วันจันทร์, มีนาคม 31, 2568

อุโมงค์ถล่มที่โคราชปีที่แล้ว ก่อสร้างโดยรัฐวิสาหกิจจีน China Railway เช่นกัน! อ่านข่าวดูได้ 👇 - มีคนเสียชีวิต 3 ราย



ปิดภารกิจ 126 ชั่วโมง "อุโมงค์ถล่ม" พาร่าง 3 คน กลับครอบครัว

29 ส.ค. 67
Thai PBS

126 ชั่วโมงอุโมงค์รถไฟความเร็วสูงไทย-จีนถล่มในพื้นที่ จ.นครราชสีมา ภารกิจสุดหินนำ 3 ชีวิตกลับสู่ครอบครัว ต้องค้นหาท่ามกลางอุโมงค์ดินที่ปิดทับ ชุดกู้ภย K 9 ท่ามกลางความเสี่ยง ชี้เกิดจากดินทรุดตัว

ภายหลังปฎิบัติการ 126 ชั่วโมงเพื่อนำคนงานที่ติดค้างในอุโมงค์โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน พังถล่ม และทับคนงาน 3 คนตั้งแต่คืนวันที่ 25 ส.ค.ที่ผ่านมา

วันนี้ (30 ส.ค.2567) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย พร้อมนายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และผศ.ดร.ธเนศ วีระศิริ นายกสภาวิศวกร ร่วมแถลงปฎิบัติการค้นหากู้ภัยดินถล่ม ยืนยันพบผู้เสียชีวิตทั้ง 3 คน เมื่อวานนี้ (29 ส.ค.) 1 คน และวันนี้อีก 2 คน โดยนำร่างผู้เสียชีวิตออกมาแล้ว

ส่วนการชันสูตรอย่างเป็นทางการ ทางโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา จะดำเนินการ เบื้องต้นทราบว่าผู้เสียชีวิตคนแรกเสียชีวิตจากการขาดอาการหายใจ ส่วนอีก 2 คนจะทราบผลเสียชีวิตเบื้องต้นในวันนี้



ไทย-จีนร่วมค้นหาผู้สูญหาย

นายอนุทิน กล่าวอีกว่า จากการเฝ้าติดตามสถานการณ์ตลอด 3-4 วันที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ทุกหน่วยทุ่มเทสรรพกำลังในการช่วยเหลือ แต่จากสภาพโครงการในอุโมงค์ ก็ต้องสร้างความปลอดภัยให้กับเจ้าหน้าที่เข้าปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือด้วย หลังจากนี้จะถอนกำลังที่ไม่เกี่ยวข้องออก เหลือการสืบสวนสอบสวนโดยตำรวจ และหน่วยงานของ รฟท.ทำรายงานสอบสวนสอบสวน

"ผลที่ออกมาก็เสียใจที่ไม่สามารถกอบกู้ชีวิตคนงานได้"


ในส่วนของการดูแล เรื่องความเสียหายต่าง ๆ ของโครงการ จะขอประวัติการทำงาน สภาพการจ้างงานเพื่อประสานไปยังสำนักงานประกันสังคมให้การช่วยเหลือต่อไป พร้อมทั้งขอบคุณผู้ว่าฯ นครราชสีมที่มอนิเตอร์สถานการณ์อยู่ตลอดเวลา รวมทั้งหน่วยงานต่าง ๆ ที่เข้ามาสนับสนุนภารกิจครั้งนี้

"รัฐบาลจีน ส่งเจ้าหน้าที่กู้ภัยมาช่วยกู้ภัย ทุกอย่างเป็นความร่วมมือกันอย่างดี หวังว่ากรณีจะเป็นอุทาหรณ์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุเช่นนี้อีก หรือหากเกิดเหตุจะใช้เวลาให้น้อยที่สุดในการช่วยหลือผู้ประสบเหตุให้ได้เร็วที่สุด"



ความยากดินเสี่ยงถล่ม-โครงสร้างไม่รับน้ำหนัก

สำหรับความยากลำบากในการกู้ชีวิตภัยอุโมงค์ถล่ม นายอนุทิน กล่าวว่า ความยากในการปฏิบัติภารกิจนี้คือ ความยากทางวิศวกรรม เพราะหลังจากดินถล่ม โครงสร้างไม่สามารถรับน้ำหนักของดินได้ และในช่วงฤดูฝนก็มีความเสี่ยง การช่วยเหลือต้องขุดชั้นดิน และให้มีความมั่นใจว่าจะไม่มีเหตุถล่มหรือวัสดุร่วงหล่นลงมา

"การช่วยเหลือต้องเซฟทั้งผู้ประสบภัย ผู้กู้ชีพ คนงานด้วย ยิ่งลึกก็ต้องสร้างโครงสร้างชั่วคราวขึ้นมาค้ำยัน ทำให้การใช้เครื่องมือเครื่องจักรมีข้อจำกัด ต้องใช้พลั่ว จอบ เสียม ขุดไปจนพบร่างผู้เสียชีวิตจึงทำให้เกิดความล่าช้า"

ยืนยันผู้สูญหาย 3 คน-สาเหตุรอผลสอบสวน

นายอนุทิน ระบุว่า จุดที่ร่างผู้เสียชีวิตพบนั้นก็เป็นไปตามเครื่องสแกนที่นำมาตรวจจับ และยืนยันดับเบิลเช็กโดยสุนัข K9 โดยทั้ง 2 วิธีได้กำหนดจุดที่มีร่างผู้ประสบภัยได้ตรงกัน เมื่อขุดลงไปก็พบว่าเป็นระยะที่ใกล้เคียงมาก กับระยะที่เครื่องจับได้ มีการขุดทั้งแนวราบแนวดิ่งและแนวทแยง

ผู้เสียชีวิตคนแรกเสียเสียชีวิตข้างรถดัมพ์ ส่วนอีก 2 คนอยู่ใกล้กัน ซึ่งผลที่ชัดเจนต้องรอการชันสูตรจากแพทย์ คนแรกถูกกันด้วยตัวถังรถติดผนังถ้ำ คนที่ 2 และ 3 ไม่ได้ถูกทับ แต่อยู่ในช่องว่างเพราะโครงข้างบนค้ำอยู่หรือรถขุดค้ำอยู่

"ถามว่ามี 3 คนใช่หรือไม่ทางบริษัทผู้ว่าจ้าง ก็ตรวจสอบเช็กยอดและรายชื่อก็บอกว่ามี 3 คน โดยทั้ง 3 จุดที่พบอยู่รัศมีก็ประมาณ 25 เมตรจากจุดที่ดินถล่มลงมา"



ขณะที่สาเหตุครั้งนี้ ตำรวจและ ร.ฟ.ท.จะต้องตรวจสอบว่า ดำเนินการภายใต้หลักการทางวิศวกรรมหรือไม่ ทั้งนี้ผู้รับเหมาที่เป็นคู่สัญญาของ ร.ฟ.ท.จะต้องรับผิดชอบทุกสิ่ง ซึ่งมีข้อผูกพันทางสัญญาที่ต้องปฏิบัติตามสัญญา รวมถึงการสอบสวนโครงการว่าทำตามแบบ ซึ่งน่าจะพิสูจน์ได้ เพราะเป็นงานซึ่งมีกระบวนการเป็นขั้นตอน ซึ่งจะตรวจสอบเป็นลำดับไป

"โครงสร้างที่พังลงมา ร.ฟ.ท.มีที่ปรึกษา วิศวกร ที่ออกแบบต้องดูว่าการถูกต้องหรือไม่ ของแบบนี้สามารพิสูจน์ได้ ไม่ควรรีบด่วนสรุป"

ขณะที่กระทรวงแรงงาน จะเร่งเยียวยาให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิต ซึ่งเป็นผู้ประกันตน โดยช่วยเหลือเงินค่าทำศพคนละ 50,000 บาท และเงิน 70 % ของค่าจ้างเป็นเวลา 10 ปี และการป้องกันจะหารือกับ ร.ฟ.ท.และบริษัทต่าง ๆ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุเช่นนี้อีกในอนาคต
 


ด้าน นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ หัวหน้าสำนักงานผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การช่วยเหลือแรงงาน 3 คนที่ติดค้างภายในอุโมงค์ เกิดจากเหตุดินทรุดตัวภายในอุโมงค์ ตั้งแต่เมื่อเวลา 23.40 น. ของคืนวันที่ 24 ส.ค.ที่ผ่านมา

โดยมีการเปิดเผยคลิป ขณะเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการทำงานอยู่ด้านในอุโมงค์ ในคลิปจะเห็นความยากลำบาก ภายหลังเจ้าหน้าที่สร้างอุโมงค์เหล็กบีมเสร็จ ยังไม่สามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันทีได้ ต้องเจาะดินเป็นโพรงลึกลงไป 1.8 เมตร



จากนั้นต้องใช้ไม้ค้ำยันหน้าดินเป็นชั้น เพื่อไม่ให้ดินถล่มใส่เจ้าหน้าที่ โดยเป็นรูช่องขนาดเล็กมาก มีการต่อท่อสายออกซิเจนเข้าไปในโพรงเพื่อเพิ่มอากาศหายใจให้เจ้าหน้าที่ที่ทำงานในหลุมลึก

ภายในหลุมลึก เจ้าหน้าที่พบผู้ประสบภัยคนแรกที่เป็นชาวเมียนมา และช่วยออกมาได้สำเร็จเมื่อวานนี้ (29 ส.ค.) ต่อมเวลา 06.00 น. วันนี้ เจ้าหน้าที่ก็พบเพิ่มในหลุมดำกล่าวเป็นผู้ประสบภัยอีก 2 คนคือรายที่ 2 และ 3








https://x.com/kandainthai/status/1905977685358047233
https://www.thaipbs.or.th/news/content/343661