ผู้เชี่ยวชาญออสเตรเลียชี้โอกาสพบผู้รอดชีวิตจากเรือหลวงสุโขทัยมีริบหรี่
20 ธันวาคม 2022
ปรับปรุงแล้ว เมื่อ 6 ชั่วโมงที่แล้ว
รองศาสตราจารย์ เดวิด เลตส์ นักวิชาการด้านกฎหมายนาวีและกฎหมายทหารจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย แสดงความเห็นว่า โอกาสพบผู้รอดชีวิตเพิ่มจากเหตุเรือหลวงสุโขทัยอับปางมีอยู่อย่างริบหรี่
“ผมไม่คิดว่าพวกเขามีโอกาสสูงนักที่จะพบผู้รอดชีวิต มันคือความจริงที่โชคร้าย โอกาสที่มีอยู่ไม่มากนัก” รศ. เลตส์ ซึ่งเคยรับราชการในกองทัพเรือออสเตรเลียนาน 30 ปี ให้สัมภาษณ์กับบีบีซี
“มันไม่ใช่แค่กระแสคลื่น แต่ผู้ประสบภัยซึ่งมีความอ่อนล้า อาจจมไปกับเกลียวคลื่น อาจมีฉลามอยู่แถวนั้น บางคนอาจตื่นตระหนก และถูกกลืนลงใต้ทะเล พวกเขาไม่น่าจะมีชีวิตอยู่ได้นานในกรณีแบบนี้...”
คำให้สัมภาษณ์ของ รศ. เลตส์ มีขึ้นก่อนการแถลงข่าวของผู้บัญชาการกองทัพเรือไทย ที่เกิดขึ้นช่วงเย็นของ 20 ธ.ค. ซึ่ง พล.ร.อ. เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ ตอบคำถามของผู้สื่อข่าวของสิงคโปร์ยืนยันว่า ปฏิบัติการค้นหาและช่วยชีวิตจะยังดำเนินต่อไป ยังไม่เปลี่ยนไปเป็น ปฏิบัติการค้นหาผู้เสียชีวิต
เรือหลวงสุโขทัย ผิดพลาดอะไร ทำไมอับปางเพราะคลื่นลมทะเล
เรือดำน้ำในฝันทัพเรือไทยที่ส่อเป็นจีนแท้ 100% กับหลากงบสนับสนุน รวมเฉียด 5 หมื่นล้าน
เรือดำน้ำจีน : จีนหาเครื่องยนต์จากไหนมาใส่ S26T ให้ไทย
รศ. เลตส์ แสดงความเห็นว่าเป็นเรื่องผิดปกติมากที่เรือรบจะจมลงหลังจากเครื่องยนต์ดับท่ามกลางพายุ และชี้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นยิ่งทำให้เรือหลุดพ้นจากพายุรุนแรงได้ยากขึ้น
เขาอธิบายว่าตามปกติ ทหารเรือจะได้รับการฝึกฝนให้รับมือกรณีที่เครื่องยนต์เรือหยุดทำงาน แต่ขณะเดียวกันก็ขึ้นอยู่กับว่าพวกเขาจะสามารถกู้การทำงานของเครื่องยนต์ให้กลับมาได้เร็วแค่ไหน
นอกจากนี้ รศ. เลตส์ บอกว่าเรือรบทั่วไปมักแบ่งพื้นที่ออกเป็นห้องต่าง ๆ ที่เรียกว่า “คอมพาร์ตเมนต์” (compartment) เพื่อให้สามารถปิดประตูป้องกันน้ำทะเลไหลทะลักเข้าไปส่วนอื่น ๆ และทำความเสียหายต่อเครื่องยนต์ ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ทหารเรือได้รับการฝึกฝนให้ปิดประตูคอมพาร์ตเมนต์ส่วนต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน เพื่อให้เรือลอยลำได้ต่อไป
“การที่ไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้เป็นเรื่องแปลกมากที่จะคิดว่าเหตุการณ์เรือล่มครั้งนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร พายุสร้างความเสียหายให้บางอย่างหรือไม่ เกิดรูรั่วที่ตัวเรือหรือเปล่า และมีเหตุชนปะทะหรือไม่ ซึ่งเราไม่ทราบเลย” รศ. เลตส์ กล่าว
แต่เขาชี้ว่าแม้จะมีรูรั่วเกิดขึ้นที่ด้านข้างตัวเรือ แต่ทหารเรือได้รับการฝึกฝนเรื่อง “การควบคุมความเสียหาย” ซึ่งรวมถึงการฝึกซ่อมแซมรูรั่วที่เกิดขึ้น หรือการปิดคอมพาร์ตเมนต์ไม่ให้น้ำไหลทะลักเข้าสู่บริเวณอื่น ๆ ในเรือ
รถเคลื่อนย้ายร่างผู้เสียชีวิตที่กู้ขึ้นมาได้
ผู้บัญชาการทหารเรือของไทยได้ชี้แจงถึงประเด็นนี้เช่นกัน ในการแถลงข่าวเมื่อ 20 ธ.ค.
“จากการรับทราบข้อเท็จจริงเบื้องต้น ทราบว่ามีน้ำเข้าเรือในปริมาณมาก โดยน้ำเริ่มเข้าบริเวณหัวเรือ จนทำความเสียหายกับระบบเครื่องไฟฟ้า ระบบเครื่องจักรช่วยของเรือหลวงสุโขทัย”
พล.ร.อ. เชิงชาย เผยว่าลูกเรือพยายามใช้เครื่องสูบน้ำในเรือเพื่อระบายน้ำออกตามขั้นตอน แต่ไม่สามารถสูบน้ำออกได้ทัน ทำให้น้ำเข้าเรือมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้เครื่องจักร และเครื่องจักรช่วยได้รับความเสียหายและหยุดทำงาน
“ปกติเรือรบจะมีความทนทะเลมากกว่าเรือโดยทั่วไปเพราะเป็นเรือที่สร้างขึ้นมาเพื่อปฏิบัติการรบ จะมีการผนึกน้ำเป็นคอมพาร์ตเมนต์ หากบริเวณไหนที่ได้รับความเสียหายจากการรบจะมีการผนึกน้ำ เพื่อสร้างให้เกิดกำลังลอยภายในเรือ เพื่อจะสามารถสู้รบอยู่ได้...”
“เมื่อเรือไม่สามารถสู้กับน้ำทะเลที่เข้ามาในตัวเรือได้ เขาก็ใช้วิธีการผนึกน้ำ เพื่อให้ตัวเรือยังลอยอยู่ แต่ปรากฏว่าหลังจากที่พยายามจะสู้กับน้ำทะเลที่เข้ามา ทำให้ไม่สามารถบังคับเรือได้ เพราะน้ำได้เข้ามาท่วมระบบเครื่องจักรช่วยสำคัญหลายส่วน...”
ผู้บัญชาการทหารเรือระบุว่าน้ำที่ทะลักเข้าเรือทำให้เครื่องยนต์ซ้ายและเครื่องควบคุมใบจักรดับ ทำให้เรือไม่สามารถแล่นเข้าพื้นที่ท่าเรือบางสะพานได้ จนสุดท้ายน้ำท่วมและทำให้เครื่องยนต์ดับทั้งหมด ส่งผลให้เรือมีสภาพลอยลำกลางทะเล และน้ำเข้าเรืออย่างต่อเนื่องจนเรือเอียงและอับปางลงในที่สุด
ทำไมลูกเรือไม่ได้ขึ้นแพชูชีพทั้งหมด
รศ. เลตส์ ระบุว่า ตามปกติมักมีแพชูชีพติดตั้งไว้บริเวณดาดฟ้าเรือ และระบบปล่อยแพชูชีพจะทำงานโดยอัตโนมัติเมื่อเรืออับปาง หรือลูกเรือสามารถกดปล่อยเรือได้เองเช่นกัน
แต่เขาคาดการณ์ว่า เหตุที่เกิดขึ้นในช่วงกลางดึก ทำให้ลูกเรืออาจค้นหาระบบปล่อยแพชูชีพได้ยาก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นบนเรือขณะนั้น ว่ามีเหตุฉุกเฉินอื่นเกิดขึ้นด้วยหรือมีความเสียหายอื่นด้วยหรือไม่ และเป็นการยากที่จะทราบได้จากข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบัน
ด้าน พล.ร.อ. เชิงชาย ชี้แจงในการแถลงข่าวว่า เรือหลวงสุโขทัยมีแพชูชีพอยู่ทั้งหมด 6 แพ ซึ่งทำงานด้วยระบบอัตโนมัติและระบบสั่งการจากคน บวกกับมีแพชูชีพของเรือหลวงกระบุรี และจากเครื่องบินลาดตระเวนของกองทัพเรือที่เข้าให้ความช่วยเหลือ ซึ่งเพียงพอต่อจำนวนคนบนเรือหลวงสุโขทัยในกรณีที่ต้องสละเรือใหญ่
อย่างไรก็ตาม ในขณะนั้นกองทัพเรือได้รับรายงานจากเรือหลวงสุโขทัยว่า เรือมีการเอียงในระดับคงที่ที่ 60 องศา จึงวางแผนที่จะนำเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่เข้าไปสูบน้ำในเรือ และถ้าเรือลากจูงมาถึงก็จะสามารถลากเรือกลับไปยังท่าเรือบางสะพานได้ ส่งผลให้เรือหลวงสุโขทัยยังไม่คิดจะเคลื่อนย้ายกำลังพลลงแพชูชีพ
พล.ร.อ. เชิงชาย ระบุว่าแต่ด้วยสภาพคลื่นลมในช่วงนั้นรุนแรงมาก ทำให้น้ำไหลเข้าเรืออย่างต่อเนื่องจนเรือเอียงมากขึ้น และเริ่มจมลงจากด้านท้ายลงไปจนหัวเรือตั้งขึ้น ส่งผลให้เกิดความชุลมุน กำลังพลบางส่วนจึงกดปลดแพชูชีพให้กำลังพลที่ไม่มีเสื้อชูชีพได้ขึ้นไปบนแพ ส่วนกำลังพลบางส่วนที่มีเสื้อชูชีพก็พยายามว่ายน้ำไปที่เรือหลวงกระบุรีที่อยู่ใกล้ ๆ กัน ซึ่งมีการส่งเรือเล็กเข้าไปช่วยผู้ที่อยู่ในทะเลด้วย และสามารถช่วยกำลังพลส่วนใหญ่ขึ้นมาได้