มีหลายฝ่ายพยายามป้ายสี
แม้จะมีคำพูดของสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตรฯ ในบางประโยคพอจะตีความว่าเอื้อต่อรัฐประหาร เช่น “ไม่ได้ยั่วยุให้รัฐประหาร แต่ถ้าจะทำอย่าเอาพล.อ.มาบริหารประเทศ” แต่หากฟังทั้งบริบท จะเห็นได้ว่า แม้แต่สนธิก็ไม่ได้มองว่ารัฐประหารแบบเดิมที่เอาอำนาจไปฝากไว้ในมือทหารคือคำตอบ
และหากมององค์รวมจากคำปราศรัยในวันที่ 28 มิ.ย. ณ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ จะยิ่งเห็นชัดว่า ปลายทางของม็อบนี้ไม่ใช่รัฐประหาร แต่คือการ “รีเซ็ตระบบ” โดยคืนอำนาจให้ประชาชน ผ่านกลไกที่รัฐธรรมนูญเปิดทางไว้แล้ว
ข้อเสนอหลายประการที่ถูกหยิบยกจากเวทีนี้ ไม่ว่าจะจาก แก้วสรร อติโพธิ, เจษฎ์ โทณะวณิก หรือแม้แต่ จตุพร พรหมพันธุ์ ต่างชี้ให้เห็นถึงความล้มเหลวของระบบการเมือง และการเรียกร้องให้ คืนอำนาจอธิปไตยให้ประชาชน ผ่านการ “จัดการ” กับกลไกที่บิดเบี้ยวเสียก่อน—ไม่ใช่ผ่านรถถัง ไม่ใช่ผ่านการรัฐประหารจากกองทัพ

การรีเซ็ตด้วยรัฐธรรมนูญ: ทางออกที่ถูกพูดชัดจากเวที
หนึ่งในข้อเสนอที่ชัดเจนที่สุดมาจาก รศ.เจษฎ์ โทณะวณิก อดีตที่ปรึกษาคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ที่ชี้ว่า หากสถานการณ์การเมืองไปถึงทางตัน เช่น
• ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้นายกฯ หยุดปฏิบัติหน้าที่
• พรรคร่วมรัฐบาลไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่
• ป.ป.ช. ชี้มูลการใช้งบผิด มาตรา 144 ส่งผลให้ ครม. สภา และวุฒิสภา ถูกกวาดออกจากกระดานอำนาจทั้งหมด
สิ่งที่จะตามมาไม่ใช่รัฐประหาร แต่คือ การเปิดทางให้ กกต. จัดการเลือกตั้งใหม่โดยใช้ “ประเพณีการปกครอง” ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 5
“ผมไม่ได้เรียกร้องปฏิวัติรัฐประหาร ผมไม่ได้เรียกร้องให้มีนายกฯ ในลักษณะอื่น… ถ้าสภาล่มหมดแล้ว เหลือแต่ประชาชน ก็ต้องกลับไปตั้งต้นใหม่ผ่านการเลือกตั้ง… นี่คือประเพณีการปกครองที่อยู่กับเราตั้งแต่ 2475”
— รศ.เจษฎ์ โทณะวณิก
เขาย้ำว่า แม้รัฐธรรมนูญจะไม่มีบทบัญญัติรองรับกรณีสุญญากาศทางอำนาจแบบนี้โดยตรง แต่ มาตรา 5 วรรคสอง ได้วางช่องทางให้ “วินิจฉัยไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ซึ่งไม่ใช่การปฏิวัติ โดย คืนอำนาจให้ประชาชนผ่านการเลือกตั้งภายใต้อำนาจอธิปไตยของประชาชนที่พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจผ่านรัฐบาล รัฐสภาและศาลฯ ไม่ใช่การประเคนอำนาจให้ตัวแทนที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ โฉดเขลาเบาปัญญา ที่ต้องกลับมาตั้งต้นใหม่ซ้ำแล้วซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า

ปฏิรูปไม่พอ ต้องชำระทั้งระบบ?
คำพูดของ ทนายนกเขา ที่บอกว่า “เราบรรเทาได้แต่รักษาโรคไม่ได้” สะท้อนความรู้สึกของผู้คนที่อยู่กับวงจรเลือกตั้ง – ประชานิยม – คอร์รัปชัน-ความขัดแย้ง-รัฐประหาร มาหลายสิบปี ว่า การแก้ปัญหาเป็นเพียงการประคอง แต่ไม่เคยเปลี่ยนต้นตอ
เมื่อเชื้อร้ายไม่ได้จำกัดอยู่ที่ “ตระกูลทักษิณ” แต่กระจายไปในข้าราชการ นักการเมือง กลุ่มทุน องค์กรอิสระ ไปจนถึงกระบวนการยุติธรรม การลุกขึ้นมา “ชำระ” จึงเป็นคำที่ใหญ่กว่านั้น ซึ่งอาจหมายถึงการ “รีเซ็ตระบบ” ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และกฎหมาย ผ่านกระบวนการที่เปิดทางให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง และเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้

รัฐธรรมนูญยังเป็นคำตอบ
กลุ่มรวมพลังแผ่นดินฯ อาจใช้ถ้อยคำรุนแรง โจมตีนักการเมืองด้วยโทนปราศรัยที่คมคายดุดัน แต่สิ่งที่พวกเขาเสนอไม่ใช่การฉีกกติกา หากแต่เป็นการ “เดินให้สุดทางตามกติกา” ตามระบบที่มีอยู่ จนถึงจุดที่ต้องใช้ “มาตรา 5” เพื่อจัดการกับสภาวะสุญญากาศของอำนาจรัฐ โดยมีการย้ำหลายครั้งว่า รัฐประหารก็ไม่ใช่คำตอบ
เพราะการชำระแผ่นดิน ไม่อาจฝากความไว้ใจกับนักการเมือง ไม่อาจฝากความหวังไว้กับรถถัง — เพราะสุดท้ายคือเขาวงกตที่ไม่เคยนำพาประเทศสู่ทางออกที่แท้จริง
สิ่งเดียวที่เหลืออยู่ในกติกา คือ มาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่เพียงเปิดช่องให้การวินิจฉัยอำนาจทำได้ตาม “ประเพณีปกครอง” แต่ยังเป็นช่องทางเดียวที่ประชาชนสามารถ “เริ่มใหม่“ ได้ โดยไม่ต้องพึ่งรถถังหรือฉีกรัฐธรรมนูญ
———-
มีทางออก…แต่ใช่ว่าทุกคนจะยอมรับ
แต่เส้นทางนี้ก็อาจไม่ง่าย เพราะพรรคเพื่อไทยในฐานะผู้ครองอำนาจ ย่อมต้องเหนี่ยวรั้งทุกทางไม่ให้เดินไปสู่จุดนั้น ขณะเดียวกันพรรคประชาชนแม้จะได้เป็นสส.ภายใต้รัฐธรรมนูญนี้ ก็ไม่คอยยอมรับความชอบธรรมของมันอย่างแท้จริง
เส้นทางการเมืองจึงกำลังเข้าสู่ทางแยกสำคัญ ซึ่งอาจนำไปสู่แรงเคลื่อนไหวในทิศทางตรงกันข้าม—ปลุกมวลชนให้ต่อต้านการใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 5 ซึ่งจะเป็นการปะทะทางความคิดระหว่างสองขั้วสังคมที่รุนแรงและเปราะบางยิ่ง
แต่ไม่ว่าจะจบลงอย่างไร สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อจากนี้ คือช่วงเวาท้าทายสำหรับการเมืองไทย ด้วยการตั้งคำถามใหม่ว่า ประชาชนไทยพร้อมจะรีเซ็ตประเทศด้วยมือของตัวเองแล้วหรือยัง?

https://www.facebook.com/baitongpost/posts/23963180873337083