วันจันทร์, มีนาคม 31, 2568

บทเรียนจากเซอร์เบีย ความหายนะในโครงการก่อสร้างโดย “China Railway” นำมาสู่วิกฤตการเมืองในประเทศเซอร์เบีย ไทยจะถึงจุดนั้นหรือไม่ ? แต่คนเหลืออดกับทุนจีนมากขึ้นเรื่อยๆ


Paul Adithep
20 hours ago
·
วิกฤตการเมืองในเซอร์เบีย จากหายนะในโครงการก่อสร้างโดย “China Railway”
เห็นข่าวว่าตึก สตง.บ้านเราที่ถล่มก่อสร้างโดย China Railway No.10 Engineering Group บริษัทลูกของ China Railway Group Limited ก็ทำให้ผมนึกถึงข่าวหลังคาสถานีรถไฟถล่มในเซอร์เบียซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 16 ราย (AP: t.ly/L_zEY) เพราะอุบัติเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นหลังการปรับปรุงอาคารครั้งใหญ่ที่ดำเนินการโดย China Railway International Co.(CRIC) และ China Communications Construction Co. (CCCC) ซึ่ง CRIC ก็เป็นหนึ่งในบริษัทลูกของ China Railway Group เช่นกัน
เหตุการณ์ในเซอร์เบียจริงๆ ก็เพิ่งเกิดเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีก่อนนี่เองครับ ในโครงการปรับปรุงสถานีรถไฟ Novi Sad เมืองใหญ่อันดับสองของเซอร์เบีย ซึ่งสร้างมาตั้งแต่ปี 1964 ส่วนการปรับปรุงอาคารเริ่มต้นตั้งแต่ ตุลาคม 2021 เปิดใช้บริการ มีนาคม 2022 ช่วงที่มีการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งพอดี พอเลือกตั้งเสร็จก็ทำการปรับปรุงต่อในเฟสสอง
บริบทก่อนเหตุหายนะก็คือ Aleksandar Vucic ประธานาธิบดีสายอำนาจนิยมขึ้นมามีอำนาจในปี 2017 ซึ่งอยู่ในช่วงที่จีนกำลังผลักดันโครงหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง เค้าเปิดรับทุนจีนอย่างเต็มที่โดยเฉพาะในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเซอร์เบีย จนกระทั่งจีนกลายเป็นชาติที่ลงทุนในเซอร์เบียมากเป็นอันดับหนึ่งตั้งแต่ปี 2020 และยิ่งเกิดสงครามยูเครน การพัฒนาเส้นทางรถไฟจากท่าเรือในกรีซไปถึงฮังการีผ่านเซอร์เบียยิ่งมีความสำคัญอย่างมากในการส่งสินค้าจีนเข้าไปยังยุโรป (Nikkei: t.ly/hmnVa)
แต่ทุนจีนก็สร้างความกังวลให้กับหลายฝ่ายโดยเฉพาะปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมและความโปร่งใส เนื่องจากทุนจีนมักจะหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศที่ตัวเองไปลงทุน และโครงการปรับปรุงสถานีรถไฟ Novi Sad ก็เจอปัญหานี้ตั้งแต่ยังไม่ทันเกิดโศกนาฎกรรม
ด้วยโครงการดังกล่าวถูกทำให้เกี่ยวพันกับการเมือง เพราะนักการเมืองในตำแหน่งนำมาใช้ประโยชน์ในการหาเสียง สื่อท้องถิ่นเค้าก็เลยถามหาเอกสารสัญญาที่ทำระหว่างรัฐบาลกับทุนจีน กระทรวงคมนาคมบอกว่า ได้แจ้งไปทางทุนจีนแล้ว แต่ทุนจีนตอบกลับมาว่า พวกเค้าไม่จำเป็นต้องเปิดเผยรายละเอียดของสัญญาจนกว่าการก่อสร้างจะเสร็จสิ้น ซึ่งทำให้สื่อเซอร์เบียงงไปเลยเพราะนั่นไม่ใช่ข้อยกเว้นตามกฎหมายข้อมูลสาธารณะของเซอร์เบีย (The Geopost: t.ly/hmnVa)
จนกระทั่งมาเกิดโศกนาฏกรรมในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2024 เหตุการณ์นี้สร้างความไม่พอใจให้กับชาวเซอร์เบียเป็นอย่างมาก มันถูกขนานนามว่าเป็นการฆาตกรรมจากการคอร์รัปชั่น ซึ่งทางทุนจีนออกมาแก้ต่างว่า พวกเค้าไม่ได้ไปแตะโครงสร้างหลังคาที่ถล่มเลยนะ เพียงแต่ทำการตกแต่งภายในเท่านั้นเอง แต่เมื่อมีการถามหารายละเอียดของสัญญาทั้งรัฐบาลเซอร์เบียและทุนจีนก็ยังไม่ยอมเปิดเผยสัญญาอยู่ดี
การประท้วงต่อต้านการคอร์รัปชั่นจึงเกิดขึ้น เริ่มต้นจากกลุ่มนักศึกษามหาลัยก่อนขยายตัวไปถึงประชาชนทั่วไปทั้งประเทศกินเวลานับเดือนจนถึงปัจจุบัน รายงานของ BBC เมื่อวันที่ 16 มีนาคมที่ผ่านมา อ้างข้อมูลจากผู้สังเกตการณ์อิสระระบุว่า ในจุดสูงสุดจำนวนผู้ประท้วงน่าจะมีราว 275,000-325,000 คน หรือมากยิ่งกว่านั้น (t.ly/kH8kw)
"Vucic สร้างภาพลักษณ์ของตนผ่านการพัฒนาเศรษฐกิจซึ่งสามารถมองเห็นได้ชัดเจนจากทางรถไฟ ถนนหนทาง และสะพานใหม่ๆ ด้วยเงินลงทุนของจีน แต่หายนะใน Novi Sad กำลังทำให้ภาพมายาดังกล่าวพังทลายลง" Vuk Vuksanoic นักวิจัยอาวุโสจาก Belgrade Center for Security Policy กล่าวกับ Nikkei "ก่อนนี้นักศึกษาเซอร์เบียไม่มายุ่งเรื่องการเมือง แต่หายนะครั้งนี้กลายเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้คนรู้สึกถึงความน่ารังเกียจของการหมกเม็ดและการทุจริต"
บทเรียนจากเซอร์เบียจึงทำให้เกิดคำถามว่า เราจะได้เห็นความโปร่งใสจากการสืบสวนสาเหตุของการถล่มของตึก สตง. มากแค่ไหน? เพราะในกรณีของเซอร์เบียแม้รัฐบาลจะพยายามลดความตึงเครียดด้วยการให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องลาออก และมีการดำเนินคดีกับฝ่ายการเมืองระดับรัฐมนตรีด้วย แต่เอกสารสัญญาที่ทำกับทุนจีนกลับได้รับการปกป้องเป็นพิเศษ จนเหมือนทุนจีนได้รับสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ไม่ต้องตกอยู่ใต้บังคับของกฎหมายในประเทศที่ตัวเองไปลงทุนเสียอย่างนั้น

https://www.facebook.com/photo/?fbid=29510408581876263&set=a.106211759389335