วันอาทิตย์, มีนาคม 30, 2568

ศาลอาญาอ่านคำสั่งคดีละเมิดอำนาจศาล กรณี “อานนท์ นำภา” ถอดเสื้อประท้วง ที่ห้องเวรชี้ ไม่ให้ประชาชน-ครอบครัว เข้าฟัง



ศาลอาญาอ่านคำสั่งคดีละเมิดอำนาจศาล กรณี “อานนท์ นำภา” ถอดเสื้อประท้วง ที่ห้องเวรชี้ ไม่ให้ประชาชน-ครอบครัว เข้าฟัง

28/03/2568 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

วันที่ 28 มี.ค. 2568 เวลา 09.30 น. ศาลอาญานัดฟังคำสั่งคดีละเมิดอำนาจศาลของ “อานนท์ นำภา” ทนายความสิทธิมนุษยชน จากเหตุถอดเสื้อประท้วงศาลที่ไม่ออกหมายเรียกพยานเอกสารสำคัญในคดีมาตรา 112 #ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์1 เพื่อยืนยันสิทธิในการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2567

เหตุในคดีนี้ สืบเนื่องจากนัดสืบพยานคดี #ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์1 เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2567 อานนท์ ในฐานะจำเลย ได้ถอดเสื้อประท้วงศาลเป็นครั้งที่ 2 หลังเคยถอดเสื้อประท้วงมาแล้วครั้งหนึ่งในนัดสืบพยานก่อนหน้า (4 มิ.ย. 2567) เนื่องจาก เรืองฤทธิ์ บัวลอย ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนยืนยันไม่ออกหมายเรียกพยานเอกสารสำคัญที่จะใช้ถามค้านพยานโจทก์ ได้แก่ ตารางการเดินทางของรัชกาลที่ 10 และเอกสารเกี่ยวกับงบประมาณ โดยอ้างว่าการออกหมายเรียกเอกสารดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 และให้ทนายจำเลยถามค้านพยานโจทก์ต่อ โดยไม่มีพยานเอกสารดังกล่าว

หลังเหตุการณ์ถอดเสื้อประท้วงดังกล่าว ศาลได้ตั้งเรื่องละเมิดอำนาจศาลกับอานนท์ โดยมีผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลอาญาเป็นผู้กล่าวหา และมีการเบิกตัวอานนท์ไปไต่สวนในวันที่ 23 ม.ค. 2568 โดยอานนท์ไม่ทราบนัดล่วงหน้ามาก่อน และยังไม่มีทนายความ แต่อานนท์ยืนยันขอเลื่อนคดี ศาลจึงเลื่อนการไต่สวนไปเป็นวันที่ 5 มี.ค. 2568

อย่างไรก็ตาม ในนัดไต่สวนวันที่ 5 มี.ค. 2568 มีเพียงพยานผู้กล่าวหาเข้าเบิกความ 2 ปาก ได้แก่ สุธิศา อินทปัญสกุล นิติกรชำนาญการพิเศษ ผู้รับมอบอำนาจจากผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลอาญา ผู้กล่าวหา และ จ่าสิบเอกประพันธุ์ สุระหลวง ตำรวจศาล โดยศาลสั่งตัดพยานผู้กล่าวหาปากสำคัญคือ เจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์ ซึ่งเป็นประจักษ์พยานในวันเกิดเหตุ เนื่องจากติดสืบพยานอยู่ และเมื่ออานนท์ยืนยันให้รอพยานปากดังกล่าวมาเบิกความก่อน อานนท์และพยานฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาซึ่งเป็นนักวิชาการอีก 3 ปาก จึงจะเบิกความตามลำดับต่อไป ศาลก็ให้งดสืบพยานผู้ถูกกล่าวหาด้วย และนัดฟังคำสั่งในวันนี้
.

ศาลไม่เบิกตัวอานนท์ขึ้นไปที่ห้องพิจารณาคดีและเรียกทนายความไปฟังคำสั่งที่ห้องเวรชี้ โดยไม่ให้ประชาชนเข้าฟัง – ศูนย์ทนายฯ ยังไม่ทราบคำสั่งศาล และมีข้อสังเกตว่ากระบวนพิจารณาคดีไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

วันนี้ (28 มี.ค. 2568) ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 809 ตั้งแต่เวลา 09.00 น. ครอบครัวอานนท์ ประชาชน เจ้าหน้าที่จากองค์กรสิทธิมนุษยชน ตัวแทนจากสถานทูต และเจ้าหน้าที่สิทธิมนุษยชนและหัวหน้าทีม สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย เดินทางมาสังเกตการณ์การอ่านคำสั่ง โดยนั่งอยู่เต็มพื้นที่ม้านั่งในห้องพิจารณาคดี

เวลา 10.00 น. ยังไม่มีวี่แววว่าจะมีการเบิกตัวอานนท์ขึ้นมาที่ห้องพิจารณาคดี ต่อมา ตำรวจศาลจึงเดินมาแจ้งกับทนายความว่า ศาลสั่งให้ลงไปที่ห้องเวรชี้ โดยตำรวจศาลเป็นผู้นำทางไป

ขณะตำรวจศาลนำทนายความลงลิฟต์ของศาลอาญาไปห้องเวรชี้ซึ่งอยู่ใต้ถุนศาล ตำรวจศาลแจ้งว่า ศาลให้เฉพาะทนายความหลักในคดีเข้าไปในห้องเวรชี้เพียงคนเดียว แต่ทนายความปฏิเสธ ยืนยันว่า ทนายความทุกคนที่มาในวันนี้ต้องเข้าไปได้

เมื่อลงไปถึงห้องเวรชี้ ตำรวจศาลแจ้งใหม่ว่า ศาลอนุญาตให้ทนายความที่มาในวันนี้ 2 คน เข้าไปในห้องเวรชี้ได้ การอ่านคำสั่งเกิดขึ้นภายในห้องเวรชี้ 2 โดยไม่มีประชาชนหรือผู้สังเกตการณ์คนใดสามารถเข้าไปฟังการอ่านคำสั่งได้เลย

อย่างไรก็ตาม ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนยังไม่ทราบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดและยังไม่ทราบคำสั่งศาลในวันนี้

ระหว่างนั้นที่ห้องพิจารณาคดีที่ 809 ไม่มีเจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์อยู่ มีเพียงตำรวจศาลประมาณ 5 นายคอยรักษาความปลอดภัยทั้งภายในและภายนอกห้อง ประชาชนหลายคนพยายามทวงถามเหตุผลกับตำรวจศาลว่าเหตุใดเวลา 10.00 น. แล้ว ยังไม่เบิกตัวอานนท์ขึ้นมาที่ห้องพิจารณาคดีและอ่านคำสั่ง

ประชาชนระบุว่า การกระทำแบบนี้ไม่โปร่งใส เป็นการกระทำที่ปิดบังไม่ให้ประชาชนได้พบอานนท์ ทั้ง ๆ ที่วันนี้มีประชาชนหลายคนเดินทางมาจากต่างประเทศและต่างจังหวัด พร้อมทั้งขอให้ตำรวจศาลตามผู้ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง และเบิกตัวอานนท์ขึ้นมาฟังคำสั่งบนห้องพิจารณาคดีตามปกติอย่างที่ควรจะเป็น แต่สุดท้ายประชาชนเหล่านั้นก็ไม่ได้รับคำชี้แจงใด ๆ

ทั้งนี้ ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนคดีนี้ คือ ธนฤทธิ์ โทวรรธนะ

.
ทั้งนี้ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 182 วรรคสอง วางหลักไว้ว่า “ให้อ่านคําพิพากษาหรือคําสั่งในศาลโดยเปิดเผยในวันเสร็จการพิจารณา หรือภายในเวลาสามวันนับแต่เสร็จคดี ถ้ามีเหตุอันสมควร จะเลื่อนไปอ่านวันอื่นก็ได้ แต่ต้องจดรายงานเหตุนั้นไว้” กล่าวคือ การอ่านคำพิพากษาต้องเป็นไปโดยเปิดเผย และไม่ได้มีการบัญญัติข้อยกเว้นที่ให้อำนาจศาลใช้ดุลพินิจสั่งให้การอ่านคำพิพากษาเป็นไปโดยลับได้แต่อย่างใด

นอกจากนี้ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 188 วางหลักไว้ว่า “คำพิพากษาหรือคําสั่งมีผลตั้งแต่วันที่ได้อ่านในศาลโดยเปิดเผยเป็นต้นไป” กล่าวคือ คำพิพากษานั้นมีผลตั้งแต่การอ่านโดยเปิดเผยเป็นต้นไป ศาลจึงไม่อาจอ่านคำพิพากษาเป็นการลับได้ การอ่านคำพิพากษาในทุกกรณีจึงต้องกระทำโดยเปิดเผย

ดังนั้น ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงมีข้อสังเกตว่า การอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งที่กระทำไปโดยลับ ไม่เปิดเผยต่อสาธารณชน อาจเป็นกระบวนพิจารณาคดีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

.

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

การอ่านคำพิพากษาต้องเป็นไปโดยเปิดเผย แม้ในคดีที่ศาลสั่งพิจารณาลับ

อ่านเต็ม ๆ “อานนท์ นำภา” ถอดเสื้อครั้งที่ 3 ประท้วงพิจารณาคดีลับ ในนัดไต่สวนคดีละเมิดอำนาจศาล ก่อนศาลสั่งตัดประจักษ์พยาน – ไม่เรียกวิดีโอให้ และนัดฟังคำสั่ง 28 มี.ค. นี้ทันที

พรุ่งนี้! ร่วมสังเกตการณ์ไต่สวนคดีละเมิดอำนาจศาล “อานนท์ นำภา” เหตุถอดเสื้อผู้ต้องขังประท้วง คดี #ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์1

ศาลอาญาเบิกตัวอานนท์ ไต่สวนคดี “ละเมิดอำนาจศาล” โดยไม่มีทนายความ ก่อนเลื่อนไปไต่สวนอีกครั้ง 5 มี.ค. 68

จำคุก 2 ปี 8 เดือน คดี ม.112-116 “อานนท์ นำภา” เหตุ #ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์ เห็นว่าปราศรัยเรื่องกษัตริย์แทรกแซงแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติ เป็นการใส่ร้าย ขัดต่อ รธน. ม.6

ศาลอาญาสั่งพิจารณาลับคดี 112 #ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์1 ด้าน “อานนท์” ถอดเสื้อประท้วง – ตั้งข้อรังเกียจศาล หลังศาลไม่ออกหมายเรียกพยานเอกสาร

“อานนท์” ถอดเสื้อประท้วง ยืนยันสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม หลังศาลไม่ออกหมายเรียกพยานเอกสาร ระหว่างสืบพยานคดี 112 #ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์1


https://tlhr2014.com/archives/74378